ปัญหาการเรียนการสอนภาษาจีนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
บทคัดย่อ การเรียนการสอนภาษาจีนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีมานานแล้ว แต่เริ่มมีความตื่นตัวศึกษาในระยะไม่กี่ปีมานี้ตามบทบาทของประเทศจีนในสังคมโลก ปัจจุบันพบว่าการศึกษาภาษาจีนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้เรียนและผู้สอนยังประสบปัญหาหลายประการ อันได้แก่ ปัญหาด้านการจัดการเรียนการสอน ทรัพยากรบุคคล ทุนทรัพย์ ตำราและแหล่งค้นคว้า รวมถึงปัญหาการเรียนรู้ภาษาของตัวนักศึกษาเอง นอกจากนี้ยังเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงแนวทางการศึกษาภาษาจีนของนักศึกษาอีกด้วย
คำสำคัญ : การสอนภาษาจีน เรียนภาษาจีน ปัญหาการเรียนการสอน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ความนำ
ประเทศไทยมีการตื่นตัวในเรื่องการเรียนการสอนภาษาจีนมากขึ้นทุกขณะ มีการเปิดสอนภาษาจีนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงอุดมศึกษา โดยเฉพาะในช่วงห้าถึงสิบปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนให้เป็นวิชาเอกในระดับปริญญาบัณฑิตและมหาบัณฑิตเพื่อรองรับความต้องการการใช้ภาษาจีนในประเทศไทยและสังคมโลก โรงเรียนกวดวิชาก็มีการเปิดสอนภาษาจีนอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ อันเป็นหน่วยงานหลักที่ควบคุมดูแลการศึกษาของประเทศมีนโยบายสนับสนุนการเรียนภาษาจีนในประเทศไทย โดยตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ได้สนับสนุนให้โรงเรียนระดับประถม มัธยมศึกษาเปิดสอนภาษาจีนขึ้น และกำหนดให้ภาษาจีนเป็นวิชาที่สามารถเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษาเกี่ยวกับภาษาจีน การจัดทัศนศึกษาที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน การลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศจีนเพื่อการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง
ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (พ.ศ. 2549-2553) มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. เป้าหมาย
1.1นักเรียน /นักศึกษาในระบบโรงเรียนทุกคนได้เรียนภาษาจีนอย่างมีคุณภาพและผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามสัดส่วน ดังนี้
- ร้อยละ 20 ของนักเรียนที่จบช่วงชั้นที่ 4 (ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย)
- ร้อยละ 20 ของนักศึกษาที่สำเร็จประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
- ร้อยละ 20 ของนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี
1.2 นักเรียน / นักศึกษาที่มีความสามารถพิเศษทางภาษาจีน ประมาณ 4,000 คน ได้รับการพัฒนาให้มีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพเฉพาะทาง
1.3 ประชากรวัยแรงงานได้เรียนภาษาจีนและใช้สื่อสารในการประกอบวิชาชีพจำนวน100,000 คน
2. ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน
2.1 การพัฒนาระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ
2.2 การปรับปรุงและพัฒนาระบบการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ
2.3 การจัดระบบสนับสนุนวิชาการให้ได้มาตรฐาน
2.4 การส่งเสริมระบบการศึกษาตามอัธยาศัย
2.5 การพัฒนาผู้เรียนที่มีความสามารถทางภาษาจีนให้เชี่ยวชาญในวิชาชีพเฉพาะ
แต่การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยมิได้เพิ่งเกิดขึ้นในระยะไม่กี่ปีสิบมานี้ หากแต่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน นับย้อนขึ้นไปตั้งแต่ชาวจีนเริ่มอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเมื่อตอนต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อไม่ให้ลูกหลานของตนลืมภาษาและวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ จึงได้ขออนุญาตจากรัฐบาลไทยจัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาจีนสำหรับลูกหลานชาวจีนขึ้นเรียกชื่อว่า “โรงเรียนลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเล”
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 ถึง พ.ศ. 2481 นโยบายที่รัฐบาลไทยมีต่อโรงเรียนชาวจีนไม่เข้มงวดมากนัก ทำให้โรงเรียนชาวจีนโพ้นทะเลพัฒนาและเปิดสอนในประเทศไทยทุกที่ที่มีชาวจีนอาศัยอยู่ ตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมัธยม โดยใช้แบบเรียน ตำราตลอดจนครูผู้สอนเป็นภาษาจีนและชาวจีนทั้งหมดเหมือนอย่างที่ใช้อยู่ในประเทศจีนในขณะนั้น จนกระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นมีชัยชนะในสงคราม ประเทศไทยเริ่มมีนโยบายต่อต้านและกีดกันชาวจีน โดยได้สั่งปิดโรงเรียนชาวจีนโพ้นทะเลที่เปิดสอนในขณะนั้นกว่า 300 โรงเรียน ต่อมาในปี พ.ศ. 2488 ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม สถานภาพของประเทศจีน ในฐานะที่เป็นประเทศผู้ชนะสงครามประเทศหนึ่ง กลับเป็นที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลขึ้นมาอีกครั้ง นโยบายของรัฐบาลไทยต่อชาวจีนเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น โรงเรียนลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลกลับมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง จนถึงปี พ.ศ. 2518 ช่วงก่อนที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนจะเชื่อมสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน กระแสต่อต้านจีนของสังคมโลก ทำให้รัฐบาลไทยกลับมาควบคุมการเรียนการสอนของโรงเรียนจีนในประเทศไทยอีกครั้ง
นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2518 ประเทศไทยและจีนดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันเป็นต้นมา ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันเรื่อยมา การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เริ่มมีการเปิดสอนภาษาจีนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยขึ้นหลายแห่ง จุดสำคัญที่สุดที่ทำให้การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยได้รับความนิยมสูงสุด และหน่วยงานต่างๆพร้อมตอบรับนโยบายการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยคือ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีทรงสนพระทัยและเอาพระทัยใส่เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมจีนเป็นอย่างมาก โดยได้ทรงเชิญอาจารย์จากประเทศจีนมาถวายพระอักษรที่ประเทศไทย ตลอดจนเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาภาษาจีนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง พระองค์ทรงเห็นว่า
“ภาษาจีนนำพาให้เราได้รู้จักประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมเป็นอย่างมากของโลก เมื่อยิ่งเรียนก็ยิ่งทำให้รู้สึกถึงความกว้างใหญ่ไพศาลและล้ำลึก หากจะเข้าใจประเทศจีน ไม่อาจเพียงพึ่งนักวิชาการตะวันตกเพียงอย่างเดียวได้ ต้องเรียนรู้จากบันทึกต่างๆที่เป็นภาษาจีน จึงจะสามารถเข้าใจประเทศจีนได้อย่างลึกซึ้งและแท้จริง”
ภาษาและวัฒนธรรมจีนได้รับความนิยมถึงขีดสุด เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน Mr.Tang Jiaxuanได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2542 และได้ลงนามความร่วมมือกับนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทยในขณะนั้น “ว่าด้วยนโยบายความร่วมมือไทยจีนในศตวรรษที่ 21” มีเนื้อหาหลักว่ารัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะทุ่มเทและสนับสนุนการร่วมมือพัฒนาและแลกเปลี่ยนความรู้ด้าน วัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยวระหว่างกันและกัน
การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย ดูเหมือนว่ามีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและรุดหน้า แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีปัญหาอยู่ไม่น้อย เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลไทยที่มีต่อการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยๆ ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เมื่อเปลี่ยนนโยบายใหม่ก็เริ่มต้นพัฒนากันใหม่ ทำให้การพัฒนาไม่มีความต่อเนื่อง สมาคมชาวจีนที่ให้ความสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาจีนก็รู้สึกท้อแท้ การเรียนการสอนภาษาจีนในโรงเรียนจีนปัจจุบันดูจะไม่คึกคักเท่าเมื่อครั้งอดีต ยิ่งไปกว่านั้นปัญหาครูผู้สอนที่เป็นคนจีนรุ่นเก่าความรู้ไม่ทันสมัย หรือบางที่ขาดแคลนครูผู้สอน เอกสารตำราที่ใช้ อุปกรณ์การเรียนการสอนล้วนไม่ทันสมัย เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญทำให้คุณภาพการเรียนการสอนภาษาจีนของโรงเรียนจีนที่ก่อตั้งโดยสมาคมชาวจีนลดลง และไม่เป็นที่นิยม แต่การเรียนการสอน ตลอดจนการศึกษาค้นคว้าวิจัยด้านภาษาจีนในปัจจุบันส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ระดับอุดมศึกษา มีการส่งครูผู้สอนไปศึกษาวิชาด้านภาษาและวัฒนธรรมจีนที่ประเทศจีน การแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนการร่วมมือกันกับมหาวิทยาลัยในประเทศจีนพัฒนาตำราการเรียนการสอนเป็นต้น จุดมุ่งหมายหลักก็คือเน้นพัฒนาและสร้างผู้ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในอนาคต ซึ่งนับเป็นการกลับไปสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่งก็ว่าได้
สำหรับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสถาบันอุดมศึกษาเปิดสอนหลักสูตรภาษาจีนในระดับปริญญาตรี ได้แก่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่ง นักเรียนที่สมัครเข้าเรียนหลักสูตรปริญญาตรีสาขาภาษาจีนในสถาบันอุดมศึกษาในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 90 มาจากโรงเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั่นเอง ปัญหาที่พบก็คือ แม้ว่าหลักสูตรภาษาจีนในโรงเรียนมัธยมศึกษาเป็นไปตามข้อกำหนดของ สพฐ. แต่มาตรฐานและคุณภาพการสอนของแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน ปัญหาหลักไม่ใช่เกิดจากหลักสูตร แต่เกิดจากครูผู้สอนที่ยังขาดประสิทธิภาพทั้งในด้านความรู้ และวิธีการสอน ตลอดจนปัญหาความแตกต่างของผู้เรียน ทำให้การเรียนการสอนภาษาจีนในระดับก่อนอุดมศึกษาไม่ได้ผล นักเรียนที่เคยเรียนภาษาจีนในระดับมัธยมมาก่อนแล้ว เคยเรียนภาษาจีนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 ได้เกรด 4 ทุกรายวิชา แต่เมื่อทดสอบกลับพบว่ามีระดับความรู้ต่ำมาก เนื่องจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยใช้เกรดเฉลี่ยเป็นมาตรฐานหนึ่งในการวัดผล ในขณะที่โรงเรียนก็ต้องการเพิ่มผลสัมฤทธิ์เกี่ยวกับจำนวนนักเรียนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ จึงไม่เข้มงวดกับการวัดผล เมื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาจำเป็นต้องปรับพื้นฐานใหม่ทั้งหมด ซึ่งก็เท่ากับว่า การศึกษาภาษาจีนในระดับก่อนอุดมศึกษาล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
จากการดำเนินการสอน การจัดกิจกรรมทางวิชาการ และการวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาในอีสานใต้ที่ผ่านมาพบว่า โรงเรียนต่างๆในเขตอีสานใต้ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเริ่มเปิดสอนภาษาจีนอย่างกว้างขวาง และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาให้เป็นวิชาภาษาต่างประเทศเทียบเท่ากับภาษาสากลอื่นๆ กอรปกับความช่วยเหลือของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในการจัดส่งครูจีนมาช่วยสอน การให้ทุนครูไทยไปอบรมภาษาจีนระยะสั้นที่ประเทศจีน การส่งเสริมจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของ สพฐ. เป็นต้น กระนั้นก็ตามเนื่องจากการเรียนการสอนภาษาจีนในระดับก่อนอุดมศึกษายังอยู่ในระยะเริ่มต้น ทั้งด้านหลักสูตรการเรียนการสอน ตำรา งบประมาณ บุคลากรยังขาดแคลนและเป็นปัญหาและมีข้อจำกัดอยู่มาก