วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

45. 土族 ชนกลุ่มน้อยเผ่าถู่























คัดลอกภาพจาก http://www.artwork-cn.com/UploadFiles/2010-01/yywwyy123/20101290025037901.jpg
http://www.showchina.org/zgwhxl/zgssmzfs/200701/W020070124548310268520.JPG

ชาวเผ่าถู่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางตะวันออกของเมืองหวงสุ่ย(湟水Huánɡshuǐ) ริมฝั่งแม่น้ำหวงเหอ(黄河Huánɡhé) และเมืองผีเหลียน(毗连Pílián)ในมณฑลชิงห่าย (青海Qīnɡhǎi) คือที่ตั้งของกลุ่มปกครองตนเองเผ่าถู่ อำเภอฮู่จู้ (互助Hùzhù) หมินเหอ (民和Mínhé) ต้าทง(大通Dàtōnɡ) ถงเหริน(同仁Tónɡrén) และมีอีกกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองทิเบต อำเภอเทียนจู้(天祝Tiānzhù) ในมณฑลกานซู่ ในอดีตชาวถู่มีชื่อเรียกหลายชื่อ ชาวถู่ที่อาศัยอยู่ที่อำเภอเทียนจู้ ต้าทง ฮู่จู้ เรียกตัวเองว่า ชาวมองโกล (蒙古尔Měnɡɡǔ’ěr) หรือ มองโกลขาว (白蒙古Bái Měnɡɡǔ ภาษามองโกลเรียกว่า 察罕蒙古Cháhǎn Měnɡɡǔ) ส่วนชาวถู่ที่อยู่ที่อำเภอหมินเหอเรียกตัวเองว่า ถู่คุน (土[1]昆Tǔkūn หมายความว่า “ ชาวถู่”) ส่วนที่อาศัยอยู่ที่อื่น ๆ บ้างเรียกตัวเองว่า “ชุมชนชาวถู่” (土户家Tǔhùjiā) ชาวทิเบตเรียกชนเผ่านี้ว่า ฮั่วเอ่อร์ (霍尔Huò’ěr) ชาวฮั่น ชาวหุย เรียกชนกลุ่มนี้ว่า คนถู่ (土人Tǔrén) หรือชนชาวถู่(土民Tǔmín) หลังก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ชนกลุ่มน้อยเผ่าถู่” จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าถู่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 241,198 คน พูดภาษาถู่ จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาภาษามองโกล แต่เดิมชาวถู่ใช้อักษรภาษาจีน ปัจจุบันกำลังดำเนินการประดิษฐ์อักษรขึ้นใช้ โดยใช้อักษรลาติน


ชาติพันธุ์ชาวถู่มีความใกล้ชิดกับชาวมองโกลมาก ตำนานคำบอกเล่าของชาวเผ่าถู่ก็เล่ากันว่าบรรพบุรุษของชาวถู่มาจากมองโกล และยังมีบางส่วนที่มาจากเมืองเก๋อรื่อลี่เท่อ (格日利特 Gérìlìtè) ซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่ในอำนาจการปกครองของเจงกิสข่าน จากนั้นแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์กับชนเผ่าพื้นเมืองฮั่วเอ๋อร์ (霍尔人Huò’ěr rén) สืบทอดเชื้อสายต่อกันมาจนเป็นชาวถู่ในปัจจุบัน ในอดีตชาวถู่ยังเคารพบูชาเมืองเก๋อรื่อลี่เท่อว่าเป็นบ้านเกิดบรรพบุรุษของตน


