วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

27. 黎族 ชนกลุ่มน้อยเผ่าหลี
























ชนกลุ่มน้อยเผ่าหลีอาศัยอยู่ตามเชิงเขา บริเวณตอนใต้ของมณฑลห่ายหนานในเขตตำบล ฉยง-จง(琼中Qiónɡzhōnɡ) ป๋ายซา(白沙Báishā) ชางเจียง(昌江Chānɡjiānɡ) ตงฟาง (东方Dōnɡfānɡ) เล่อตง(乐东Lèdōnɡ) หลิงสุ่ย(陵水Línɡshuǐ) ป่าวถิง(保亭Bǎo tínɡ) เมืองทงสือ (通什Tōnɡshí) เมืองซานย่า(三亚Sānyà) และยังมีกระจายอาศัยอยู่ทั่วไปบริเวณมณฑลห่ายหนาน เช่น ที่ตำบลว่านหนิง (万宁Wànnínɡ) ถุนชาง(屯昌Túnchānɡ) ฉยงห่าย(琼海Qiónɡhǎi) เฉิงม่าย (澄迈Chénɡmài) ตานเซี่ยน (儋县Dānxiàn) ติ้งอาน(定安Dìnɡ’ān) โดยมีสำเนียงภาษาและการแต่งกายแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ ชื่อเรียกตัวเองก็แตกต่างกันด้วย เช่น ปั้น(伴Bàn) ฉี(岐Qí) ฉี่ (杞Qǐ) เหม่ยฝู (美孚Měifú) เปิ่นตี้ (本地Běndì) เป็นต้น จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าหลีมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,247,814 คน ภาษาที่พูดคือภาษาหลี จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาจ้วง-ต้ง แขนงภาษาหลี ปี 1957 ประดิษฐ์อักษรขึ้นใช้โดยใช้อักษรลาติน
ชนชาวหลีสืบเชื้อสายมาจากชนร้อยเผ่าโบราณที่ชื่อ ป่ายเยว่(百越Bǎiyuè) ในอดีตชาวฮั่นมีคำเรียกชนกลุ่มน้อยทางตอนใต้หลายชื่อ โดยไม่ได้แบ่งว่าเป็นชนกลุ่มใด เป็นชื่อที่เรียกรวม ๆ กัน เช่น ในสมัยซีฮั่นเรียกว่าลั่วเยว่ (骆越 Luòyuè) สมัยตงฮั่นเรียกว่า หลี่ (里 Lǐ) หมาน (蛮 Mán) สมัยสุยและถังเรียกว่าหลี่ (俚Lǐ) เหลียว(僚Liáo) บรรพบุรุษของชาวหลีที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เกาะห่ายหนานก็รวมอยู่ในชนกลุ่มน้อยดังกล่าว จนกระทั่งปลายสมัยราชวงศ์ถังจึงเริ่มมีชื่อเรียกชนกลุ่มน้อยที่ห่ายหนานว่า “หลี” (黎Lí) ถึงสมัยซ่งจึงกำหนดให้มีการเรียกชื่อชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้เป็นที่แน่นอน และเรียกต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า ยุคหินใหม่ที่สำรวจพบบนเกาะห่ายหนานมีประมาณ 130 แห่ง แต่ละแห่งมีอายุกว่าห้าพันปี นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่าเจ้าของยุคหินใหม่ หรือกล่าวได้ว่าผู้ที่มีชีวิตอยู่ในยุคหินใหม่ดังกล่าวก็คือ “บรรพบุรุษของชาวหลี” นั่นเอง นับเป็นชนกลุ่มแรกที่ดำรงชีวิตและบุกเบิกเกาะห่ายหนาน ในสมัยฉินและฮั่น ชนบนเกาะห่ายหนานมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับราชสำนักฮั่น จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ส่งกองกำลังบุกเบิกพื้นที่บริเวณ เกาะฉยง (琼岛Qiónɡ dǎo) สร้างเมืองใหม่ชื่อ จูหยา (珠崖Zhūyá) และตานเอ่อร์ (儋耳Dān’ěr) อพยพชาวฮั่นจากแผ่นดินใหญ่สู่เกาะห่ายหนานตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ร่วมกับชาวหลี จากนั้นกลุ่มชนจากแผ่นดินใหญ่ประกอบด้วยชาวฮั่น ชาวเหมียวและชาวหุยได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานที่เกาะห่ายหนานอีกระลอกใหญ่ การอพยพเข้ามาของคนจากแผ่นดินใหญ่ในครั้งนี้ได้นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร เครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยเข้ามา ชาวหลีจึงได้พัฒนาจากยุคหินใหม่เข้าสู่ยุคเครื่องมือเหล็กไปในคราวนี้ ทำให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ผู้คนมีฐานะดีขึ้น ชุมชนชาวหลีเริ่มเข้าสู่ระบบสังคมเศรษฐกิจแบบสังคมศักดินานับแต่นั้นมา
ยุคเริ่มต้นของสมัยหนานเป่ยและสมัยสุย อำนาจการควบคุมของราชสำนักต่อชนบนเกาะห่ายหนานมีเสถียรภาพและแข็งแกร่งมากขึ้น ผู้นำชนเผ่าหลี่ (俚Lǐ) และเหลียว(僚Liáo) รวมตัวกันกับชาวเยว่ (越人Yuè rén) กลุ่มอื่นๆกว่าพันคนเข้าสวามิภักดิ์ต่อราชสำนักเหลียว ต่อมาในราชวงศ์สุยเรืองอำนาจชาวหลี่ก็เข้าสวามิภักดิ์อยู่ในปกครองของราชวงศ์สุย ทำให้ชนในเกาะห่ายหนานมีสัมพันธ์สนิทแน่นมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชนในแผ่นดินใหญ่ นำการพัฒนาและความเจริญจากแผ่นดินใหญ่สู่เกาะห่ายหนานมาโดยตลอด ในสมัยถังและซ่งความสัมพันธ์ของชนบนเกาะห่ายหนานกับแผ่นดินใหญ่ ยิ่งเพิ่มความสนิทแน่นกลมเกลียวมากยิ่งขึ้น เกาะห่ายหนานเป็นปราการสำคัญทางการค้าของแผ่นดินใหญ่กับประเทศแถบทะเลจีนใต้ ราชสำนักถังจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนา และการรวบรวมเกาะห่ายหนานเข้าเป็นดินแดนของประเทศจีนเป็นอย่างมาก ผลิตผลที่ได้จากเกาะห่ายหนานได้แก่ ทองคำ เงิน ไข่มุก กระและเครื่องเทศ ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องราชบรรณาการที่เกาะห่ายหนานต้องส่งให้กับราชสำนักถังเท่านั้น แต่ยังเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญมากในสมัยนั้นอีกด้วย ในขณะเดียวกันระบบสังคมแบบศักดินาในชุมชนชาวหลีในขณะนั้นก็เข้มแข็งขึ้นมาก ผู้ใช้แรงงานชาวหลีจึงหนีไม่พ้นการถูกกดขี่ข่มเหงเยี่ยงทาสจากชนชั้นสูงและกลุ่มนายทุน
