วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

41. 畲族ชนกลุ่มน้อยเผ่าเซอ





























คัดลอกภาพจาก


http://www.lishui.gov.cn/lypd/lyzt/sys/sxfq/W020070412330835751985.jpg


http://www.56china.com/uploadfile/2010/0604/20100604075850547.jpg


http://a1.att.hudong.com/66/93/01300000209541123432938527543.jpg


ชนเผ่าเซอมีถิ่นฐานอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน บริเวณมณฑลฝูเจี้ยน(福建 Fújiàn) เจ้อเจียง (浙江Zhèjiānɡ) เจียงซี (江西Jiānɡxī) กว่างตง (广东Guǎnɡdōnɡ)และอานฮุย(安徽 Ānhuī) ส่วนใหญ่กว่า 90% อาศัยรวมตัวกันอยู่บริเวณที่เป็นภูเขาของมณฑลฝูเจี้ยนและเจ้อเจียง นับเป็นชนกลุ่มน้อยของจีนที่อาศัยกระจัดกระจายมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ชาวเซอเรียกตัวเองว่า “ซานฮา” (山哈 Shānhā) หมายถึงผู้ที่อาศัยอยู่บนภูเขา แต่ในบันทึกประวัติศาสตร์ของจีนไม่มีกล่าวถึงชนกลุ่มนี้ พงศาวดารในสมัยถังมีบันทึกไว้ว่าชนที่อาศัยอยู่ที่บริเวณรอยต่อของฝูเจี้ยน กว่างตงและเจียงซีมีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่หลายเผ่า รวมทั้งกลุ่มเซอด้วย ชื่อที่เรียกในบันทึกมีหลายชื่อคือ หมาน(蛮Mán) หมานเหลียว(蛮僚Mán Liáo) ตงหมาน(峒蛮Dònɡ Mán) หรือตงเหลียว (峒僚 Dònɡ Liáo) พงศาวดารในปลายราชวงศ์ซ่งใต้ เริ่มมีบันทึกเกี่ยวกับชาวเซอ โดยเรียกชื่อชนกลุ่มนี้ว่า “ชาวเซอ” (畲民 Shēmín) และ “เฉวียนหมิน” (拳民Quánmín) หลังปฏิวัติวัฒนธรรมชนกลุ่มนี้เปลี่ยนชื่อเป็น เผ่าเซอ (畲族Shē Zú) จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าเซอ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 709,592 คน พูดภาษาเซอ จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาภาษาเหมียวเหยา(แม้ว - เย้า) 99%ของคำในภาษาเซอใกล้เคียงกับภาษาจีนสำเนียงแคะ (客家Kèjiā) แต่ด้านระบบเสียงมีความแตกต่างกันอยู่ และมีคำศัพท์บางคำเป็นคนละคำแยกต่างหากจากภาษาจีนแคะ ชาวเซอไม่มีภาษาอักษร ใช้อักษรจีน


เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชาวเซอมีอยู่หลายทฤษฎี แต่ที่เชื่อกันว่าใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุดคือ เชื่อว่าชาวเซอเป็นชนที่สืบเชื้อสายมาจากชนกลุ่มเดียวกันกับชนเผ่าเหยา(瑶族Yáo Zú ) ชื่อ “อู่หลิงหมาน” (武陵蛮 Wǔlínɡ Mán) หรือเรียกอีกชื่อว่า “อู่ซีหมาน” (五溪蛮 Wǔxī Mán) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในยุคฮั่น(汉Hàn) และจิ้น(晋Jìn) ในบริเวณที่เป็นเมืองฉางซา (长沙 Chánɡshā) ในปัจจุบัน นับตั้งแต่ต้นสมัยสุย(隋Suí) และถัง (唐Tánɡ) เป็นต้นมา ชาวเซอตั้งถิ่นฐานอยู่ตามหุบเขาในบริเวณมณฑลฝูเจี้ยน กว่างตง และเจียงซี จนถึงสมัยซ่งอพยพไปอยู่บริเวณตอนกลางและเหนือของมณฑลฝูเจี้ยน ราวสมัยหมิงและชิงเริ่มปรากฏมีชาวเซอตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งแน่นอนบริเวณตะวันออกของมณฑลฝูเจี้ยน ตอนใต้ของมณฑลเจ้อเจียง ส่วนชาวเซอที่ในอดีตตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณหุบเขาเฟิ่งหวง(凤凰山 Fènɡhuánɡshān เขาพญาหงส์) ของมณฑลกว่างตงและจางโจว ได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอหนิงฮว่า(宁化 Nínɡhuà) จังหวัดทิงโจว (汀州 Tīnɡzhōu) มณฑลฝูเจี้ยน จากนั้นราวสมัยซ่งและหยวน จนถึงกลางสมัยหมิงได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลเจียงซี ชาวเซอที่มณฑลอานฮุย(安徽Ānhuī) เป็นกลุ่มที่อพยพมาจากอำเภอหลานซี (兰溪Lánxī) ถงหลู (桐庐Tónɡlú) ฉุนอาน (淳安 Chún’ān) ของมณฑลเจ้อเจียงเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ชาวเซอที่อาศัยกระจัดกระจายกันอยู่ในที่ต่างๆ ล้วนถือว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิม และบรรพบุรุษดั้งเดิมของตนอยู่ที่หุบเขาเฟิ่งหวง เมืองเฉาโจว มณฑลกวางตุ้ง โดยมีตำนานชาวเซอที่เล่าสืบต่อกันมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลานว่าบรรพบุรุษรุ่นแรกของชาวเซอฝังอยู่ที่เขาเฟิ่งหวงนี้เอง สังเกตได้จากการแต่งกายของหญิงชาวเซอที่โพกศีรษะเป็นรูปพญาหงส์ ก็เพื่อเป็นที่ระลึกถึงดินแดนบ้านเกิดของชนเผ่าตนนั่นเอง


ตำนานชาวเซอที่นิยมเล่าสืบต่อกันมาก็คือเรื่องราวที่เกี่ยวกับตำนาน โทเท็ม (图腾túténɡ) อันเป็นสิ่งเคารพบูชาประจำชนเผ่า วัตถุเคารพประจำชนเผ่าเซอคือน้ำเต้า ตำนานเล่าว่าชายหนุ่มบรรพบุรุษของชาวเซอได้ช่วยเหลือฮ่องเต้ปราบการรุกรานจากภายนอก จึงได้รับพระราชทานองค์หญิงสามให้เป็นภรรยา หลังแต่งงานตั้งบ้านเรือนอยู่ในหุบเขาป่าลึก มีลูกชายสาม หญิงหนึ่ง คนโตแซ่ผาน (盘Pán) คนที่สองแซ่หลาน (蓝Lán) คนที่สามแซ่เหลย (雷Léi) ลูกสาวแต่งงานกับคนแซ่จง (钟Zhōnɡ) ขยายเผ่าพันธุ์เรื่อยมาเป็นชาวเซอในปัจจุบัน เหตุนี้ชาวเซอในปัจจุบันจึงมีแซ่หลักๆ สามแซ่ คือ ผาน (盘Pán) หลาน (蓝Lán) และเหลย (雷Léi) ตำนานนี้ไม่เพียงได้รับความนิยมเล่าสืบทอดต่อๆกันมา ทั้งยังได้รับการจดบันทึกไว้ในคัมภีร์ประจำเผ่า รวมถึงภาพวาดประจำเผ่าอีกด้วย เรียกภาพนี้ว่า “ภาพบรรพบุรุษ” ชาวเซอมีเทศกาลบูชาบรรพบุรุษเป็นเทศกาลสำคัญประจำเผ่า ในวันเทศกาลทุกครัวเรือนจะมีไม้เท้าหัวมังกรเป็นรูปเคารพ ซึ่งถือเป็นโทเท็มประจำเผ่าอีกอย่างหนึ่ง