เอกสารโบราณของจีนก็มีบันทึกถึงสมัยที่ทหารของเจงกิสข่านเดินทัพเข้าสู่ซีหนิง(西宁Xī nínɡ) ซึ่งในขณะนั้นอำเภอฮู่จู้ (互助县Hùzhùxiàn) จัดอยู่ในเขตการปกครองของซีหนิง สอดคล้องกับตำนานที่ชาวถู่เล่าขานสืบต่อกันมา ในสมัยหมิงกองทัพรักษาดินแดนของชาวมองโกลถูกโจมตี ถอยร่นเข้าสู่บริเวณที่เป็นที่ตั้งของอำเภอปกครองตนเองชาวถู่ในปัจจุบัน ส่วนตำนานเกี่ยวกับชาวฮั่วเอ่อร์ (霍尔人Huò’ěr rén) เป็นชื่อที่ชาวทิเบตเรียกชนเผ่าเลี้ยงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณตอนเหนือที่ราบสูงทิเบต ในเอกสารโบราณภาษาทิเบต คำนี้ใช้เรียกชาวทิเบตโบราณ จนถึงยุคใกล้ปัจจุบันจึงใช้เป็นชื่อสำหรับเรียกชาวถู่โดยเฉพาะ ชาวถู่ที่อาศัยอยู่อำเภอฮู่จู้ ในหมู่บ้านเฮอร์จวิ้น (合尔郡Hé’ěrjùn) เฮอร์ทุน (合尔屯Hé’ěrtún) เฮอร์จี๋ (合尔吉Hé’ěr jí) เฮ่อร์ชวน (贺尔川hè’ěrchuān) มีชื่อแตกต่างกันเนื่องจากเรียกชื่อตามถิ่นที่อยู่ แท้จริงแล้วก็คือชาวฮั่วเอ่อร์นั่นเอง จากการศึกษาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชาวถู่ระบุว่า ชาวฮั่วเอ่อร์ ก็คือชาวถูกู่หุน (吐谷浑人Tǔyùhúnrén) หรือ ถู่คุน(土昆Tǔkūn) ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวถู่เรียกตนเอง ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณถู่หุน (吐浑Tǔ hún) ชี่ตาน(契丹Qìdān) มองโกล (蒙古Měnɡɡǔ) ซยง หนู (匈奴Xiōnɡnú) ซึ่งก็คือดินแดนที่เป็นอาณาบริเวณของจู๋ปู่ (阻卜Zǔbǔ) และมองโกล (蒙古Měnɡɡǔ)ในสมัยเหลียวและจิน ซึ่งนับว่าเป็นการสืบสาวถึงบรรพบุรุษของชาวถู่รุ่นแรกๆ แต่ที่น่าเชื่อถือได้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชาวถู่ก็คือ ชาวถู่คือชาว ถูกู่หุน (吐谷浑人Tǔyùhún rén) ในประวัติศาสตร์ ต่อมาผสมผสานวัฒนธรรมที่รับมาจากชาวฮั่น เชียง ทิเบต มองโกล วิวัฒนาการเป็นเอกลักษณ์ชนเผ่ามาจนปัจจุบัน


ด้านเศรษฐกิจและสังคมของชาวถู่ ชาวถู่ดำรงชีวิตด้วยการเลี้ยงสัตว์ เป็นอาชีพที่สืบทอดมาจากชาวฮั่วเอ่อร์และมองโกล ซึ่งเป็นบรรพบุรษดั้งเดิมของชาวถู่ ต่อมาเริ่มทำการเพาะปลูกและยึดเป็นอาชีพหลักแทนการเลี้ยงสัตว์ ชาวถู่เริ่มรู้จักการเพาะปลูกในช่วงต้นสมัยหมิง และเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบยุคเกษตรกรรม ราชสำนักหมิงแบ่งการปกครองชาวถู่ออกเป็น 16 กลุ่ม การแบ่งกลุ่มดังกล่าวยึดถือเขตเมืองหรือหมู่บ้านตามการแบ่งเขตมาแต่สมัยหยวน หลังจากถูกราชสำนักหมิงแบ่งเป็นกลุ่มและมีเขตการปกครองที่ชัดเจนแล้ว หัวหน้าของแต่ละกลุ่มนับได้ว่าเป็นชนชั้นศักดินาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบริเวณดังกล่าว ในช่วงต้นสมัยราชวงศ์หมิงมีบันทึกของเจ้า ศักดินาชื่อ《明史·李英传》Mínɡshǐ·Lǐyīnɡ Zhuàn “บันทึกชีวประวัติหลี่อิง” บันทึกไว้ว่า ในยุคหมิงและชิงมีสภาพสังคมและการปกครองแบบชนชั้นเจ้าศักดินา ชุมชนต่างๆแบ่งการปกครองเป็นสามระดับคือ


1. ระดับหมู่บ้าน แต่ละครอบครัวมีที่ดินทำกิน เจ้าศักดินาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ครอบครองและดูแลที่ดิน เรียกชื่อว่า “จวินหม่าเถียน” (军马田jūnmǎtián) ชาวนาได้รับการแบ่งสรรที่ดินให้ทำกินหนึ่งส่วน ต้องเสียค่าเช่าจากผลผลิตที่ได้หนึ่งส่วน ยามศึกสงครามชาวนาจะถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ไร้ศึกก็ทำนาเลี้ยงสัตว์
2.ระดับตำบล รวบรวมหมู่บ้านต่างๆเข้าอยู่ในการปกครอง มีกองกำลังปกครองตำบล มีการสร้างทางคมนาคมสัญจรติดต่อกันระหว่างแต่ละหมู่บ้าน ก่อตั้งเป็นตำบลซีหนิง (西宁Xīnínɡ)
3. หลังการก่อสร้างวัดโย่วหนิง (佑宁寺Yòunínɡsì) สำเร็จ ชุมชนเล็กน้อยที่กระจัดกระจายอยู่ข้างนอกรวมศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่วัดโย่วหนิง