ปลายสมัยราชวงศ์ซ่งจนถึงต้นสมัยราชวงศ์หยวน หัตถกรรมทอผ้าพื้นเมืองของชาวหลีได้พัฒนาขึ้นจนมีชื่อเสียงไปทั่ว มีตำนานสาวทอผ้านางหนึ่งคือ หวงเต้าโผ (黄道婆Huánɡ Dàopó) หลบหนีการทารุณกรรมของครอบครัวในสังคมศักดินาไปอาศัยอยู่ที่เมืองหยาโจว (崖州Yázhōu) และพำนักอยู่ที่นั่น 40 กว่าปี ช่วงเวลานั้นได้เรียนรู้เทคโนโลยีการทอผ้าจากชาวหลี ต่อมาเมื่อกลับไปบ้านเกิดที่ตำบลหัวจิง อำเภอซ่างห่าย (上海县华泾镇Shànɡhǎixiàn Huájīnɡ zhèn) ก็ได้นำวิธีการทอผ้าของชาวหลีประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีปัจจุบันประดิษฐ์เครื่องมือทอผ้าที่มีพัฒนาการล้ำหน้า ผ้าทอที่ได้มีความงดงาม สร้างคุณประโยชน์แก่วงการทอผ้าของจีนมหาศาล จนถึงต้นราชวงศ์หยวน มีการกำหนดนโยบายการรวมดินแดนเกาะห่ายหนานเป็นดินแดนในอารักขา ระบบสังคมแบบการแบ่งชนชั้นของชาวหลีก็เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น
ในสมัยหมิงและชิง ระบบสังคมแบบศักดินาและเจ้ากรรมสิทธิ์ที่ดินฝังรากลึกลงในสังคมชาวหลี ปริมาณการผลิตของชาวหลีมีปริมาณไม่แตกต่างไปจากชาวฮั่นมากนัก ผลิตผลจำพวกหมาก มะพร้าวและเขาวัวเป็นสินค้าสำคัญที่ส่งเข้ามาขายในแผ่นดินใหญ่ แต่ยังมีชาวหลีในบริเวณชายเขาอู๋จื่อ (五指山Wúzhǐ shān) ยังคงรักษาระบบสังคมแบบโบราณอยู่ คือระบบการเกษตรแบบสังคมสาธารณะ
ด้านเศรษฐกิจสังคม ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวหลีดำเนินชีวิตอยู่ด้วยการเกษตร เพาะปลูกพืชจำพวกข้าว มัน และข้าวโพด นอกจากนี้ยังประกอบอาชีพการประมง การปศุสัตว์จำพวกสัตว์ปีกและเก็บของป่า ผลิตภัณฑ์ด้านงานฝีมือยังไม่มีการพัฒนามากนัก แม้ว่าระบบสังคมชาวหลีในช่วงดังกล่าวเป็นแบบสังคมศักดินา แต่การพัฒนาระบบสังคมไม่มีความมั่นคงและแน่นอน ในแต่ละพื้นที่สามารถแบ่งออกเป็นสองแบบคือ ระบบสังคมแบบกึ่งอาณานิคมกึ่งศักดินา ระบบสังคมแบบนี้ครอบคลุมพื้นที่ชาวหลีกว่า 94% และระบบสังคมแบบเจ้ากรรมสิทธิ์ที่ดินพัฒนาไปเร็วมาก อันเป็นผลมาจากการเช่าที่ดินทำกิน การขูดรีดดอกเบี้ย การจ้างแรงงานแบบทาส ในระยะนี้มีชนชั้นคนรวยที่ครอบครองที่ดินมากถึงเป็นพันไร่ มีวัวควายในครอบครองถึงพันตัว ระบบสังคมเศรษฐกิจอีกแบบหนึ่งได้แก่ ระบบสังคมแบบที่ดินสาธารณะ เกิดขึ้นในชุมชนชาวหลีที่อาศัยอยู่บริเวณกลางชายเขาอู๋จื่อซาน ชุมชนนี้มีการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมกัน ในแต่ละบ้านมีหัวหน้าครอบครัว สมาชิกในครอบครัวแบ่งงานกันทำอย่างเคร่งครัด ผลผลิตที่ได้แบ่งปันกันอย่างเท่าเทียม แม้จะได้รับวิวัฒนาการด้านเครื่องไม้เครื่องมือการเกษตรจากชาวฮั่นที่อพยพเข้ามา แต่วิธีการทำการเกษตรยังใช้วิธีดั้งเดิม คือใช้วัวควายไถนา ดำนาด้วยมือ ไม่ใช้ปุ๋ย และเผาที่นา ทำให้ผลผลิตที่ได้จากบริเวณนี้ค่อนข้างต่ำ การลงแขกทำนา หรือที่ภาษาหลีเรียกว่า เหวินเม่า (纹茂Wénmào) หมายความว่า “ร่วมมือร่วมแรง” เป็นวิธีการทำนาที่พบมากในชุมชนชาวหลีที่ชายเขาอู่จื่อซาน ผู้ลงทุนต้นกล้าจะรวบรวมกำลังคนที่มีทั้งญาติพี่น้องในสายตระกูลเดียวกัน และคนที่เข้ามาขอร่วมลงแรง ผลผลิตที่ได้กลับไปเป็นของเจ้าของต้นกล้า และจะแบ่งผลผลิตให้กับผู้มาร่วมลงแรงเป็นค่าตอบแทน
ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชุมชนชาวหลียังคงรักษาระบบสังคมแบบเดิมอยู่ เรียกว่า “ถงหรือกง” (峒,弓Tónɡ,Gōnɡ) ระบบสังคมแบบนี้มีการแบ่งที่ดินทำกินตามกลุ่มเครือญาติที่มีขอบเขตชัดเจน ห้ามรุกล้ำซึ่งกันและกัน หากมีการรุกล้ำที่ดินทำกินเกิดขึ้นจะถือเป็นโทษอย่างหนัก ทุกๆ “ถง” จะมีผู้อาวุโสที่สุดเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่รักษาและดูแลอาณาเขตของตน รวมทั้งแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆระหว่าง “ถง” หากเป็นคดีร้ายแรง จะมีการรวมตัวกันของหัวหน้า “ถง” เพื่อประชุมลงมติตัดสินปัญหา ในอดีตที่ผ่านมาแต่ละ “ถง” ประกอบด้วยคนในเครือญาติ แต่จากผลของความเข้มแข็งของระบบศักดินา “ถง” อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของส่วนราชการ หัวหน้า “ถง” เป็นเพียงผู้ที่อยู่ภายใต้อำนาจการดูแลและปกครองของทางการเท่านั้น
ต้นปี 1948 ชาวหลีได้รับการปลดปล่อย รัฐบาลดำเนินการปฏิรูปที่ดินทำกิน และปฏิวัติวัฒนธรรม จากนั้นเป็นต้นมา ด้วยความช่วยเหลือของรัฐบาลและความร่วมมือของชาวหลีเอง ดินแดนที่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวหลีพัฒนารุดหน้าไปมาก มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร การศึกษาและการสาธารณสุข ชาวหลีเริ่มมีการเพาะปลูกและทำการเกษตรแบบใหม่ มีการปลูกพืชเศรษฐกิจมากมายเช่น ต้นยาง พืชน้ำมัน อ้อย พริกไทย กาแฟ มะม่วงหิมพานต์และผลไม้ต่างๆ สร้างรายได้อย่างงดงามให้กับชาวหลี การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมก็เริ่มเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยในปี 1988 หลังจากที่เกาะห่ายหนานได้รับการรับรองจากรัฐบาลจีนว่าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีน การดำเนินการด้านธุรกิจการค้ากับทั้งในและต่างประเทศพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว พลิกผันชีวิตชาวหลีไปสู่ความสุขสบายและความกินดีอยู่ดีเรื่อยมา
ด้านศิลปวัฒนธรรม ชาวหลีแม้จะไม่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง แต่วรรณกรรมพื้นบ้านมุขปาฐะที่สืบทอดและพัฒนามาจากรุ่นสู่รุ่นก็ไม่ด้อยไปกว่าชนเผ่ากลุ่มอื่นๆ มีรูปแบบเนื้อหาและเรื่องราว มากมาย ที่สำคัญได้แก่ นิทาน ตำนาน เทพนิยาย นิทานอีสป บทสวดบูชาเทพเจ้า วรรณกรรมที่มีชื่อเสียง เช่น เรื่อง 《人龚的起源》Rénɡōnɡ de qǐyuán “ต้นกำเนิดของชาวกง” เรื่อง《五指山大仙》Wǔzhǐshān dàxiān “มหาเทพแห่งเขาอู๋จื่อ” เรื่อง《洪水的传说》Hónɡshuǐ de chuánshuō “ตำนานแห่งอุทก” เรื่อง《鹿回头》Lùhuítóu “กวางเหลียวหลัง” เป็นต้น วรรณกรรมของชาวหลีสะท้อนภาพการดำเนินชีวิต และความเชื่อของชนเผ่า ตลอดจนความมุ่งมาดปรารถนาของชนเผ่าหลีได้อย่างชัดเจน