ในสมัยสุย ชาวเซอที่อาศัยอยู่บริเวณหุบเขาในมณฑลฝูเจี้ยน กว่างตง และเจียงซี มีชีวิตแบบสังคมบุพกาล ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและล่าสัตว์ท่ามกลางภูมิประเทศห่างไกลและยากลำบาก จนถึงสมัยราชวงศ์ถัง ราชสำนักได้ดำเนินนโยบายการทำการเกษตรแบบรวมหมู่ในชุมชนชาวเซอที่เมืองฝูเจี้ยน จางโจงและทิงโจวในสมัยนั้น ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเซอที่อาศัยอยู่ในหุบเขาห่างไกลเริ่มดีขึ้น ชาวฮั่นกับเซอมีมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเรื่อยมา แต่การปกครองของราชสำนักถังในชุมชนชาวเซอนี้ กลับเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดระบบสังคมศักดินาขึ้น ทำให้ชนชั้นศักดินาเริ่มกดขี่รังแกและเอารัดเอาเปรียบชนชาวเซอ ทั้งยังดำเนินนโยบายกีดกันชนกลุ่มน้อย ถือว่าชาวเซอเป็นกลุ่มชนบ้านป่าเมืองเถื่อน ปฏิบัติต่อชาวเซอเยี่ยงทาส


ช่วงระยะเวลาอันยาวนานของสังคมศักดินา ชาวเซอถูกกดขี่รังแกจนต้องอพยพย้ายถิ่นอยู่เนืองๆ ในขณะเดียวกัน ชาวเซอก็รวมตัวกันกับชาวฮั่นที่ถูกกดขี่ ร่วมมือกันต่อต้านชนชั้นศักดินาหลายต่อหลายครั้ง ในสมัยถัง ชาวเซอและชาวฮั่นเช่น เหลยว่านซิ่ง(雷万兴Léi Wànxìnɡ) เหมียวจื้อเฉิง(苗自成Miáo Zìchénɡ) หลานเฟิ่งเกา (蓝奉高Lán Fènɡgāo) ร่วมมือกันดำเนินการต่อต้านชนชั้นศักดินากว่าครึ่งศตวรรษ นับตั้งแต่ปี 1516 เรื่อยมาจนถึงยุคใกล้ปัจจุบัน ยังมีผู้นำชาวเซอและชาวฮั่นเดินหน้าต่อต้านระบบศักดินาและระบบกษัตริย์มาโดยตลอด


ด้านระบบเศรษฐกิจและสังคม ก่อนยุคปลดปล่อยชาวเซอเผชิญชีวิตกับสังคมศักดินามาตลอด แต่ด้วยความโหดร้ายทารุนของการกดขี่ข่มเหงจากชนชั้นศักดินา ทำให้สังคมชาวเซอพัฒนาด้านวัฒนธรรมไปอย่างช้า ๆ และไม่สู้จะราบรื่นนัก


บรรพบุรุษชาวเซอมีชีวิตอยู่ด้วยการทำการเกษตรเป็นอาชีพหลักรองลงมาคือการล่าสัตว์ ในศตวรรษที่ 7 บรรพบุรุษชาวเซอเริ่มบุกเบิกหุบเขาห่างไกลในบริเวณรอยต่อของสามมณฑล คือ มณฑลฝูเจี้ยน กว่างตง และเจียงซี ขณะนั้นชาวเซอทำการเกษตรแบบหักร้างถางพง เผาป่าทำไร่นา และด้วยภูมิประเทศของที่อยู่อาศัยเป็นหุบเขาลึกห่างไกลแหล่งน้ำ วิธีการทำนาก็ล้าหลัง ผลผลิตที่ได้จึงมีปริมาณต่ำมาก แต่ด้วยภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาลึกนี้ สัตว์ป่ายังมีความอุดมสมบูรณ์มาก ชาวเซอจึงดำรงชีวิตด้วยการทำการเกษตรควบคู่ไปกับการล่าสัตว์ป่าด้วย
ในสมัยหมิงและชิง เป็นช่วงที่ชาวเซอระลอกใหญ่อพยพไปตั้งถิ่นฐานที่ภาคตะวันตกของมณฑลฝูเจี้ยนและบริเวณภาคใต้ของมณฑลเจ้อเจียง ขณะที่ไปถึงบริเวณดังกล่าวมีชาวฮั่นอาศัยอยู่ก่อนแล้ว บริเวณที่อุดมสมบูรณ์ถูกชาวฮั่นจับจองเป็นเจ้าของแล้ว ชาวเซอที่อพยพเข้ามาภายหลังจึงต้องหักร้างถางพงที่ดินทำกินใหม่ในที่ที่อยู่ห่างไกลออกไป หรือไม่ก็เป็นที่หุบเขาสูง หรือบางกลุ่มก็เช่าที่ดินชาวฮั่นหรือรับจ้างใช้แรงงานให้กับชาวฮั่น ระยะเวลานานหลายชั่วอายุคน ชาวเซอได้สร้างคุณประโยชน์ใหญ่หลวงในฐานะผู้บุกเบิกพื้นที่ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของจีน


หลังยุคปลดปล่อย รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิในการปกครองตนเอง และสนับสนุนให้ชาวเซอได้มีโอกาสรับราชการ มีส่วนร่วมในการปกครองและพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ ในชุมชนที่มีชาวเซออาศัยรวมกันมาก รัฐได้จัดให้ชาวเซอมีสิทธิในที่ดินทำกิน ชาวเซอเริ่มเพาะปลูกชา พืชอาหารในที่ดินของตนเอง ระบบการเกษตรของชาวเซอเข้าสู่การเกษตรเพื่อการค้า การเกษตรของชาวเซอขยายขอบเขตมากขึ้น เปลี่ยนภูเขาแห้งแล้งห่างไกล เป็นหุบเขาที่อุดมสมบูรณ์ ชาวเซอเรียนรู้วิธีการทำการเกษตรแผนปัจจุบัน ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น การลงทุนจากภายนอกถาโถมเข้าสู่ชุมชนชาวเซอ โดยเฉพาะในเมืองหนิงเต๋อ(宁德Nínɡdé) และผูเถียน (蒲田Pútián) ของมณฑลเจ้อเจียง ทำให้สภาพชีวิตชาวเซอพัฒนารุดหน้าขึ้นอย่างมาก


ด้านศิลปวัฒนธรรม ช่วงชีวิตที่ผ่านการอพยพย้ายถิ่น การตรากตรำบุกเบิก หักร้างถางพง สร้างชุมชนและชีวิตใหม่ ก่อเกิดวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและงดงาม วรรณกรรมของชาวเซอหลากหลายมาก อย่างเช่น บทเพลงชาวเขาภาษาเซอ ถือเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะพื้นบ้านที่ชาวเซอสร้างสมและถ่ายทอดมาหลายช่วงอายุคน เสียงเพลงเซอจะดังก้องกังวานทั่วหุบเขาในงานเทศกาลรื่นเริงและการเฉลิมฉลอง การเยี่ยมเยือนญาติสนิทมิตรสหาย ชาวเซอจะพูดจาตอบโต้ ถามสารทุกข์สุกดิบกันด้วยบทเพลงเซอนี้ บทเพลงเซอที่ถ่ายทอดและสืบสานกันมาปัจจุบันมีอยู่กว่าพันเพลง เพลงที่ได้รับความนิยมเช่น เพลงชื่อ《高皇歌》Gāohuánɡɡē “เพลงกษัตริย์ผู้สูงส่ง”เพลงชื่อ《龙皇歌》Lónɡhuánɡɡē “เพลงจ้าวมังกร” เป็นเพลงที่มีฉันทลักษณ์แบบเจ็ดคำ มีความยาวกว่าสามถึงสี่ร้อยคำกลอน บทเพลงเหล่านี้เป็นตำนานเทพนิยาย บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบรรพบุรษของชาวเซอ แฝงไว้ด้วยคติความเชื่อของชาวเซอที่มีต่อโทเท็มประจำเผ่า นอกจากนี้ชาวเซอยังชำนาญการวาดภาพเล่าเรื่องราว ชาวเซอจะวาดภาพเล่าเรื่องราวยาวต่อกันหลายสิบหลายร้อยตอน นับเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชนเผ่าและของประเทศจีน


