วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

26. 拉祜族ชนกลุ่มน้อยเผ่าลาหู่























ชาวเผ่าลาหู่อาศัยอยู่บริเวณภูเขาด้านตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน เรียกตัวเองว่า “ลาหู่” แต่บุคคลภายนอกเรียกชนเผ่านี้ต่างกันไปหลากหลายชื่อ เช่น หลั่วเฮย(倮黑Luǒhēi) เกอชัว (哥搓Gēcuō) เหมี่ยน(缅Miǎn) มู่เส่อ (目舍Mùshě) ขู่ชง(苦聪Kǔcōnɡ) เป็นต้น อาศัยอยู่แถบลุ่มน้ำหลานชาง(澜沧Láncānɡ) บริเวณเมืองซือเหมา (思茅Sīmáo) และหลินชาง(临沧Líncānɡ) ในบริเวณที่เป็นรอยต่อของเมืองต่างๆ ได้แก่ เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา เขตปกครองตนเองเผ่าฮานี(哈尼族Hāní Zú) เผ่าอี๋ (彝族Yí Zú) และที่เมืองยวี่ซี(玉溪Yùxī) ก็มีชนเผ่าลาหู่อาศัยอยู่ แต่ชาวลาหู่ประมาณ 80% รวมตัวกันอาศัยอยู่ที่ตะวันตกของแม่น้ำหลานชาง จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าลาหู่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 453,705 คน พูดภาษาลาหู่ จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า แขนงภาษาอี๋ ชาวลาหู่อาศัยอยู่ร่วมกับชาวฮั่นและชาวไตมาเป็นเวลาช้านาน ส่วนมากสามารถพูดภาษาไตและภาษาฮั่นได้ ในอดีตชาวลาหู่เคยใช้อักษรที่ประดิษฐ์ขึ้นจากภาษาลาตินโดยหมอสอนศาสนาชาวตะวันตก กระทั่งปี ค.ศ. 1957 ได้พัฒนาขึ้นใช้อย่างเป็นทางการ

