วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

46. 土家族ชนกลุ่มน้อยเผ่าถู่เจีย








คัดลอกภาพจาก http://www.mzb.com.cn/res/Home/1008/wmj_024.jpg


http://img.yiyuanyi.org/article_pic/2009-04-04/1238838803.jpg

ชนกลุ่มน้อยชาวถู่เจียอาศัยอยู่บนหุบเขาหลิงซาน ได้แก่ บริเวณตะวันตกของมณฑลหูหนาน อำเภอหย่งซุ่น (永顺Yǒnɡshùn) หลงซาน(龙山Lónɡshān) ป่าวติ้ง(保靖Bǎojìnɡ) ซางจื๋อ (桑植Sānɡzhí) กู่จ้าง(古丈Gǔzhànɡ) ในมณฑลหูเป่ยมีชาวถู่เจียตั้งถิ่นฐานในอีกหลายอำเภอเช่น อำเภอหลายเฟิ่ง (来凤Láifènɡ) เฮ่อเฟิง(鹤峰Hèfēnɡ) เสียนเฟิง(咸丰Xiánfēnɡ) เสวียนเอิน(宣恩Xuān’ēn) ลี่ชวน(利川Lìchuān) เอินชือ(恩施Ēnshī) ปาตง(巴东Bādōnɡ) เจี้ยนสื่อ(建始Jiàn shǐ) อู่เฟิง(五峰Wǔfēnɡ) ฉางหยาง (长阳Chánɡyánɡ) เป็นต้น ในมณฑลเสฉวนมีชาวถู่เจียตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอโหย่วหยาง(酉阳Yǒuyánɡ) ซิ่วซาน (秀山Xiùshān) เฉียนเจียง (黔江Qiánjiānɡ) สือจู้(石柱Shízhù) เผิงสุ่ย(彭水Pénɡshuǐ) จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าถู่เจีย มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 802,8133 คน พูดภาษาถู่เจีย จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาภาษาทิเบต-พม่า ไม่มีภาษาเขียน ปัจจุบันชาวถู่เจียส่วนใหญ่ใช้ภาษาจีนและอักษรจีน มีเฉพาะที่อำเภอเฮ่อเฟิง ของมณฑลหูเป่ยประมาณ 2 แสนคนที่ยังพูดภาษาถู่เจียอยู่


คำเรียก “ถู่เจีย” เป็นคำเรียกที่ในบันทึกประวัติศาสตร์ใช้เป็นคำเรียกชนกลุ่มนี้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ยังมีคำเรียกชนกลุ่มนี้ด้วยชื่ออื่นๆ อีก อย่างเช่น ในสมัยฉินและฮั่นเรียกว่า “หลิ่นจวินจ่ง” (廪君种Lǐnjūnzhǒnɡ) ด้วยเหตุเพราะเคารพบูชาเสือขาว บ้างเรียกว่า “ป่านเหมยหมาน” (板楣蛮Bǎnméi Mán) โดยเรียกตามอาวุธที่ใช้ บ้างเรียกว่า “ชาวเจ๋อ” (责人Zérén) เพราะในสมัยก่อนมีการเก็บภาษีที่ดิน ชนกลุ่มนี้เรียกภาษีที่ดินว่า “ซ่าย” (赛sài) จัดเป็นกลุ่มชนที่อยู่ในส่วนการปกครองของภาคใต้บริเวณเมืองปาจวิ้น (巴郡Bājùn) หรือ “อู่หลิงหมาน” (武陵蛮Wǔlínɡ Mán) ต่อจากนั้นมาชนกลุ่มนี้มักถูกเรียกด้วยชื่อต่างๆ ตามถิ่นที่อยู่ เช่น “ซีหมาน” (溪蛮Xī Mán) “ปาเจี้ยนหมาน” (巴建蛮Bājiàn Mán) “ซิ่นโจวหมาน” (信州蛮Xìnzhōu Mán) “หยางหมาน” (阳蛮Yánɡ Mán)