หญิงชาวเซอมีนิสัยเรียบง่ายบริสุทธิ์ ทั้งยังมีความขยันอดทน งานหัตถกรรมฝีมือปักผ้าของหญิงชาวเซอละเอียด มีลวดลายและสีสันงดงามไร้ที่ติ แบบอย่างลวดลายที่หลากหลายแสดงให้เห็นว่าได้รับการกลั่นกรองมาจากประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น มีการพัฒนาจนสามารถคัดเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ผ้าทอมือและผ้าปักในอดีตชาวเซอเก็บไว้สวมใส่เองหรือมอบให้บุคคลอันเป็นที่รัก แต่ปัจจุบันเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ชาวเซอทำงานฝีมือนี้เพื่อขาย นอกจากนี้สาวชาวเซอชอบสวมเครื่องประดับต่างๆ หลังยุคปลดปล่อย รัฐบาลให้การสนับสนุนงานฝีมือด้านนี้ จนกลายเป็นสินค้าที่ระลึกและส่งออกขายทั่วทั้งในและนอกประเทศ


ชายชาวเซอรักการแข่งขันกีฬา กีฬาพื้นบ้านที่นิยมเช่น แข่งขี่ม้าทะเล แข่งวิ่งไม้ไผ่ แข่งกองฟืน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการรำมวยกังฟู ซึ่งนับเป็นกีฬาจากภูมิปัญญาชาวเซอที่สั่งสมสืบทอดมาหลายช่วงอายุคน ก่อนยุคปลดปล่อย ชาวเซอฝึกกังฟูเพื่อต่อสู้และป้องกันตัวจากการกดขี่รังแกของชนชั้นศักดินา หลังยุคปลดปล่อยชาวเซอฝึกกังฟูเพื่อการออกกำลังกาย เสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแกร่ง


ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ด้วยชีวิตที่ระเหเร่ร่อน อพยพย้ายถิ่นฐานบ่อยครั้ง ชาวเซอตั้ง กระท่อมตามภู ตัดต้นอ้อทำประตู ปูพื้นบ้านด้วยไม้ สานไผ่สร้างฝา เกี่ยวหญ้าคามุงบ้าน รวมกันเป็นชุมชน บ้านชาวเซอในอดีตสร้างด้วยวัสดุที่หาได้ตามธรรมชาติ ปัจจุบันสร้างบ้านตึกชั้นเดียวมุงหลังคากระเบื้อง ภายในบ้านมีเตาไฟ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในบ้านของชาวเซอ เนื่องจากชาวเซออาศัยอยู่ในหุบเขาสูง อากาศหนาวเย็นมาก จึงต้องอาศัยความอบอุ่นจากไฟฟืน และด้วยเหตุที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หุบเขา แหล่งน้ำมีน้อย แต่ทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ ชาวเซอจึงไม่นิยมเพาะปลูกข้าว อาหารหลักของชาวเซอเป็นพวกแตงและมัน ส่วนข้าวนั้น ชาวเซอถือเป็นอาหารพิเศษ เก็บไว้ต้อนรับแขกผู้มาเยือน หรือรับประทานในเทศกาลสำคัญ นอกจากนี้ยังมีอาหารเสริมจำพวกเต้าหู้ กุ้งฝอย เป็นต้น ชาวเซอชอบดื่มเหล้าที่หมักจากข้าว และข้าวสาลี