นอกจากนี้ ลักษณะพิเศษของนักเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือมีภาษาถิ่นที่หลากหลาย นักเรียนที่พูดภาษาถิ่นต่างๆ เช่น ภาษาอีสาน ภาษาเขมร ภาษาส่วย ภาษาไทยโคราชเป็นต้นเหล่านี้ มีผลต่อการเรียนภาษาต่างประเทศมาก ยิ่งไปกว่านั้นในบางพื้นที่เป็นชุมชนหลายภาษา ทำให้ปัญหาการเรียนภาษาจีนเป็นปัญหาที่เกิดจากทั้งภาษาแม่ที่เป็นภาษาถิ่นและภาษาแม่ภาษาไทย ในขณะที่ครูผู้สอนมีขีดความสามารถและพื้นฐานความรู้ภาษาจีนจำกัด ไม่เพียงพอและไม่มีหลักวิธีการสอนที่ถูกต้อง เมื่อประสบปัญหาด้านการสอนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตามหลักวิชาการ หลายโรงเรียนจ้างครูที่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนซึ่งบรรพบุรุษเป็นชาวจีนที่อพยพมาจากหลากหลายพื้นที่ของประเทศจีน พูดภาษาจีนสำเนียงท้องถิ่น เรียนอักษรจีนแบบเก่า วงคำศัพท์ที่รู้เป็นคำศัพท์ตั้งแต่เมื่อห้าหกสิบปีที่แล้ว นักเรียนที่เรียนกับครูจีนเหล่านี้ไม่ได้เรียนตามมาตรฐานหลักสูตรที่ สพฐ.กำหนด และแน่นอนไม่สามารถใช้ภาษาจีนสื่อสารได้ ส่วนครูผู้สอนภาษาจีนชาวไทยแม้บางส่วนจะได้มีโอกาสไปอบรมภาษาและวิธีการสอนภาษาก็เป็นเพียงการเพิ่มพูนความรู้ แต่ไม่ได้เน้นทักษะการสอนสำหรับนักเรียนที่มีปัญหาดังกล่าวอย่างตรงจุด เป็นเหตุให้ การเรียนการสอนภาษาจีนในระดับก่อนอุดมศึกษาในเขตอีสานใต้ยังไม่ประสบความ สำเร็จ จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย ในอันที่จะร่วมมือเสริมสร้างความเข้มแข็ง และพัฒนาครูผู้สอนให้มีประสิทธิภาพ มีความรู้ ความชำนาญ ตลอดจนมีวิธีการสอนที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ผู้เรียนได้รับความรู้ที่ถูกต้อง ได้รับการแก้ไขปัญหาตรงจุด นำไปสู่สัมฤทธิผลทางการศึกษาอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ปัญหาหลักอยู่ที่ผู้เรียน เนื่องจากจากการศึกษาพบว่า ผู้เรียนมากกว่าครึ่งไม่ได้มีความสนใจเรียนอย่างแท้จริง มีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่เลือกเรียนภาษาจีนเนื่องจากโรงเรียนต้องการส่งเสริม ผู้ปกครองสนับสนุน แต่ผู้เรียนไม่ได้มีความสนใจ หลังจากจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาแล้ว บางคนชอบและเลือกเรียนต่อในสายภาษาจีน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ละทิ้งและเลือกเรียนในสาขาอื่น กลุ่มที่เลือกเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาบางส่วนก็มิได้มีความสนใจอย่างแท้จริง แต่เป็นเพราะว่าคะแนนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในสาขาภาษาจีนไม่สูงมาก เมื่อเลือกสาขาภาษาจีน จะทำให้สามารถสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ แต่ภายหลังจากจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีแล้ว มีบัณฑิตจำนวนไม่น้อยละทิ้งและไม่ได้ทำงานในสายภาษาจีน ทำให้นโยบายการเรียนการสอนภาษาจีน ที่มุ่งการพัฒนาและสร้างบุคลากรด้านการสอนภาษาจีนจึงไม่บรรลุผลสำเร็จส่งผลให้ ภาวะการขาดแคลนบุคลากรผู้สอนด้านภาษาจีนก็ยังคงเป็นอยู่อย่างเดิม
การศึกษาเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ผลงานการศึกษาวิจัยด้านภาษาจีนในประเทศไทยในระยะที่ภาษาจีนได้รับความนิยมมีงานวิจัยที่มุ่งประเด็นไปที่ตัวภาษาเป็นจำนวนมาก เช่นการศึกษาวิเคราะห์ การศึกษาเปรียบเทียบ เกี่ยวกับเรื่อง ระบบเสียง ระบบคำ ระบบไวยากรณ์ของภาษาจีนกับภาษาไทย ผลงานเหล่านี้เอื้อประโยชน์สำหรับผู้เรียนภาษาจีนในระดับกลางขึ้นไป หรือบางผลงานจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้เรียนในระดับสูงเท่านั้น นอกจากนี้ยังรวมถึงผลงานที่เป็นหนังสือ และเครื่องมือการเรียนจำพวกพจนานุกรม สารานุกรม หนังสือเรียนภาษาจีนหลากหลายวิธี และหลากหลายรูปแบบ
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยมีหลากหลายแง่มุม เช่น การศึกษาสถานภาพการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาสื่อการสอน การศึกษาด้านการบริหารจัดการการเรียนการสอน การศึกษาด้านปัจจัยและแรงจูงใจในการเรียนการสอน เป็นต้น สรุปได้ดังนี้
ผลงานการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศในประเทศไทย ที่สำคัญได้แก่ ชุดโครงการนโยบายการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศของไทย (ปราณี,2547) และโครงการวิจัยภายใต้โครงการนี้ได้แก่ ผลงานวิจัยการศึกษาการจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศและความต้องการภาษาต่างประเทศในภาคกลาง ภาคตะวัน ตกและภาคตะวันออกของไทย(ปราณี,2547) ผลงานวิจัยนำร่องเพื่อพัฒนาโจทย์การวิจัยเรื่อง "ฐานรากการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ"(ปราณี,2548) ผลงานวิจัยฐานรากการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ(ปราณี,2549) ผลงานวิจัยข้อมูลพื้นฐานการจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศและการใช้ภาษาต่างประเทศในภาคเหนือ (อเนก,2546)
ผลงานการวิจัยเกี่ยวกับสถานภาพการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย ที่สำคัญได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่องการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศในระดับต่าง ๆ (ประพิณ,2547) ผลงานวิจัย เรื่อง การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย : การศึกษานอกระบบ (กุลนรี,2551) ผลงานวิจัย เรื่อง ความร่วมมือไทย-จีน ด้านการเรียนการสอนภาษาจีน (ทวี, 2551) พัชนี ตั้งยืนยงและสุรีย์ ชุณหเรืองเดช(2551) สรุปรายงานวิจัย การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย:ระดับอุดมศึกษา ผลงานวิจัยเรื่อง การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย ระดับชั้นประถม-มัธยมศึกษา (รณพล, 2551) ผลงานดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นผลงานวิจัยของศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังมีงานวิทยานิพนธ์ ที่ศึกษาเกี่ยวกับสถานภาพการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยอีกหลายผลงาน แต่เป็นการศึกษาเฉพาะกรณีหรือเฉพาะกลุ่ม ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง การศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนของครูที่ผ่านการอบรมการสอนภาษาจีน ณ มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน(นพวรรณ,2548) ผลงานวิจัยเรื่อง ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทย-จีน:กรณีศึกษาการเรียนการสอนภาษาจีนในสถาบัน การศึกษาจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย (หวัง หยวนหยวน, 2551) เป็นต้น
ผลงานศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรและการพัฒนาสื่อการสอน ส่วนใหญ่เน้นศึกษาเป็นแบบกรณีศึกษาในกลุ่มพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง หรือโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง หรือเพื่อพัฒนาวิธีการสอนในรูปแบบต่างๆ ที่สำคัญได้แก่ ผลงานวิจัยชุดการเรียนภาษาจีนด้วยคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบ IMM (สุวรรณา,2543) ผลงานวิจัยเรื่องการศึกษาการใช้หลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ(ภาษาจีน) ในสังกัดกรุงเทพมหานคร(กรรณิการ์,2546) ผลงานวิจัยเรื่องการประเมินผลโครงการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนของโรงเรียนเทศบาลบ้านสามกอง(ขุนวิเศษนุกูลกิจอุทิศ) (เชี่ยวชาญ,2551)
การศึกษาด้านการบริหารจัดการการเรียนการสอน ผลงานที่สำคัญได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่องวิวัฒนาการการควบคุมโรงเรียนจีน (พิชัย,2512) ผลงานวิจัยเรื่อง แนวทางการพัฒนาโรงเรียนนโยบายพิเศษในจังหวัดชลบุรี:กรณีศึกษาเฉพาะโรงเรียนสอนภาษาจีน(สุวิชัย, 2543) การศึกษาสถานภาพการจัดการโรงเรียนเอกชนที่สอนภาษาจีนในหลักสูตรระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน(พรหทัย,2549)
การศึกษาด้านปัจจัยและแรงจูงใจในการเรียนการสอน ที่สำรวจพบมี ผลงานวิจัยเรื่อง การศึกษาเจตคติของผู้ปกครองที่มีต่อการเรียนการสอนภาษาจีนในโรงเรียนเอกชน(กรุณา,2543) และ ผลงานวิจัยเรื่อง ปัจจัยการเลือกเรียนภาษาจีนกรณีศึกษาโรงเรียนที่เปิดหลักสูตรสอนภาษาจีน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต(สุทธิชาติ,2549) ผลงานวิจัยเรื่องแนวโน้มการศึกษาภาษาญี่ปุ่นและภาษาจีนในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ – เปรียบเทียบเรื่องแรงจูงใจ (ยุพกาและคณะ,2550)
สำหรับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาจีนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เท่าที่สำรวจข้อมูลบรรณานุกรม นอกจากสารนิพนธ์การศึกษาเพื่อฝึกฝนการทำวิจัยในรายวิชาการศึกษาอิสระ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในระดับปริญญาตรีของนักศึกษาสาขาภาษาจีน ในสถาบันการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว พบการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาจีนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่มาก ที่สำรวจพบคือ งานวิจัยเรื่อง ข้อมูลพื้นฐานการเรียนภาษาต่างประเทศและการใช้ภาษาต่างประเทศในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(เยาวลักษณ์,2549) และอีกหนึ่งผลงานคือผลงาน วิจัยของครูชำนาญการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 เรื่อง สภาพและแนวทางการจัดการศึกษาภาษาจีนโรงเรียนอนุบาลศรีสะเกษ (ซุนย้ง,2551)
ผลงานน่าสนใจคือ มีการทำงานเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาจีนในระดับก่อนอุดมศึกษา คือ การพัฒนาหลักสูตรภาษาจีนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่วงชั้นที่ 1-4 จังหวัดอุบลราชธานี (คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรภาษาจีนระดับการศึกษาชั้นพื้นฐาน:2550) มูลเหตุของการทำงานที่สำคัญในครั้งนี้สืบเนื่องมาจาก ปัญหาการสอนภาษาจีนในระดับก่อนอุดมศึกษาในจังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ใกล้เคียงไม่มีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งหลักสูตรการสอน ผู้สอน และตำราที่ใช้สอน เพื่อแก้ปัญหานี้คณะทำงานด้านหลักสูตรการสอนได้ร่วมกันหาแนวทางเพื่อพัฒนามาตรฐานการสอนภาษาจีนในระดับก่อนอุดมศึกษาขึ้น หลักสูตรดังกล่าวมีการกำหนดมาตรฐานการเรียนภาษาจีน 2 เรื่องหลักๆ คือ
1. รูปแบบการเรียนรู้ ได้กำหนดมาตรฐานโดยยึดรูปแบบจากหนังสือการจัดสาระการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 โดยได้มีการประยุกต์ปรับเปลี่ยน ลดและเพิ่มเติมเนื้อหาให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมการเรียนการสอนภาษาจีนในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง
2. มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น กำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง สาระการเรียนรู้
คำอธิบายรายวิชา ผังมโนทัศน์ หน่วยการเรียนรู้ และคำศัพท์ภาษาจีนตามหน่วยการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับ 1 – 4 โดยที่สถานศึกษาแต่ละแห่งสามารถนำไปปรับลดหรือปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมความเหมาะสม โดยให้สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้น
คณะทำงานจัดทำหลักสูตรนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันอุดมศึกษา ศึกษานิเทศก์ อาจารย์ผู้สอนและผู้เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนภาษาจีนในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียงทุกระดับ จึงเชื่อได้ว่าสถานศึกษาในระดับก่อนอุดมศึกษาในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง (โดยเฉพาะจังหวัดในเขตอีสานใต้) จะนำหลักสูตรนี้ไปใช้เพื่อให้การเรียนการสอนภาษาจีนเป็นไปในแนวทางและมาตรฐานเดียวกัน แต่ดูเหมือนว่าหลังจากหลักสูตรนี้สำเร็จและแจกจ่ายให้กับโรงเรียนต่างๆแล้ว ด้วยข้อจำกัดหลายประการ มีโรงเรียนไม่น้อยไม่ได้สอนภาษาจีนตามหลักสูตรดังกล่าว เพราะเมื่อนักเรียนจบระดับมัธยมศึกษาเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ก็ยังพบว่ามีปัญหาด้านมาตรฐานความรู้อยู่อย่างเดิม