ในสมัยซ่งเกิดชุมชนชาวถู่เจียหลายกลุ่มขึ้นในชุมชน อู๋หลิง (武陵Wǔlínɡ) มีชื่อเรียกต่างๆกันไปตามพื้นที่ที่อยู่อาศัย เช่น ถู่หมิน (土民Tǔmín) ถู่หมาน (土蛮Tǔmán) ถู่ปิน (土兵Tǔbīnɡ) หลังจากที่ชาวฮั่นได้อพยพเข้ามาอยู่ในชุมชนดังกล่าวจำนวนมาก จึงมีชื่อเรียกชนเผ่าดั้งเดิมนี้ว่า “ชาวถู่เจีย” (土家tǔjiā คำว่า ถู่เจีย ในภาษาจีนหมายถึง ชนพื้นเมืองดั้งเดิม)
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวเกี่ยวกับที่มาของชาวถู่เจียนับจนปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัด บ้างกล่าวว่าหลังจากที่ราชวงศ์ฉินล้มล้างรัฐปา(巴Bā)แห่งราชวงศ์โจวได้สำเร็จ ชาวปาที่อาศัยอยู่ที่เมืองเซียงเอ้อชวน (湘鄂川Xiānɡ’è chuān) คือบรรพบุรุษของชาวถู่เจีย บ้างเชื่อว่าเป็นชนเผ่าที่ผสมผสานระหว่างชาวฮั่นกับชนเผ่าดั้งเดิมของรัฐปา โดยอาศัยหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีที่ได้มาจากเขาเซียงซีหลง (湘西龙山Xiānɡxīlónɡshān) หลูซี(泸溪Lúxī) ต้ายง (大庸Dàyōnɡ) เป็นข้อสนับสนุนความคิด บ้างก็ว่าชาวถู่เจียสืบเชื้อสายมาจากชาวอูหมาน ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีชีวิตอยู่ช่วงกลางสมัยถัง มีภาษาพูดและขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับชาวอี๋ (彝族Yí Zú ) ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของมณฑลยูนนาน


หลังจากที่รัฐปาล่มสลาย ชาวปา (巴人Bārén ) หักร้างถางพงที่ทำกินแห่งใหม่ จับสัตว์น้ำเก็บของป่าเพื่อดำรงชีพและขยายเผ่าพันธุ์ หัวหน้าเผ่าสืบทอดกันตามสายเลือดหรือคนในสายตระกูลเดียวกัน ปลายสมัยซีฮั่น (西汉Xīhàn) ชนชาติอู๋หลิงอี๋ (武陵夷Wǔlínɡyí) ตั้งกองกำลังต่อต้านอำนาจของกษัตริย์หวางหม่างช่วน (王莽篡Wánɡ Mǎnɡcuàn) ต่อจากนั้นชาว หลิงหยางหมาน (零阳蛮Línɡyánɡ Mán) หล่านจงหมาน (漤中蛮Lǎnzhōnɡ Mán) อูหมาน (巫蛮Wū Mán) และหลี่จงหมาน (澧中蛮Lǐzhōnɡ Mán) ได้รวมตัวกันก่อตั้งกองกำลังต่อต้านการกดขี่ของชนชั้นสูงขึ้น


