วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

22. 基诺族ชนกลุ่มน้อยเผ่าจีนั่ว
























“จีนั่ว” เป็นคำเรียกที่เผ่านี้เรียกตัวเอง หมายความว่า “ทายาทของลุง” หรือ “ชนเผ่าที่เคารพลุง” (尊重舅舅的民族zūnzhònɡ jiùjiu de mínzú) อาศัยอยู่บริเวณบ้านจีนั่ว ในเขตปกครองตนเองเผ่าไตสิบสองปันนาของมณฑลยูนนาน และมีบางส่วนกระจายอาศัยอยู่บริเวณหุบเขาบ้านจีนั่ว จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าจีนั่วมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 20,899 คน พูดภาษาจีนั่ว จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต - พม่า แขนงภาษาอี๋ ไม่มีภาษาอักษร


หมู่บ้านชาวจีนั่วเดิมเรียกว่า “เขาจีนั่ว” (基诺山Jīnuòshān) พงศาวดารราชวงศ์ชิงเรียกชุมชนชาวจีนั่วว่า “โยวเล่อซาน” (攸乐山Yōulèshān) ซึ่งเป็นชื่อที่ได้มาจากคำที่ชาวจีนั่วเรียกตัวเองนั่นเอง แสดงให้เห็นว่าชาวจีนั่วเป็นชนเผ่าที่อยู่ติดดินแดนมาแต่โบราณกาลแล้ว เอกสารบันทึกภาษาจีนที่เกี่ยวข้องกับชาวจีนั่วที่เก่าแก่ที่สุดสามารถสืบค้นได้คือในสมัยศตวรรษที่ 18 ตรงกับช่วงปลายสมัยราชวงศ์หมิงต่อไปถึงต้นสมัยราชวงศ์ชิง ชาวฮั่นขยายพื้นที่การปลูกชาเข้าไปในบริเวณเขาเล่อซานและได้เผยแพร่วิธีการปลูกชาผูเอ่อร์ (普洱茶Pǔ’ěr chá) ให้กับชาวจีนั่วซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บนเขาเล่อซาน ในปี 1729 ตรงกับยุคสมัยของจักรพรรดิยงเจิงปีที่ 7 ได้สร้างป้อมปราการขึ้นที่บริเวณเขาจีนั่ว และส่งกำลังทหาร 500 คนไปประจำการ และยกฐานะให้เป็นเขตยุทธศาสตร์สำคัญ แต่เมืองยุทธศาสตร์แห่งนี้ล่มสลายไปใน 6 ปีต่อมาด้วยภัยระบาดของโรคมาลาเรีย จากนั้นมาจึงมอบหมายให้ชาวจีนั่วเป็นผู้ปกครองและดูแลบริเวณเมืองโยวเล่อแห่งนี้ ต่อมาชนชั้นศักดินาของชาวไตเข้มแข็งขึ้นและได้เข้าครอบครองบริเวณเขาจีนั่ว เข้าสู่ยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน กว๋อหมินตั่งแต่งตั้งหัวหน้าผู้ดูแลเขาจีนั่ว หัวหน้าผู้ดูแลได้จัดการให้ชาวไตและชาวจีนั่วร่วมกันรับผิดชอบในการดูแลและใช้พื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งร่วมกันรับผิดชอบในการจัดเก็บภาษีส่งให้กับรัฐ ต่อมา ในปี 1941 ชาวจีนั่วรวมตัวกันกับชาวฮานี ชาวเหยา และชาวฮั่นต่อต้านการขูดรีดภาษีของรัฐบาลกว๋อหมินตั่ง ท้ายที่สุดสามารถขับไล่ผู้ว่าการมณฑลยูนนานได้สำเร็จ 3 ปีต่อมารัฐบาลก็ได้ยกเลิกการเก็บภาษีจากชนเผ่าต่างๆในพื้นที่ดังกล่าว