หลังจากระบบเจ้าศักดินาล่มสลาย ผลผลิตที่ส่งเป็นส่วยบรรณาการส่งไปเก็บไว้ที่ฉางข้าวส่วนรวมของชุมชน ชาวถู่หลุดพ้นจากการปกครองของเจ้าศักดินา มีสิทธิ์ครอบครองที่ดินเป็นของตนเอง และเกิดระบบชนชั้นศักดินาขึ้นในชุมชนชาวถู่เอง จนถึงในยุคที่ขุนศึกตระกูลหม่าเข้าปกครอง สังคมศักดินาในชุมชนชาวถู่ยิ่งเข้มแข็งและชัดเจนขึ้น ในขณะที่ชาวนาถูกชนชั้นศักดินากดขี่รังแกและเอารัดเอาเปรียบอย่างหนัก วิวัฒนาการและเครื่องไม้เครื่องมือทางการเกษตรของชาวถู่ได้รับการถ่ายทอดจากชาวฮั่น และยังมีการผลิตงานหัตถกรรมเป็นอาชีพเสริมด้วย แต่ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือน ยังไม่มีการทำเพื่อการค้าแต่อย่างใด กรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในการครอบครองของชนชั้นนักบวช และชนชั้นสูงที่สืบทอดมรดกต่อกันมา ชนกลุ่มนี้มีเพียง 10%ของประชากรทั้งหมด ที่เหลือ 90% เป็นชาวนาที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนเอง ชนชั้นกรรมสิทธิ์ที่ดินใช้วิธีการจ้างแรงงาน ส่วนชนชั้นนักบวชใช้วิธีเก็บค่าเช่าที่ดินจากผลผลิตที่ได้ พืชที่ชาวถู่ปลูกมี ข้าวสาลี มันฝรั่ง นอกจากนี้ชาวถู่ยังนิยมกลั่นเหล้า เหล้าที่กลั่นโดยชาวถู่มีชื่อเสียงมากเป็นที่รู้จักไปทั่วสารทิศ คือเหล้า “หมิ่งเหลา” (酩醪Mǐnɡláo)


หลังยุคปลดปล่อย ชุมชนชาวถู่หลายแห่งได้รับการก่อตั้งเป็นอำเภอปกครองตนเอง และหลายชุมชนได้รับการก่อตั้งขึ้นเป็นชุมชนชาวถู่อย่างเป็นทางการ ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล ชุมชนชาวถู่พัฒนารุดหน้าอย่างรวดเร็วในทุกๆด้าน ส่งผลให้เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของชาวถู่ดีขึ้นเป็นลำดับ มีการใช้เครื่องไม้เครื่องมือการเกษตรและวิทยาการทางการเกษตรที่ทันสมัย การเพาะปลูกเป็นไปตามหลักวิชาการ ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมน้อยใหญ่เกิดขึ้นในชุมชนชาวถู่ เช่น โรงงานผลิตปูน ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ อาหาร เหล้า กระดาษ เป็นต้น ปริมาณการผลิตของภาคอุตสาหกรรมกับผลผลิตทางการเกษตรเป็น 40 ต่อ 60 ทุกชุมชนและหมู่บ้านน้อยใหญ่มีการตัดถนนเข้าถึง การคมนาคมสะดวกสบาย ทั้งการไปมาหาสู่ระหว่างชาวถู่ด้วยกันเองและกับชุมชนเผ่าอื่น รวมทั้งการขนถ่ายลำเลียงสินค้าก็สะดวกยิ่งขึ้น ระบบไฟฟ้า น้ำประปาเข้าสู่ทุกชุมชนอย่างทั่วถึง ด้านการศึกษาและสาธารณสุขก็ได้รับการพัฒนาขึ้น ทำให้ชาวถู่มีการศึกษาและสุขภาพที่ดีทัดเทียมกับชุมชนอื่นๆ