ชาวลาหู่สืบเชื้อสายมาจากชนชาติเชียง (羌人Qiānɡ rén) ซึ่งเป็นชนเผ่าโบราณที่ดำรงชีวิตอยู่ในบริเวณกานซู่และที่ราบสูงทิเบตมาแต่ครั้งบรรพกาล หลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่าในอดีตเคยมีชาวเชียงกลุ่มหนึ่งอพยพลงใต้เข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่เป็นมณฑลยูนนานในปัจจุบัน โดยตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บริเวณตอนใต้ของฝั่งแม่น้ำจินซา (金沙江Jīnshā jiānɡ) ในสมัยฉิน และฮั่นดำรงชีวิตอยู่ในบริเวณที่พูดภาษาแขนงภาษาอี๋ (彝语支Yí yǔzhī) จึงถูกเรียกว่า ชาวอี๋คุนหมิง (昆明夷Kūnmínɡ Yí) ชนชาวอี๋นี้ถือว่าเป็นบรรพบุรุษชาวลาหู่รุ่นแรกที่ดำรงชีวิตในบริเวณยูนนาน นับตั้งแต่สมัยถังเป็นต้นมา ชาวลาหู่ที่ตั้งถิ่นฐานริมฝั่งแม่น้ำจินซาได้อพยพเป็นสองสาย สายหนึ่งไปทางตะวันออกเฉียงใต้ และอีกสายหนึ่งไปทางตะวันตกเฉียงใต้ กลุ่มที่อพยพไปทางตะวันออกเฉียงใต้เดินทางผ่านด้านตะวันตกของเขาอายเหลา (哀牢山 Āiláoshān) และตะวันออกของเขาอู๋เลี่ยง (无量山 Wúliànɡ shān) โดยได้ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณทิศตะวันออกของแม่น้ำหลานชาง (澜沧江Láncānɡ jiānɡ) กลุ่มนี้เรียกว่า “ลาหู่ซี” (拉祜西 Lāhù xī มีความหมายว่า ลาหู่ตะวันตก) ส่วนกลุ่มที่อพยพไปทางตะวันตกเฉียงใต้เดินทางผ่านเขาเว่ยซาน(巍山Wēi shān) ข้ามแม่น้ำหลานชางไปอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งคือเมืองหลินชาง (临沧Lín cānɡ) ในปัจจุบัน โดยตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตะวันตกของแม่น้ำหลานชางแห่งนั้นมาจนปัจจุบัน ชาวลาหู่กลุ่มนี้มีชื่อว่า ลาหู่น่า (拉祜纳Lāhù nà) ชาวอี๋ที่มีความผูกพันทางเชื้อชาติที่ใกล้ชิดกับชาวลาหู่เรียกชาวลาหู่น่าว่า ต้าหลั่วเฮย(大倮黑Dà Luǒhēi “หลั่วเฮยใหญ่”) และเรียกชาวลาหู่ซีว่า เสี่ยวหลั่วเฮย (小倮黑Xiǎo Luǒhēi “หลั่วเฮยเล็ก”) เรียกหมู่บ้านลาหู่ว่า “หลั่วเฮยเจีย” (倮黑加Luǒhēi jiā) จนถึงสมัยหยวนและสมัยหมิง ถูกปกครองโดยชนเผ่าไต จนปลายสมัยราชวงศ์ชิง มีการแบ่งเขตการปกครองเป็นตำบลและอำเภอขึ้นในบริเวณที่อยู่อาศัยของชาวลาหู่
ในช่วงก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระบบเศรษฐกิจสังคมของชาวลาหู่ไม่มีความแน่นอน นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ถึงศตวรรษที่ 20 ระบบเศรษฐกิจสังคมในบริเวณเมืองหลินชาง(临沧Líncānɡ) ซือเหมา(思茅Sīmáo) หยวนเจียง(元江Yuánjiānɡ) และโม่เจียง(墨江Mòjiānɡ) ยังคงเป็นแบบสังคมศักดินามีการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน รวมไปถึงบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลานชาง(澜沧东北部Láncānɡ dōnɡběibù) ซวงเจียง (双江Shuānɡjiānɡ) จิ่งตง(景东Jǐnɡdōnɡ) เจิ้นหยวน(镇源Zhènyuán) จิ๋งกู่ (景谷Jǐnɡɡǔ) ก็มีระบบเศรษฐกิจสังคมอย่างเดียวกัน ปริมาณการผลิตตกต่ำและล้าหลังมาก การรวบรวมที่ดินมีความกระจัดกระจายมาก เกิดการกดขี่แรงงาน และเอารัดเอาเปรียบจากชนชั้นศักดินา ชาวลาหู่ที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวมีจำนวนกว่าครึ่งของจำนวนประชากรชนเผ่าทั้งหมด เครื่องมือการเกษตรคล้ายคลึงกับของชาวฮั่น แต่วิธีการทำการเกษตรล้าหลัง จึงได้ผลผลิตไม่สูงมากนัก งานด้านหัตถกรรมได้แก่ งานตีเหล็ก ทอผ้า ปักผ้า จักสาน ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือนเท่านั้น ชาวลาหู่ที่อยู่ในการปกครองแบบระบบศักดินาของชนเผ่าไตมีชีวิตลำบากยากเข็ญมาก ชาวลาหู่ที่เมืองเกิ๋งหม่า (耿马Gěnɡmǎ) เป็นทาสของคนเผ่าไต ชาวลาหู่ที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองหลานชาง(澜沧Láncānɡ) เมิ่งเหลียน(孟连Mènɡlián) และสิบสองปันนาเป็นชาวนาที่อยู่ในการครอบครองของชาวไต มีหน้าที่ต้องส่งส่วยให้ชาวไต ชนชั้นคนรวยกับคนจนภายในชุมชนชาวลาหู่เองก็มีความสัมพันธ์กันแบบนายกับทาสเช่นเดียวกัน แต่ก็มีชุมชนลาหู่บางกลุ่มที่มีระบบสังคมแบบคอมมูน ที่ประกอบด้วยครอบครัวขนาดใหญ่ผลผลิตที่ได้เข้าสู่ส่วนกลาง ชนชาวลาหู่ในบริเวณดังกล่าวนี้มีสภาพชีวิตแร้นแค้นมาก ปริมาณการผลิตก็ได้น้อย เครื่องมือที่ทำจากเหล็กก็มีราคาแพงเหลือกำลังที่ชาวลาหู่จะซื้อหาได้ การทำมาหากินจึงหยุดอยู่เพียงการใช้มีดพร้า จอบเสียมหรือเครื่องมือที่เคยใช้มาแต่ก่อน ในขณะที่ชุมชนรอบข้างพัฒนาไปมาก ผลผลิตที่ได้จึงไม่มีทางแข่งขันก็ชุมชนอื่นๆ ได้เลย ชาวลาหู่จึงประกอบอาชีพเสริมอย่างอื่น เช่น การล่าสัตว์ป่า ปลูกผัก เลี้ยงผึ้ง ซึ่งสามารถทำรายได้เสริมให้กับชาวลาหู่พอประทังชีวิตได้ ในขณะที่เศรษฐกิจของชุมชนลาหู่ที่ตำบลจินผิงถดถอยอย่างรุนแรง ชาวบ้านลาหู่ในบริเวณนี้ยังใช้วิธีการทำการเกษตรแบบโบราณ ทำไร่เลื่อนลอยอยู่ ที่พักอาศัยยังคงเป็นเพิงเล็กๆ ยังไม่รู้จักการทอผ้า ยังใช้ใบไม้หรือหนังสัตว์ปกคลุมร่างกาย ในศตวรรษที่ 19 ยังใช้ภาษาใบ้ในการแลกเปลี่ยนสินค้ากับชนภายนอกอยู่
หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวลาหู่ได้รับชีวิตใหม่ มีการก่อตั้งเขตปกครองตนเองชาวลาหู่หลายแห่ง ได้แก่
ปี 1953 รัฐบาลก่อตั้งอำเภอปกครองตนเองชาวลาหู่ขึ้นที่เมืองหลานชาง (澜沧拉祜族自治县Láncānɡ Lāhù Zú zìzhìxiàn)
ในปี 1954 ก่อตั้งอำเภอปกครองตนเองชาวไตชาวว้าชาวลาหู่ขึ้นที่อำเภอเมิ่งเหลียน (孟连傣族拉祜族佤族自治县Mènɡlián Dǎi Zú Lāhù Zú Wǎ Zú zìzhì xiàn)
นับแต่นั้นมา ชาวลาหู่ก็มีชีวิตและสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันกับชนกลุ่มอื่น และที่สำคัญมีสิทธิที่ในการปกครองตนเอง ในปี 1952 – 1956 รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูปที่ดินทำกินในชุมชนชาวลาหู่ด้วยนโยบายการเพิ่มปริมาณการผลิต การบุกเบิกที่ดินทำกินใหม่ การสนับสนุนช่วยเหลือด้านต่างๆ และความร่วมมืออันดีของชาวลาหู่ รัฐบาลดำเนินนโยบายการปกครองแบบสังคมนิยมได้สำเร็จในปี 1958
จากการก่อร่างสร้างเมืองเป็นเวลากว่า 40 ปี กิจการด้านต่างๆในชุมชนลาหู่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นมาก การเกษตรเปลี่ยนพลิกฟื้นคืนชีวิตขึ้นมา ชาวลาหู่ในหลายพื้นที่เริ่มปลูกข้าวทั้งนาปีและนาปรัง ปริมาณการผลิตในแต่ละปีเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว สร้างโรงงานน้อยใหญ่ขึ้นมากมาย เช่น โรงงานตีเหล็ก เครื่องจักรกล ผลิตน้ำตาล ทอผ้า ผลิตกระดาษ ปูนชีเมนต์ และก๊าซธรรมชาติ โรงงานผลิตแร่ตะกั่วของเมืองหลานชาง(澜沧Láncānɡ) เป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นในชุมชนลาหู่ และถือเป็นโรงงานสำคัญของมณฑลยูนนาน นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างโรงกำเนิดไฟฟ้า โดยเฉพาะในเมืองหลานชางมีโรงงานกำเนิดไฟฟ้าน้อยใหญ่รวมกันกว่า 70 แห่ง เดิมทีการคมนาคมในชุมชนชาวลาหู่มีเพียงถนนดิน แต่ปัจจุบันมีการก่อสร้างระบบคมนาคมขนาดใหญ่เชื่อมต่อกันทั้งในชุมชนและกับภายนอก ตลาดการเกษตรและธุรกิจการเกษตรต่างๆเกิดขึ้นมากมาย มีการพัฒนาระบบการศึกษาให้ลูกหลานชาวลาหู่ได้มีความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง สามารถใช้ความรู้ประกอบอาชีพที่ดีได้ นอกจากนี้ในอดีตที่ผ่านมาชาวลาหู่จำนวนมากต้องเสียชีวิตด้วยโรคห่าระบาดอย่างหนัก แต่หลังจากการสาธารณสุขพัฒนาขึ้น ชาวลาหู่มีสุขภาพดีขึ้นถ้วนหน้า นำความกินดีอยู่ดี และมีสุขให้มาสู่ชุมชนชาวลาหู่ตลอดมา
ด้านศิลปวัฒนธรรม ชาวลาหู่รักการร้องรำทำเพลง เต้นระบำรำฟ้อน บทเพลงและการเต้นรำของชาวลาหู่เป็นสิ่งที่สะท้อนภาพชีวิตและบรรยากาศของความเป็นชนเผ่าได้อย่างโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพลงของชาวลาหู่มีแบ่งเป็นหลักๆ 5 ประเภท คือ เพลงสรรเสริญ เพลงบรรยาย เพลงร้องเล่น เพลงรัก และเพลงรำพัน รูปแบบของบทเพลงและทำนองเพลงรวมทั้งการเต้นรำมีความหลากหลายมาก เครื่องดนตรีที่ชาวลาหู่ใช้ประกอบการร้องรำทำเพลงได้แก่ ขลุ่ยน้ำเต้า พิณเป่า พิณสามสาย ฆ้องโหม่ง ขลุ่ยผิวและปี่ ระบำขลุ่ยน้ำเต้าเป็นระบำประจำเผ่าชาวลาหู่ การร่ายรำส่วนใหญ่เกี่ยวข้องการทำการเกษตร เช่น ระบำตีข้าว ระบำเกี่ยวข้าว ระบำตำข้าว ระบำเก็บข้าว ระบำนกยูง เป็นต้น ด้วยความใกล้ชิดกันกับชาวไต การร่ายรำของชาวลาหู่ได้รับอิทธิพลจากชาวไตอย่างมาก ที่เห็นได้ชัดคือการจีบมือ ชาวลาหู่รับวิธีการรำแบบจีบมือของชาวไตมาประยุกต์ประสมประสานกับการร่ายรำของตนเอง เกิดเป็นความงามที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว


ด้านวรรณคดี โดยมากเป็นวรรณกรรมแบบมุขปาฐะที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น มีรูปแบบหลากหลาย เนื้อหามีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวัน การใช้แรงงาน การสรรเสริญ การต่อต้านการถูกกดขี่ข่มเหง เหล่านี้ถูกถ่ายทอดและสะท้อนอยู่ในวรรณกรรมของชาวลาหู่ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป วรรณกรรมที่ทรงคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ของชาวลาหู่คือ เรื่อง หมู่ปามี่ปา 《牡扒密扒》Mǔbā Mìbā เป็นวรรณกรรมคำกลอนที่นักวิจัยใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในการศึกษาด้านขนบธรรมเนียม ประเพณี อาชีพ และการแต่งงานของชาวลาหู่ฉบับสำคัญ นอกจากนี้ยังมีบทกลอนประเภทหนึ่ง เรียกว่า “ถัวผู่เคอ” (陀普科Tuópǔkē) ซึ่งเป็นบทกลอนของชาวลาหู่ที่แฝงปริศนาคำทายอยู่ในบทกลอน มีลักษณะคล้ายกับกลอนผะหมีของไทย เป็นกลอนที่ได้รับความนิยมชมชอบของชาวลาหู่อย่างมาก
ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี การแต่งกายของชาวลาหู่มีลักษณะความเป็นชนเผ่าที่โดดเด่นเฉพาะตัว ชายพันผ้าโพกหัวสีดำ สวมเสื้อผ่าอกไม่มีปก สวมกางเกงขากว้างและยาวถึงตาตุ่ม หญิงชาวลาหู่น่าใช้ผ้าคลุมผมเป็นแนวยาว แล้วปล่อยชายผ้าไว้ด้านหลังคลุมยาวถึงเอว สวมเสื้อชุดคลุมยาว เสื้อผ้าปักลายสีสันฉูดฉาด ทั้งลายภาพและลายเส้น ประดับประดาเสื้อผ้าด้วยกระดุมหรือหมุดเงิน แต่การแต่งกายของหญิงชาวลาหู่ซีแตกต่างกับลาหู่น่า คือ สวมเสื้อคลุมสั้น และสวมกระโปรงสั้น ส่วนชาวลาหู่ที่อาศัยใกล้ชิดกับชาวไตและชาวฮั่น ได้รับอิทธิพลการแต่งกายจากทั้งสองชนชาติ จึงแต่งกายเหมือนกับทั้งสองชนเผ่า