ด้านระบบเศรษฐกิจและสังคมของชาวจีนั่วนั้น ในช่วงก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน สังคมของชาวจีนั่วเป็นยุคปลายของระบบสังคมแบบบุพกาล ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมดั้งเดิม เช่น มีการแต่งงานในสายตระกูลเดียวกัน แม้กระทั่งในสายเลือดเดียวกันก็สามารถแต่งงานกันได้ ในสมัยนั้นยังสืบสายตระกูลสายแม่ ดังนั้นพิธีการสำคัญต่างๆ ญาติสายตระกูลฝ่ายแม่เท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์กระทำได้ เช่น การเชือดไก่บูชาผีเพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ การขึ้นบ้านใหม่ ผู้ที่นำทางในการขึ้นบ้าน และนำทางเปิดประตู จุดไฟ ต้องเป็นผู้อาวุโสที่สุดฝ่ายหญิง ผู้ใหญ่บ้านหรือหัวหน้าเผ่าแม้จะยอมให้เพศชายเป็นได้ แต่คำเรียกตำแหน่งหัวหน้าเผ่ากลับเป็นคำเรียกที่หมายถึงเพศหญิง คือ “โย่วหมี่โหยวข่า” หมายความว่า “ย่าใหญ่” ระบบสังคมแบบสืบสายตระกูลสายพ่อที่เข้ามาแทนที่การสืบสายตระกูลสายแม่เริ่มเกิดขึ้นเมื่อ 300 ปีมานี้ ชาวจีนั่วเริ่มอาศัยอยู่ในบ้านไม้ไผ่รวมเป็นครอบครัวใหญ่ โดยการสืบสายตระกูลสายพ่อ ครอบครัวเล็กๆที่อยู่รวมกันในบ้านจะแบ่งห้องอยู่กันเป็นสัดส่วน การทำมาหากินและผลผลิตที่ได้จะเข้าสู่ครอบครัวเล็กๆ ของคนเท่านั้น ไม่ได้เข้าสู่กองกลางของครอบครัวใหญ่แต่อย่างใด รูปแบบสังคมเช่นนี้เป็นลักษณะของสังคมบุพกาลยุคปลาย ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของชนเผ่าจีนั่วอย่างหนึ่ง


ชุมชนหนึ่งๆของชาวจีนั่วประกอบด้วยสมาชิกต่างสายตระกูลกันรวมกันอยู่เป็นหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านมีสิทธิ์บนที่ดินในเขตของตน สมาชิกในหมู่บ้านสามารถทำมาหากินและใช้พื้นที่ในเขตหมู่บ้านของตนได้ แต่จะไม่รุกล้ำเขตพื้นที่ของหมู่บ้านอื่นโดยเด็ดขาด การแบ่งที่ดินในหมู่บ้านแบ่งออกเป็นสามส่วน คือส่วนที่หนึ่งเป็นที่ดินสาธารณะทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ ส่วนที่สองเป็นที่ดินของตระกูล สมาชิกในวงศ์ตระกูลใช้ประโยชน์ร่วมกัน และส่วนที่สามเป็นที่ดินส่วนบุคคลที่พ่อแม่แบ่งให้เมื่อแต่งงานสร้างครอบครัวใหม่ของตน ในยุคนี้เริ่มมีการเช่าที่ดิน การเช่าเครื่องมือและการจ้างแรงงานเกิดขึ้นแล้ว แต่ทุกคนอยู่ในชนชั้นทำงานเหมือนกันหมด ไม่มีชนชั้นที่มีอำนาจเหนือกว่ามากดขี่แรงงานผู้อื่น แต่ละหมู่บ้านมีผู้อาวุโสที่สุดทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนในทุกๆด้าน


ชาวจีนั่วใช้วิธีทำการเกษตรโดยใช้เครื่องมือและใช้ไฟเผา เครื่องมือการเกษตรที่ใช้เป็นเครื่องมือที่ทำด้วยเหล็ก เช่น พร้า เสียม เป็นต้น พืชที่ปลูกส่วนใหญ่ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด สำลี กล้วย มะละกอ และผลไม้เมืองร้อนอื่น ๆ นอกจากนี้ “เขาจีนั่ว” ที่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวจีนั่วนี้ เป็นหนึ่งในหกหุบเขาปลูกชาเลื่องชื่อของจีน การเลี้ยงสัตว์ทุ่งหญ้านิยมเลี้ยงวัว ควาย แต่ชาวจีนั่วไม่ได้ใช้วัวและควายไว้ใช้ในการทำการเกษตร หากแต่เลี้ยงไว้ใช้ในพิธีบูชาตามหลักความเชื่อ และใช้เป็นอาหารอีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้การผลิตยาสมุนไพรและการปลูกใบชา โดยเฉพาะการปลูกชาเพื่อผลิตและบรรจุขายทั่วไปสร้างรายได้ให้กับชาวจีนั่วเป็นกอบเป็นกำ ส่งผลให้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก นอกจากนี้อาชีพทางงานหัถตกรรมของชาวจีนั่วก็สามารถส่งขายสร้างรายได้เป็นอย่างดีเช่นกัน เช่น การปักผ้า การสานไม้ไผ่ กลั่นเหล้า งานไม้ และการตีเหล็ก


หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน กว๋อหมินตั่งได้ส่งเจ้าหน้าที่ทางการเข้าไปในชุมชนชาวจีนั่วเพื่อประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐเกี่ยวกับการปกครองและการดูแลชนกลุ่มน้อย ภายใต้ความช่วยเหลือของรัฐบาล ชุมชนจีนั่วจึงเริ่มเปลี่ยนจากระบบสังคมบุพกาลก้าวกระโดดมาเป็นแบบสังคมนิยม เริ่มดำเนินกิจการเกี่ยวกับการค้าขายผลิตผลของชุมชน ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชาชนมีรายได้ สภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีการสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็นชลประทาน ไฟฟ้า ชุมชนจีนั่วมีไฟฟ้าใช้เป็นครั้งแรก มีการทำการเกษตรด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย มีการพัฒนาระบบสาธารณสุข การศึกษา ทำให้ประชาชนชาวจีนั่วมีสุขภาพอนามัยที่ดี มีความรู้ในการประกอบอาชีพ และสามารถพัฒนาชุมชนให้เจริญก้าวหน้ากว่าเดิมมาก


ด้านศิลปวัฒนธรรม ชาวจีนั่วมีวรรณกรรมประจำเผ่ามากมาย เช่น ตำนาน เทพนิยาย นิทาน และเพลง มีกลอนภาษาจีนั่วที่เป็นที่นิยมมากได้แก่ ผลงานชื่อ《玛黑和玛妞》Mǎhēi hé Mǎniū “หม่าเฮยกับหม่านิว” ผลงานชื่อ《女始祖尧白》Nǚshǐzǔ Yáobái “ท่านย่าเหยาป๋ายผู้สร้างโลก” เรื่องแรกเป็นนิทานเกี่ยวกับชนเผ่าจีนั่วผู้สร้างโลก อุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ และการแต่งงานของพี่ชายกับน้องสาว เรื่องที่สองเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับท่านย่าเหยาป๋ายสร้างโลกขึ้นสำเร็จ แล้วได้โปรยเมล็ดชาลงบนเขาจีนั่ว จากนั้นชาวจีนั่วก็มีอาชีพปลูกชาเพื่อดำรงชีวิตสืบต่อมา ยังมีนิทานพื้นบ้านอีกหลายเรื่องที่สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนั่ว เช่น เรื่อง《两个小伙子》Liǎnɡɡè xiǎo huǒzi “สองหนุ่ม” กล่าวถึงเรื่องราวของบาปบุญคุณโทษ นอกจากนี้ยังมีนิทานปรัมปราที่เล่าสืบทอดกันมาแต่โบราณอีกมากมาย เช่น เรื่อง《宝刀和竹笛》Bǎodāo hé zhúdí “มีดล้ำค่ากับขลุ่ยไม้ไผ่” เรื่อง《猴子和人》Hóuzi hé rén “มนุษย์กับวานร” เรื่อง《大姐和四妹》Dàjiě hé sìmèi “พี่สาวกับน้องสี่” เป็นต้น


เพลงและดนตรีของชาวจีนั่วมีมากมายหลายรูปแบบ มีเพลงพื้นเมือง เพลงภูเขา เพลงสรรเสริญ เพลงกล่อมเด็ก เพลงร้องเล่นของเด็ก เครื่องดนตรีที่สำคัญมี พิณเป่า ขลุ่ยสามรู แคน และซอ ในงานเทศกาลจะได้ยินเสียงเพลงและดนตรีของชาวจีนั่ว สนุกสนานครื้นเครงดังก้องไปทั่วเขาจีนั่ว


ชาวจีนั่วมีฝีมือในการถักสานไม้ไผ่ หญิงสาวช่ำชองในการปักผ้าลวดลายงดงาม นำมาตัดเย็บเครื่องแต่งกาย ชาวจีนั่วนิยมสวมเสื้อผ้าที่ตัดเย็บด้วยผ้าทอมือ สะพายกระเป๋าผ้า มีผ้าเช็ดหน้าเหน็บอยู่ที่เอว ในสมัยก่อนหนุ่มสาวจะมอบผ้าเช็ดหน้านี้ให้กับคนที่ถูกตาต้องใจกัน
การแต่งกายของชาวจีนั่ว ชายสวมเสื้อผ่าอกสีขาวไม่มีปก ด้านหลังปักลวดลายวงกลมมีประกายรัศมีรอบวง สวมกางเกงขากว้างที่ตัดด้วยผ้าฝ้าย ส่วนหญิงชาวจีนั่วสวมหมวกทรงเหลี่ยมสูง สวมเสื้อผ่าอกไม่มีปก ปักลวดลายหลากสี สวมกระโปรงสั้นลายทางขาวดำ


