วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

43. 塔吉克族 ชนกลุ่มน้อยเผ่าทาจิค
















ชาวเผ่าทาจิคมีถิ่นอาศัยอยู่ที่กลุ่มปกครองตนเองทาจิค ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองอุยกูร์ (维吾尔Wéiwú’ěr,Uyghur) ตำบลทาซคูร์คาน (塔什库尔干 Tǎshí kù’ěr ɡān, Tashqorghan) มณฑลซินเจียง นอกจากนี้ยังมีกระจายอยู่ตามอำเภอต่างๆอีกคือ ซาเชอ(莎车Shāchē) เจ๋อผู่ (泽普Zépǔ) เย่เฉิง(叶城 Yèchénɡ) และผีซาน(皮山 Píshān) จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าทาจิค มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 41,028 คน พูดภาษาทาจิค จัดอยู่ในตระกูลภาษาอินโดยูโรเปียน สาขาภาษาอิหร่าน(Iranian) แขนงภาษาพามีรี(Pamiri) ใช้อักษรภาษา Uyghur


ชนเผ่าทาจิคเป็นชนเผ่าที่มีจำนวนประชากรน้อยมาก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มชนที่มีอารยธรรมยาวนานมากกลุ่มหนึ่ง คำว่า “ทาจิค” เป็นคำที่ชนเผ่านี้ใช้เรียกตนเอง จากตำนานพื้นบ้านเล่าว่า คำๆ นี้ความหมายดั้งเดิมคือ “กษัตริย์” จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า ก่อนสมัยคริสตกาล กลุ่มชนตะวันออกกลางที่พูดภาษาอิหร่านมีการติดต่อสัมพันธ์ และเดินทางไปมาหาสู่กับผู้คนในดินแดนประเทศจีนในเขตมณฑลซินเจียงแล้ว โดยเฉพาะบริเวณที่ราบสูงพามี (帕米高原Pàmǐ ɡāoyuán) ซึ่งก็เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของชาวทาจิคในปัจจุบันนั่นเอง ราวสองศตวรรษก่อนคริสตกาล จางเชียน(张骞(Zhānɡ Qiān) ถูกส่งให้ไปเป็นทูตทางภาคตะวันตก จักรพรรดิสมัยซีฮั่นรวมดินแดนทางภาคตะวันตกและก่อตั้งเป็นเมืองในการปกครอง หนทางจราจรเส้นทางหลักคือ เส้นทางทาซคูร์คาน (塔什库尔干Tǎshí kù’ěr ɡān) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เส้นทางสายไหม” บรรพบุรุษของชาวทาจิคจึงเป็นกลุ่มชนที่ถูกหลอมรวมด้วยวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออก ต่อมาวิวัฒนาการมาเป็นอารยธรรมของตนเอง


ในคริตศตวรรษที่ 2 – 3 มีกลุ่มชนหนึ่งก่อตั้งประเทศขึ้น ชื่อว่า ประเทศเซียผานถัว (蝎盘陀国Xiēpántuóɡuó) ในบริเวณเส้นทางทาซคูร์คาน ซึ่งก็คือบรรพบุรุษของชาวทาจิคนั่นเอง ต่อมาในคริตศตวรรษที่ 3–4 บรรพบุรุษของชาวทาจิคพัฒนาระบบการชลประทานและการเกษตรอย่างเป็นระบบ ดำรงชีพด้วยการทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ประเทศเซียผานถัวมีป้อมปราการทั้งหมด 12 ป้อม และมีวัดทั้งหมด 10 วัด ศาสนาประจำชาติคือศาสนาพุทธนิกายหินยาน ในยุคราชวงศ์ถังอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองอานซี (安西Ānxī) เข้าสู่สมัยราชวงศ์หยวนในระหว่างปี 713 ถึงปี 741 ทางการก่อตั้งเมืองดังกล่าวเป็นเมืองปราการ ต่อมาคริสต์ศตวรรษที่ 8 ประเทศเซียผานถัวล่มสลาย นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 – 16 เรื่อยมาดินแดนแถบเส้นทางทาซคูร์คาน ถูกปกครองโดยชนหลายกลุ่มเช่น ถู่ฟาน (吐蕃Tǔfān) ราชวงศ์คัลข่าน (喀拉汗王朝 Kālāhàn Wánɡcháo) ราชวงศ์เหลียวตะวันตก(西辽Xī Liáo) และราชวงศ์หยวนของมองโกล (蒙古元朝Měnɡɡǔ Yuáncháo)


นับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา ศาสนาอิสลามเผยแผ่เข้าสู่ราชวงศ์คัลข่านอย่างไม่ขาดสาย ชาวทาจิคจึงได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลามและยอมรับนับถือศาสนาอิสลามในที่สุด ปลายยุคราชวงศ์หมิง ใจกลางบริเวณเมืองเซ่อเล่อคู่ร์(色勒库尔Sèlèkù’ěr) เริ่มมีหมู่บ้านชาวทาจิคถือกำเนิดขึ้น นับจากศตวรรษที่17 – 19 เป็นต้นมา ชาวทาจิคที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกได้แก่ เมืองพามีร์(帕米尔Pàmǐ’ěr) และทางใต้เช่น เมืองสือเค่อหนาน(什克南Shíkènán) หว่าห่าน (瓦罕Wǎhǎn) ได้อพยพเข้าสู่ดินแดนเมืองเซ่อเล่อคู่ร์และก่อตั้งเป็นชุมชนชาว เทอร์จิคขึ้น ช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ราชวงศ์ชิงรวบรวมประเทศจีน ก็ยังคงตั้งให้เมืองทาซคูร์คานที่มีสถานะเป็นเมืองในสมัยหยวนให้เป็นเมืองปราการดังเดิม ขึ้นตรงต่อการปกครองของอุปทูตการ์ชาน(噶尔参Gá’ěr cān) การสถาปนาเมืองปราการในสมัยชิงนี้ ทำให้การติดต่อสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจระหว่างชาวทาจิคกับชาวอุยกูร์ที่อาศัยอยู่ถัดลงไปทางตอนใต้ มีความกระชับสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น


ด้านเศรษฐกิจสังคม ก่อนสมัยราชวงศ์ชิง การพัฒนาด้านระบบเศรษฐกิจและสังคมของชาวทาจิคเป็นไปอย่างช้า ๆ ช่วงปลายศตวรรษที่ 17 ชาวเชี่ยน (嵌族Qiàn zú) เข้ามาครอบครองเมืองเซ่อเล่อคู่ร์เพื่อให้ง่ายแก่การปกครองดูแลตามแบบระบบสังคมศักดินาในสมัยนั้น หัวหน้าเผ่าจึงบังคับให้ชาวทาจิคอยู่ในอาณัติและบีบบังคับเก็บภาษี บังคับใช้แรงงาน และบังคับในเรื่องการนับถือศาสนาอีกด้วย แต่ด้วยเหตุที่ประสบปัญาหาขาดแคลนเครื่องไม้เครื่องมือที่ทำจากเหล็ก ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น ชาวทาจิคยังคงทำการเกษตรตามแบบดั้งเดิม คือการใช้เขาแกะเป็นเครื่องมือไถนา ผลผลิตที่ได้ค่อนข้างต่ำ จนถึงต้นราชวงศ์ชิงชาวเมืองเซ่อเล่อคู่ร์เริ่มติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวเมืองฝูสือ (符什Fúshí) เยร์เชียง(叶尔羌 Yè’ěrqiānɡ) สินค้าจำพวกอาหาร ผ้าแพร และเหล็กจึงเริ่มหลั่งไหลเข้าสู่ชุมชนชาวทาจิค จากนั้นมาชาวทาจิคได้รับการช่วยเหลือจากชนเผ่าอื่นๆที่อยู่ใกล้ชิด เช่น ชาวฮั่น ชาวอุยกูร์ ชาวเคอร์กิส ทำให้ชาวทาจิคเริ่มรู้จักวิธีการพัฒนาระบบชลประทาน การเก็บถนอมอาหาร การขยายพันธุ์จามรีและแกะ จนสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของตนให้ดีขึ้น คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้นตามลำดับ


