วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

32. 门巴族 ชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมินปา


















คัดลอกภาพจากhttp://zgmz.ccots.com.cn/userfiles/image/2008/11/20081127165015.jpg
http://i0.sinaimg.cn/2008/hd/other/2008-07-10/U2096P461T5D106544F154DT20080710154839.jpg


ชนเผ่าเหมินปามีถิ่นฐานอยู่ในเมืองเหมินหยวี (门隅Ményú) บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของเขตปกครองตนเองทิเบต ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 มีชาวเหมินปาบางส่วนหลบหนีจากการถูกกดขี่ใช้แรงงานทาสของชาวทิเบต อพยพหลบหนีไปทางตะวันออกและตั้งถิ่นฐานที่เมืองโม่ทัว (墨脱Mòtuō) จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมินปา มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 8,923 คน พูดภาษาเหมินปา จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาภาษาทิเบต-พม่า แขนงภาษาทิเบต ไม่มีภาษาเขียน ใช้อักษรทิเบต



ศิลาจารึกเมื่อปี ค.ศ.823 ของวัดเจาซื่อ (昭寺Zhāo sì) ที่สร้างอยู่ในเมืองลาซ่า (拉萨 Lāsà) เขตปกครองตนเองทิเบต (西藏Xīzànɡ) กล่าวว่า “ชาวเมิ่ง (孟族Mènɡ Zú) ร่วมกับชนเผ่าต่างๆ แย่งชิงบรรณาการกับราชสำนักถู่ฟาน (吐蕃王朝Tǔfān Wánɡcháo)” ชนชาวเมิ่งที่กล่าวถึงในที่นี้มีชาวเหมินปารวมอยู่ด้วย ในปี ค.ศ.1346 ซึ่งตรงกับยุคของราชวงศ์หยวน มีบันทึกประวัติศาสตร์ภาษาทิเบต (藏文Zànɡwén) ชื่อว่า หงสื่อ 《红史》Hónɡshǐ บันทึกไว้ว่า “อาณาเขตของยุคซงจ้านกานปู้(松赞干布Sōnɡzàn ɡānbù) ทิศใต้จรดแคว้นลั่ว (珞Luò) และแคว้นเหมิน (门Mén) ดินแดนเหล่านี้ล้วนเป็นดินแดนในการครอบครองของถู่ฟาน (吐蕃 Tǔfān)” นับจากนั้นเป็นต้นมาราชสำนักถู่ฟานมีการติดต่อสัมพันธ์กับชาวเหมินปาเรื่อยมา อาณาจักรถู่ฟานครอบคลุมไปถึงเมือง เหมินหยวี(门隅Ményú) ชุมชนของชาวเหมินปาจึงอยู่ในการครอบครองของอาณาจักรนี้ไปด้วยเช่นกัน ในขณะนั้นราชสำนักถู่ฟานได้ส่งข้าราชการชาวทิเบตมาปกครองดินแดนแถบนี้


