วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

2.白族 เผ่าป๋าย





ชนเผ่าป๋าย เป็นชนกลุ่มน้อยที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันยาวนานอาศัยอยู่บริเวณภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ที่สำคัญคือเขตปกครองตนเองเผ่าป๋าย(白族自治州Bái Zú zìzhìzhōu) เมืองต้าหลี่(大理Dàlǐ) มณฑลยูนนาน (云南省Yúnnánshěnɡ) ได้แก่ บริเวณเมืองลี่เจียง (丽江Lìjiānɡ) ปี้เจียง(碧江Bìjiānɡ) ป่าวซาน(保山Bǎoshān) หนานหัว (南华Nánhuá) หยวนเจียง (元江Yuánjiānɡ) คุนหมิง(昆明Kūnmínɡ) อานหนิง(安宁Ānnínɡ) และในเขตอำเภอปี้เจี๋ย (毕节Bìjié) ของเมืองกุ้ยโจว (贵州Guìzhōu) อำเภอเหลียงซาน(凉山Liánɡshān)ของมณฑลเสฉวน (四川Sìchuān) อำเภอซางจื๋อ(桑植Sānɡzhí) ของมณฑลหูหนาน (湖南Húnán) ก็มีชนเผ่าป๋ายอาศัยอยู่กระจัดกระจาย จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าป๋ายมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,858,063 คน ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาป๋าย ซึ่งจัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า นอกจากนี้ภาษาที่ใช้ทั่วไปคือภาษาฮั่น ในสมัยราชวงศ์หยวนและหมิงเคยใช้ภาษาเฝิน(ภาษาป๋าย) คือภาษาที่ใช้อักษรจีนเขียนแต่อ่านเป็นภาษาป๋าย (汉字白读Hànzì Báidú)



ด้วยความที่ชาวป๋ายอาศัยอยู่กระจัดการะจาย ชาวป๋ายในแต่ละพื้นที่มีชื่อเรียกทั้งเรียกตนเอง และผู้อื่นเรียกหลายชื่อ เช่น ชาวฮั่นเรียกว่า เตียนเฝิน (滇焚Diānfén) โส่ว (叟Sǒu) ช่วนตี (爨氐Cuàndī) ป๋ายหมาน (白蛮Báimán[1]) ป๋ายเหริน (白人Báirén) หมินเจีย(民家Mínjiā) เป็นต้น ชาวเผ่าน่าซีเรียกว่า น่าหม่า (那马Nàmǎ) ชาวลี่ซูเรียกว่า เล่อโม่ (勒墨Lèmò) แม้แต่คำที่ชาวป๋ายเรียกตนเองก็มีหลายชื่อแตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่ เช่น เฝินจื่อ(焚子Fén zǐ) เฝินเอ๋อร์จื่อ(焚儿子Fén érzi) ป๋ายหนี (白尼Báiní) ป๋ายหั่ว(白伙Báihuǒ) ซึ่งมีความหมายว่า ชาวเฝิน หรือชาวป๋ายนั่นเอง



อารยธรรมของชาวป๋ายเริ่มมาตั้งแต่ยุคหินใหม่ โดยมีถิ่นกำเนิดที่สามารถยืนยันได้ว่ามีชาวป๋ายอาศัยอยู่คือบริเวณเมืองเอ๋อร์ห่าย (洱海Ĕrhǎi) ในยุคนั้นชาวป๋ายอาศัยอยู่ในถ้ำ ถึงสมัยฉินฮั่นเริ่มมีความสัมพันธ์เป็นปึกแผ่นกับประเทศจีน จนถึงคริสต์ศักราช 109 ตรงกับสมัยซีฮั่น(ฮั่นตะวันตก) ได้อพยพชาวฮั่นเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวนี้เป็นจำนวนมาก และถ่ายทอดวิทยาการต่างๆให้กับชาวพื้นเมืองเดิม จนถึงสมัยตงฮั่น(ฮั่นตะวันออก) ดินแดนแห่งนี้ขึ้นกับเมืองหย่งชาง(永昌Yǒnɡchānɡ) ในสมัยถังบริเวณนี้จัดตั้งให้เป็นเมืองเหยาโจว (姚州Yáozhōu) จากนั้นจัดรวมกับชนกลุ่มน้อยในบริเวณเดียวกันเป็นเขตปกครองแบบทาส ในปีคริสต์ศักราช 907 แยกออกจากชาวอี๋เป็นเอกเทศ ในปีคริสต์ศักราช 1253 สมัยหยวนจัดแบ่งการปกครองออกเป็นมณฑล ก่อตั้งมณฑลทางใต้คือ ยูนนาน มีเมืองชั้นรองคือต้าหลี่และเฮ่อชิ่ง ถึงสมัยหมิงได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดต้าหลี่ และจังหวัดเฮ่อชิ่ง ในสมัยราชวงศ์ชิงก็ยังคงยึดการปกครองตามสมัยหมิง แต่จัดให้มีหัวหน้าเผ่าปกครองดูแลชนกลุ่มน้อยในบริเวณนี้



ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระบบเศรษฐกิจและสังคมของชาวป๋ายไม่มั่นคงนัก โดยเฉพาะยังมีการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบระบบทาสและระบบศักดินาอยู่ อาชีพหลักของชาวป๋ายคือการเกษตร อัตราส่วนของชนชั้นคนรวยที่เป็นเจ้าของที่ดินกับกับคนจนที่เช่าที่ดินทำกิน หรือรับจ้างทำนาแตกต่างกันถึง 10 ต่อ 90 การเก็บผลผลิตกำไรจากผู้เช่าที่สูงถึง 5 ถึง 8 เท่า เป็นเหตุให้ชาวป๋ายส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจน เมื่อเศรษฐกิจภายนอกเริ่มเฟื่องฟูขึ้น การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมีมากขึ้น ในขณะเดียวกันชาวป๋ายก็ส่งออกสินค้าจำพวกดินประสิว เส้นไหม ใบชา ชาวป๋ายจึงเริ่มมีเศรษฐกิจที่ดีและพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ



หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนปฏิวัติการปกครองทั่วทั้งประเทศจีน การถือครองที่ดินของชาวป๋ายที่เมืองต้าหลี่ รวมทั้งบริเวณอื่นๆ ที่มีมาแต่ดั้งเดิมจึงปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบเดียวกันเหมือนกับชนชาวฮั่น ในปี 1953 แต่ยังมีพื้นที่บางแห่งที่เจ้าของที่ดินเดิมชาวป๋ายยังต่อต้านข้อบังคับดังกล่าว เช่น บริเวณฮู่สุ่ย(沪水Hùshuǐ) ลิ่วคู่ (六库Liùkù) รัฐบาลได้ใช้วิธีเจรจาอย่างสันติวิธีกระทั่งปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบเดียวกันได้สำเร็จ ส่วนชาวป๋ายในบริเวณอื่นๆที่การตั้งถิ่นฐานไม่ชัดเจน หรือมีความกระจัดกระจายมาก แม้จะไม่ยอมรับการปรับเปลี่ยนการปกครองระบบใหม่ เช่น ที่เมือง ปี้เจียง (碧江Bìjiānɡ) ฝูก้ง (福贡Fúɡònɡ) แต่ใช้วิธีการกระจายทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของชนส่วนใหญ่ จนกระทั่งชนเผ่าป๋ายทั้งหมดยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบรัฐบาลกลางของจีน และในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ.1956 ได้ก่อตั้งเขตปกครองตนเองเผ่าป๋ายขึ้นที่เมืองต้าหลี่ มณฑณยูนนาน



ชาวป๋ายมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาและพัฒนาการยาวนาน อารยธรรมของชาวป๋ายสร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมาก จากการขุดค้นทางประวัติศาสตร์บริเวณเมืองชางเอ่อร์ (苍洱Cānɡ’ěr) พบร่องรอยคูคลองและระบบชลประทานของชาวป๋ายในยุคโบราณ และการขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณเมืองเจี้ยนชวน(剑川Jiànchuān) พบหลักฐานทางการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ของชาวป๋าย หลักฐานทางโบราณคดีที่พบที่เมืองเอ๋อร์ห่าย(洱海Ĕrhǎi) ยืนยันว่าชาวป๋ายเริ่มมีอารยธรรมของเครื่องใช้โลหะมาตั้งแต่สมัยชุนชิวจ้านกว๋อ และในบริเวณเดียวกันนี้ในยุคสู่ฮั่น (蜀汉Shǔhàn) ชาวป๋ายรู้จักการเลี้ยงสัตว์ตามทุ่งหญ้า และมีการปลูกข้าวแล้ว ในสมัยถังเริ่มมีระบบชลประทานเพื่อการเกษตร การทำนาแบบขั้นบันไดตามภูเขา มีการนับปฏิทินเป็นของตนเอง มีการเขียนตำราทางการแพทย์ และตำราดาราศาสตร์ของตนเองอีกด้วย