ในยุคสามก๊ก ช่วงที่สู่ฮั่น(蜀汉Shǔhàn ) และซุนอู๋ (孙吴Sūnwú)แย่งชิงรัฐขุย(夔Kuí) เสีย(峡Xiá) และอู๋หลิง(武陵Wǔlínɡ) ชาวถู่เจียซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวก็ตกเป็นกลุ่มชนที่ทั้งสองฝ่ายแย่งชิงกันครอบครอง การแก่งแย่งดินแดนของสู่ (蜀Shǔ)และอู๋(吴Wú) ส่งผลให้กลุ่มชนในบริเวณดังกล่าวมีชีวิตอยู่อย่างไร้ความสงบร่มเย็น จากนั้นมาในสมัยหนานเป่ย (南北Nán Běi)และสมัยสุย (隋朝Suícháo) อำนาจของบริเวณเมืองอู๋หลิงเข้มแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้น ส่วนกลางต้องส่งกองกำลังมาปกครองควบคุมอยู่เป็นนิจ สภาพชีวิตและสังคมของผู้คนวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา จนถึงต้นราชวงศ์ถัง (唐朝Tánɡcháo) ราชสำนักใช้วิธีปกครองแบบรัฐในปกครองกับบริเวณดังกล่าวนี้ แบ่งเป็นอำเภอเล็กๆ ขึ้นตรงต่อการปกครองระดับเขต และขึ้นตรงต่อราชสำนักอีกชั้นหนึ่ง การจัดการปกครองเช่นนี้ ทำให้ชุมชนชาวถู่เจียสงบราบรื่นขึ้นเป็นลำดับ และเริ่มติดต่อสัมพันธ์กับชาวฮั่นมากขึ้นทุกขณะเช่นเดียวกัน


ด้านเศรษฐกิจและสังคม ชาวถู่เจียเริ่มทำการเกษตรมาตั้งแต่บรรพบุรุษในยุคต้นๆแล้ว แต่ด้วยเหตุที่ไม่มีความรู้ด้านการเกษตร เครื่องมือการเกษตรก็ล้าสมัย ผลผลิตที่ได้จึงมีปริมาณไม่มาก ต่อมาชาวถู่เจียได้เรียนรู้วิธีการทำการเกษตร และใช้เครื่องมือเกษตรของชาวฮั่น ปริมาณผลผลิตที่ได้จึงเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจชุมชนถู่เจียก็เริ่มดีขึ้น ในช่วงสมัยราชวงศ์ถังและซ่ง ใช้ระบบปกครองแบบรัฐในปกครอง ชุมชนสงบราบรื่น ชนชาวถู่เจียและชาวฮั่นมีการติดต่อสัมพันธ์กัน และถ่ายทอดวัฒนธรรมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น กระนั้นก็ตามชาวถู่ยังไม่คุ้นชินกับการใช้แรงงานสัตว์ทำนา ยังคงใช้เครื่องมือขุดดินทำนาด้วยแรงงานคนแบบดั้งเดิมอยู่ และยังคงดำรงอาชีพจับสัตว์น้ำเหมือนเดิมอยู่อีกด้วย


นับแต่สมัยหยวนจนถึงจักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิงจัดการเกี่ยวกับการถือครองที่ดินของประชาชน ทำให้การทำกินในที่ดินของชนชาวถู่เจียมีความมั่นคงราบรื่นเรื่อยมา เอกลักษณ์ของชนเผ่าได้รับการรักษาไว้ให้คงอยู่ แต่ในขณะเดียวกันระบบเศรษฐกิจแบบเจ้ากรรมสิทธิ์ที่ดินกำลังเกิดขึ้น ในยุคที่จักรพรรดิยงเจิ้งรวบรวมที่ดินคืนสู่รัฐนั้น สังคมศักดินาหมดไป ระบอบเจ้ากรรมสิทธิ์ที่ดินเข้ามาแทนที่ พ่อค้าและเกษตรกรชาวฮั่นอพยพเข้าสู่ชุมชนชาวถู่เจียระลอกใหญ่ พร้อมทั้งนำพาความเจริญและวิทยาการต่างๆเข้ามาสู่ชุมชนชาวถู่เจีย เช่น เครื่องมือการเกษตร เครื่องมือหัตถกรรม ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ทำให้งานด้านหัตถกรรมของชาวถู่เจียพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หลังจากยุคสงครามฝิ่น สินค้าจากกลุ่มจักรวรรดินิยมถาโถมเข้าสู่ชุมชนถู่เจียระลอกใหญ่ งานหัตถกรรมและผลผลิตพื้นบ้านดั้งเดิม เช่น ผ้าถู่เจีย คราม การย้อมผ้าสูญหายไป ในขณะที่ประเทศจักรวรรดินิยมกวาดซื้อปาล์มน้ำมัน ใบชา ไม้ ยาสมุนไพรไปจนหมดสิ้น ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืชดังกล่าวอย่างรุนแรง ตลาดซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้า มีกิจการค้าขายรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นเกิดขึ้นมากมาย ภายหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม ชุมชนถู่เจียถูกทหารรุกรานอยู่เนืองๆ เศรษฐกิจของชุมชนเข้าสู่ภาวะล่มสลาย กิจการการค้าที่เคยรุ่งเรืองกลับซบเซาและปิดไปมากมาย ชีวิตประชาชนยากจนและลำบาก จนถึงก่อนยุคปลดปล่อยเศรษฐกิจของชาวถู่เจียยังคงดำเนินไปอย่างล้าหลัง