ด้านศิลปวัฒนธรรม ชาวถู่เชี่ยวชาญเรื่องร้องระบำรำฟ้อน จึงสั่งสมงานด้านศิลปะวรรณกรรมที่หลากหลายและงดงาม วรรณกรรมของชาวถู่สืบทอดต่อกันมาด้วยวิธีมุขปาฐะ และเป็นวรรณกรรมที่เป็นเรื่องราวสามารถนำมาแสดงเป็นอุปรากรหรือละครได้ เช่น บทกลอนเรื่อง《拉仁布与且门索》Lā Rénbù yǔ Qiě Ménsuǒ “ลาเหรินปู้กับเฉี่ยเหมินสั่ว” บทนิพนธ์ทางประวัติศาสตร์ของนักบวชลามะชาวถู่ที่เป็นที่นิยมอีกเรื่องหนึ่งคือ หนังสือเรื่อง《宗教流派镜史》Zōnɡjiào liúpài jìnɡshǐ “ส่องประวัตินิกายและศาสนา” ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆมากมาย เช่น อังกฤษ เยอรมัน เผยแพร่ไปทั่วโลก เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการติดต่อ ถ่ายทอด ปฏิสัมพันธ์และความใกล้ชิดกันระหว่างชาวถู่กับชาวทิเบต


เพลงของชาวถู่มีรูปแบบและท่วงทำนองหลากหลาย แบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือเพลงชาวบ้าน กับเพลงภูเขา บทเพลงทั้งสองประเภทมีท่วงทำนองเฉพาะ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเพลงชาวถู่ กล่าวคือ เสียงท้ายวรรคทอดยาวและโหยลงต่ำ ลึกล้ำ และมีเสียงกระทบสะท้อนเป็นระลอก ๆ เพลงชาวบ้านมีเพลงสรรเสริญ เพลงถามตอบ เพลงวิวาห์ เพลงระบำรอบกองไฟ ในพิธีวิวาห์ ญาติของเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะแต่งตัวด้วยชุดสีขาวร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน ผู้มาร่วมงานอื่นๆ ร่วมร้องเพลงไปด้วยกัน เป็นการอวยพรให้กับคู่บ่าวสาว


นอกจากนี้สิ่งที่ขาดมิได้ที่จะต้องกล่าวถึงคือ งานฝีมือด้านการปักผ้าของชาวถู่ที่มีความงดงามและมีชื่อเสียงโด่งดัง ลวดลายผ้าปักพิถีพิถัน อลังการ ละเอียดและคงทน ทั้งภาพทิวทัศน์ ภาพดอกไม้ สัตว์และบุคคล ลวดลายที่นิยมปักคือ ดอกเหมยงามห้ากลีบ ดอกทับทิมทอง ลายเมฆาลอยล่อง วิหกเหมันต์เคล้าดอกเหมย ยูงทองไซร้ดอกโบตั๋น มังกรเพลิงเริงไข่มุก เป็นต้น นับได้ว่าเป็นสัญลักษณ์เฉพาะของชาวถู่เลยทีเดียว ถึงกับมีคำพูดที่ว่า หากไปเยี่ยมชมหมู่บ้านชาวถู่ แล้วไม่ได้ผ้าปักถู่กลับมา ก็เหมือนยังไปไม่ถึงหมู่บ้านชาวถู่อย่างแท้จริง


ด้านขนบธรรมเนียม ประเพณี ชาวถู่ทั้งชายหญิงแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชายสวมเสื้อคลุมยาวเป็นแบบผ่าอกเฉียง ปักลายหลากสีที่ชายเสื้อ ส่วนใหญ่เสื้อผ้าฝ่ายชายนิยมปักลายชายเสื้อเป็นสีดำ คาดเข็มขัดผ้าปักลาย สวมกางเกงขากว้างและยาว พันแข้งด้วยผ้าปักลายสีดำขาว สวมหมวกทรงกระทะหงาย สวมรองเท้าปักลายเมฆ ผู้สูงอายุชายสวมเสื้อกั๊กทับด้านนอกอีกชั้นหนึ่ง เสื้อผ้าฝ่ายหญิงสวมเสื้อคอตั้งลำตัวสั้นผ่าอกเฉียง แขนเสื้อทั้งสองข้างตัดเย็บด้วยผ้าหลากสีสลับกัน สวมเสื้อกั๊กสีดำ สีน้ำเงินหรือสีม่วงปักลวดลายสวยงามไว้ด้านนอก คาดเอวด้วยผ้าปักหรือผ้าแพร แล้วเหน็บผ้าเช็ดหน้าปล่อยชายลงล่าง นอกจากนี้ยังคล้องด้วยเครื่องประดับเงิน กระดิ่งมากมาย สวมกางเกงทรงกระบอก ชายกางเกงปักลายสีดำหรือน้ำเงิน สวมรองเท้าผ้าปัก คลุมผมด้วยผ้าปักสีสันสดใส