ศิลปะของชาวป๋ายมีเอกลักษณ์เป็นหนึ่ง ศิลปะที่มีชื่อเสียงของชาวป๋ายคืองานด้านสถาปัตยกรรม การแกะสลัก และการวาดภาพ เช่น เจดีย์สามองค์ที่ปลูกสร้างโดยชาวป๋ายที่เมืองต้าหลี่ มีความสูงถึง 6 เมตร นับเป็นประติมากรรมอันล้ำเลิศ ถ้ำหินที่เมืองเจี้ยนชวน (剑川Jiànchuān) ก็นับว่าเป็นประติมากรรมชั้นเยี่ยมของชาวป๋ายอีกที่หนึ่ง รูปปั้น และหินสลักรูปคนราวกับมีชีวิตเหมือนจริง ประติมากรรมล้ำค่าอีกแห่งคือที่วัดจีจู๋ซาน(鸡足山寺院Jīzúshān sìyuàn “วัดเขาตีนไก่”) ที่สร้างขึ้นในสมัยหยวน รูปสลักที่บานประตูหน้าต่างที่วิจิตรงดงาม ล้วนเกิดจากช่างฝีมือชาวป๋ายทั้งสิ้น



ศิลปะการเคลือบสีของชาวป๋ายมีเทคนิควิธีเฉพาะตัว ศิลปะการเคลือบสีเงาสำหรับเครื่องใช้และวัสดุตกแต่ง การก่อสร้างที่เป็นที่นิยมในสมัยหยวนและหมิงล้วนนำมาจากมณฑลยูนนาน ซึ่งเกิดจากฝีมือช่างชาวป๋ายจากเมืองต้าหลี่ทั้งสิ้น ภาพวาดมรดกล้ำค่าของจีนน่านเจ้าที่ถูกประเทศจักรวรรดินิยมขโมยไป ก็เป็นภาพจิตกรรมชิ้นเอกที่วาดโดยช่างฝีมือชาวป๋ายชื่อ จางซุ่น (张顺 Zhānɡ Shùn) และหวางเฟิ่งจง (王奉宗Wánɡ Fènɡzōnɡ)ในปี ค.ศ.899 ภาพจิตรกรรมนี้บรรยายเรื่องราวเทพนิยายของชาวป๋ายได้อย่างวิจิตรงดงาม



วัฒนธรรมด้านเพลงดนตรีและการร่ายรำของชาวป๋ายมีมาแต่โบราณกาล ที่สำคัญคือเพลงกลอนอันไพเราะที่สืบทอดต่อกันมาที่ชื่อว่า ช่วงซื่อจี้ (创世纪Chuànɡ shìjì “การสร้างศักราช”) กล่าวถึงการกำเนิดของชาวป๋าย และการดำรงชีวิตที่สงบสุข ไร้การกดขี่ทารุณ ไร้ซึ่งคนจนคนรวย ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข อ้วนท้วนสมบูรณ์ บทกลอนที่ถือเป็นตัวแทนวรรณกรรมของชาวป๋าย เช่น เรื่อง 《途中》Túzhōnɡ “ระหว่างวิถี” ของ หยางฉีคุณ (杨奇鲲Yánɡ Qíkūn) เรื่อง《题大慈寺芍药》Tídàcísì sháoyào “สมุนไพรวัดถีต้าฉือ” และ เรื่อง《洞云歌》Dònɡyúnɡē “ลำนำถ้ำเมฆา” ของหยางอี้จง (杨义宗Yánɡ Yìzōnɡ) นับเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกที่แต่งโดยกวีชาวป๋าย



วรรณกรรมประวัติศาสตร์ของชาวป๋ายเช่น เรื่อง《张氏国史》Zhānɡshì ɡuóshǐ “ประวัติชาติตระกูลจาง” แต่งในยุคน่านเจ้า(南诏Nánzhào) ในสมัยที่เป็นประเทศต้าหลี่ก็มีพงศาวดารชื่อ ป๋ายสื่อ 《白史》Báishǐ “ประวัติป๋าย” พงศาวดารชื่อ กว๋อสื่อ《国史》Guóshǐ “ประวัติประเทศ” โดยเฉพาะพงศาวดารป๋ายมีการบันทึกไว้ในศิลาจารึกราชวงศ์หมิงด้วย ในสมัยหยวนมีพงศาวดารชาวป๋าย ชื่อ ป๋ายกู่ทง 《白古通》Báiɡǔtōnɡ “เจาะอดีตชาวป๋าย” ถึงสมัยชิง มีปราชญ์ชาวป๋ายชื่อ หวางซง (王崧Wánɡ Sōnɡ) เรียบเรียงตำราชื่อ 《云南备征志》Yúnnán bèizhēnɡzhì “เอกสารพิสูจน์ประวัติศาสตร์ยูนนาน” นับเป็นตำราสำหรับผู้ศึกษาวิจัยชนกลุ่มน้อยในยูนนานเล่มสำคัญ