หลังยุคปลดปล่อย ทางการยอมรับชาวถู่เจียเป็นชนชาติกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่ง จึงได้ก่อตั้งเขตปกครองตนเองเผ่าถู่เจียขึ้นหลายแห่งดังนี้
1. ปี 1957 เขตปกครองตนเองเผ่าถู่เจียและเผ่าเหมียวเมืองเซียงซี (湘西土家族苗族自治
州 Xiānɡxī Tǔjiā Zú Miáo Zú zìzhìzhōu)
2. ปี 1983 ก่อตั้งเขตปกครองตนเองชนเผ่าถู่เจียและเหมียวขึ้นที่เมืองเอ้อซี (鄂西土家族苗
族自治州 È’xī Tǔjiā Zú Miáo Zú zìzhìzhōu)
3.ปี 1984 ก่อตั้งอำเภอปกครองตนเองชาวถู่เจียขึ้นอีก 5 อำเภอคือ โหย่วหยาง (酉阳Yǒu yánɡ) ซิ่วซาน (秀山Xiùshān) สือจู้ (石柱Shízhù) เฉียนเจียง (黔江Qiánjiānɡ) และเผิงสุ่ย (彭水Pénɡshuǐ)


ภายใต้การดูแลช่วยเหลือจากรัฐบาล นับตั้งแต่มีการก่อตั้งชุมชนปกครองตนเองขึ้นในหลายพื้นที่ ทำให้ชาวถู่เจียมีสิทธิในการปกครองตนเอง ชาวถู่เจียที่หุบเขาอู่หลิงซาน(武陵山Wǔlínɡshān) มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก้าวข้ามจากชีวิตแร้นแค้นสู่ความอยู่ดีมีสุข
ชาวถู่เจียมีประวัติศาสตร์มายาวนาน ก่อกำเนิดศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์งดงามเฉพาะตัวมากมาย ได้แก่ วรรณกรรมจำพวกนิทานพื้นบ้าน เช่น เรื่อง《张古老制天地》Zhānɡ ɡǔlǎo zhì tiāndì “ท่านจางสร้างฟ้าดิน” เรื่อง《梅山打虎》Méishān dǎ hǔ “ภูเขาดอกเหมยล่าเสือ” เรื่อง《洪水登天》Hónɡshuǐ dēnɡtiān “น้ำท่วมฟ้า” อันเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะที่เล่าสืบทอดกันมาจนปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีวรรณกรรมประเภทเพลงกลอนที่มีเนื้อหาและท่วงทำนองหลากหลาย เพลงกลอนของชาวถู่เจียเป็นเพลงจำพวกเล่าเรื่องราว เพลงกลอนที่ชื่อเสียงมาก คือ เรื่อง《绵鸡》Miánjī “เหมียนจี”