การแต่งกายชุดประจำเผ่าของชาวเซอสวยสดงดงาม ชาวเซอนิยมสวมชุดสีฟ้าหรือน้ำเงิน ตัดเย็บด้วยผ้าป่านที่ทอขึ้นเอง ปัจจุบันการแต่งกายของชายชาวเซอไม่แตกต่างจากชาวฮั่นมากนัก เพียงแต่ตัดเย็บด้วยผ้าป่านที่ทอเองเท่านั้น ส่วนการแต่งกายของหญิงชาวเซอยังคงดำรงเอกลักษณ์ของชนเผ่าไว้ คือปักลายที่ปกเสื้อ แขนเสื้อและด้านขวาของลำตัวเสื้อ สวมกางเกงขาสั้น พันขาสูงถึงเข่า สาวชาวเซอใช้ด้ายสีแดงถักพันกับผมเป็นเปียยาว แล้วเกล้าเป็นทรงสูงบนศีรษะ ส่วนหญิงที่แต่งงานแล้วจะสวมเครื่องประดับศีรษะรูปหงส์ ทำจากไม้ไผ่หุ้มด้วยผ้าสีแดง เครื่องประดับศีรษะนี้ ยังใช้ด้ายต่างสีพันรอบสลับกับผ้าสีแดงเพื่อบอกช่วงอายุของผู้สวมได้ด้วย คือ ผู้สูงอายุใช้สีดำ วัยกลางคนใช้สีน้ำเงิน ส่วนเด็กสาวใช้สีแดงล้วน บนยอดของเครื่องประดับศีรษะนี้ยังมีแผ่นเงินกลมประดับบนยอดอีกชั้นหนึ่ง การประดับศีรษะแบบนี้ก็เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึงองค์หญิงสามตามตำนานของชาวเซอนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ปิ่นเงิน สร้อยเงิน กำไลเงิน เป็นต้น


ประเพณีการแต่งงานของชาวเซอยึดถือการแต่งงานแบบสามีภรรยาเดียว การแต่งงานเรียบง่าย และยึดถือการไม่แต่งงานกับคนในสายตระกูลเดียวกัน เนื่องจากชาวเซอมีแซ่อยู่สี่แซ่ อันถือเป็นบุคคลต่างสายตระกูลกัน สามารถแต่งงานกันได้ แต่ในยุคที่เกิดการกีดกันและเหยียดหยามชนกลุ่มน้อย มีการห้ามการแต่งงานข้ามเผ่า จึงไม่มีการแต่งงานกันระหว่างชาวเซอและชาวฮั่น ซึ่งถือเป็นกฎที่เคร่งครัดมากในสมัยนั้น หลังการปลดปล่อย ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิและสถานภาพเท่าเทียมกัน ชาวเซอและชาวฮั่นจึงเริ่มมีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์กัน ในสมัยก่อนหนุ่มสาวชาวเซอมีอิสระในการเลือกคู่ครอง หนุ่มสาวจะมารวมตัวกันในงานเทศกาลสำคัญ แล้วร้องเพลงเกี้ยวพาราสีโต้ตอบกัน จนได้รู้จักสื่อสัมพันธ์กันจนถึงขั้นแต่งงาน


พิธีศพของชาวเซอกระทำโดยการฝัง และมีการขุดเอากระดูกมาทำพิธีอีกครั้ง


เทศกาลหลักสำคัญของชาวเซอคือ เทศกาลพญาหงส์ จัดขึ้นทุกๆเดือนเมษายนของทุกปี เทศกาลเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง จัดในเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ยังมีเทศกาลไหว้พระจันทร์ เทศกาลตรุษจีนตามอย่างชาวฮั่น เป็นต้น เทศกาลที่สำคัญที่สุดคือ ทุกๆวันที่ 15 ของเดือนกุมภาพันธ์ กรกฎาคม และเดือนสิงหาคม เป็นเทศกาลไหว้บรรพบุรุษของชาวเซอ


ชาวเซอนับถือโทเทม โทเทมของชาวเซอแต่เดิมคือ ฉีหลิน(麒麟qílín)และพญาหงส์ (凤凰fènɡhuánɡ)ต่อมามีการนับถือน้ำเต้าและสุนัข นอกจากนี้ชาวเซอยังให้ความเคารพและบูชาวิญญาณบรรพบุรุษเป็นอย่างมาก



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น