ขนบธรรมเนียมของชาวป๋ายสืบทอดต่อกันมายาวนาน ชายหญิงชาวป๋ายรักเดียวใจเดียวมีภรรยาและสามีคนเดียว ร่วมสร้างครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวไหนมีลูกชายเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ เมื่อลูกชายแต่งงานมีครอบครัวจะแยกย้ายออกไปตั้งบ้านเรือนใหม่อยู่ต่างหาก พ่อแม่จะอาศัยอยู่กับลูกคนเล็ก จึงมักไม่พบการอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ การแต่งงานของชาวป๋ายจะไม่แต่งงานกับคนในสายตระกูลเดียวกันและคนแซ่เดียวกัน การแต่งงานพ่อแม่เป็นผู้จัดการให้ คนที่ไม่มีลูกสามารถรับลูกบุญธรรมได้ ลูกบุญธรรมที่รับมาเลี้ยงจะต้องเปลี่ยนมาใช้แซ่เดียวกันกับพ่อแม่ จึงจะมีสิทธิ์สืบทอดมรดกได้



พิธีงานศพของชาวป๋ายในสมัยหยวนใช้วิธีการเผา แต่หลังจากสมัยหยวนได้รับอิทธิพลของชาวฮั่น ศพของชาวป๋ายจึงเปลี่ยนมาเป็นการฝังแทน พิธีฝังศพชาวป๋ายถือเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่และสำคัญอีกพิธีหนึ่ง



เรื่องอาหารการกินและการเพาะปลูก ชาวป๋ายที่อาศัยอยู่ต่างพื้นที่กันมีการทำมาหากินต่างกัน อย่างเช่น ชาวป๋ายที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบจะปลูกข้าวเป็นพืชหลัก ส่วนชาวป๋ายที่อาศัยอยู่ตามภูเขาจะปลูกข้าวโพดเป็นหลัก ชาวป๋ายชอบกินอาหารรสเปรี้ยว และเผ็ด นอกจากนี้ยังชอบกินอาหารประเภทเนื้อสด อาหารที่ชาวป๋ายโปรดปรานเป็นพิเศษคืออาหารคล้ายๆ กับยำเนื้อสุกๆ ดิบๆ ชาวป๋ายจะหั่นเนื้อเป็นฝอยๆ คลุกเคล้ากับขิงซอย กระเทียม น้ำส้มถือเป็นอาหารเลิศรสของชาวป๋ายเลยทีเดียว



สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของชาวป๋ายคือการแต่งกาย แต่การแต่งกายของชาวป๋ายในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน อย่างชาวป๋ายที่อยู่ที่เมืองต้าหลี่ ชายชาวป๋ายจะโพกหัวด้วยผ้าสีขาวหรือน้ำเงิน สวมเสื้อสีขาวปกสีดำ สวมเอี๊ยมทับด้านนอก สวมกางเกงสีขาว สะพายกระเป๋าปักลายสวยงามจากฝีมือสาวชาวป๋าย ส่วนสตรีสวมเสื้อสีขาว และใส่เอี๊ยมสีดำหรือสีม่วงปักลายงดงามไว้ด้านนอก สวมกางเกงขากว้างสีน้ำเงิน ที่เอวรัดด้วยผ้าปักลายดอกไม้ สวมรองเท้าปักลวดลายสวยงาม สวมกำไลโลหะ นิ้วสวมแหวนอัญมณีสีสวย ใส่ตุ้มหูเงิน หญิงที่แต่งงานแล้วจะมวยผม สาวที่ยังไม่แต่งงานถักเปียปล่อยลงด้านหลัง



บ้านของชาวป๋ายในแต่ละที่ก็แตกต่างกัน บางที่แบ่งเป็น 3 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนที่พักอาศัย ส่วนเลี้ยงสัตว์ และส่วนที่เป็นสวน บางที่สร้างด้วยอิฐ มุงหลังคากระเบื้องแบ่งเป็น ห้องนอน ห้องครัว คอกสัตว์ ส่วนบ้านของชาวป๋ายที่อยู่บนภูเขาสร้างด้วยไม้หลังคามุงจาก ห้องครัวกับห้องนอนอยู่ด้วยกัน ไม่ได้แยกเหมือนชาวป๋ายบนพื้นราบ