ด้านอาหารการกิน ชาวจีนั่วกินข้าวเป็นอาหารหลัก การจัดเตรียมหุงหาอาหารเป็นหน้าที่ของผู้หญิง อาหารจำพวกผักเก็บมาจากป่า หรือผักที่ปลูกขึ้นเอง ส่วนอาหารพวกเนื้อผู้ชายจะเป็นฝ่ายเข้าป่าล่าสัตว์ เนื้อที่ล่ามาเป็นอาหารได้แก่ เนื้อวัว หมูป่า สุนัข ไก่ เป็นต้น


ชาวจีนั่วอาศัยอยู่ในกระท่อมชั้นเดียวติดพื้น สร้างด้วยไม้ไผ่หรือไม้เนื้อแข็ง หลังจากที่สภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เปลี่ยนมาสร้างบ้านแบบอิฐผสมไม้ เพราะปลอดภัยและแข็งแรงกว่า


การแต่งงานของชาวจีนั่วในอดีตมีการแต่งงานแบบชายหนึ่งกับหญิงหลายคน แต่ปัจจุบันเป็นแบบมีสามีภรรยาคนเดียว หนุ่มสาวมีอิสระในการเลือกคู่ เมื่อแต่งงานกันแล้วจะไม่หย่าร้างกัน หนุ่มสาวชาวจีนั่วจะมีพิธีการเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่ หลังจากนั้นจึงจะมีสิทธิ์ในการเลือกคู่ครองได้ การเกี้ยวพาราสีเกิดขึ้นในระหว่างการทำไร่ไถนา โดยการร้องเพลงตอบโต้กันไปมา แล้วใช้ใบไม้เป็นจดหมายเพื่อบอกความนัยว่าจะนัดพบกันที่ไหน เวลาใด เมื่อทั้งสองฝ่ายรักชอบพอกัน ก็ จะตกลงอยู่ร่วมกัน แต่ยังไม่มีพิธีแต่งงาน จนกว่าจะให้กำเนิดลูกคนแรกเสียก่อน ประเพณีการแต่งงานต้องให้ผู้อาวุโสเป็นผู้สู่ขอ หลังจากแต่งงานแล้ว เจ้าสาวจะกลับไปอยู่ที่บ้านเกิดตัวเองห้าวัน จากนั้นจึงกลับมาอยู่ที่บ้านสามี


พิธีศพของชาวจีนั่วทำโดยการฝังในสุสานเฉพาะของชนเผ่า โลกศพใช้วิธีขุดท่อนไม้ต้นใหญ่ให้เป็นโพรงเพื่อใช้บรรจุศพก่อนฝัง สิ่งของเครื่องใช้ที่ผู้ตายเคยใช้ในระหว่างมีชีวิตอยู่จะฝังลงไปพร้อมกับผู้ตายด้วยเพื่อให้ผู้ตายได้นำไปใช้ในภพหน้า เมื่อฝังศพแล้วจะไม่ตั้งป้ายบูชาใดๆ แต่จะสร้างกระท่อมเล็กๆไว้ที่หลุมศพ ญาติผู้ตายจะเอาอาหารไปส่งให้ผู้ตายวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 1 – 3 ปี จากนั้นก็รื้อกระท่อมนั้นทิ้ง แต่ผู้ที่เสียชีวิตในขณะตั้งครรภ์หรือศพของคนวิกลจริต จะประกอบพิธีศพโดยการเผา และจะไม่ฝังศพสามีภรรยาไว้ด้วยกัน
ในด้านความเชื่อ ชาวจีนั่วนับถือบูชาวิญญาณบรรพบุรุษ มีความเชื่อในวิญญาณของทุกสรรพสิ่ง มีหมอผีประจำเผ่า เมื่อมีภัยพิบัติจะเชิญหมอผีมาทำพิธีเชือดวัว หมู ไก่ และหมาเพื่อบูชาเทพเจ้า


เทศกาลสำคัญของชาวจีนั่วมีมากมาย ที่สำคัญมีเทศกาลบูชามังกร เทศกาลคบเพลิง เทศกาลรับขวัญข้าวใหม่ และเทศกาลปีใหม่ ช่วงเวลาที่จะมีเทศกาลต่างๆ ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับหัวหน้าเผ่า เมื่อหัวหน้าเผ่าลั่นกลอง เป็นสัญญาณการเริ่มต้นของเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น