วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

38. 普米族ชนกลุ่มน้อยเผ่าผูหมี่
























ชนเผ่าผูหมี่ มีถิ่นฐานอยู่ในเขตอำเภอและเมืองต่างๆ ได้แก่ หลานผิง(兰坪Lánpínɡ) ลี่เจียง(丽江Lìjiānɡ) เหวยซี(维西Wéixī) หย่งเซิ่ง(永胜Yǒnɡshènɡ) และเขตปกครองตนเองเผ่าอี๋ (彝族Yí Zú) อำเภอหนิงล่าง (宁蒗Nínɡlànɡ) นอกจากนี้ยังมีบางส่วนอาศัยอยู่อำเภอเหยียนหยวน(盐源Yányuán) และเขตปกครองตนเองทิเบตอำเภอมู่หลี่(木里Mùlǐ) ของมณฑลเสฉวน จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าผูหมี่มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 33,600 คน ใช้ภาษาผูหมี่ จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า ชาวผูหมี่ที่อำเภอหนิงล่างเคยใช้ภาษาเขียนของภาษาทิเบต แต่ไม่เป็นที่นิยม ปัจจุบันใช้ภาษาจีน


ชาวผูหมี่ในแต่ละท้องถิ่นมีชื่อเรียกตัวเองต่างกัน ชาวผูหมี่ที่ลี่เจียง (丽江Lìjiānɡ) เหวย ซี (维西Wéixī) หลานผิง(兰坪Lánpínɡ) และหย่งเซิ่ง (永胜Yǒnɡshènɡ) เรียกตัวเองว่า “ผู่อิงหมี่” (普英米Pǔyīnɡmǐ) ส่วนชาวผูหมี่ที่หนิงล่างเรียกตัวเองว่า “ผู่รื่อหมี่” (普日米 Pǔrìmǐ) หรือ “เผยหมี่” (裴米Péimǐ) ทั้งสามคำเป็นภาษาผูหมี่ มีความหมายว่า “คนขาว” ส่วนชาวฮั่นเรียกชาวผูหมี่ตามที่มีในบันทึกทางประวัติศาสตร์ด้วยชื่อว่า “ซีฟาน” (西蕃Xīfān) หรือ “ปา-จวี” ( 巴苴Bājū)


จากบันทึกทางประวัติศาสตร์มีข้อมูลเกี่ยวกับชาวผูหมี่ว่า ชาวผูหมี่เดิมเป็นกลุ่มชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนที่ราบสูงทิเบต ดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์เร่ร่อนตามบริเวณเมืองต่างๆ ของมณฑลชิงห่าย(青海Qīnɡhǎi) กานซู่(甘肃Gānsù) และเสฉวน(四川Sìchuān) ต่อมาอพยพจากบริเวณที่หนาวเย็นลงไปตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณที่ราบพื้นดินที่มีอากาศอบอุ่นกว่า ประมาณเวลาอยู่ในยุคก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 7 จากนั้นได้ตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่เป็นเขตมณฑลเสฉวนในปัจจุบัน ได้แก่ เมืองเยว่ซี (越西Yuèxī) เหมี่ยนหนิง (冕宁Miǎnnínɡ) ฮั่นหยวน (汉源Hànyuán) จิ่วหลง(九龙Jiǔlónɡ) และสือเหมียน(石棉Shímián) ในบันทึกราชวงศ์ซ่งมีการกล่าวถึงชาวผูหมี่ว่า ชนชาวผูหมี่มีความสัมพันธ์กับชาวฮั่นและชนกลุ่มน้อยอื่นๆอย่างแน่นแฟ้นมาแต่อดีตแล้ว จนถึงสมัยราชวงศ์หยวน ในช่วงที่มองโกลรุกรานเมืองต้าหลี่ ชาวผูหมี่เข้าร่วมเป็นกองกำลังกับกองทัพมองโกล แล้วทยอยเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ในบริเวณมณฑลยูนนาน ที่เมืองหนิงล่าง ลี่เจียง เหวยซี หลานผิงและหย่งเซิ่ง ในสมัยราชวงศ์หยวนชาวผูหมี่อยู่ในการปกครองของเขตลี่เจียง ต่อมาในสมัยราชวงศ์หมิงได้จัดให้ชาวผูหมี่อยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดลี่เจียง และหย่งหนิง(永宁Yǒnɡnínɡ) จนถึงสมัยชิงชาวผูหมี่ตกอยู่ในอำนาจการปกครองของหัวหน้าเมืองเหยียนหยวน และหัวหน้าเผ่าของตน