ชาวหลีรักการร้องรำทำเพลงและเต้นระบำรำฟ้อน ท่วงทำนองเพลงและการเต้นรำมีเอกลักษณ์โดดเด่น เครื่องดนตรีพื้นบ้านของชาวเผ่าหลีมี ขลุ่ยจมูก แตร เกราะ กลองรำมะนา โหม่ง เพลงพื้นเมืองมีสองแบบหลักๆ ได้แก่ เพลงร้องที่แต่งเนื้อร้องเป็นภาษาฮั่น ร้องด้วยทำนองเพลงเผ่าหลี เรียกเพลงชนิดนี้ว่า “เพลงภาษาฮั่นทำนองหลี” (汉词黎调Hàn cí Lí diào) อีกลักษณะหนึ่งคือเพลงพื้นเมืองภาษาหลี เรียกชื่อว่า บทเพลงพื้นเมืองเผ่าหลี (黎谣正调Lí yáo zhènɡ diào) เนื้อหาของเพลงมีความหลากหลายมาก เช่น เพลงร้องในระหว่างการทำงาน เพลงที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิต เพลงรัก เพลงสรรเสริญ เพลงพิธีกรรม เพลงเล่าเรื่อง เพลงเบ็ดเตล็ด เป็นต้น การขับร้องก็มีหลายแบบเช่น ร้องเดี่ยว ร้องคู่ ร้องหมู่ ร้องต่อกลอน ร้องประสานเสียง เป็นต้น
การเต้นรำของชาวหลีพัฒนามาจากวิถีการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ การบูชาเทพเจ้าและบรรพบุรุษ ที่เป็นที่นิยมได้แก่ 《招福舞》Zhāofú wǔ “ระบำขอพร”《打柴舞》Dǎchái wǔ “ระบำตัดฟืน”《舂米舞》Chōnɡ mǐ wǔ “ระบำตำข้าว” เป็นต้น ในการเต้นรำชาวหลีจะใช้เครื่องประกอบจังหวะและร้องเพลงขับขานเสียงดังกังวานประกอบดนตรี อันเป็นบรรยากาศของความสนุกสนานรื่นเริง ความอิสระเสรีและมีสุข
ศิลปะและงานหัตถกรรมฝีมือของชาวหลีที่ลือชื่อคือการปักผ้าแพร ในสมัยถังและซ่ง เทคโนโลยีการทอและปักผ้าของชาวหลีพัฒนาไปไกลกว่าแผ่นดินใหญ่มาก กรรมวิธีการทอผ้าของชาวหลีเริ่มตั้งแต่การเก็บสำลี ตีฝ้าย กรอเส้นด้าย ย้อมสี จัดลาย ทอ ปักลาย ผ้าทอมือที่ได้นำไปผลิตเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ผ้าห่ม และผลิตภัณฑ์จากผ้าใช้ในครัวเรือนและส่งออกขายทั้งในเกาะห่ายหนาน แผ่นดินใหญ่และต่างประเทศ ปัจจุบันผ้าห่มและผ้าแพรปักสองหน้าที่มาจากฝีมือชาวหลี มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและนิยมไปทั่ว นอกจากนี้งานแกะสลักไม้และงานจักสานผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ที่เป็นงานฝีมือเฉพาะตัวของชาวหลีก็มีชื่อเสียงไม่แพ้กัน