นอกจากนี้ ยังมีความพยามยามในการจัดโครงการค่ายและกิจกรรมวิชาการของโรงเรียน ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ กศน. สพฐ. สพท. สมาคมชาวจีน กลุ่มเผยแพร่ศาสนา มูลนิธิเป็นต้น ทั้งนี้ล้วนมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาจีน ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากนักเรียนเป็นจำนวนไม่น้อย แต่เนื่องจากจำนวนบุคลากรของแต่ละหน่วยงานมีจำกัด การจัดงานแต่ละครั้งจึงเป็นไปในลักษณะการสันทนาการบันเทิงเป็นส่วนใหญ่ ให้บริการเฉพาะกลุ่ม เฉพาะพื้นที่ และไม่ได้นำผลจากกิจกรรมดังกล่าวไปสู่กระบวนการวิเคราะห์วิจัยอย่างใด ทำให้การดำเนินการด้านการสอนภาษาจีนผ่านกิจกรรมดังกล่าวนี้เกิดผลเพียงชั่วคราวและผิวเผิน
มีการการจัดประชุมวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา ผู้นำเสนอส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานวิจัยอยู่บ้าง แต่สำหรับครูผู้สอนภาษาจีนในระดับก่อนอุดมศึกษาซึ่งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้เรียนมากที่สุด และรู้ปัญหาในการเรียนการสอนมากที่สุด บางครั้งอาจมีวิธีการสอนดี แปลกใหม่ เข้าถึงผู้เรียนได้ดีกว่าทฤษฎีการสอนเสียอีก แต่ไม่มีเวที ไม่มีโอกาสในการนำเสนอสู่สาธารณะ ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในการเรียนการสอน กับนักวิจัยที่ต้องการศึกษาปัญหาการเรียนการสอนเดินไปในทิศทางเส้นขนาน เท่าที่สำรวจก็ไม่พบผลงานบทความที่นำเสนอเกี่ยวกับเรื่องการเรียนการสอนภาษาจีนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่นกัน
ปัญหาการเรียนภาษาจีนของนักศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา การจัดการเรียนการสอนภาษาจีนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้โดยภาพรวมดูจะมีความกระตือรือร้นและดำเนินไปได้ดี จากประสบการณ์การทำงานด้านการเรียนการสอนภาษาจีนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้เขียนพบว่า ยังมีปัญหาที่ผู้เกี่ยวข้องควรใส่ใจ สามารถสรุปเป็นประเด็นสำคัญ ๆ ได้เป็น 5 ประเด็น คือ 1.ปัญหาด้านการจัดการเรียนการสอน 2. ปัญหาด้านบุคลากร 3. ปัญหาด้านงบประมาณ 4. ปัญหาด้านเอกสารตำราและแหล่งศึกษาค้นคว้า และ 5. ปัญหาด้านการเรียนภาษา ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. ปัญหาด้านการจัดการเรียนการสอน
นักศึกษาที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยมีสองกลุ่มคือ นักศึกษาที่มีพื้นความรู้ภาษาจีนมาก่อนแล้ว
นักศึกษากลุ่มนี้เลือกสอบวิชาภาษาจีนเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา มีพื้นความรู้ภาษาจีนระดับต้นหรือสูงกว่านั้นมาแล้ว ส่วนนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งไม่มีพื้นความรู้มาก่อน แต่หลักสูตรของมหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มต้นที่วิชาภาษาจีนพื้นฐาน 1 ซึ่งเริ่มเรียนวิธีการออกเสียง นั่นก็หมายความว่าการเริ่มเรียนใหม่ตั้งแต่ต้น การจัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาสองกลุ่มนี้ ในระยะแรกที่จำนวนนักศึกษาทั้งสองกลุ่มมีความแตกต่างกันไม่มาก อาจไม่เป็นปัญหาใหญ่มากนัก คงสร้างปัญหาความรำคาญหรือความน่าเบื่อให้กับนักศึกษาที่มีพื้นความรู้มาแล้ว ที่จะต้องมาเรียนเรื่องเดิม เท่านั้น สำหรับนักศึกษาที่ไม่มีพื้นความรู้มาก่อน ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะเนื้อหาวิชาทีเรียนคือการเรียนจากจุดเริ่มต้นสำหรับผู้ไม่มีพื้นความรู้มาก่อน แต่อาจเกิดปัญหาทางจิตวิทยาที่รู้สึกว่าคนอื่นเรียนได้เร็วเพราะเคยเรียนมาแล้ว คนเองไม่เคยเรียนก็จะตามเพื่อนไม่ทัน แต่นั่นเป็นเพียงความกังวลใจและความกลัวไปเสียเปล่า เพราะหลักสูตรภาษาจีนในระดับมหาวิทยาลัยในปีที่ 1 เพื่อปูพื้นฐานด้านภาษาให้กับนักศึกษา หลังจากนั้นเมื่อขึ้นปีที่สอง วิชาต่างๆ เน้นไปในทางที่ให้นักศึกษาสามารถใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการศึกษาภาษาและข้อความรู้ต่างๆ ไม่ใช่การศึกษาเนื้อภาษาแต่อย่างใด
แต่ด้วยเหตุที่มีการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเพิ่มมากขึ้น นักศึกษาที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีพื้นความรู้มาก่อนแล้วต่อจำนวนนักศึกษาที่ไม่มีพื้นความรู้มาก่อนมีจำนวนมากเท่าๆ กัน หรือผู้มีพื้นความรู้มาก่อนแล้วมีจำนวนมากกว่า จะก่อให้เกิดปัญหาการเรียนการสอนอย่างแน่นอน ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางในการจัดการเรียนการสอน เช่นการแบ่งกลุ่มการเรียนของนักศึกษา การปรับเนื้อหาหลักสูตรให้มีความสอดคล้องและต่อเนื่องจากหลักสูตรมัธยมศึกษา การสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยโดยเอาคะแนนสอบวิชาภาษาจีนเป็นเกณฑ์ เหล่านี้จะเป็นวิธีการพัฒนาการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ สามารถสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพเท่าเทียมกันและทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ออกสู่สังคมได้
2. ปัญหาด้านทรัพยากรบุคคล เนื่องจากภาษาจีนเพิ่งได้รับการสนับสนุนในระยะเวลาไม่