ด้านศิลปวัฒนธรรม ชาวผูหมี่รักการร้องระบำทำเพลง ในทุกๆ เทศกาล จะมีการร้องเพลงยาวโต้ตอบกัน เนื้อหาของเพลงส่วนใหญ่เป็นการบรรยายเรื่องราว ตำนาน นิทานของชนเผ่า และยังมีเพลงสั้นที่หนุ่มสาวใช้ร้องบอกรักเกี้ยวพาราสีกัน นอกจากนี้ชาวผูหมี่ยังชอบร้องเพลงชาวเขา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเพลงดนตรีที่รับมาจากชาวน่าซี ชาวป๋ายและชาวฮั่น ชาวผูหมี่มีตำนานและนิทานพื้นบ้านมากมายที่เล่าสืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ การเต้นรำล้วนสะท้อนและได้รับอิทธิพลมาจากการดำรงชีวิต เช่น ระบำเก็บเกี่ยว ระบำล่าสัตว์ ระบำทอผ้า เป็นต้น การเต้นรำรื่นเริงมีจังหวะที่เร้าใจ และมีเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า เช่น ขลุ่ยน้ำเต้า ขลุ่ยผิวเป็นดนตรีประกอบ


การแต่งกายของชาวผูหมี่ ชายสวมเสื้อผ้าป่านลำตัวสั้น สวมกางเกงขายาวและกว้าง สวมเสื้อคลุมที่ตัดเย็บด้วยผ้าทอจากขนแกะ แล้วคลุมไหล่ยาวถึงหลังด้วยขนแกะสีขาวแลดูสง่างามยิ่งนัก พันเท้าด้วยผ้าขนแกะ คล้องมีดที่เอว หญิงชาวผูหมี่ในแต่ละท้องที่แต่งกายแตกต่างกันบ้าง อย่างเช่นที่เมืองหย่งเซิ่งและหนิงล่างนิยมโพกศีรษะด้วยผ้าผืนใหญ่ สวมเสื้อผ่าอกติดกระดุม กระโปรงจีบรอบสีขาว คาดเอวด้วยผ้าย้อมหลากสี นิยมสีแดง เขียว ฟ้าและเหลือง คลุมไหล่และหลังด้วยขนแกะ ส่วนหญิงชาวผูหมี่ที่เมืองหลานผิงและเหวยซีนิยมสวมเสื้อผ่าอกติดกระดุม ลำตัวสั้นสีเขียว ฟ้าและขาว สวมเสื้อกั๊กทับด้านนอก สวมกางเกงขายาว คาดเอวด้วยผ้าปักลายดอกไม้ ใส่เครื่องประดับต่างๆ เช่น ตุ้มหูเงิน กำไล สร้อยคอ


อาหารการกินของชาวผูหมี่นิยมกินข้าวโพดเป็นอาหารหลัก รองลงมาได้แก่ ข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต เป็นต้น อาหารเนื้อได้แก่ จำพวกเนื้อหมู เนื้อวัว นิยมดื่มเหล้าและชา