ศตวรรษที่ 13 บริเวณเมืองเหมินหยวี ถูกจัดให้อยู่ในการปกครองของทิเบต และจัดเข้าอยู่ในแผนที่ประเทศจีนแล้ว ต่อมากลางศตวรรษที่ 14 ถึงต้นศตวรรษที่ 15 ชาวทิเบตในเมืองพ่าจู๋ (帕竹Pàzhú) มีกำลังอำนาจและครอบครองดินแดนทิเบตทั้งหมดไว้ได้ ดินแดนเหมินหยวีถูกปกครองโดยขุนนางที่ถูกลามะจู๋ปาก๋า (竹巴噶Zhúbāɡá, Drukpa) ส่งมา จนถึงกลางศตวรรษที่ 17 ดาไลที่ 5 (达赖Dálài) รวบรวมทิเบตเป็นหนึ่งเดียว และส่งขุนนางที่เป็นลูกหลานคือเหมยเหร่อลามะ(梅惹喇嘛Méirě Lǎmɑ) ลั่วจั๋วเจียฉั้ว(洛卓嘉措Luòzhuó Jiācuò) และฉั้วน่าจง(错那宗Cuò Nàzōnɡ) ไปปกครองดินแดนเหมินหยวี สร้างศาลาว่าการ สร้างวัด เพื่อดำเนินการเผยแพร่และดำเนินนโยบายการรวมชาติ จากนั้นรัฐบาลทิเบตได้จัดแบ่งการปกครองบริเวณเหมินหยวีเป็น 32 ฉั้ว (错cuò หมายถึงเมือง) จัดการดูแลบริหารราชการและเก็บภาษีอากร จนถึงศตวรรษที่ 19 ทูตราชสำนักชิงที่อยู่ที่ทิเบตร่วมมือกับทางการทิเบตรวบรวมดินแดนเหมินหยวีเข้ามาในการปกครอง โดยได้ตั้งคณะกรรมการปกครองเขตเหมินหยวีขึ้นที่เมืองต๋าวั่ง (达旺Dáwànɡ) ศูนย์กลางของเหมินหยวี คณะกรรมการปกครองนี้มีหน้าที่ปกครอง ดูแลความสงบเรียบร้อย ตัดสินข้อพิพาทขัดแย้งต่างๆ ของประชาชน ดูแลเรื่องการนับถือศาสนา และการรักษาอาณาเขต นอกจากนี้ทางการทิเบตยังดำเนินการเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีจากเขตเหมินหยวีด้วย โดยเก็บภาษีเป็นข้าวเปลือกทุกๆ 2 ปี ทั้งยังดูแลเกี่ยวกับการซื้อขายข้าวและเกลือในเขตนี้ด้วย
หลังยุคกลางศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 การล่าอาณานิคมของอังกฤษรุกรานบริเวณทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนอย่างไม่ลดละ ในปี 1914 ทางการทิเบตก่อกบฏต่อราชสำนักจีน โดยได้ลงนามสนธิสัญญาแบบลับกับอังกฤษ ให้ดินเหมินหยวี 9 หมื่นตารางกิโลเมตร ตกไปอยู่ในการครอบครองของอังกฤษ แต่ในทางประวัติศาสตร์ รัฐบาลจีนไม่ยอมรับสนธิสัญญาดังกล่าวแต่อย่างใด


ด้านระบบเศรษฐกิจและสังคม นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 หลังจากที่ลามะจู๋ปาก๋าส่งขุนนางไปปกครองเหมินหยวีแล้ว ระบบเศรษฐกิจสังคมแบบทาสชาวนาเริ่มก่อตัวขึ้นในสังคมเหมินปา ชาวทิเบตปกครองเหมินปาด้วยระบบศักดินาเป็นเวลานาน ชาวเหมินปามีชีวิตที่ลำเค็ญ และถูกกดขี่จากระบบสังคมศักดินาอย่างแสนสาหัส ปริมาณการผลิตตกต่ำมาโดยตลอด จนถึงยุคก่อนการปลดปล่อย บางชุมชนยังคงรักษาระบบสังคมบุพกาลอยู่ ชาวเหมินปามีอาชีพหลักคือการทำการเกษตร ล่าสัตว์และเก็บของป่า งานด้านอุตสาหกรรมและงานหัตถกรรมยังไม่เด่นชัดนัก ส่วนใหญ่ยังคงมีความเกี่ยวพันกับการเกษตรกรรมอยู่ งานหัตถกรรมที่สำคัญคือการจักสานไม้ไผ่ เพื่อใช้ในการเกษตร ในครัวเรือนและจำหน่ายออกสู่พื้นที่ทิเบต เครื่องมือการเกษตรล้าหลังมาก มีเครื่องมือส่วนน้อยที่ผลิตจากเหล็ก พื้นที่ทำกินกว่า 70 % ยังคงทำนาแบบไถมือและเผานา ในบริเวณเมืองโม่ทัว (墨脱Mòtuō) ยังคงใช้แรงงานวัวควายในการไถนาเพาะปลูกอยู่


ระบบสังคมของเหมินปาเหมือนกับทิเบต ชนชั้นสูง ขุนนาง และนักบวชเป็นกลุ่มชนที่ครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน พื้นที่ภูเขา และทุ่งหญ้าส่วนใหญ่ของชุมชนเหมินปา ในขณะที่ชนชาวเหมินปาส่วนใหญ่มีฐานะยากจนตกเป็นกรรมกรและทาสของชนชั้นสูงทิเบต ทาสชาวเหมินปาถูกแบ่งเป็น 2 ชนชั้นเหมือนอย่างทาสในทิเบต คือ “ช่าปา” (差巴chà bā) และ“ตุย-ฉยง” (堆穷duī qiónɡ) ในกลุ่ม “ช่าปา” ยังมีการแบ่งเป็น ช่าปาใหญ่และช่าปาเล็ก ชนชั้นทาสถูกกดขี่จากชนชั้นสูง ในชนชั้นทาสด้วยกันเอง ทาสช่าปาก็กดขี่ทาส ตุย-ฉยง อีกชั้นหนึ่ง ชาวเหมินปาอดทนอยู่ภายใต้การปกครองแบบทาสไม่ไหว จึงพยายามต่อต้านและหลบหนีอำนาจการครอบครอง ตลอดจนทำลายเส้นทางการคมนาคมอยู่บ่อยครั้ง ในชุมชนเหมินปาที่ยังคงรักษาระบบสังคมแบบบุพกาลอยู่ยังทำกินบนที่ดิน ภูเขา และทุ่งหญ้าแบบสาธารณะที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน การเพาะปลูกในพื้นที่ต้องได้รับความอนุญาตจากหัวหน้าหมู่บ้านเสียก่อน การตัดไม้เพื่อหักร้างถางพงที่ดินทำกิน ไม้ที่ได้ถือเป็นสมบัติของผู้ลงแรง ไม่ต้องเสียภาษี