ด้านอาหารการกิน ชาวลาหู่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ยังมีข้าวโพด มัน เผือกและถั่วต่างๆ นอกจากนี้ก็เป็นอาหารจำพวกผักที่ได้จากธรรมชาติและปลูกขึ้นรับประทานในครอบครัว เช่น หัวผักกาด มันฝรั่งและแตงต่างๆ ชาวลาหู่ชอบอาหารรสเผ็ด ในยามว่างจากการงานชาวลาหู่ทั้งชายหญิงชอบสูบยา รู้จักการหมักข้าวทำเหล้า ชาวลาหู่จิตใจดี ต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยความเป็นมิตร เมื่อถึงเทศกาลสำคัญชาวลาหู่จะเชิญชวนชนเผ่าที่อยู่ใกล้ชิดกัน เช่น ชาวไต ชาวฮานี ชาวปลังมาร่วมรับประทานอาหารเฉลิมฉลองในเทศกาลของตน ในเทศกาลแต่ละครั้งชาวลาหู่แต่ละครัวเรือนจะนำเนื้อสดมารวมกันทำอาหาร มียำเนื้อสดคลุกกับเกลือและพริก เป็นอาหารโปรดของชาวลาหู่ ถือเป็นอาหารพิเศษที่ใช้ต้อนรับแขกและแสดงถึงความเคารพต่อแขกผู้มาเยือนอีกด้วย