อาหารการกินของชาวถู่ที่เป็นหลักได้แก่ ข้าวสาลี ส่วนอาหารประเภทผักนิยมผักที่เป็นหัวที่เกิดใต้ดิน เช่น หัวผักกาด ผักกาดขาว หัวหอม กระเทียม หน่อไม้ ผักเหล่านี้จะดองเก็บไว้กินกับอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ นิยมดื่มชานม และเนย ในงานเทศกาลต่างๆ นิยมทำอาหารประเภททอด เช่น เนื้อหมูทอด เนื้อแกะทอด และอาหารจำพวกแป้งทอดต่างๆ นิยมดื่มเหล้าที่หมักด้วยข้าวสาลี ชาวถู่พิถีพิถันเรื่องความสะอาดของอาหารการกินมาก ภาชนะใส่อาหาร ชาม ตะเกียบจะใช้ของตนเองเท่านั้น ไม่ปะปนกัน เมื่อมีแขกมาเยือน จะจัดอาหารให้เป็นชุดโดยเฉพาะของแต่ละคน ไม่ตักอาหารรวมกัน


ชาวถู่ก่อตั้งบ้านเรือนอิงแอบหุบเขาและแม่น้ำ แต่ละครัวเรือนมีรั้วรอบและมีพื้นที่ในบ้านของตนเอง ภายในบ้านสร้างเพิงคอกสัตว์และที่อยู่อาศัย ส่วนนอกรั้วบ้านสร้างห้องน้ำห้องส้วม แปลงปลูกผัก และลานนวดข้าว บ้านเรือนชาวถู่สร้างเป็นหลังคาเรียบขนานพื้น บนหลังคาใช้ผึ่งอาหารแห้ง เรือนชาวถู่แบ่งเป็นสามห้อง ตรงกลางเป็นห้องโถง ด้านหนึ่งเป็นห้องนอน อีกด้านตรงข้ามเป็นห้องพระ ห้องนอนมีเตาไฟเพื่อให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว บนขอบประตูหน้าต่างแกะสลักรูปเคารพบูชาจำพวกพืชพันธุ์ธรรมชาติ หรือไม่ก็เป็นรูปโทเทมประจำเผ่า เช่น วัว แกะ และลวดลายธัญพืชต่างๆ อย่างงดงาม


ชาวถู่มีขนบธรรมเนียมที่ยึดถือต่อกันมาอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมเนียมการเคารพนับถือผู้ใหญ่ หากขี่ม้าสวนกับผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ จะต้องลงจากม้าแล้วทักทาย ชาวถู่มีนิสัยโอบอ้อมอารีและเป็นมิตร เมื่อมีผู้มาเยือนเจ้าของบ้านจะมีคำพูดต้อนรับแขกว่า “แขกมาเยือนคือความสุขมาเยือน” เจ้าของบ้านจะปูพื้นด้วยพรมขนแกะสีแดงให้แขกนั่ง ต้อนรับด้วยน้ำชาใส่เกลือ และหม่านโถวลูกใหญ่เท่าแตงโม และหากเป็นแขกพิเศษจะต้อนรับด้วยหมี่ผัดเนยจานใหญ่ เนื้อแกะจานใหญ่บนเนื้อปักด้วยมีดยาวประมาณห้านิ้ว เหล้ากาใหญ่ ที่หูกาพันด้วยขนแกะสีขาว ก่อนการรับประทานอาหาร เจ้าของบ้านจะต้องชนแก้วกับแขกก่อนสามครั้ง เรียกว่า “เหล้าสามจอกขึ้นม้า” ส่วนผู้ที่ไม่ดื่มเหล้า จะใช้นิ้วกลางจุ่มลงในแก้วเหล้า แล้วดีดไปในอากาศสามครั้ง เป็นอันว่าเสมือนได้ชนแก้วเหล้าแล้วสามครั้งเช่นกัน
พิธีศพของชาวถู่กระทำโดยการลอยศพไปตามแม่น้ำ แต่ก็มีบางท้องที่ที่ทำพิธีศพโดยการฝัง