ที่พักอาศัยของชาวผูหมี่สร้างด้วยไม้เป็นหลัก กำแพงบ้านใช้ไม้ท่อนเรียงต่อกันขึ้นไป ใช้ไม้แผ่นมุงหลังคา มีเสากลมสร้างเป็นโครงสี่มุม ตรงกลางมีเสาหลักขนาดใหญ่ ชาวผูหมี่เรียกว่า “เสาเทียมฟ้า” เชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของเทพต่างๆ บ้านของชาวผูหมี่สร้างเป็นสองชั้น ชั้นล่างเป็นคอกสัตว์ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย ในส่วนบริเวณที่อยู่อาศัยแบ่งเป็นส่วนทำครัวไว้ตรงกลาง และถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางที่สำคัญที่สุดของบ้าน ก่อขึ้นเป็นเตาสามขา ด้านหลังตั้งศาลบูชาเทพเจ้า ภายนอกบ้านแขวนเขาวัว เขาแกะ ยิ่งแขวนมากยิ่งแสดงถึงความร่ำรวยและศักดิ์ศรีของเจ้าของบ้าน


ชาวผูหมี่ที่เมืองหนิงล่างและหย่งเซิงอาศัยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ส่วนชาวผูหมี่ที่หลานผิงและเหวยซีอยู่รวมกันสองถึงสามรุ่นก็จะแยกกันไปตั้งครอบครัวใหม่ โดยลูกคนสุดท้องจะต้องย้ายออกไป แต่ละตระกูลจะสืบทอดมรดกโดยสายเลือดสายตรงเพศชาย โดยแบ่งให้ลูกทุกคนเท่าๆ กัน ให้ความเคารพกับรุ่นที่สูงกว่าในสายตระกูล ลูกของลุงไม่ว่าจะอายุมากกว่าหรือน้อยกว่า ต้องนับถือเป็นพี่ชายพี่สาว มีชาวผูหมี่ที่หนิงล่างบางส่วนยังคงยึดถือธรรมเนียมการสืบสายสกุลสายแม่อยู่ แม่เป็นใหญ่ในครอบครัว สืบทอดมรดกให้กับลูกสาว ถือว่าเพศหญิงมีสถานภาพทางสังคมสูงกว่าเพศชาย


การแต่งงานยึดถือการมีสามีภรรยาเดียว การเลือกคู่ครองพ่อแม่เป็นผู้จัดหาให้ มีการแต่งงานกับเครือญาติคือพี่สาวน้องสาวพ่อแต่งกับพี่ชายน้องชายแม่ ชาวผูหมี่แต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย หลังแต่งงานฝ่ายหญิงไม่ย้ายไปอยู่ที่บ้านฝ่ายชาย


พิธีศพของชาวผูหมี่ที่เมืองหนิงล่างกระทำโดยการเผา ที่หลานผิงและหย่งเซิ่งทำโดยการฝัง ส่วนที่เหวยซีมีทั้งเผาและฝัง


ชาวผูหมี่นับถือบูชาเทพมากมาย รวมทั้งบูชาวิญญาณบรรพบุรุษด้วย การทำพิธีกรรมต้องเชิญนักบวชประจำเผ่ามาทำพิธี นอกจากนี้ยังมีชาวผูหมี่บางส่วนนับถือศาสนาลามะ และเต๋า


เทศกาลสำคัญได้แก่ เทศกาลขึ้นปีใหม่ เทศกาลชิมอาหารใหม่ บางพื้นที่รับอิทธิพลจากชาวฮั่นมีเทศกาลเชงเม้ง เทศกาลไหว้ขนมบะจ่าง ในเทศกาลสำคัญต่างๆ มีกิจกรรมมากมาย เช่น แข่งม้า ยิงเป้า ตกกลางคืนชาวผูหมี่จะแต่งตัวงดงาม รวมตัวกันเซ่นไหว้บูชาเทพเจ้าที่เคารพนับถือ แล้วเต้นรำรอบกองไฟ ร้องเพลงชาวเขา ดื่มเหล้าเฉลิมฉลองอย่างสนุกสนานรื่นเริง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น