ด้านขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม ชาวหลีสร้างครอบครัวเล็กๆ การแต่งงานเป็นแบบสามีภรรยาคนเดียว สืบสายตระกูลสายตรงโดยเพศชาย เมื่อลูกชายหญิงโตเป็นหนุ่มสาวจะแยกเรือนอยู่ต่างหาก ครอบครัวใหม่แยกการกินอยู่กับพ่อแม่ ในสมัยก่อนชาวหลีแต่งงานกันตั้งแต่อายุยังน้อย หนุ่มสาวชาวหลีมีอิสระในการเลือกคู่ครอง แต่การแต่งงานเป็นหน้าที่ของพ่อแม่จัดการให้ หลังการแต่งงานภรรยาอยู่บ้านสามีเพียงวันเดียว หลังจากนั้นย้ายกลับบ้านเดิมสามถึงเจ็ดปี ปีที่แปดจึงย้ายไปอยู่บ้านสามี การตั้งท้องก่อนแต่งไม่ถือเป็นเรื่องผิดในสังคมชาวหลี ผู้ที่หย่าร้าง และแม่หม้ายสามารถแต่งงานใหม่ได้อย่างอิสระ
การแต่งกาย หญิงชาวหลีไว้ผมยาวเกล้าผมไว้ด้านหลังศีรษะ ปักด้วยขนเม่นหรือปิ่นปักผมที่ทำจากโลหะหรือกระดูกสัตว์ โพกศีรษะด้วยผ้าปักลวดลายงดงาม สวมเสื้อผ่าอกไม่มีปก ไม่ติดกระดุม ส่วนใหญ่มักชอบสีน้ำเงิน สวมผ้าถุงที่ทอและปักลวดลายงดงาม ในพิธีสำคัญจะสวมใส่เครื่องประดับครบชุดทั้งสร้อยคอ กำไล ต่างหู กำไลข้อเท้าที่ทำจากเงิน ต่างหูของชาวหลีนิยมใส่ให้หนัก ๆ บางรายใส่จนใบหูยานลงมาถึงบ่าเลยก็มี บางท้องที่นิยมสักลายตามร่างกายทั้งชายและหญิง ปกติแล้วการสักลวดลายตามร่างกายจะสักตั้งแต่เด็กๆ จนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ก็ยังสามารถสักลายได้จนกว่าจะแต่งงาน หลังจากแต่งงานแล้วไม่นิยมสักลาย การสักลายใช้วัสดุสักลายจำพวกเข็มและหมึกที่ได้จากธรรมชาติ บริเวณที่นิยมสักคือใบหน้า ลำคอ อก และแขนขา แต่ปัจจุบันค่านิยมเรื่องการสักลายตามร่างกายสูญหายไปแล้ว มีเพียงบางกลุ่มที่อาศัยอยู่ตามชนบทยังคงมีหลงเหลืออยู่บ้าง สำหรับการแต่งกายของชายชาวหลีนิยมโพกศีรษะด้วยผ้า สวมเสื้อผ่าอกไม่มีปก สวมกางเกงขากว้าง
เรื่องอาหารการกิน ชาวหลีกินข้าว มัน ข้าวโพดเป็นอาหารหลัก อาหารเนื้อได้มาจากการล่าสัตว์ พืชผักเก็บมาจากป่าและปลูกเองบ้างเล็กน้อย ส่วนใหญ่ได้พันธุ์พืชมาจากชาวฮั่น หญิงชาวหลีชอบเคี้ยวหมาก
ชาวหลีสร้างบ้านเรือนเป็นกระท่อมรูปจั่ว ใช้ไม้ไผ่สานเป็นตารางแล้วโบกด้วยโคลนทำเป็นฝาบ้าน บางท้องที่มุงหลังคาบ้านทรงโค้งลักษณะคล้ายกับหลังคาเรือกัญญาของไทย
พิธีศพของชาวหลีแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ กลุ่มที่อยู่ใกล้ชิดกับชาวฮั่นมีการขุดโลงไม้ใส่ศพเหมือนอย่างชาวฮั่น แล้วหาที่ตามตำราเฟิงสุ่ยเพื่อทำสุสานฝังศพ กลุ่มที่อยู่ร่วมกับชาวเหมียวฝังศพไว้รวมกับสุสานส่วนรวม ไม่ตั้งป้ายบูชาหน้าศพ หลังพิธีฝังศพไม่มีการมากราบไหว้หลุมศพ
ด้านศาสนาและความเชื่อ ไม่มีศาสนาที่นับถือเป็นศาสนาประจำเผ่า เนื่องจากการตั้งถิ่นฐานมีความกระจายมาก แต่ส่วนมากนับถือบูชาบรรพบุรุษ รวมทั้งเทพตามธรรมชาติ บางพื้นที่ยังคงนับถือโทเท็ม (图腾túténɡ) ประจำเผ่า ชาวหลีนับถือผี พิธีกรรมเกี่ยวกับการบูชากระทำเพื่อขอพรให้เทพเจ้าและผีบรรพบุรุษให้ปกปักรักษา เป็นพิธีที่สำคัญมากของชาวเผ่าหลี


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น