บ้านเรือนของชาวลาหู่สร้างด้วยไม้ไผ่และไม้เนื้อแข็ง สร้างเป็นบ้านเรือนหลังเล็กเหมาะสำหรับการอาศัยอยู่หนึ่งครอบครัว และยังมีบ้านที่สร้างด้วยไม้เป็นตึกหลังใหญ่ จะใช้เสาไม้ประมาณ12 – 21 ต้นเป็นเสาหลัก และแบ่งห้องภายในบ้านเป็นที่พักอาศัยและครัว ชาวลาหู่ได้รับอิทธิพลการปลูกสร้างบ้านเรือนจากชาวไตและชาวฮั่น ปัจจุบันมักสร้างบ้านด้วยอิฐ ใช้อิฐและปูนเป็นฝาบ้าน แต่ยังคงรักษารูปแบบหลังคาดั้งเดิมคือมุงหลังคาด้วยหญ้า


ประเพณีการแต่งงานของชาวลาหู่เป็นแบบมีสามีภรรยาเดียว และไม่นิยมแต่งงานกับชนเผ่าอื่น ชายหญิงมีอิสระในการเลือกคู่ครอง พ่อแม่ไม่บังคับเกี่ยวกับการแต่งงานของลูก ชาวลาหู่ซียังคงรักษาขนบธรรมเนียมการนับญาติสายตระกูลเป็นสองฝ่ายเรียกว่า “เอ๋อเจ๋อเอ๋อข่า” (俄折俄卡 Ézhé Ékǎ) คือ สายตระกูลเพศชายสายตรงนับเป็น 1 เอ๋อเจ๋อเอ๋อข่า สายตระกูลเพศหญิงสายตรงนับเป็น 1 เอ๋อเจ๋อเอ๋อข่า ลูกชายหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันในการรับมรดก ทั้งสองสายตระกูลจะมีการแต่งงานกันระหว่างลุง-ป้าของทั้งสองฝ่าย การแต่งงานฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายบอกรักเพศชาย ฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายแต่งฝ่ายชายเข้าบ้าน พิธีแต่งงานจัดขึ้นที่บ้านฝ่ายหญิง เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายชายจะอาศัยอยู่ที่บ้านฝ่ายหญิง หรือต้องอาศัยอยูบ้านฝ่ายหญิงไม่น้อยกว่า 3 ปี จึงจะย้ายไปอยู่บ้านพ่อแม่ฝ่ายชาย ชาวลาหู่น่าสืบสายตระกูลสายตรงฝ่ายพ่อ และห้ามการแต่งงานในสายตระกูล 5 รุ่น การแต่งงานฝ่ายชายเป็นฝ่ายบอกรัก จัดพิธีแต่งงานที่บ้านฝ่ายชาย หลังแต่งงานฝ่ายชายอยู่ที่บ้านภรรยา 3 วัน หรือ 3 ปี