ช่วงก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวทาจิคที่อาศัยอยู่บริเวณเมืองผูหลี (蒲犁Púlí) ประกอบอาชีพหลักด้วยการเลี้ยงสัตว์แบบกึ่งย้ายถิ่นกึ่งประจำที่ หลังฤดูใบไม้ผลิจะต้อนฝูงแกะขึ้นไปปล่อยบนภูเขาสูง จนถึงฤดูใบไม้ร่วงต้อนกลับสู่ชุมชนดังเดิม เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตรและหลบภัยฤดูหนาว สังคมชาวทาจิคในสมัยนั้นจัดเป็นยุคของสังคมศักดินา ชนชั้นคนรวยเป็นผู้กุมอำนาจผูกขาดการปศุสัตว์ กดขี่รังแกและเอารัดเอาเปรียบการจ้างแรงงานเลี้ยงสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวทาจิคที่อาศัยอยู่แถบอำเภอซาเชอ (莎车Shāchē) ที่ดินทำกินก็เป็นกรรมสิทธิ์ของชนชั้นเจ้าศักดินา ในตำบลเจ๋อผู่ (泽普Zépǔ) เจ้าของที่ดินมีที่ดินในครอบครองมากถึง 4500 ไร่ เจ้าของที่ดินใช้วิธีแบ่งที่ดิน พันธุ์พืชและสัตว์ใช้แรงงานให้ชาวนาเช่า เมื่อได้ผลผลิตเจ้าของที่จะเก็บค่าเช่าโดยหักจากผลผลิตที่ได้ ส่วนที่เหลือจะแบ่งเป็นสองส่วนให้กับเจ้าของที่ส่วนหนึ่งและชาวนาส่วนหนึ่ง ชาวนายังต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าภาษี นอกจากนี้หลังฤดูเก็บเกี่ยว ชาวนาต้องไปทำงานรับใช้เจ้าของที่ดินเป็นเวลา 60% ของเวลาที่เช่านา ญาติพี่น้องของชาวนาก็ต้องไปทำงานรับใช้เจ้าของและญาติเจ้าของที่นาโดยไม่ได้รับค่าจ้างอีกด้วย


จนกระทั่งถึงปี 1949 ชาวทาจิคจึงได้รับการปลดปล่อยจากการถูกกดขี่ข่มเหง และสภาพชีวิตที่ยากจนแร้นแค้น ปี 1954 รัฐบาลสนับสนุนให้ชุมชนกลุ่มน้อยก่อตั้งอำเภอปกครองตนเองเผ่าทาจิคขึ้นที่อำเภอทาซคูร์คาน (塔什库尔干塔吉克自治县Tǎshí kùěrɡān Tǎjíkè zìzhìxiàn) และในขณะเดียวกันทางตอนใต้ก็ได้ก่อตั้งชุมชนทาจิคขึ้นที่อำเภอซาเชอ (莎车县Shāchē) อีกแห่งหนึ่งด้วย เขตเกษตรและเลี้ยงสัตว์ผสมผสานก็ได้ก่อตั้งขึ้นในดินแดนชาวทาจิคอย่างสมบูรณ์ จากนั้นมาเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของชาวทาจิคได้รับการสนับสนุนและพัฒนาขึ้นอย่างเข้มแข็งและรวดเร็ว ผลิตผลจากการปศุสัตว์เพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่า ด้านการเกษตรก็ได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกให้กว้างขวางขึ้น ยอดผลผลิตโดยรวมก็เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ การอุตสาหกรรมที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในชุมชนทาจิกก็เริ่มเกิดขึ้น เริ่มมีการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กและพัฒนาไปเป็นขนาดใหญ่ มีการสร้างระบบการชลประทาน โรงกำเนิดไฟฟ้า ส่องสว่างไปทั่วดินแดนขุนเขาทาซคูร์คาน ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงบริเวณห่างไกลความเจริญ ที่ราบสูงพามิรีที่ไม่มีการจราจรเข้าไปถึง ในปี 1957 รัฐบาลอนุมัติงบประมาณก่อสร้างถนนจากเมืองคาสือ (喀什Kāshí) ถึงเมืองทาซคูร์คาน (塔什库尔干Tǎshíkù’ěrɡān) ทำให้การคมนาคมไปมาหาสู่ของทั้งชาวทาจิดด้วยกันเอง และกับชนกลุ่มอื่นสะดวกสบายมากขึ้น สมัยก่อนในดินแดนที่ราบพีมิรีเป็นท้องทุ่งกว้างใหญ่ไร้แสงสีตึกรามบ้านช่องที่ใหญ่โต คงมีแต่บ้านติดพื้นเล็กๆ เป็นที่อยู่ของชาวทาจิค แต่ปัจจุบันตึกสูงใหญ่ที่เป็นที่ทำการของราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม ไปรษณีย์ ธนาคารเกิดขึ้นมากมาย


