วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

4. 布朗族 เผ่าปลัง





ชนกลุ่มน้อยเผ่าปลัง ภาษาจีนออกเสียงว่า ปู้หล่าง(布朗Bùlǎnɡ) อาศัยอยู่บริเวณตำบลเหมิงห่าย (勐海Měnɡhǎi) ตำบลจิ่งหง(景洪Jǐnɡhónɡ) ของเขตปกครองตนเองเผ่าไต (傣族自治州Dǎi Zú zìzhìzhōu) สิบสองปันนา(西双版纳Xīshuānɡbǎnnà) ในมณฑลยูนนาน และบริเวณตำบลซวงเจียง(双江Shuānɡ jiānɡ) ตำบลหย่งเต๋อ(永德Yǒnɡdé) ตำบลหยุน(云县Yúnxiàn) ตำบลเกิ๋งหม่า(耿马Gěnɡmǎ) ของเมืองหลินชาง(临沧Líncānɡ) และบางส่วนอาศัยอยู่บริเวณตำบลหลานชาง(澜沧 Láncānɡ) ตำบลโม่เจียง(墨江Mòjiānɡ) ของเมืองซือเหมา(思茅Sīmáo) จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าปลังมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 91,882 คน ภาษาที่ใช้คือภาษาปลัง (布朗语 Bùlǎnɡ yǔ) จัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก สาขามอญ-เขมร แขนงว้า-ปะหล่อง มีสำเนียงภาษาสองสำเนียงคือภาษาปลังกับภาษาอัลวา มีประชากรบางส่วนสามารถพูดภาษาไต ภาษาว้า และภาษาฮั่น(ภาษาจีน) ไม่มีภาษาอักษรเป็นของตนเอง แต่ใช้อักษรภาษาไตและอักษรจีน


ชาวปลังมีชื่อเรียกตัวเองหลายชื่อแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ เช่น ปลัง(布朗Bùlǎnɡ) ปัง(帮Bānɡ) อาหว่า (阿瓦Āwǎ) อาราหว่า(阿尔瓦Ā’ěr wǎ) อีหว่า (伊瓦Yīwǎ) หว่า (佤Wǎ) เวิงก่ง(翁拱Wēnɡɡǒnɡ) ชาวฮั่นเรียกชนกลุ่มนี้ว่า“ผูหม่าน” (濮满, 蒲满Púmǎn) ส่วนชาวไตเรียกว่า มอญ หรือ เมิ่ง (孟Mènɡ) ตามบันทึกประวัติศาสตร์ ชาวปลังมีถิ่นที่อยู่อาศัยที่เมืองหย่งชาง(永昌Yǒnɡchānɡ) มาแต่โบราณกาลแล้ว ชาวปลังมีจำนวนประชากรมาก พื้นที่อยู่อาศัยกินบริเวณกว้าง ที่สำคัญคือบริเวณตลอดสายลุ่มแม่น้ำหลานชาง(澜沧Láncānɡ) และบริเวณลุ่มแม่น้ำนู่(怒江Nù jiānɡ) มีข้อสันนิษฐานว่าชาวผู (濮人Pú rén) ที่ชาวฮั่นพูดถึงในบันทึกประวัติศาสตร์น่าจะเป็นบรรพบุรุษของชาวปลัง ซึ่งก่อร่างสร้างเมืองอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของซีฮั่น ในบริเวณมณฑลยูนนาน ได้แก่ อำเภออี้โจว (益州Yìzhōu) ป่าวซาน(保山Bǎoshān) ปู้เหวย(不韦Bùwéi) เป็นต้น จนถึงยุคซีจิ้น(西晋Xījìn) ชาวผู่จากเมืองหย่งชางได้อพยพลงไปทางใต้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองเจิ้นคัง (镇康Zhènkānɡ) เฟิ่งชิ่ง (凤庆 Fènɡ qìnɡ) หลินชาง (临仓Líncānɡ) หลังจากสมัยสุยและถัง มีบันทึกพงศาวดารที่กล่าวถึงชาวผู แต่ใช้อักษรแตกต่างกันไป เช่น ผูเหริน(濮人,蒲人Pú rén) พูจื่อ(扑子Pūzǐ) ผูจื่อ (朴子 Pūzǐ) พู(扑Pū) ผูหม่าน(蒲满Púmǎn) เป็นต้น ในยุคนี้การตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวปลังกระจัดกระจายกินบริเวณกว้างมาก จนถึงสมัยถังและซ่ง ชาว “ผู่” ถูกปกครองโดยเมืองน่านเจ้า(南诏Nánzhào) และต้าหลี่ (大理Dàlǐ) ถึงสมัยหมิงมีการก่อตั้งจังหวัดซุ่นหนิง (顺宁Shùnnínɡ) ทางการได้แต่งตั้งให้ชาวผู่ดูแลหัวเมืองถู่จือ(土知Tǔzhī) ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ชาวผู่ที่เดิมอาศัยอยู่บริเวณเมืองน่านเจ้าในมณฑลยูนนาน ได้พัฒนาเรื่อยมา ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “ชาวปลัง”


ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนชาวปลังมีถิ่นที่อยู่อาศัยไม่แน่นอนชัดเจน แต่สามารถแบ่งคร่าวๆได้สองบริเวณคือเขาปลังเหมิ่งห่าย (勐海Měnɡhǎi)ในสิบสองปันนา และบริเวณพื้นที่เมืองซีติ้ง(西定Xīdìnɡ) ต่อไปยังเขตเมืองปาต๋า(巴达Bādá) ชาวปลังในเขตเมืองหลินชาง(临沧Líncānɡ)และเมืองซือเหมา(思茅Sīmáo) ได้รับอิทธิพลจากชาวฮั่นและชนเผ่าอื่นที่เจริญกว่า ทำให้สังคมปลังในบริเวณดังกล่าวนี้พัฒนาไปมากกว่าบริเวณอื่น เข้าสู่ระบบสังคมแบบศักดินาเจ้าของที่ดิน


ชาวปลังที่สิบสองปันนามีระบบการปกครองคล้ายกับระบอบสังคมนิยมในปัจจุบัน คณะผู้บริหารหมู่บ้านมาจากกลุ่มคนต่างสายเลือด การผลิตเครื่องมือ สร้างบ้านเรือน สร้างคอกสัตว์จัดเป็นงานส่วนตัวภายในครอบครัว แต่การครอบครองที่ดินมีการจัดแบ่งเป็นสามระบบคือ ที่ดินที่เป็นสมบัติของครอบครัวบรรพบุรุษ ที่ดินที่เป็นสมบัติของสาธารณะ และที่ดินเป็นของส่วนตัว ที่ดินที่เป็นสมบัติของครอบครัวคือสมบัติที่เป็นมรดกสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษของตน ภาษาปลังเรียกว่า “เจี๋ยกุ่น” (戛滚Jiáɡǔn) หมายถึงสมบัติที่สร้างขึ้นรวบรวมขึ้นจากบรรพบุรุษ ได้แก่ ที่ดินที่อยู่รอบๆบริเวณครอบครัวของตน ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ทุ่งหญ้า ถือเป็นสมบัติรวมของตระกูล โดยในฤดูเก็บเกี่ยวของแต่ละปี ผู้อาวุโสที่สุดในตระกูลจะทำหน้าที่แบ่งให้สมาชิกในครอบครัวโดยถือเอาการตั้งครอบครัวใหม่เป็นเกณฑ์การแบ่ง ผลผลิตที่ทำได้เป็นของตนเอง การครอบครองที่ดินในลักษณะนี้เป็นเพียงการถือกรรมสิทธิ์ใช้ที่ดินเท่านั้น ไม่สามารถซื้อขายกันได้ ที่ดินในบริเวณหมู่บ้านของชาวปลังที่อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านหรือจากครอบครัว ผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนี้คือกรรมการประจำเผ่า สมาชิกกรรมการประจำเผ่ามีสิทธิ์ใช้ที่ดินดังกล่าว


ต่อมาระบบการถือครองที่ดินของชาวปลังพัฒนาไปอีกขั้น คือการสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของตนเองได้ ที่ดินที่เป็นที่นา ที่อยู่อาศัย สวนชา สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือถือครองกรรมสิทธิ์ได้ ผู้มีฐานะร่ำรวยสามารถครอบครองที่ดินได้ การเลือกหัวหน้าหมู่บ้านและคณะกรรมการจะคัดเลือกจากผู้ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือกว่าและมีกำลังการผลิตมากกว่า ซึ่งในขณะนั้นคือชาวไตเป็นกลุ่มคนที่ยิ่งใหญ่กว่าชาวปลังมาก ชาวไตจึงมีอำนาจในการควบคุมการเก็บภาษี และเกณฑ์แรงงาน แต่ผลผลิตการเกษตรของชาวปลังในขณะนั้นต่ำมาก ผู้ที่มีอำนาจทางเศรษกิจที่เหนือกว่าจึงมีสิทธิ์บีบบังคับซื้อขายผลผลิต จำนองผลผลิต สินเชื่อในราคาที่ต่ำมาก ชาวปลังจึงอยู่ในสภาพแร้นแค้น ยากจนไม่มีทางลืมตาอ้าปากได้เลย ซ้ำร้ายกว่านั้นเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลกว๋อหมินตั่งร่วมกับผู้นำหมู่บ้าน ผู้มีฐานะระดับสูงกดขี่ย่ำยี ขูดรีดภาษีซ้ำซ้อน ยิ่งทำให้สภาพชีวิตและสังคมของชาวปลังตกต่ำย่ำแย่กว่าเดิม พืชหลักที่ชาวปลังผลิตได้แก่ ข้าว ข้าวโพด พืชตระกูลถั่ว ชาและสำลี
หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลมีนโยบายเปลี่ยนแปลงระบบการถือครองที่ดินแบบเดิมที่มีเจ้าของหลักเป็นผู้ดูแลเก็บภาษี ขูดรีดประชาชน โดยจัดให้ชาวปลังกลับไปใช้ระบบการถือครองที่ดินแบบเดิมที่เคยมีมาคือการมีกรรมสิทธิ์ในการใช้ที่ดิน ตั้งแต่ปี 1956 เป็นต้นมา ภายใต้ความช่วยเหลือและการปรับเปลี่ยนเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินของรัฐบาล ทำให้เศรษฐกิจของชาวปลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนาระบบชลประทานหมู่บ้าน การพัฒนาระบบการผลิต ผลผลิตของชาวปลังกลายเป็นสินค้าส่งออกที่มีชื่อของจีน นั่นก็คือ “ชาผูเอ่อร์” (普洱茶Pǔ’ěr chá) ระบบการค้าขายในสังคมชาวปลังก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีการก่อตั้งบริษัทการค้า ร้านค้าขึ้นในชุมชนปลังมากมาย ผลผลิตของชาวปลังก็มีการพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย มีการก่อตั้งระบบการสาธารณสุข การศึกษา ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวปลังดีขึ้น และทัดเทียมกับชนเผ่าอื่น


เมื่อความเป็นอยู่ดีขึ้น ชาวปลังสามารถพัฒนาความคิดในเรื่องวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ วรรณกรรม ชาวปลังมีวรรณกรรมที่เป็นกลอนมุขปาฐะ ถ่ายทอดเรื่องราวอันงดงามสืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่เคยตกอยู่ภายใต้การครอบงำของกลุ่มชนที่ใหญ่กว่าอย่างชาวไต วัฒนธรรมการร้องรำก็ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมของชาวไตไม่น้อย เครื่องดนตรีประจำเผ่าคือพิณสามสาย ชาวปลังที่มีภูมิลำเนาแถบภูเขาเต้นรำได้อย่างสนุกสนาน การเต้นรำที่ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวปลังคือ การรำมีด (刀舞Dāo wǔ) การเต้นรำแสดงถึงความเข้มแข็งมีพลัง หนุ่มสาวชาวปลังชอบเต้นรำแบบล้อมกันเป็นวงเรียกว่า รำวง (圆圈舞Yuán quān wǔ) การระบำรำร้องของชาวปลังจะจัดขึ้นในงานเทศกาล หรือพิธีสำคัญๆ เช่น งานแต่งงาน
การแต่งกายของชาวปลังที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายมีความแตกต่างกันบ้าง แต่ลักษณะเด่นคล้ายๆกันคือ สวมเสื้อคล้ายเชิ้ตแขนสั้นไม่มีปกและสวมกางเกงกว้างสีดำ ใช้ผ้าดำพันศีรษะ นอกจากนี้ยังนิยมสักลวดลายตามร่างกาย ส่วนการแต่งกายของสตรีคล้ายคลึงกับชาวไต คือสวมเสื้อแขนกระบอกไม่มีปก นุ่งผ้าถุงสีแดง สีดำหรือสีเขียว เกล้าผมแล้วพันผ้ารอบศีรษะ ส่วนชาวปลังที่อาศัยอยู่ที่เมืองจิ่งตง(景东Jǐnɡdōnɡ) ส่วนใหญ่แต่งกายเหมือนชาวฮั่น


อาหารหลักของชาวปลังคือข้าว ผสมกับข้าวโพดและอาหารจำพวกถั่วต่างๆ รู้จักทำเหล้าหมักจากข้าว สตรีชาวปลังชอบเคี้ยวหมาก เพราะจะทำให้ฟันกลายเป็นสีดำจะถือว่าสวยงามมาก ชาวปลังก่อสร้างบ้านเรือนด้วยไม้ไผ่ แบ่งเป็นชั้นบนกับชั้นล่าง ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัยและชั้นล่างเป็นคอกเลี้ยงสัตว์


การแต่งงานของชาวปลังจะแต่งงานกับคนต่างสายตระกูลกัน และมีสามีภรรยาคนเดียว หนุ่มสาวชาวปลังสามารถพบรักกระทั่งแต่งงานได้อย่างอิสระ แต่ก็มีบ้างที่การแต่งงานจัดการเสร็จสรรพโดยพ่อแม่


งานศพของชาวปลังในทุกท้องที่คล้ายคลึงกัน เมื่อมีคนตายจะนิมนต์พระมาสวดส่งวิญญาณ ครบสามวันจึงเคลื่อนศพไปฝังยังสุสานที่แบ่งแยกเป็นส่วนตัวของแต่ละสายตระกูล ผู้ที่ตายโดยวิธีไม่ปกติ เช่น อุบัติเหตุ ถูกฆ่าจะทำพิธีศพโดยการเผา


ชาวปลังในอดีตนับถือศาสนาพุทธ นิกายหินยาน บูชาผีบรรพบุรุษ มีพิธีสำคัญทางศาสนาเช่น เทศกาลออกพรรษา เทศกาลเข้าพรรษา เทศกาลตักบาตร เทศกาลก่อกองทราย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น