ชาวถู่มีข้อปฏิบัติและยึดถือมากมาย ที่สำคัญเช่น ไม่กินเนื้อสัตว์ที่มีกีบเท้ากลม (ม้า ล่อ ลา) ห้ามปัสสาวะอุจจาระในคอกสัตว์ มิฉะนั้นจะส่งผลร้ายต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ ห้ามใช้ภาชนะที่มีรอยแตกร้าว โดยเฉพาะเมื่อมีแขกมาเยือน ห้ามถามแขกผู้มาเยือนว่ากินข้าวหรือยัง หรือจะกินข้าวมั้ย การทะเลาะกัน การตีลูกต่อหน้าแขกถือเป็นการไม่เคารพแขกและเสียมารยาทอย่างร้ายแรง และจะถือว่าเป็นการไล่แขกทางอ้อม เมื่อเข้าบ้านชาวถู่จะต้องตะโกนบอกกล่าวทักทายอยู่นอกประตูรั้วบ้านเสียก่อน รอจนมีเสียงตอบรับจึงจะเข้าบ้านได้ ห้ามเข้าห้องผู้หญิงโดยไม่ได้รับอนุญาต ห้ามหยอกล้อเล่นกับหญิงที่ยังไม่แต่งงาน ห้ามแขกผู้มาเยือนนับจำนวนแกะที่เจ้าของบ้านเลี้ยงไว้ ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามถ่มเสมหะ ห้ามส่งเสียงดัง และห้ามรื้อค้นสิ่งของในวัด ห้ามข้ามสิ่งของที่เป็นของพระ ห้ามไอหรือจามต่อหน้าชาเนย ในการทำพิธีสวดมนต์เวียนเทียนจะต้องเริ่มจากซ้ายไปขวา ห้ามสลับทิศ ห้ามปัสสาวะอุจจาระและห้ามฆ่าสัตว์ในวัดหรือบริเวณใกล้เคียงกับวัด
ด้านศาสนาและความเชื่อ ในอดีตชาวถู่นับถือสรรพเทพ เชื่อว่าทุกสรรพสิ่งมีเทพสิงสถิตอยู่ มีชาวถู่ในบางท้องที่นับถือศาสนาเต๋า สมัยหยวนและหมิงชาวถู่ส่วนใหญ่นับถือศาสนา ลามะ แต่ก็ผสมผสานกับความเชื่อที่มีมาแต่ดั้งเดิม ในชุมชนชาวถู่มีวัดลามะประมาณสี่สิบแห่ง ที่สำคัญเช่น วัดโย่วหนิง(佑宁寺Yòunínɡsì) วัดกว่างฮุ่ย (广惠寺Guǎnɡhuìsì) เป็นต้น มีพระที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากมาย ศึกษาจากวัดโย่วหนิง เช่น พระจางเจีย (章嘉Zhānɡjiā) พระถู่กวาน (土观Tǔɡuān) พระฮว่าปู้ (桦布Huàbù) เป็นต้น พื้นที่ของชุมชนชาวถู่ส่วนใหญ่เป็นกรรมสิทธิ์ครอบครองของวัดและศาสนสถาน ดังนั้นวัดจึงเป็นศูนย์รวมจิตใจและวัฒนธรรมสำคัญๆของชาวถู่มาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน


เทศกาลสำคัญของชาวถู่มี พิธีบริกรรมมนต์ของวัดโย่วหนิง จัดขึ้นในวันที่ 14 เดือน 1 ของทุกปี และในวันที่สองเดือนสองมีพิธีเวยหยวนเจิ้นเหลยไถ (威远镇 擂台会Wēiyuǎnzhèn lèitáihuì) วันที่สามเดือนสามและวันที่แปดเดือนสี่มีเทศกาลงานวัด วันที่สิบเอ็ดเดือนหกมีเทศกาลตานหมาซี่ (丹麻戏会Dānmáxìhuì) วันที่สิบสามเดือนหกและวันที่เก้าเดือนสิบสองมีเทศกาลวันเด็ก (少年会Shàoniánhuì) วันที่ยี่สิบสามเดือนเจ็ดถึงเดือนเก้ามีเทศกาล “น่าตุ้น” (纳顿Nàdùn) คือเทศกาลฉลองการเก็บเกี่ยว ในเทศกาลต่างๆ จะจัดให้มีการร้องเพลง เต้นรำ กายกรรม ซึ่งเป็นศิลปะประจำเผ่าอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้ชาวถู่ยังเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนเหมือนอย่างชาวฮั่นอีกด้วย


[1] คำว่า 土 tǔ มีความหมายว่า พื้นเมือง ในที่นี้หมายถึง ชาวพื้นเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น