ชาวป๋ายดั้งเดิมนับถือเทพประจำเผ่า เทพประจำเผ่าบ้างเป็นเทพตามธรรมชาติ บ้างเป็นกษัตริย์ที่เคยปกครองเมืองมาก่อน บ้างเป็นขุนนางทหารกล้า จนถึงสมัยถังเมื่อศาสนาพุทธเผยแพร่เข้ามาชาวป๋ายก็เริ่มนับถือพุทธศาสนา ชาวป๋ายที่เอ๋อร์ห่าย(洱海 Ĕrhǎi) เริ่มนับถือพุทธศาสนาเป็นกลุ่มแรก ต่อมาในสมัยหยวนและหมิงพุทธศาสนาได้กระจายไปทั่วดินแดนจีน ชาวป๋ายทุกที่จากเดิมที่เคยนับถือลัทธิถือผี เทพชนเผ่า บูชากษัตริย์ขุนนาง กลับหันมานับถือศาสนาพุทธทั้งหมด



เทศกาลที่สำคัญและยิ่งใหญ่ของชาวป๋ายคือ ซานเยว่เจีย(三月街Sānyuèjiē) “ถนนเดือนสาม” หรือเรียกอีกชื่อว่า กวานอินซื่อ (观音市Guānyīn shì) “เมืองเจ้าแม่กวนอิม” เทศกาลนี้จัดเป็นประจำทุกวันที่ 15 ถึง 20 ในเดือนมีนาคมของทุกปี โดยจัดเทศกาลยิ่งใหญ่นี้ขึ้นที่เชิงเขาเตี่ยนชาง เมืองต้าหลี่ เดิมทีเป็นเทศกาลทางพุทธศาสนา แต่ต่อมากลายเป็นเทศกาลพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนสิ่งของเครื่องใช้ของชาวป๋าย ในสมัยหมิงและชิงพ่อค้าจากเสฉวนและทิเบตมุ่งหน้าสู่ต้าหลี่เพื่อค้าขายในเทศกาลดังกล่าว หลังก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เทศกาลนี้พัฒนามาเป็นงานประเพณีที่ต้องจัดทุกปี และเป็นงานพบปะสัมพันธ์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ ในละแวกเดียวกัน



เทศกาลสำคัญและยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันอีกเทศกาลหนึ่งคือ เทศกาลคบเพลิง(火把节Huǒbǎ jié) เทศกาลนี้จะจัดขึ้นทุกๆ วันที่ 25 เดือน มิถุนายนของทุกปี เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองก่อนการเก็บเกี่ยวเพื่อสร้างสิริมงคล อวยพรให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตราบรื่น ได้ผลิตผลงดงาม และอยู่เย็นเป็นสุข คืนแรกของเทศกาลนี้ชาวป๋ายจะจุดคบเพลิงปักไว้ที่หน้าบ้าน และมีคบเพลิงใหญ่อยู่กลางหมู่บ้าน ปักธงแดงและเขียวทั่วหมู่บ้าน เขียนคำอวยพร คำมงคลติดไว้ทั่วไป หมู่บ้านชาวป๋ายจะฉลองเทศกาลนี้เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ในช่วงเทศกาลนี้จิตใจของชาวป๋ายเต็มไปด้วยความสุขและความหวังดั่งเปลวไฟที่ลุกโชนส่องสว่างทั่วทั้งหมู่บ้าน



[1] คำว่า “หมาน” (蛮mán) เป็นคำที่ภาษาจีนใช้เรียกชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ในสมัยโบราณ







2 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีค่ะ หนูเป็นนักศึกษาจีนพอดีเป็นชนเผ่าป๋ายเหมือนกัน หนูอยากทำงานวิจัยเกี่ยวกับชนเผ่าป๋าย ขอถามว่ายังมีเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องแนะนำให้ไหมคะ ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ปู่ทวดผมเป็นคนไป๋ส่วนย่าทวดผมเป็นไต่เล้อสิบสองปันนา อพยบไปอยู่เชียงตุง จนปู่และย่าผมได้อพยบมาอยู่เชียงใหม่เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วครับ ผมอายุ66ปีแล้วและสนใจเรียนรู้วัฒนธรรมไป๋และไต่เล้อมากครับ.ผมพูดภาษาไทย จีน และ ไต่เล้อครับ.

      ลบ