นานนัก โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายแห่งเพิ่งเริ่มเปิดสอนภาษาจีนในระดับอุดมศึกษา เป็นเหตุให้บุคลากรทางการศึกษาไม่เพียงพอต่อความต้องการ การเรียนการสอนในโรงเรียนมัธยม นอกจากอาจารย์ที่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนที่เรียนภาษาจีนมาตั้งแต่เด็กๆแล้ว การรับสมัครอาจารย์สอนภาษาจีนกระทำได้ยาก เนื่องจากจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาภาษาจีนในพื้นที่มีน้อยมากกระทั่งสามารถนับจำนวนคนได้ อาจไม่ถึงสิบหรือไม่ถึงร้อย ในขณะที่ความต้องการมีมากกว่านั้นหลายเท่า บัณฑิตที่จบการศึกษาสาขาภาษาจีนก็ไม่สนใจทำงานเป็นครูสอนภาษาเนื่องจากรายได้น้อยมากเมื่อเทียบกับการทำงานเอกชน ปัญหาการขาดแคลนครูผู้สอนจึงทำให้การพัฒนาการเรียนการสอนเป็นไปด้วยความยากลำบาก ปัจจุบันสถาบันการศึกษาหลายแห่งใช้วิธีส่งครูอาจารย์ที่สอนสาขาอื่นไปอบรมภาษาจีน เพื่อกลับมาเป็นครูสอนภาษาจีน แต่ครูผู้สอนเหล่านี้ไม่ได้มีความรู้ทางการสอนภาษา แม้กระทั่งความรู้ด้านภาษาอย่างเต็มที่และเพียงพอ ทำให้การเรียนการสอนไม่ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ และเป็นไปอย่างทุลักทุเล ไร้คุณภาพตามที่ควรจะเป็น ที่สำคัญ ครูผู้สอนภาษาจีนที่เป็นครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น เมื่อมารับภาระสอนภาษาจีน ก็ไม่ได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่สามารถเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งได้ เพราะท้ายที่สุด การทำผลงานเพื่อขอเลื่อนตำแหน่งก็ยังคงต้องพัฒนาไปในสายงานกลุ่มสาระเดิมที่บรรจุและสังกัด
สถาบันบางแห่งที่มองเห็นความสำคัญเกี่ยวกับการเรียนภาษาจีน ก็ได้เชิญอาจารย์ชาวจีนเจ้าของภาษามาจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้การเรียนการสอนดูเหมือนว่าจะมีคุณภาพ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าอาจารย์เจ้าของภาษาต้องมีความรู้ภาษาจีนเป็นอย่างดี ในขณะที่ผู้จบสาขาการสอนภาษาจีนสำหรับชาวต่างชาติกำลังเป็นที่ต้องการของประเทศจีนรวมถึงประเทศอื่น ๆ การที่จะเชิญครูจีนเจ้าของภาษาที่จบการศึกษาด้านนี้โดยเฉพาะมาสอนนั้นเป็นไปได้ยาก จะเห็นว่าครูสอนภาษาจีนชาวจีนในจังหวัดสถาบันการศึกษาทั้งระดับก่อนอุดมศึกาและระดับอุดมศึกษามักไม่ใช่ผู้ที่จบการศึกษาสาขาภาษาจีน หรือสาขาการสอนภาษาจีน ด้วยเหตุนี้แม้ว่านักศึกษาจะได้เรียนภาษาจีนกับครูเจ้าของภาษา นักศึกษาจะได้พัฒนาทักษะการฟัง การพูด การอ่าน การเขียนเฉพาะที่เป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไปเท่านั้น ส่วนวิชาการในระดับสูง เช่น ภาษาศาสตร์ วัฒนธรรมจีน วรรณคดีจีน ภาษาจีนโบราณ ไวยากรณ์ อาจารย์ที่ไม่ได้จบทางสายภาษาศาสตร์ หรือสายภาษาจะไม่สามารถสอนวิชาเหล่านี้ได้
ประเด็นสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ เนื่องจากประเทศจีนมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่มาก ภาษาเขียนไม่ได้เป็นอักษรกำกับการออกเสียงเหมือนอย่างในภาษาไทย อักษร 1 ตัว อ่านออกเสียงเป็นสำเนียงภาษาถิ่นได้มากกว่า 10 เสียง หรือ 20 เสียงหรือมากกว่านั้น สำเนียงภาษาถิ่นของจีนมีทั้งหมด 7 ถิ่น ได้แก่ 1.กลุ่มสำเนียงภาษากวาน (Guanhua官话) คือสำเนียงที่พูดอยู่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ บริเวณเมืองหูเป่ย ซื่อชวน(เสฉวน) ฉงชิ่ง หยุนหนาน กุ้ยโจว หูหนาน เจียงซี อันฮุย และเจียงซู กลุ่มสำเนียงภาษากวานนี้เป็นสำเนียงพื้นฐานของภาษาจีนกลางปัจจุบัน ที่เรียกว่า ผู่ทงฮว่า (Putonghua 普通话) กลุ่มสำเนียงภาษานี้คิดเป็น 70% ของสำเนียงภาษาจีนทั้งหมด คำว่า “ภาษาจีน” ในบทความนี้ หมายถึง ภาษาจีนผู่ทงฮว่า สำหรับกลุ่มสำเนียงภาษาอื่นๆ ได้แก่ 2. กลุ่มสำเนียงภาษาอู๋ (Wuyu吴语) คือสำเนียงที่พูดอยู่บริเวณเจียงหนาน เจียงเจ๋อ ตอนใต้ของเจียงซู เจ๋อเจียง ซ่างไห่ (เซี่ยงไฮ้) ตอนใต้ของอันฮุย สำเนียงภาษานี้คิดเป็น 9.1% ของสำเนียงภาษาจีนทั้งหมด 3.กลุ่มสำเนียงภาษาเค่อเจีย (หรือที่เรียกว่าแคะKejia 客家) คือสำเนียงที่พูดอยู่บริเวณภาคใต้ของจีน บริเวณกว่างตง(กวางตุ้ง) ฝูเจี้ยน(ฮกเกี้ยน) เจียงซี กว่างซี(กวางสี) ไถวัน(ไต้หวัน) เสฉวน กลุ่มสำเนียงภาษานี้คิดเป็น 4% ของสำเนียงภาษาจีนทั้งหมด 4. กลุ่มสำเนียงภาษาหมิ่น (Minyu闽语) คือสำเนียงที่พูดอยู่บริเวณมณฑลฝูเจี้ยน ไต้หวัน กว่างตง ไห่หนาน(ไหหลำ) กว่างซี และประเทศในเอเชียอาคเนย์ กลุ่มสำเนียงภาษานี้คิดเป็น 4.5% ของสำเนียงภาษาจีนทั้งหมด 5. กลุ่มสำเนียงภาษาเยว่ (Yueyu 粤语) คือสำเนียงภาษากวางตุ้ง ไป๋ฮว่า กว่างฝูฮว่า ที่พูดอยู่บริเวณกว่างโจว กว่างซี เซียงกั่ง(ฮ่องกง) อ้าวเหมิน(มาเก๊า) กลุ่มสำเนียงภาษานี้คิดเป็น 5% ของสำเนียงภาษาจีนทั้งหมด 6.กลุ่มสำเนียงภาษาเซี่ยง (Xiangyu 湘语) คือสำเนียงภาษาหูหนาน ภาษาหล่าวหูกว่าง พูดอยู่ในบริเวณกว่างซี เสฉวนกลุ่มสำเนียงภาษานี้คิดเป็น 5% ของสำเนียงภาษาจีนทั้งหมด 7. กลุ่มสำเนียงภาษากั้น (Ganyu 赣语) ได้แก่สำเนียงภาษาเจียงซี หนานชัง พูดอยู่บริเวณตอนกลางของเจียงซี อันฮุย หูเป่ย หูหนาน ลั่วหยาง ผิงเจียง สำเนียงภาษานี้คิดเป็น 2.4% ของสำเนียงภาษาจีนทั้งหมด สำเนียงภาษาถิ่นทั้งเจ็ดสำเนียงนี้กระจายอยู่ตามภูมิประเทศที่ใกล้เคียงกัน โดยอาศัยลักษณะและกฎเกณฑ์ทางเสียง และประวัติความเป็นมาของการออกเสียงเป็นเกณฑ์สำคัญ ความแตกต่างของสำเนียงภาษาดังกล่าวนี้เป็นเหตุให้การออกเสียงภาษาจีนมีความแตกต่างกันมาก รัฐบาลจีนกำหนดให้เสียงที่ใช้เป็นภาษาทางการคือภาษา 普通话(pǔtōnɡhuà) ซึ่งก็คือภาษาจีนกลางที่เราศึกษากันอยู่นี้ อย่างไรก็ตามสำเนียงภาษาถิ่นอันถือเป็นภาษาแม่ของแต่ละคนเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ยากมาก หรือแก้ไขไม่ได้เลยสำหรับบางคน การเชิญอาจารย์ชาวจีนมาเพื่อสอนภาษา 普通话 (ภาษาจีนกลาง) หากเป็นคนที่ติดสำเนียงภาษาถิ่นมาก ๆ อาจเกิดปัญหาได้ เช่น ครูจีนที่มาจากใต้หวัน มาเก๊าไม่แยกเสียง / zh ch sh ,z c s / ครูชาวจีนที่มาจากหูหนาน กว่างซี ซื่อชวน ฝูเจี้ยน ฉางซา ลั่วหยาง ไห่หนาน ไม่แยกเสียง / n - l / , /ch - q/ , / hu , f / ครูชาวจีนที่มาจากยูนนานไม่แยกเสียง / n - ng / , / ian - in /, / i - ü / เหล่านี้สร้างปัญหาในการเรียนภาษาจีนกลางให้กับนักศึกษาไทยเป็นอย่างมาก