ด้านคีตะดนตรีก็มีความหลากหลายไม่แพ้กัน การขับร้องแบ่งเป็นเพลงที่ร้องในเวลาทำงาน เพลงภูเขาและเพลงบูชา เครื่องดนตรีของชาวถู่เจียส่วนมากเป็นเครื่องตีและเครื่องเป่า ถึงขั้นที่วงการดนตรีจีนยกย่องให้ชาวถู่เจียเป็นจ้าวแห่งเครื่องตี การรวมวงเครื่องตีมักใช้เครื่องตีสี่ชิ้นมีชื่อเรียกว่า “ต่าลิวจึ” (打溜子Dǎliūzǐ) ท่วงทำนองดุดัน เร่าร้อน เร่งเร้า เสียงจังหวะที่เร้าใจของวงเครื่องตีชาวถู่เจียนี้สามารถปลุกผู้คนและสรรพสิ่งที่หลับไหลให้ตื่นจากภวังค์ เพลงที่ใช้บรรเลงมีมากกว่า 200 ทำนอง ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมเช่น เพลง《八哥洗澡》Bā ɡē xǐzǎo “พี่ชายเจ็ดอาบน้ำ” เพลง《喜鹊闹梅》Xǐquè nào méi “สาริกาเริงเหมย” เพลง《火车进山》Huǒchē jìn shān “รถไฟไต่เขา” เพลง《马过桥》Mǎ ɡuò qiáo “อาชาข้ามสะพาน” เป็นต้น อุปรากรชองชาวถู่เจียมีหลายแบบ เช่น ละครมอกุส (茅古斯Máoɡǔsī ) ละครดอกไม้ราตรี (阴花歌Yīnhuāɡē) ละครถวายเทพ (傩戏Nuóxì) ละครเมืองใต้ (南戏Nánxì) ละครโหย่ว(酉戏Yǒu xì) เป็นต้น ละครถวายเทพของชาวถู่เจียถือได้ว่าเป็นละครดึกดำบรรพ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ของวงการละครจีนเลยก็ว่าได้ ละครของชาวถู่เจียที่เมืองถงเหริน มณฑลกุ้ยโจว(贵州铜仁Guìzhōu Tónɡrén) เป็นละครที่ยังรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้อย่างสมบูรณ์มั่นคงและไม่สูญหาย ได้รับความสนใจจากนักวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรมจากทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก


ด้านการเต้นระบำรำฟ้อน มีระบำของชาวถู่เจียที่เป็นเอกลักษณ์และมีชื่อเช่น ระบำสะบัดกร (摆手舞Bǎishǒuwǔ) ระบำระฆังแปดมณี (八宝铜铃舞Bābǎotónɡlínɡwǔ) ระบำอาลัย (跳丧舞Tiàosànɡwǔ) ท่วงท่าลีลาการร่ายรำของระบำชาวถู่เจียเรียบง่าย แสดงออกถึงพลังอันเข้มแข็ง สะท้อนถึงภาพการดำรงชีวิตของชาวถู่เจียได้ชัดเจนยิ่งนัก
งานด้านหัตถหกรรมพื้นบ้านได้แก่ เสื่อทอซีหลางข่า (西朗卡铺Xīlǎnɡkǎpū) หรือเรียกอีกชื่อว่า เสื่อทอถู่เจีย (土家铺盖Tǔjiāpūɡɑi) เป็นงานฝีมือการถักทอที่มีลวดลายวิจิตรงดงาม ลวดลายนับร้อยล้วนรังสรรค์ออกมาจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษชาวถู่เจีย และสั่งสมประสบการณ์ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาจนปัจจุบัน ได้รับยกย่องว่าเป็น “ผกางามแห่งถู่เจีย”


ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ชาวถู่เจียมีความขยันอดทน บุกเบิกป่าเขาหักร้างถางพงที่ดินทำกิน เชี่ยวชาญการล่าสัตว์น้ำ ในฤดูหนาวและใบไม้ผลิจะล้อมคอกเลี้ยงหมูไว้เป็นอาหาร อาหารหลักของชาวถู่เจียคือข้าว อาหารขึ้นชื่อของชาวถู่เจียคือข้าวเหนียว ในด้านการแต่งกาย หญิงชาวถู่เจียสวมเสื้อลำตัวสั้นผ่าอก ปักลวดลายสองสามแถว สวมกางเกงทรงกระบอกขากว้าง ชายสวมเสื้อแขนยาวผ่าอกลำตัวสั้น พันศีรษะทรงสูงด้วยผ้าสีน้ำเงิน แต่ชาวถู่เจียส่วนใหญ่แต่งกายคล้ายคลึงกับชาวฮั่นมาก จะพบเห็นชาวถู่เจียแต่งกายชุดประจำเผ่าในงานเทศกาลสำคัญ หรือชาวถู่เจียในหุบเขาและในชนบทห่างไกลเท่านั้น ที่ยังคงแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าในชีวิตประจำวัน บ้านเรือนของชาวถู่เจียมีลักษณะพิเศษ ด้านหลังแขวนไว้กับเขาสูง ด้านหน้าใช้เสาค้ำยัน ทำเป็นใต้ถุนสูง ชั้นล่างเป็นคอกสัตว์เลี้ยงและเก็บของทั่วไป ชั้นบนเป็นห้องนอนของลูกสาว และเป็นส่วนที่กันไว้สำหรับทอผ้า ปักผ้า ถักปอ ถักรองเท้า เป็นต้น


สมัยก่อนชาวถู่เจียมีประเพณีการแต่งงานในเครือญาติ ลูกสาวของป้า(พี่สาวพ่อ) ต้องแต่งงานกับลูกชายของลุง (พี่ชายแม่) หากพี่ชายแต่งงานแล้วเสียชีวิต น้องชายต้องรับพี่สะใภ้มาเป็นภรรยาต่อจากพี่ชาย หรือหากน้องชายเสียชีวิต พี่ชายก็ต้องรับน้องสะใภ้มาเป็นภรรยาด้วย หนุ่มสาวพบรักกันในงานเทศกาล ร้องเพลงโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกัน ด้วยปัจจัยของสังคมศักดินา ทำให้การแต่งงานของชาวถู่เจียเปลี่ยนไป เพราะสังคมศักดินาจะเลือกแต่งงานในกลุ่มชนชั้นเดียวกันเท่านั้น การเลือกคู่ครองแต่งงานจึงเปลี่ยนเป็นพ่อแม่เป็นผู้จัดการ โดยการหาคนที่มีชนชั้นและฐานะเท่าเทียมกันให้ จนถึงก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน การแต่งงานในสังคมชาวถู่เจียเป็นแบบซื้อขายเจ้าสาว หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน หนุ่มสาวถู่เจียมีอิสระในการเลือกคู่ครอง แต่ในชุมชนชนบทยังคงยึดถือตามพ่อแม่เลือกให้เป็นหลัก
การจัดพิธีศพกระทำโดยการเผา การประกอบพิธีส่งวิญญาณจะเชิญหมอผีประจำเผ่ามาเป็นผู้สวดกระทำพิธีสวดส่งวิญญาณ และเบิกทางยมโลก หลังจากใกล้ชิดกับชาวฮั่น ก็ได้รับเอาพิธีการฝังศพมาจากชาวฮั่น


เทศกาลสำคัญของชาวถู่เจียคือเทศกาลวันที่แปดเดือนสี่ เทศกาลวันที่หกเดือนหก และเทศกาลปีใหม่ชาวถู่เจีย เทศกาลที่ยิ่งใหญ่คือเทศกาลปีใหม่ถู่เจีย ภาษาถู่เจียเรียกว่า “ส่งปีเก่า ” จัดขึ้นก่อนปีใหม่ของชาวฮั่น 1 วัน การขึ้นปีใหม่ใหญ่คือวันที่ 29 เดือนสิบสอง วันส่งท้ายปีเก่าคือวันที่ 28 เดือนสิบสอง ชาวถู่เจียนับถือบรรพบุรุษ และเชื่อว่าทุกสิ่งแวดล้อมมีเทพประจำอยู่ จึงมีการนับถือเทพประจำสรรพสิ่งต่างๆด้วย




1 ความคิดเห็น: