วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

30. 满族 ชนกลุ่มน้อยเผ่าหม่าน


















คัดลอกภาพจาก http://www.ac168.cn/user/ldmzx/media/image/mzfs.jpg


http://redchina.tv/userfiles/image/20100206/%E6%97%97%E8%A2%8D.jpg



ชาวหม่านหรือที่รู้จักกันในชื่อ “ชาวแมนจู” เป็นกลุ่มชนที่เคยรุ่งเรืองเป็นราชวงศ์หนึ่งของจีน ชาวหม่านจึงมีจำนวนมาก และอาศัยกระจายอยู่ทั่วไปในประเทศจีน บริเวณที่มีชาวหม่านอาศัยอยู่มากได้แก่ บริเวณมณฑลเหลียวหนิง และกระจายอยู่ในมณฑลต่างๆ เช่น จี๋หลิน(吉林Jílín) เฮยหลงเจียง(黑龙江Hēilónɡjiānɡ) เหอเป่ย (河北Héběi) มองโกเลียใน(内蒙古Nèiměnɡɡǔ) ซินเจียง (新疆Xīnjiānɡ) กานซู่(甘肃Gānsù) ซานตง(山东Shāndōnɡ) เป็นต้น และตามเมืองต่างๆอีกเช่น ปักกิ่ง(北京Běijīnɡ) เทียนจิน(天津Tiānjīn) เฉิงตู(成都 Chénɡdū) ซีอาน (西安Xī’ān) กว่างโจว (广州Guǎnɡzhōu) อิ๋นชวน(银川Yínchuān) เป็นต้น มีการก่อตั้งชุมชนชาวหม่านขึ้นเป็นเขตปกครองตนเองมากมาย เช่น ซิ่วเหยียน ( 岫岩Xiù yán) เฟิ่งเฉิง(凤城Fènɡchénɡ) ซินปิน(新宾Xīnbīn) ชิงหลง (青龙Qīnɡlónɡ) เฟิงหนิง (丰宁Fēnɡnínɡ) เป็นต้น จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าหม่าน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 10,682,263 คน

ภาษาของชาวหม่านชื่อว่า ภาษาหม่าน จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาภาษาหม่าน-ทังกุส(Tungus) แขนงภาษาหม่าน ภาษาเขียนของชาวหม่านพัฒนาขึ้นในปลายศตวรรษที่ 16 โดยได้แบบอย่างมาจากภาษามองโกล จากนั้นได้ยืมอักษรมองโกลมาใช้โดยเติมจุด เติมวงเรียกภาษาเขียนนี้ว่า “ภาษาหม่านที่มีวงและจุด”(有圈点的满文 Yǒu quāndiǎn de Mǎnwén) หรือเรียกอีกชื่อว่า ภาษาหม่านใหม่ (新满文Xīn Mǎnwén) ส่วนภาษาเขียนแบบดั้งเดิมที่ประดิษฐ์ขึ้นในปลายศตวรรษที่ 16 นั้นเรียกว่า “ภาษาหม่านแบบไม่มีวงและจุด” (无圈点的满文 Wú quāndiǎn de Mǎnwén) เมื่ออ้ายซินเจวี๋ยหลัว นู่เอ่อร์ฮาชื่อ(爱心觉罗 努尔哈赤Àixīn juéluó Nǔ’ěrhāchì,Nurchi) ซึ่งเป็นชาวหม่านได้สถาปนาราชวงศ์ชิงขึ้น ชาวหม่านจึงได้อพยพเข้าสู่บริเวณที่ราบภาคกลางเป็นจำนวนมาก (ปัจจุบันคือบริเวณทางใต้ของแม่น้ำหวงเหอ อันเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของมณฑลเหอหนาน ภาคตะวันตกของมณฑลซานตง และภาคใต้ของมณฑลเหอเป่ยและส่านซี) ทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับชาวฮั่นไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การดำรงชีวิตอย่างใกล้ชิด ชาวหม่านจึงค่อยๆ รับเอาอิทธิพลด้านภาษาของชาวฮั่นไปใช้ ปัจจุบันมีชาวหม่านน้อยมากที่รู้ภาษาหม่าน เหลือเพียงผู้สูงอายุและชาวหม่านที่อาศัยอยู่บริเวณห่างไกลในมณฑลเฮยหลงเจียงเท่านั้น นอกนั้นใช้ภาษาจีนทั้งสิ้น
ประวัติศาสตร์ของชาวหม่านมีมายาวนานมาก สามารถสืบประวัติขึ้นไปจากชนกลุ่มที่ชื่อว่า หนวี่จื๋อ (女直Nǚzhí) ในสมัยหมิง สืบขึ้นไปถึงกลุ่มชนที่ชื่อ โม่เหอ (靺鞨Mòhe)ในสมัยสุยและถัง กลุ่มชนที่ชื่อ อู้จี๋ (勿吉Wùjí) ในสมัยเป่ยเฉา (北朝Běicháo) กลุ่มชนที่ชื่อ อี้โหลว (挹娄Yìlóu) ในสมัยฮั่นและ กลุ่มชนที่ชื่อ ซู่เซิ่น(肃慎Sùshèn) ในสมัยโจว มีคำเรียกชื่อ “หนวี่เจิน” (女真Nǚzhēn) ปรากฏในปลายสมัยถังของยุค 5 ราชวงศ์ ในยุคนั้นชาวชี่ตาน (契丹人 Qìdān rén) เรียกชาวเฮยสุ่ยโม่เหอว่า “หนวี่เจิน” ต้นศตวรรษที่ 12 ชาวหนวี่เจินมีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณหวานเหยียน(完颜部Wányán bù) มีผู้ปกครองคือ อากู๋ต่า (阿骨打 Āɡǔdǎ) ได้ตั้งกองกำลังขึ้นต่อต้านการครอบครองของราชสำนักเหลียว และสถาปนาแคว้นจิน (金国Jīnɡuó) ขึ้น ต่อมาไม่นานก็ล้มล้างราชวงศ์เหลียว (辽Liáo) และซ่งเหนือ(北宋Běi Sònɡ)ลงได้ กลายเป็นแคว้นคู่กับราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋Nán Sònɡ) หลังจากสถาปนาแคว้นจินแล้ว ชาวหนวี่เจินระลอกใหญ่ก็อพยพเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณภาคกลาง มีปฏิสัมพันธ์และซึมซับวัฒนธรรมของชาวฮั่นเป็นเวลานาน จนผสมกลมกลืนไปกับชาวฮั่น จนสมัยราชวงศ์หยวน ชาวหนวี่เจินที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณภาคกลางและเหลียวตง (辽东 Liáodōnɡ) รวมไปถึงชาวชี่ตานและชาวฮั่นบริเวณหัวเป่ย (华北Huáběi) ถูกเหมารวมว่าเป็น “ชาวฮั่น” ไปทั้งหมด ส่วนชาวหนวี่เจินที่อาศัยอยู่บริเวณอีหลาน (依兰Yīlán) ของมณฑลเฮยหลงเจียง ได้แก่ เมืองถาวเวิน (桃温Táowēn) หูหลีก่าย (胡里改Húlǐɡǎi) โว่ตั่วเหลียน (斡朵怜Wòduǒlián) ทัวโว่เหลียน(脱斡怜Tuōwòlián) เป้ยขู่เจียง(孛苦江Bèikǔjiānɡ) รวมไปถึงชาวหนวี่เจินที่กระจัดกระจายอยู่ริมชายฝั่งแม่น้ำซงฮวา (松花江 Sōnɡhuā jiānɡ) ภาคกลางของมณฑลเฮยหลงเจียง ลุ่มแม่น้ำอูซูหลี่ (乌苏里江Wūsūlǐ jiānɡ) ชายฝั่งทะเลตงต๋า (东达海岸Dōnɡdá hǎi’àn) เริ่มพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จนกระทั่งถึงปลายศตวรรษที่ 16 เข้าสู่ต้นศตวรรษที่ 17 อ้ายซินเจวี๋ยหลัวได้รวบรวมชาวหนวี่เจินที่อาศัยอยู่บริเวณห่ายซี (海西Hǎixī) และส่วนที่กระจัดกระจายอยู่ตามบริเวณ ตะวันออกเฉียงเหนือไว้เป็นกลุ่มชนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียว
ในช่วงรวมชาติ อ้ายซินเจวี๋ยหลัว จัดการแบ่งเขตชาวหนวี่เจินที่รวมตัวกันออก โดยแบ่งเขตเมืองตามเชื้อสายของประชาชน ต่อมาพัฒนาเป็นเขตต่างๆ 7 เขต โดยใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ในการแบ่งเขต เรียกว่าการปกครองแบบแปดธง “ปาฉี” (八旗Bāqí) ได้แก่ ธงเหลือง แดง น้ำเงิน ขาว ธงขอบเหลือง ขอบขาว ขอบแดง และธงขอบน้ำเงิน นับเป็นจุดกำเนิดของระบบการปกครองที่เด่นชัดของชนชาติหม่าน
ในปี 1616 อ้ายซินเจวี๋ยหลัว ได้สถาปนาประเทศขึ้นคือ “แคว้นจิน” (金国Jīnɡuó) ในทางประวัติศาสตร์คือ โฮ่วจิน (后金Hòu Jīn) หรือจินยุคหลัง ชาวหม่านได้รับอิทธิพลด้านวัฒนธรรมเศรษฐกิจและสังคมจากชาวฮั่นมาโดยตลอด จนกระทั่งปรับเปลี่ยนไปเป็นระบบสังคมแบบศักดินาอย่างชาวฮั่นในที่สุด ในปี 1635 จินไท่จง (金太宗Jīn Tàizōnɡ) มีพระราชโองการประกาศเปลี่ยนชาวหนวี่เจินเป็นชาวหม่านอย่างเป็นทางการ หลังจากอ้ายซินเจวี๋ยหลัว สวรรคต โอรสองค์ที่แปด หวงไท่จี๋ (皇太极Huánɡ Tàijí) สืบต่อราชบัลลังก์ และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “ต้าชิง” (大清DàQīnɡ) ในปีฉงเต๋อหยวน (崇德元年Chónɡdéyuán nián,1636) หลังจากมองโกลกลับเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครอง ราชสำนักชิงได้แบ่งการปกครองและการทหารเป็นระบบแปดธง “ปาฉี”( 八旗bāqí) ในทั้งสามชนชาติ ได้แก่ มองโกลแปดธง (蒙古八旗Měnɡɡǔ bāqí) กองกำลังฮั่นแปดธง (汉军八旗Hàn jūn bāqí) และแคว้นหม่านแปดธง (满洲八旗Mǎnzhōu bāqí) ราชสำนักชิงมีอาณาเขตเพิ่มมากขึ้น ประชากรเพิ่มจำนวนมากขึ้น สร้างความเข้มแข็งให้กับราชสำนักชิงอย่างมาก
ปี 1644 ซุ่นจื้อ (顺治Shùnzhì) ตั้งเมืองหลวงของราชวงศ์ชิงขึ้นที่ปักกิ่ง แต่ปัญหาของหม่านก็คือ ราชวงศ์ชิงเป็นราชวงศ์ที่สร้างขึ้นโดยชนกลุ่มน้อย ประชาชนชาวหม่านมีอย่างมากก็เพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของพลเมืองในอาณาจักรทั้งหมด ต้องรักษาประเทศที่มีความกว้างใหญ่ไว้ในอาณาจักร ในขณะเดียวกันต้องรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและความเป็นชนชาติตนไว้ไม่ให้กลมกลืนไปกับวัฒนธรรมของชนกลุ่มใหญ่กว่าอย่างชาวฮั่น ดังนั้นราชวงศ์หม่านต้องการให้ชาวจีนสวามิภักดิ์อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของหม่านอย่างไม่มีข้อผ่อนปรน จึงได้ออกกฎให้ชายชาวจีนทุกคนไว้ผมยาวเพื่อถักเปียไว้ด้านหลัง ส่วนด้านหน้าโกนออกให้หมด หากใครไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษสถานเดียวคือการประหารชีวิตด้วยการตัดคอ แต่ถูกต่อต้านจากชาวจีนอย่างที่สุด ชาวจีนเกลียดชังการโกนหัวและถักเปียมาก เพราะถือเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นข้าทาสหม่านโดยแท้ นอกจากการบังคับให้ชาวจีนโกนหัว ถักเปียแล้ว ยังมีข้อบังคับอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ให้แต่งกายอย่างชาวหม่าน ห้ามชาวหม่านค้าขาย ห้ามชาวหม่านทำงานเหมือนอย่างชาวฮั่น ห้ามชาวหม่านปฏิบัติตามประเพณีจีน กองกำลังทหารแปดธงของหม่านไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ชาวฮั่นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ราชวงศ์หม่านรักษาขนบธรรมเนียมความเชื่อทางศาสนาซ่าหม่าน (萨满教Sàmǎn jiào) กราบไหว้บูชาผี ก็จัดให้มีศาสนสถานที่ประกอบพิธีบูชาผีดังกล่าวโดยห้ามไม่ให้ชาวฮั่นเข้ามายุ่งเกี่ยวอย่างเด็ดขาด
เกี่ยวกับการจัดการเรื่องที่ดินทำกิน หลังจากหม่านได้ตั้งเมืองหลวงขึ้นที่ปักกิ่งแล้ว ได้บังคับให้ชาวฮั่นอพยพไปอยู่ทางใต้ของปักกิ่ง และรวบรวมเอาที่ดินทางภาคเหนือซึ่งเป็นที่ดินอุดมสมบูรณ์ให้กับทหารประจำการทำมาหากิน ทหารชั้นผู้ใหญ่ของหม่านในสมัยนั้นจึงมีอำนาจและร่ำรวยมาก โดยสามารถมีกรรมสิทธิ์ที่ดินในครอบครองมากเป็นแสน ๆ เอเคอร์ แต่ปัญหาก็คือชาวหม่านทำนาไม่เป็น ต้องจ้างให้ชาวฮั่นทำนาให้ โดยมีสัญญาการจ้างงาน การเช่าที่ดินทำกิน ชาวจีนในบางพื้นที่เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด ต้องยอมทำสัญญาทำนาให้กับหม่านจนชั่วชีวิตเลยก็มี
ในช่วงที่พระเจ้าเซิ่งจู่เสวียนเย่ (圣祖玄烨Shènɡzǔ Xuányè) ขึ้นครองราชย์ ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆ มากมาย เช่น ยกเลิกการริบที่ดิน หักร้างถางพงที่ดินว่างเปล่าให้เป็นที่ดินทำกิน จัดระเบียบการเก็บภาษี ก่อสร้างระบบชลประทาน ซ่อมแซมระบบคลองส่งน้ำ แม่น้ำ และระบบคมนาคม การปฏิรูปดังกล่าวส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างราชสำนักกับราษฎรชาวจีนลดลง ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ประชาชนทุกชนเผ่าได้รับการดูแลและผลตอบแทนที่ดี ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็หมายความว่าราชวงศ์หม่านได้สร้างระบบเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความเข้มแข็งของอาณาจักรให้กับประเทศจีนอย่างมาก
นับตั้งแต่กษัตริย์คังซี (康熙Kānɡxī) ถึงกษัตริย์เฉียนหลง (乾隆Qiánlónɡ) เป็นระยะเวลา 80 ปี ชาวหม่านและชาวฮั่นร่วมกันบุกร้างถางพงที่ดินทำกินใหม่ขึ้นมากมาย เฉพาะที่เหลียวหนิง (辽宁Liáonínɡ) เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ในบริเวณจี๋หลิน เฮยหลงเจียงมีพื้นที่ทำกินใหม่มากถึง 610,000 ส่าง (垧shǎnɡ)[1]ชาวหม่านระลอกใหญ่อพยพเข้าสู่ที่ราบภาคกลาง ชาวฮั่นอพยพไปทางตะวันออกฉียงเหนือ กระทั่งยุคที่ราชวงศ์ชิงใกล้ล่มสลาย เทคโนโลยีการผลิตของชาวฮั่นในบริเวณ ซานห่ายกวาน (山海关Shānhǎi ɡuān) กับชาวหม่านในสามมณฑลทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือใกล้เคียงกันจนถึงเท่าเทียมกัน ปริมาณการผลิตอาหาร และสินค้าประเภทโสม รังไหม เขากวางมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเพียงพอต่อการบริโภคภายใน และสามารถส่งออกขายยังต่างประเทศได้ สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ
ปลายสมัยราชวงศ์ชิง ผู้ปกครองไร้ความสามารถ ถูกรุกรานรังแกจากประเทศอาณานิคม ขุนนางขายชาติ จนถูกต่อต้านจากชาวหม่านและชนในชาติทุกหมู่เหล่า ในที่สุด ปี 1911 เกิดการปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ ราชสำนักชิงล่มสลาย จากนั้นมาจึงถือว่าชาวหม่านเป็นชนกลุ่มน้อยหนึ่งเทียบเท่ากับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ของจีน เรียกชื่อว่า “หม่านจู๋” (满族Mǎn Zú)
ด้านระบบเศรษฐกิจและสังคม ในอดีตบรรพบุรุษของชาวหม่านอยู่อาศัยกันเป็นชุมชนเล็กๆ มีชีวิตอยู่รอดด้วยการล่าสัตว์บกและสัตว์น้ำเป็นอาหาร และเป็นเช่นนี้ นานหลายร้อยปีจนพัฒนามาทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ จากนั้นก็เริ่มก่อร่างสร้างตัวสร้างอารยธรรมของตนขึ้น เคยตกอยู่ในการปกครองของชาติฟูหยวี (ตัวอักษรจีนใช้คำว่า 夫余 หรือ扶余Fūyú,Fúyú) เริ่มติดต่อไปมาหาสู่กับส่วนกลางตั้งแต่ยุคซานกว๋อ (三国Sānɡuó) เป็นต้นมา ระบบเศรษฐกิจพัฒนาก้าวหน้าขึ้นจากการทำประมงล่าสัตว์น้ำพัฒนาสู่การทำการเกษตร ชาวหม่านเริ่มเรียนรู้เทคโนโลยีการเกษตรและกรรมวิธีการผลิตต่างๆ จากชาวจีน ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมศักดินาเริ่มเกิดขึ้นในสังคมชาวหม่าน แต่ผลจากการล่มสลายของราชสำนักชิง ประเทศจีนถูกรุกรานจากประเทศล่าอาณานิคม ราษฎรตกอยู่ในภาวะลำเค็ญแสนสาหัส ก่อนยุคการปลดปล่อย ชาวหม่านในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือถูกทหารญี่ปุ่นและพรรคกว๋อหมินตั่งกระทำทารุณกรรม บังคับขู่เข็ญเยี่ยงทาส ชีวิตของชาวหม่านในขณะนั้นลำบากยากจนถึงที่สุด ชาวหม่านในบริเวณที่ราบภาคกลางก็ถูกเหยียดหยามและถูกกดขี่อย่างหนัก ต้องอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ ในยุคนี้มีชาวหม่านไม่น้อยเปลี่ยนมาใช้แซ่อย่างชาวจีนเพื่อปกปิดชาติกำเนิดของตน
หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวหม่านมีสถานภาพเป็นชนกลุ่มน้อยหนึ่งใน สาธารณรัฐประชาชนจีน และได้รับสิทธิตามนโยบายชนกลุ่มน้อยที่รัฐบาลจีนให้สิทธิ์ในการปกครองตนเอง ชาวหม่านที่เคยถูกกดขี่ทารุณ ดูถูกเหยียดหยามข่มเหง รวมถึงการปิดบังซ่อนเร้นวัฒนธรรมและชาติกำเนิดเริ่มกลับมีชีวิตขึ้นมาใหม่ ชาวหม่านได้รับการยอมรับจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการปกครองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศล้วนมีชาวหม่านเป็นสมาชิกทั้งสิ้น ในวงการอุตสาหกรรม ธุรกิจ การศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรม ล้วนมีชาวหม่านเป็นสมาชิกสำคัญและพร้อมใจกันร่วมมือพัฒนาความเจริญเติบโตของประเทศชาติ สภาพชีวิตของชาวหม่าน อยู่ดีมีสุขเป็นลำดับเรื่อยมา
ด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์อันยาวนานที่ผ่านมา ชาวหม่านได้สร้างคุณประโยชน์ด้านวัฒนธรรมให้กับประเทศจีนอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์ชิง รัชสมัยของพระเจ้าเซิ่งจู่เสวียนเย่ (圣祖玄烨Shènɡzǔ Xuányè) ได้ดำเนินการควบคุมการเรียบเรียงหนังสือหลายเล่ม เช่น หนังสือชื่อ《音韵阐微》Yīnyùn chǎn wēi “บทบรรยายระบบเสียง” หนังสือชื่อ《数理精蕴》Shùlǐ jīnɡyùn “มหัศจรรย์ตัวเลข” หนังสือชื่อ《历象考成》Lìxiànɡ kǎochénɡ “สืบประวัติศาสตร์” หนังสือชื่อ《皇舆全览图》Huánɡ yú quánlǎn tú “แผนที่ดินแดนกษัตริย์” เป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าทางวิทยาการอย่างยิ่ง เอกสารโบราณที่จดบันทึกด้วยภาษาหม่านที่มีความสำคัญกับการศึกษาประวัติศาสตร์ เช่น หนังสือชื่อ《满文老档》Mǎnwén lǎo dànɡ “กรุเก่าภาษาหม่าน” หนังสือชื่อ《满洲实录》Mǎnzhōu shílù “บันทึกเรื่องจริงแห่งหม่านโจว” หนังสือชื่อ《异域录》Yìyù lù “บันทึกต่างแดน” นอกจากนี้ยังมีหนังสือที่เป็นคัมภีร์เล่มสำคัญสำหรับผู้ศึกษาภาษาหม่านต้องอ่าน เช่น หนังสือชื่อ《清文启蒙》Qīnɡ wén qǐménɡ “ความรู้พื้นฐานภาษาชิง” หนังสือชื่อ《清文典要》Qīnɡwén diǎnyào “สังเขปภาษาชิง” หนังสือชื่อ《清文鉴》Qīnɡwén jiàn “พินิจภาษาชิง” นอกจากนี้เพื่อให้ชนกลุ่มอื่นได้เรียนภาษาหม่าน ราชสำนักชิงยังสนับสนุนให้มีการแปลหนังสือเรียนภาษาหม่านชื่อ《御制五体清文鉴》Yùzhì wǔ tǐ Qīnɡwén jiàn “ ราชประดิษฐ์พินิจภาษาชิง 5 แบบ” โดยได้แปลเป็นภาษาอื่นๆ อีกหลายภาษา เช่น ภาษาฮั่น มองโกล ทิเบต อุยกูร์ เป็นต้น นับเป็นหนังสือที่ชนแต่ละเผ่าสามารถใช้เป็นเครื่องมือถ่ายทอดเรื่องการปกครอง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้หนังสือแปลระหว่างภาษาฮั่นกับภาษาหม่านก็พบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นตำนาน นิทาน วรรณกรรมต่างๆ เช่น เรื่อง《三国演义》Sānɡuó yǎnyì “สามก๊ก” เรื่อง《西厢记》Xīxiānɡjì “นิราศตะวันตก” เรื่อง《金瓶梅》Jīnpínɡméi “ดอกเหมยในกุณฑีทอง” เหลียวไจจื้ออี้《聊斋志异》Liáozhāizhìyì “เหลียวไจจื้อี้ หรือ โปเย โปโลเย” ล้วนมีการแปลเป็นภาษาหม่านทั้งสิ้น
วรรณกรรมที่ทรงคุณค่ายิ่ง ได้แก่ เรื่อง 《红楼梦》Hónɡlóumènɡ “ความรักในหอแดง” แต่งโดย เฉาเสวี่ยฉิน (曹雪芹Cáo Xuěqín) ในรัชสมัยพระเจ้าเฉียนหลง ก็นับเป็นวรรณกรรมอัตถนิยม (现实主义Xiànshí zhǔyì) ที่ยิ่งใหญ่ของโลก
หลาวเส่อ (老舍Lǎoshě) เป็นนักประพันธ์ชาวหม่านที่มีชื่อเสียง ประพันธ์งานด้านนวนิยายที่ได้รับความนิยมมากมาย ได้รับสมญานามว่า “ศิลปินของประชาชน”
ชาวหม่านรักการร้องรำทำเพลงและเต้นรำ ที่โดดเด่นคือ ระบำของชาวจูเฮ่อ(株褐人Zhū hè rén) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวหม่าน แสดงออกถึงการต่อสู้ การเต้นรำของชาวหนวี่เจินสะท้อนภาพชีวิตการทำงาน อธิบายถึงเรื่องราวในครัวเรือน การทำงานของสตรี และการอ้อนวอนเทพเจ้า ด้วยนิสัยรักความสนุกสนานร่าเริงของชาวหนวี่เจิน ไม่ว่าจะกระทำการงานใด ๆ ก็จะผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยด้วยการร้องรำทำเพลง จนกลายเป็นวัฒนธรรมการเต้นรำของชนเผ่า การเต้นรำของชาวหนวี่เจินจะบรรเลงผีพา ปรบมือ ร้องเพลงเป็นจังหวะประกอบ โดยเฉพาะในงานเลี้ยงฉลองรื่นเริง ผู้คนรวมตัวกันแสดงความยินดี ร่วมร้องเพลงเป็นหมู่ และเต้นรำสลับคู่ชายหญิง หลังจากเข้าไปตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ที่เหลียวหนิง(辽宁Liáonínɡ) เสิ่นหยาง (沈阳 Shěnyánɡ) ได้ซึมซับและรับเอาวัฒนธรรมของชนเผ่าใกล้เคียงไปไม่น้อย ชาวหม่านที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดงานมหกรรมเต้นรำประจำเผ่าอยู่บ่อยๆ
ตั้งแต่ปลายราชวงศ์ชิงเป็นต้นมา มีงานวรรณกรรมด้านเพลง นักประพันธ์เพลง และศิลปินชาวหม่านที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นมากมาย เช่น จ้าวซิงหยวน (赵星垣Zhào Xīnɡyuán) ซวงโฮ่วผิง(双厚坪Shuānɡ Hòupínɡ) จินว่านชาง (金万昌 Jīn Wànchānɡ) เซี่ยรุ่ยจือ(谢芮芝Xiè Ruzhī) ผิ่นเจิ้งซาน(品正三Pǐn Zhènɡsān) ฉางซู่เถียน (常澍田Chánɡ Shùtián) หรงเจี้ยนเฉิน (荣剑尘Rónɡ Jiànchén) เป็นต้น ศิลปินเหล่านี้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ได้รับการยอมรับและมีอิทธิพลอย่างมากต่อศิลปินรุ่นหลัง
ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ความสามารถพิเศษเฉพาะตัวของบรรพบุรุษชาวหม่านก่อนที่จะอพยพเข้าสู่เหลียวหนิง เสิ่นหยางคือการยิงธนู เด็กๆ ชายหญิงชาวหม่านตั้งแต่อายุ 7 – 8 ขวบก็ยิงธนูเป็นแล้ว การแต่งกายของชาวหม่าน ผู้ชายจะโกนผมด้านหน้าครึ่งศีรษะ แล้วไว้หางเปียยาวด้านหลัง สวมชุดเสื้อคลุมยาวถึงตาตุ่มด้านข้างสองด้านผ่าลึกขึ้นไปถึงเอว สวมกางเกงขายาวรัดข้อไว้ด้านใน ด้านนอกสวมเสื้อผ่าอกแขนยาวลำตัวสั้น คาดเข็มขัด ผู้หญิงเกล้าผมสวมกระจังทรงสูง ประดับด้วยดอกไม้ มีตุ้งติ้งระย้าห้อย สวมชุดกี่เพ้า สวมรองเท้าพื้นสูงเว้ากลาง
บ้านเรือนชาวหม่าน ภายในบ้านจะมีฝาผนังด้านหนึ่งไว้เป็นที่ประดิษฐ์เทพบูชา ภายในบ้านแบ่งเป็นสองห้อง มีครัวอยู่นอกบ้าน ประตูบ้านอยู่ทางทิศใต้ สามทิศรอบๆบ้านทางทิศเหนือ ใต้ และตะวันตกมีเตียงชนิดหนึ่งเรียกว่า “คั่ง” (炕kànɡ) เป็นเตียงที่ก่อด้วยอิฐ มีปล่องต่อเข้ากับเตาไฟ เวลาฤดูหนาวจะก่อไฟที่เตา แล้วนอนบนเตียงนี้
เรื่องอาหารการกิน ชาวหม่านกินข้าวเม็ดเล็ก และข้าวเหลืองเป็นอาหารหลัก เทศกาลต่างๆ กินเกี้ยว และเนื้อ อาหารจานพิเศษของชาวหม่านที่นิยมชมชอบกันไปทั่วจนปัจจุบันคือ “ซ่าฉีหม่า” ( 萨其玛Sàqímǎ)
การแต่งงงานของชาวหม่านยึดถือการมีสามีภรรยาคนเดียว ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวหม่านอายุ 1 6 – 1 7 ปี ก็ เริ่มแต่งงานกันได้ การแต่งงานพ่อแม่เป็นผู้จัดการให้ ในพิธีแต่งงานเจ้าสาวจะต้องนั่งคลุมผ้าอยู่บน “คั่ง” ที่อยู่ทางทิศใต้ของบ้านเจ้าบ่าวเป็นเวลา 1 วัน เรียกว่า “จั้วฝู” (坐福zuò fú)
ส่วนพิธีศพของชาวหม่าน จะวางศพผู้ตายไว้บน “คั่ง” ที่อยู่ทางทิศเหนือหรือทิศตะวันตกของบ้าน เมื่อบรรจุศพใส่โลงแล้ว จะต้องยกโลงออกจากทางหน้าต่างเพื่อไปทำพิธีฝังศพ