เสียงวรรณยุกต์ในแต่ละภาษาถิ่นก็ถือเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความสับสนให้กับนักเรียนไทยไม่น้อย ตัวอย่างสำเนียงภาษาถิ่นหนานจิงที่มีการแปรอิสระระหว่าง เสียง 1 กับเสียง 4 吗 (ma) ออกเสียงว่า mà แต่ 骂 (mà) ออกเสียงว่า mā ปัญหาเรื่องคำศัพท์ที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เช่นหากได้ครูมาจากไต้หวัน จะเรียกรถแท็กซี่ว่า 计程车(jìchénɡchē) แต่ภาษาจีนกลางเรียกว่า 出租车(chūzūchē),คำว่า แท้จริง อย่างแท้จริง ไต้หวันใช้คำว่า 道地(dàodì) แต่ภาษาจีนกลางใช้ว่า 地道(dìdào),ไต้หวันเรียกสับปะรดว่า 凤梨(fènɡlí)แต่ภาษาจีนกลางเรียกว่า 菠萝(bōluó)ตัวอักษรเดียวกันแต่กลับอ่านออกเสียงต่างกัน เช่น 垃圾 จีนกลางอ่านว่า lājī ไต้หวันอ่านว่า lèsè สิ่งเหล่านี้สร้างความสับสนให้กับนักศึกษามาก ดังนั้นการรับอาจารย์เจ้าของภาษาเพื่อมาสอนภาษาจีนกลางให้กับนักเรียนไทย จึงควรคำนึงถึงปัญหาข้อนี้ด้วย
3. ปัญหาด้านงบประมาณ
การดำเนินการเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ แม้จะได้รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชนส่วน
หนึ่ง เช่นกิจกรรมค่ายภาษาจีน กิจกรรมบริการวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาที่จัดอบรมให้กับครูผู้สอนภาษาจีนในระดับก่อนอุดมศึกษาเป็นต้น กิจกรรมดังกล่าวนี้สามารถส่งเสริมการเรียนรู้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ถึงอย่างไรก็ตามยังถือว่าน้อยมากสำหรับการพัฒนาการเรียนการสอน และการสร้าง ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการเรียนภาษา หัวใจของการเรียนภาษาให้ได้ดีที่สุด คือการได้ใช้ชีวิตและมีประสบการณ์การใช้ภาษาจริงกับเจ้าของภาษาในประเทศที่พูดภาษานั้นๆ แต่นักศึกษาทีเรียนภาษาจีนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีส่วนน้อยที่สามารถหาโอกาสไปศึกษา และเพิ่มประสบการณ์การใช้ภาษาดังกล่าว ปัจจุบันมีทุนการศึกษาที่สนับสนุนให้นักศึกษามีโอกาสไปใช้ชีวิต สัมผัสประสบการณ์ในต่างประเทศบ้าง แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ผู้ที่มีผลการเรียนดีจึงจะมีโอกาสได้รับทุน ในขณะที่ผู้ที่มีผลการเรียนด้อยกว่า แต่มีศักยภาพและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองเช่นกันกลับขาดโอกาส หรือยากที่จะได้รับโอกาสนั้น กลับกลายเป็นว่าคนที่ได้รับทุน คือคนที่เก่งอยู่แล้วก็ยิ่งได้มีโอกาสพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้นไปกว่าเดิมเสียอีก
4. ปัญหาด้านเอกสารตำราและแหล่งศึกษาค้นคว้า
ปัญหาสืบเนื่องจากการขาดแคลนทุนสนับสนุน การผลิตตำรา เอกสารการเรียนการ
สอนที่ให้นักศึกษาใช้เรียน ใช้ค้นคว้า สื่อการเรียนการสอนยังมีอยู่น้อยมาก เนื่องจากวงวิชาการจีนเพิ่งเริ่มหันมาศึกษาไม่นานนัก ทำให้หนังสือ ตำราทางด้านภาษาจีนในประเทศไทยยังมีอยู่น้อย ข้อมูลที่จะสนับสนุนการเรียนรู้ของนักศึกษาในห้องสมุดของแต่ละสถาบันการศึกษามีอยู่น้อยมากหากเทียบกับศาสตร์สาขาอื่น หนังสือตำราเรียนภาษาจีนที่มีอยู่ตามท้องตลาด เกิดจากความต้องการศึกษาภาษาจีนที่มีมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าหนังสือที่ออกมาจะมีคุณภาพและถูกต้องตรงตามความต้องการของผู้เรียนเสมอไป ผู้สอนภาษาจีนในปัจจุบันพยายามที่จะแต่งตำรา เขียนเอกสารการสอน สร้างเครื่องมือการเรียนรู้ด้านภาษาจีนมาโดยตลอด แต่นักวิชาการส่วนใหญ่มีความสนใจต่างกัน และด้วยเหตุผลความจำเป็นต่อความก้าวหน้าในทางวิชาการ นักวิชาการที่มีความรู้สูง มักสนใจในสิ่งที่ผู้เรียนภาษาจีนในระดับเริ่มต้นสัมผัสไม่ได้ จะเห็นได้จากงานวิจัย บทความวิชาการเกี่ยวกับจีนศึกษาที่ออกมาส่วนมากมีแนวโน้มไปในเรื่องประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ภาษาจีนโบราณ สังคมวัฒนธรรมจีนลุ่มลึก แต่สิ่งที่ผู้เรียนส่วนมากต้องการคือตำราการเรียนภาษาจีน สื่อ วัสดุอุปกรณ์การเรียนภาษาจีน ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วนอีกอย่างหนึ่งก็คือ การผลิตตำรา วัสดุการเรียนการสอนที่สร้างขึ้นจากผู้มีความรู้ความชำนาญด้านภาษาจีน และการสอนภาษาจีน จึงจะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนอย่างแท้จริง
5. ปัญหาการเรียนภาษา
ข้อปัญหาการเรียนภาษาจีนที่พบจากการได้มีประสบการณ์การสอน และการให้การอบภาษาและการสอนภาษาจีนให้กับนักเรียนนักศึกษา ทั้งระดับก่อนอุดมศึกษาและระดับอุดมศึกษา รวมไปถึงครูผู้สอนในระดับก่อนอุดมศึกษา พบว่าการเรียนภาษาจีนสำหรับผู้เรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะผู้ที่พูดภาษาอีสานเป็นภาษาแม่ มีลักษณะปัญหาที่เด่นชัดหลายประการ ซึ่งผู้สอนควรถือเป็นข้อใส่ใจ ส่วนตัวนักศึกษาเองสามารถนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไข ดังจะสรุปเป็นประเด็นที่สำคัญดังนี้
5.1 ระบบเสียง
นักศึกษาที่พูดภาษาอีสานเป็นภาษาแม่ สำเนียงภาษาแม่นี้ส่งผลกระทบต่อการพูด
ภาษาไทยกลางอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งหากพยายามแก้ไขอาจสามารถแก้ไขได้ในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม เสียงบางเสียงก็ยากที่จะแก้ไข แต่ที่น่าสนใจก็คือการออกเสียงภาษาแม่ส่งผลต่อการเรียนภาษาต่างประเทศอย่างไม่น่าเชื่อ ตัวนักศึกษาเองไม่รู้ตัวว่าภาษาแม่มีผลกระทบต่อการเรียนภาษาต่างประเทศอย่างไร ด้วยเหตุที่ยังแยกแยะความแตกต่างระหว่างเสียงภาษาแม่ กับเสียงภาษาต่างประเทศที่คล้ายคลึงกันไม่ได้ เสียงภาษาจีนที่มักมีปัญหาสำหรับนักศึกษาที่พูดภาษาอีสานเป็นภาษาแม่มีดังนี้
5.1.1 เสียงพยัญชนะ
(1) เสียงพยัญชนะ /q/ กับเสียง /x/ , /ch/ กับ /s/ เนื่องจากในภาษาอีสานไม่มีการเปรียบต่างระหว่าเสียง / ช / กับเสียง / ซ / เสียงในภาษาไทยที่ออกเสียง / ช / ภาษาอีสานจะออกเสียงเป็น / ซ / แต่ภาษาจีนมีความแตกต่างกันระหว่างเสียง / q / กับเสียง / x / มักพบว่า นักศึกษาออกเสียงสองเสียงนี้สับสนกัน บางครั้งรวมเป็นเสียงเดียวคือเสียง / x / เลยก็มี เช่น ออกเสียง七 清 亲 เป็น xī xīng xīn ตามลำดับ เมื่อออกเสียงผิดเช่นนี้ กลับไปพ้องกับคำว่า 西 醒 新 หรือออกเสียง 吃 川 出 เป็น sī suān sū กลับไปพ้องกับคำว่า 丝 酸 苏