ก่อนปี 1949 ชาวทาจิคกว่า 90 % ไม่รู้หนังสือ ปัจจุบันในอำเภอปกครองตนเองทาซคูร์คาน มีการศึกษาภาคบังคับระดับประถมศึกษาแล้ว และยังก่อตั้งโรงเรียนระดับมัธยมอีกหลายแห่ง เยาวชนชาวทาจิครุ่นหลัง สามารถสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยการศึกษาชั้นสูงของประเทศจีน และจบการศึกษาออกมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศมากมาย ในด้านการสาธารณสุขในชุมชนชาวทาจิคก็ได้รับการพัฒนาขึ้นเช่นกัน แต่เดิมเมื่อเกิดการเจ็บป่วย ชาวทาจิคขาดการรักษาเยียวยาต้องทนทุกข์ทรมานกับโรคร้าย แต่ปัจจุบันมีโรงพยาบาลประจำตำบล และมีสำนักงานอนามัยในทุกหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีการส่งแพทย์อาสาไปยังถิ่นทุรกันดารเพื่อป้องกันรักษาโรคให้กับชาวทาจิคในชุมชนห่างไกลอีกด้วย ส่งผลให้สภาพชีวิตและวัฒนธรรมของชาวทาจิคได้รับการดูแลและพัฒนาขึ้นเรื่อยมา


ด้านศิลปวัฒนธรรมของชาวทาจิคมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และหลากหลาย มีการสั่งสมและสืบทอดกันมายาวนาน แต่เดิมไม่มีภาษาอักษร ชาวทาจิคถ่ายทอดกันด้วยวิธีมุขปาฐะ เพลงกลอนที่มีชื่อเสียงเช่น กลอนชื่อ《雄鹰》Xiónɡyīnɡ “จ้าวอินทรี” กลอนชื่อ《白鹰》Báiyīnɡ “อินทรีขาว” กลอนชื่อ《聪明的宝石》Cōnɡmínɡ de bǎoshí “อัญมณีผู้ปราดเปรื่อง” เป็นต้น ส่วนเพลงกลอนที่ถือเป็นตัวแทนเพลงกลอนภาษาทาจิคชื่อว่า “หม่าข่ามู่” (玛卡木Mǎkǎmù) ตำนานพื้นบ้านเช่น เรื่อง 《慕土塔格山》Mùtǔtǎɡéshān “หุบเขามู่ถูถ่าเก๋อ” เรื่อง《大同人的祖先》Dàtónɡrén de zǔxiān “ บรรพชนของพระศรีอาริยะ” เป็นต้น นอกจากนี้ชาวทาจิคยังเชี่ยวชาญการร้องรำทำเพลง เต้นระบำรำฟ้อน ดนตรีของชาวทาจิคมี เพลงลำนำ เพลงเต้นรำ เพลงจูงแกะ เพลงอาลัย เพลงรักใคร่ และเพลงบูชา เครื่องดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวทาจิคเรียกว่า “น่าอี” เป็นขลุ่ยที่ทำมาจากกระดูกของนกอินทรี และยังมีเครื่องดนตรีชื่อ 巴朗孜阔木 (bālǎnɡzīkuòmù) “พิณเจ็ดสาย” เครื่องดนตรีชื่อ 热瓦甫(rèwǎfǔ) “พิณหกสาย” ส่วนการเต้นรำส่วนใหญ่เป็นการเต้นเป็นคู่ ท่าทางการร่ายรำเลียนแบบท่าทางบินร่อนของนกอินทรี นอกจากนี้ชาวทาจิคยังมีอุปรากรพื้นบ้านแบ่งเป็นสองประเภทคือ ละครร้องกับละครพูด เรื่องที่นิยมแสดงได้แก่ เรื่อง《老少夫妻》Lǎoshào fūqī “ผัวแก่เมียสาว” ซึ่งแสดงออกถึงศิลปะ จินตนาการและความคิดของชาวทาจิคได้อย่างชัดเจน


ด้านขนบธรรมเนียม ครอบครัวของชาวทาจิคอาศัยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ โดยมีญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายที่อายุมากที่สุดเป็นหัวหน้าครอบครัว การแต่งงานยึดถือการมีสามีภรรยาเดียว ในสมัยโบราณมีการแต่งงานในสายตระกูลแบบลูกพี่ลูกน้องแต่งงานกันได้ และแต่งงานตั้งแต่อายุน้อย แต่ปัจจุบันยึดถือตามกฎหมายแต่งงานของรัฐบาลจีน


การแต่งกายของชาวทาจิคมีลักษณะพิเศษ ชายสวมหมวกกลมทรงสูง ปักด้วยขนนกสีดำ หญิงสวมหมวกกลมปักลวดลายดอกไม้ ด้านหลังของหมวกมีผ้าคลุมยาวลงไปถึงกลางหลัง เวลาออกจากบ้าน คลุมด้วยผ้าสีขาวไว้ด้านนอกอีกชั้นหนึ่ง เจ้าสาวคลุมด้วยผ้าสีแดง หญิงสาวคลุมด้วยผ้าสีเหลือง ชาวทาจิคทั้งชายและหญิงสวมรองเท้าบู้ทปลายแหลม


อาหารที่นิยมได้แก่ เนื้อ ข้าวที่ต้มด้วยนมวัว และแป้งโรตี ด้วยข้อกำหนดทางศาสนา ชาวทาจิคไม่กินเนื้อหมู เนื้อหมา เนื้อลา และเนื้อม้า รวมทั้งเลือดสัตว์และสัตว์ที่ตายตามธรรมชาติ ถือในเรื่องห้ามใช้เท้าถีบหรือเตะสิ่งของและผู้อื่น ห้ามเดินข้ามเกลือ ห้ามมองแกะออกลูก ในการสนทนาห้ามถอดหมวกออก


ชาวทาจิคสร้างบ้านด้วยปูนและไม้ สร้างเป็นบ้านชั้นเดียวติดพื้นดิน ภายในบ้านมีลักษณะเป็นห้องโถง ไม่แบ่งซอยเป็นห้องเล็ก มุมทั้งสี่ของแต่ละบ้านมีแท่นยกสูงเป็นทรงสี่เหลี่ยมตั้งอยู่ ด้านบนปูด้วยพรมหรือผ้าสักหลาด ใช้เป็นที่สำหรับนอน และนั่งพักผ่อน ในทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ก่อสร้างกระท่อมเป็นที่พักอาศัยชั่วคราว ลักษณะกระท่อมสร้างเป็นเพิงมีแต่หลังคาไม่มีฝาบ้าน เวลากินข้าว สมาชิกในครอบครัวจะนั่งรวมกันตรงกลางบ้าน


ชาวทาจิคเป็นมิตรกับแขกผู้มาเยือน มีความสุภาพเคารพซึ่งกันและกัน เมื่อผู้ชายพบหน้ากันจะจับมือกันหรือจูบที่หลังมือซึ่งกันและกัน ผู้หญิงพบกับผู้ใหญ่จะจูบหน้าผากหรือที่เปลือกตาของผู้น้อย ส่วนผู้น้อยจูบที่ฝ่ามือของผู้ใหญ่ รุ่นเดียวกันจูบหน้าผากหรือริมฝีปาก ชายหญิงพบกันจะสัมผัสมือกัน หรือฝ่ายหญิงจูบที่ฝ่ามือของฝ่ายชาย ลูกพบหน้าพ่อแม่จะต้องจูบที่ฝ่ามือพ่อแม่ เพื่อแสดงถึงความเคารพ หากไม่พบกันเป็นเวลานานการสวมกอดเป็นการแสดงความรักและความคิดถึงต่อกัน


ด้านศาสนาความเชื่อและเทศกาลสำคัญ ชาวทาจิคส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่กลับมีสุเหร่าไม่มาก ไม่ทำละหมาด ไม่ถือศีลอด แต่จะบูชาในวันพระ เทศกาลสำคัญเกี่ยวข้องกับศาสนาที่สำคัญได้แก่ เทศกาล Eid ul-Adha เทศกาลขึ้นปีใหม่ เทศกาลปาหลัวถี เทศกาลล่าสัตว์ เทศกาลฉลองพันธุ์พืช เทศกาลเรียกน้ำ ในแต่ละเทศกาลมีกิจกรรมเฉลิมฉลองมากมาย อย่างเช่น เทศกาลปีใหม่ ทุกๆครัวเรือนจะทำความสะอาดบ้านช่อง เช้าวันรุ่งขึ้นเด็กๆ จะจูงวัวเข้าบ้านแล้วเดินวนหนึ่งรอบ เจ้าของโรยแป้งลงบนหลังวัวและป้อนอาหารให้วัว จูงออกไปนอกบ้าน จากนั้นก็เป็นการอวยพรซึ่งกันและกัน เมื่อมีแขกมาอวยพร เจ้าของบ้านฝ่ายหญิงจะโรยแป้งลงบนบ่าข้างซ้ายของแขกแสดงหมายถึงความเป็นสิริมงคล


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น