กลางศตวรรษที่ 20 ชาวลาหู่นับถือศาสนาดั้งเดิม บูชาเทพเจ้าตามธรรมชาติ ชาวลาหู่เชื่อว่าทุกสรรพสิ่งมีวิญญาณ สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติล้วนมีเทพสิงสถิตย์อยู่ ดังนั้นชาวลาหู่จึงมีเทพที่เคารพบูชามากมาย เช่น สุริยเทพ จันทรเทพ เทพแห่งดวงดาว เทพพิรุณ เทพวายุ เทพธรณินทร์ เทพฟ้าร้อง เทพฟ้าผ่า เป็นต้น ต้นสมัยราชงวงศ์ชิงศาสนาพุทธนิกายหินยานเผยแผ่เข้าสู่ประเทศจีน ชาวลาหู่หันมานับถือศาสนาพุทธ ส่วนชาวลาหู่บางส่วนที่เมืองหลานชาง(澜沧Láncānɡ) และหลินชาง(临沧Líncānɡ) นับถือศาสนาคริสต์
เทศกาลสำคัญของชาวลาหู่ได้รับอิทธิพลจากชาวฮั่นมีเทศกาลตรุษจีน เทศกาลไหว้ขนมบะจ่าง และมีเทศกาลพื้นเมืองของตนเช่น เทศกาลคบเพลิง และเทศกาลกินอาหารใหม่ ในแต่ละเทศกาลสำคัญโดยเฉพาะตรุษจีนและเทศกาลคบเพลิง ชาวลาหู่สวมเสื้อผ้าชุดใหม่ เยี่ยมเยือนอวยพรปีใหม่กันและกัน ตกกลางคืน จุดคบเพลิงไฟสว่างไสวไปทั่วหมู่บ้าน รวมกลุ่มกันร้องเล่นเต้นรำกันอย่างสนุกสนานครึกครื้นกันถ้วนหน้า



7 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ9 มกราคม 2555 เวลา 16:16

    เป็นข้อมูลที่ดีคับ
    จากเด็กลาหู่

    ตอบลบ
  2. ถ้ามีเรื่องราวน่ารู้ในชุมชน แวะมาเล่าให้เพื่อนๆได้อ่านกันบ้างนะครับ เพราะไม่มีใครสามารถเขียนเรื่องราวของชาวลาหู่ ได้ดีเท่ากับชาวลาหู่เองนะครับ

    ขอบคุณมากครับ
    เมชฌ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ24 สิงหาคม 2555 เวลา 06:32

    บอกได้คำเดียวว่า คิดถึงบ้านที่จากมาครับ...T^T

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ16 กันยายน 2555 เวลา 23:59

    เป็นข้อมูลที่ดีและละเอียดมากๆเลยครับ ซึ่งตัวผมเองเป็นลาหู่-นยิ คนหนึ่ง ยังไม่เคยรู้มาก่อนว่าบรรพบุรุษพวกผมมีความเป็นมาอย่างนี้ครับ แต่ว่าผมยังสงสัยว่า ลาหู่สายอื่นๆที่นอกเหนือจากลาหู่นะ กับลาหู่ชี แล้วนั้นมีที่มาอย่างไรครับ ผมรู้เพียงแต่ว่า การแต่งกาย ภาษาพูด ที่แตกต่างกันนิดหน่อย และความเชื่อเรื่องศาสนาไม่เหมือนกัน เท่านั้นเองครับ อยากทราบที่มาและเหตุผลครับ ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์พอจะมีข้อมูลไหมครับ ขอบคุณมากครับ (ป่าโหลครับ)

    ตอบลบ
  5. อยากไปเทียวหมู่บ้านลาหู่ที่ยูนนานจัง อยากรู้ว่าการสื่อสารจะเข้าใจกันรึเปล่า ลาหู่หญี้มา

    ตอบลบ
  6. ไม่ระบุชื่อ2 กันยายน 2556 เวลา 14:21

    ปีพ.ศ 2536 วันวัว ตรงกับวันไหนค่ะเช่นวันจันทร์ถึงวันอาทิตย์

    ตอบลบ
  7. ถ้าจะศึกษาภาษาลาหู่ซีจริง ๆ ก็ต้องไปสิบสองปันนาเหรอครับ

    ตอบลบ