ปี ค.ศ.1951 ดินแดนทิเบตได้รับการปลดปล่อยโดยสันติวิธี รัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความดูแลทุกข์สุขของราษฎร พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ ในปี ค.ศ.1959 ชาวทิเบตและชาวเหมินปาก่อความไม่สงบเพื่อต่อต้านการปกครองของรัฐบาลกลาง รัฐจึงดำเนินการปราบปรามจนสามารถปฏิวัติการปกครอง ปฏิวัติวัฒนธรรม และปฏิวัติประชาชนที่ต่อต้านได้สำเร็จ จากนั้นมา ด้วยความร่วมมือของชาวเหมินปาและการช่วยเหลือสนับสนุนของรัฐบาล ทั้งสองฝ่ายจึงร่วมมือกันก่อสร้างชุมชน พัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน ชาวเหมินปาเริ่มทำการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพิ่มปริมาณการผลิตสูงขึ้นทุกขณะ นำความอยู่ดีกินดีมาสู่ชุมชนชาวเหมินปา นอกจากนี้รัฐยังสนับสนุนการก่อสร้างระบบคมนาคม สาธารณูปโภค สาธารณสุข การศึกษา คุณภาพชีวิตของชาวเหมินปาได้รับการดูแล และปรับเปลี่ยนจากสังคมบุพกาล ศักดินา เข้าสู่สังคมสมัยใหม่ มีสิทธิในการปกครองดูแลชุมชนของตนเอง มีสิทธิทางการเมือง และการปกครอง ชาวเหมินปาไม่น้อยมีความรู้ความสามารถ ได้รับการศึกษาที่ดี มีโอกาสเข้ารับราชการในหน่วยงานของรัฐทั่วไป เป็นกำลังสำคัญร่วมกันพัฒนาชาติ


ด้านศิลปะและวรรณกรรมของชาวเหมินปา ชนเผ่าเหมินปาเป็นกลุ่มชนที่มีวรรณกรรมมุขปาฐะมากมายและหลากหลายที่สุดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะวรรณกรรมในลักษณะเพลงกลอนของชาวเหมินปาโดดเด่นมาก ประเภทของเพลงแบ่งตามเนื้อหาได้เป็น
1. เพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการดำรงชีพ ขนบธรรมเนียม จิตใจ ปณิธานความตั้งใจ และความมุ่งมาดปรารถนา เรียกเพลงประเภทนี้ว่า “ซ่าหม่า” (萨玛sàmǎ)
2. เพลงที่เกี่ยวกับความรัก การเกี้ยวพาราสี ร้องโต้ตอบกันของชายหญิงเรียกว่า “เจียหลู่” (加鲁jiālǔ)
3. เพลงที่ร้องเล่น สนุกสนาน รื่นเริง เรียกว่า “ตงซานปา” (东三巴dōnɡsānbā)

ลักษณะเด่นอีกอย่างของเพลงเหมินปาคือมีฉันทลักษณ์และสัมผัสที่เคร่งครัด เพลงหนึ่งเพลงมี 4 บรรทัด เมื่อขึ้นบทกลอนใหม่ก็ร้องทำนองเพลงเดิมวนเวียนกลับไปมา เนื้อหาของเพลงส่วนใหญ่เป็นการเปรียบเทียบ โดยเฉพาะเพลงรัก จะไม่ใช้คำพูดที่สื่อสารกันตรงไปตรงมา แต่จะใช้การเปรียบเทียบ และให้ผู้ฟังตีความ นอกจากนี้ยังมีงิ้วเหมินปาที่พัฒนามาจากการเต้นรำพื้นบ้าน ทั้งยังได้รับอิทธิพลจากทิเบต ดังนั้นเรื่องราวที่แสดงมักเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา การต่อสู้ และการแก้แค้น


ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ชายหญิงชาวเหมินปาใส่ชุดเสื้อคลุมยาวทั้งตัว สวมหมวกคลุมผมด้านหน้า คลุมด้วยผ้าสักหลาดลักษณะคล้ายกับที่คาดผมสีแดงหรือดำ สวมรองเท้าบู๊ทที่ทำจากหนังวัว ตัดเย็บประดับประดาด้วยผ้าสีแดงหรือดำ หญิงชาวเหมินปาคาดเอวด้วยผ้าขาว หรือสวมผ้าถุงสีขาว ชอบสวมเครื่องประดับกำไล สร้อย แหวนที่ร้อยด้วยลูกปัดสีแดง ขาวและฟ้า


ด้านอาหารการกินของชาวเหมินปา ชาวเหมินปากินข้าว ข้าวโพดและข้าวสาลีเป็นอาหารหลัก ชอบกินเนย ชอบอาหารรสเผ็ด มีอาหารที่เป็นที่นิยมอีกอย่างคือ อาหารที่ใช้ข้าวสาลีบดเป็นแป้ง ผสมน้ำ นวดแล้วปั้นเป็นลูกกลม ทอดด้วยมันเนย ถือเป็นอาหารหลักอีกอย่างหนึ่งของชาวเหมินปา


ชาวเหมินปาสร้างบ้านด้วยไม้ มุงหลังคาด้วยไม้ไผ่หรือหญ้ามัดเป็นตับ ตัวบ้านสร้างเป็นสองหรือสามชั้น หลังคาบ้านสร้างเป็นรูปจั่ว ชั้นบนเป็นที่พักอาศัย ชั้นล่างเป็นที่เลี้ยงสัตว์


การแต่งงานของชาวเหมินปายึดถือแบบมีสามีภรรยาคนเดียว แต่ในอดีตผู้ชายสามารถแต่งงานมีภรรยาได้หลายคน หรือพี่สาวน้องสาวมีสามีคนเดียวกัน การแต่งงานไม่จำกัดอยู่เฉพาะในชนเดียวกัน ที่ผ่านมาชาวเหมินปายังสามารถแต่งงานข้ามเผ่ากับชาวทิเบต ลั่วปา และชาวฮั่นได้ มีข้อกำหนดห้ามแต่งงานกับญาติสายตรงฝ่ายพ่อ ส่วนการแต่งงานระหว่างน้องสาวพี่สาวพ่อแต่งกับพี่ชายน้องชายแม่ ถือเป็นการแต่งงานที่ได้รับความนิยมว่าดีที่สุด ชายหญิงชาวเหมินปาเลือกคู่ครองได้อิสระ แต่การแต่งงานพ่อแม่จะจัดการให้ สถานภาพทางครอบครัวของชาวเหมินปาชายและหญิงเท่าเทียมกัน บางครอบครัวมีหัวหน้าครอบครัวเป็นฝ่ายภรรยามีหน้าที่ดูแลเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของครอบครัว บางครั้งมีสถานภาพและอำนาจในบ้านสูงกว่าสามี การแต่งงานฝ่ายชายจะแต่งฝ่ายหญิงเข้าบ้าน แต่ก็มีไม่น้อยที่เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายชายจะย้ายไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง ชายที่แต่งงานเข้าบ้านฝ่ายหญิงมีสิทธิในบ้าน สิทธิในมรดกเหมือนลูกในสายเลือดของบ้านภรรยา


พิธีศพของชาวเหมินปาทำโดยการฝัง หรือการลอยน้ำ นอกจากนี้ในบางท้องที่ยังมีการทำพิธีศพด้วยการเผา และทิ้งให้แห้งในป่า


ด้านศาสนาและความเชื่อ ชาวเหมินปานับถือศาสนาลามะ (喇嘛教Lǎmɑ jiào) แต่บางท้องที่นับถือศาสนาแบบบุพกาล คือการนับถือผีและวิญญาณ ชาวเหมินปาใช้ปฏิทินทิเบต เทศกาลปีใหม่ตามการนับปฏิทินของทิเบตถือเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุด นอกจากนี้ ทุกๆ เดือน 7 ชาวเหมินปามีการเฉลิมฉลองเทศกาลที่ชื่อว่า วั่งกว่อ(旺果节,望果节Wànɡ ɡuǒ jié) เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองในช่วงก่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผล เป็นการรอคอยการเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยความหวัง





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น