ชาวหม่านให้ความสำคัญกับมารยาทและพิธีการมาก ตามธรรมเนียมเมื่อพบผู้ใหญ่ต้องแสดงความเคารพ ผู้ชายงอเท้าขวา มือขวาวางไว้บนเข่าย่อตัวลง ส่วนผู้หญิงย่อตัวลงเหมือนชายแต่มือทั้งสองข้างประสานกันบนเข่า ชายหญิงรุ่นเดียวกันเมื่อพบกันจะกอดเอวแล้วเอาหน้าสัมผัสกันและกัน ชาวหม่านนับถือบูชาทิศตะวันตก “คั่ง” ที่อยู่ทางทิศตะวันตกถือเป็นที่เคารพ ไม่ให้ใครเข้าไปนั่งเล่น และจะไม่วางสิ่งของรกรุงรัง นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามทางความเชื่ออีกหลายอย่าง เช่น ไม่ตีสุนัข ไม่ฆ่าสุนัข ไม่กินเนื้อสุนัข ไม่ใช้ของใช้ที่ทำจากหนังสุนัข และไม่ต้อนรับแขกที่สวมหมวกหรือชุดที่ทำจากหนังหมา ด้วยเหตุผลที่ว่า ในสมัยก่อน ชาวหม่านดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์ โดยมีสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงที่คอยช่วยเหลือ จึงถือว่าสุนัขเป็นเพื่อนคู่ใจไม่ฆ่าสุนัข จนเกิดกลายเป็นธรรมเนียมของชนเผ่าไปในที่สุด
ระยะเวลา 300 กว่าปีมานี้ ชาวหม่าน และชาวฮั่นอาศัยอยู่ร่วมกันมาตลอด ยังมีชาวหม่านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลส่วนน้อยเท่านั้น ที่แยกตัวเป็นเอกเทศจากชาวฮั่นยังคงพูดภาษาหม่าน รักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมของตนไว้ แต่ชาวหม่านส่วนใหญ่ที่อาศัยปะปนกับชาวฮั่น ถือเป็นชนส่วนน้อยที่อยู่ภายในวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่และเข้มแข็งกว่าของชาวฮั่น ประกอบกับเหตุผลทางการเมือง นานวันเข้าจึงยอมรับเอาวัฒนธรรมของชาวฮั่นไปจนกลมกลืนไปกับชาวฮั่นเสียแล้ว ในทางตรงกันข้าม เราก็ยังคงเห็นร่องรอยทางวัฒนธรรมและภาษาของชาวหม่านหลงเหลืออยู่ไม่น้อยตามสถาปัตยกรรมต่างๆ โดยเฉพาะวัดและพระราชวังในกรุงปักกิ่ง
เทศกาลสำคัญของชาวหม่านแตกต่างจากชาวฮั่นไม่มาก ได้แก่ เทศกาลตรุษจีน เทศกาล ตวนอู่ เทศกาลหยวนเซียว เทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นต้น
ชาวหม่านนับถือศาสนาซ่าหม่าน (萨满教Sàmǎn jiào) ซึ่งเป็นศาสนาที่นับถือผีและวิญญาณ ยุคราชวงศ์ชิงเรืองอำนาจ มีการแบ่งศาสนาซ่าหม่านราชสำนักกับศาสนาซ่าหม่านของประชาชน ในราชสำนักมีการจัดพิธีกรรมเกี่ยวกับการบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อของศาสนาหม่านเป็นประจำ การสวดมนต์บูชาล้วนใช้ภาษาหม่านทั้งสิ้น จนกระทั่งศตวรรษที่ 40 ในบริเวณเมืองหนิงกู๋ถ่า (宁古塔Nínɡɡǔtǎ) ปัจจุบันคือเมืองหนิงอาน (宁安Nínɡ’ān) มณฑลเฮยหลงเจียง ชาวหม่านยังคงนับถือศาสนาซ่าหม่านอยู่
[1] เป็นหน่วยวัดที่ดินของจีนในสมัยโบราณ 1 ส่าง เท่ากับ 15亩 (mǔ ไร่) 60亩 เท่ากับ 1 hectare

1 ความคิดเห็น:

  1. ดีมากเราชอบทีหลังเอาทรงผมแบบแมนจุมาให้ดูหน่อยนะเอาของผู้หญิงง่ะ

    ตอบลบ