(2) เสียงพยัญชนะในชุด / zh ch sh ,z c s ,j q x / เสียงในภาษาไทยมีเสียง จ ช ซ อย่างละ 1 เสียง แต่ในภาษาจีนกลับมีความแตกต่างของเสียงที่คล้ายกับเสียง จ อยู่ 3 เสียง คือ zh z j มีความแตกต่างของเสียงที่คล้ายกับเสียง ช อยู่ 3 เสียง มีความแตกต่างของเสียงที่คล้ายกับเสียง ซ อยู่ 3 เสียง ในการออกเสียงที่คล้ายคลึงกับเสียงในภาษาแม่นั้น นักศึกษาจำเป็นต้องออกเสียงที่มีในภาตนอย่างไม่มีทางเลือก แล้วค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเสียงไปหาเสียงที่ถูกต้อง แต่หากผู้สอนไม่ชัดเจน ไม่ใส่ใจแก้ไข เสียงเหล่านี้จะติดตัวไปตลอด แม้จะรู้ว่าออกเสียงอย่างไรในภายหลังแต่ก็ยากที่จะแก้ไข ดังนั้นพึงระลึกไว้เสมอว่า
- เสียง zh z j ในภาษาจีน อาจเทียบได้คล้ายกับเสียง จ ในภาษาไทย แต่วิธีการออกเสียงทั้งสามตัว ต่างกันกับ จ และในจำนวน 3 ตัวนั้นยังเปรียบต่างซึ่งกันและกันอีกด้วย เสียงของคำอ่าน 只 资 鸡 ไม่ใช่ จือ จือ จี แต่เป็น zhī zī jī
- เสียง ch c q ในภาษาจีน อาจเทียบได้คล้ายกับเสียง ช ในภาษาไทย แต่วิธีการออกเสียงทั้งสามตัว ต่างกันกับ ช และในจำนวน 3 ตัวนั้นยังเปรียบต่างซึ่งกันและกันอีกด้วย
- เสียง sh s x ในภาษาจีน อาจเทียบได้คล้ายกับเสียง ซ หรือ ส ในภาษาไทย แต่วิธีการออกเสียงทั้งสามตัวต่างกันกับ ซ และในจำนวน 3 ตัวนั้นยังเปรียบต่างซึ่งกันและกันด้วย
(3) เสียงพยัญชนะ h คล้ายกับเสียง / ฮ / ในภาษาไทย แต่ไม่ใช่เสียทีเดียว เสียง h ในภาษาจีนโคนลิ้นจะลึกกว่า / ฮ / ในภาษาไทย 喝 ไม่ออกเสียงว่า เฮอ แต่ออกเสียงว่า hē เสียงนี้เป็นปัญหาสำหรับผู้ที่พูดภาษาอีสานเป็นภาษาแม่เป็นอย่างมาก เพราะโดยปกติภาษาอีสานจะออกเสียง /ฮ/ เป็นเสียงนาสิก เมื่อออกเสียง h ในภาษาจีนก็จะออกเสียงขึ้นจมูก ดังนั้นครูผู้สอนต้องให้ใส่ใจกับเสียงนี้ให้มาก
(4) หลักการเขียนเสียงกึ่งพยัญชนะกึ่งสระ (อัฒสระ) ในภาษาจีนคือ คำที่มีเสียง /i/ และ /u/ นำหน้าจะต้องใช้อักษรพยัญชนะ y และ w แทนที่ การออกเสียงสระประสมที่ขึ้นต้นด้วยด้วยสระ /i/ แม้พยัญชนะ /y/ จะแทนที่สระ อี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะออกเสียงเป็นเสียง อี เช่น คำว่า 要ไม่ได้ออกเสียงว่า /เอี้ยว/ แต่ออกเสียงว่า /เย่า/ เช่นเดียวกับเสียงสระประสมที่ขึ้นต้นด้วย u แม้ว่าสระ u จะถูกแทนที่ด้วย w แต่การออกเสียงกลับออกเสียงเหมือนมีเสียง / ว / นำหน้า ดังนั้นคำว่า 温ไม่ได้ออกเสียงว่า /อวน/ แต่ออกเสียงว่า /เวิน/
5.1.2 เสียงสระ
(1) เสียงสระ ü และสระประสมที่ประกอบด้วยสระ ü เสียงสระนี้ไม่มีในภาษาไทย ดังนั้นนักศึกษาต้องฝึกการออกเสียงสระนี้ให้ชัดเจน พึงจำว่าเสียงสระนี้เป็นเสียงสระเดี่ยว อวัยวะในการออกเสียงไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆในระหว่างออกเสียง ในภาษาจีนมีเสียงสระประสมที่หากออกเสียงโดยมีการเคลื่อนไหวของอวัยวะในการออกเสียง จะกลายเป็นเสียงสระประสมไป คือ เสียงสระ /iu/ และ /ui/ การออกเสียงสระ ü ริมฝีปากจะห่อกลม ในขณะที่ลิ้นและอวัยวะภายในปากออกเสียงสระอี หากออกเสียงสระอีก่อนแล้วห่อปากตามหลังจะกลายเป็นเสียงสระประสม /iu/ หากห่อปากออกเสียง เสร็จแล้วคืนริมฝีปากก่อนที่จะออกเสียงเสร็จจะกลายเป็นเสียงสระประสม /ui/ ดังนั้นพึงใส่ใจและระมัดระวังในการออกเสียงสระ ü คำว่า 女 ออกเสียงว่า /nǚ/ ไม่ใช่ nuǐ และไม่ใช่ niǔ
(2) เสียงสระ /ua/ เป็นปัญหามากสำหรับผู้พูดภาภาษาอีสานเป็นภาษาแม่ เช่น คำว่า ควาย ขวาง ผู้พูดภาษาอีสานจะออกเสียงว่า / kuoi/ และ / kuong / คำ 话 刷 抓huà shuā zhuā นักศึกษามักออกเสียงผิดเป็น huò shuō zhuō ซึ่งตรงเป็นคำว่า或 说 桌เป็นคนละคำกัน จึงต้องชี้ให้เป็นว่าภาษาจีนมีการเปรียบต่างระหว่างเสียง /ua/ กับ /uo/ หากออกเสียงผิด ความหมายก็เปลี่ยนไปเป็นอีกคำหนึ่ง พยายามยกตัวอย่างคำเพื่อเปรียบต่างให้ผู้เรียนเห็น เช่น 瓜อ่านว่า / กวา / หมายถึง “แตง” แต่หากออกเสียงผิดเป็น / กัว / กลับหมายถึง 锅 ที่แปลว่า “หม้อ”
(3) เสียงสระ /ie/ และ /ia/ เมื่อเปรียบเทียบสระประสมสองเสียงนี้คล้ายกับสระประสมเสียง /เอีย/ ในภาษาไทย แต่สระในภาษาจีนทั้งสองเสียงนี้ไม่มีตัวใดออกเสียงเหมือนสระ /เอีย/ เพียงแต่ใกล้เคียงเท่านั้น เช่น คำว่า 下 กับ 谢 ในภาษาจีน กับคำว่า เสีย ในภาษาไทย เสียงสระของคำสามคำนี้ออกเสียงต่างกัน คำว่า 下 ไม่ได้อ่านว่า /เซี่ย/ แต่อ่านว่า xià คำว่า 谢 ก็ไม่ได้อ่านว่า /เซี่ย/ แต่อ่านว่า xiè ดังนั้นพึงจดจำว่าเสียงสระ /ie/ จะออกเสียงสระ /อี + เอ / แต่เสียงสระ /ia/ คือเสียงสระ /อี + อา/
(4) สระเสียงสั้นและเสียงยาว ภาษาไทยรวมถึงภาษาอีสานมีการเปรียบต่างระหว่างสระเสียงสั้นกับสระเสียงยาว แต่ภาษาจีนไม่มีการเปรียบต่าง ไม่ว่าจะออกเสียงสระสั้นหรือยาว ความหมายไม่เปลี่ยน แต่สระในภาษาจีนไม่ใช่สระเสียงสั้น และไม่ใช่สระเสียงยาว เช่น คำว่า 妈 ไม่ได้ออกเสียงว่า /มะ/ หรือ /มา/ แต่ออกเสียงว่า mā หากใช้สัญลักษณ์ทางสัทศาสตร์อธิบาย สามารถแสดงให้เห็นความแตกต่างของความสั้นยาวของเสียงสระภาษาจีนและไทยได้ดังนี้
มะ /ma?35/ สระเสียงสั้น มีเสียงกักปิดท้ายคำ
妈 /ma55/ ความยาวเสียงสระปกติ
มา /ma:33/ สระเสียงยาว
ดังนั้นหากนักศึกษาออกเสียงสระในภาษาจีนเป็นสระเสียงสั้นหรือยาวเหมือนอย่างในภาษาไทยก็ไม่ถูกต้อง เช่น คำว่า 低 八 哭 书 ไม่ออกเสียงว่า /ตี ti:33/ ,/ปา pa:33/,/คู khu:33/,/ซู su:33/ แต่ออกเสียง di55 ba55 ku55 shu55
5.1.3 เสียงวรรณยุกต์ ปัญหาการออกเสียงวรรณยุกต์ภาษาจีนของผู้เรียนชาวไทย
มีดังนี้
(1) วรรณยุกต์เสียงที่ 1 ภาษาจีน กับ วรรณยุกต์เสียงสามัญภาษาไทย หากกล่าวถึง
กราฟเสียงวรรณยุกต์ สามารถแบ่งระดับเสียงวรรณยุกต์เป็น 5 ระดับ ดังนั้นระดับเสียงวรรณยุกต์ในภาษาจีนเป็นดังนี้ คือ เสียงที่ 1 ในภาษาจีน คือเสียง /55/ แต่เสียงสามัญในภาษาไทยคือเสียง /33/ นักศึกษามักออกเสียงที่ 1 ในภาษาจีนเป็นเสียง /33/ เช่น อ่านคำว่า 妈 /ma55/ เป็น มา /ma33/
(2) แยกเสียงวรรณยุกต์เสียง 3 กับเสียง 2 ไม่ได้ มักออกเสียงรวมเป็นเสียงจัตวา
อิงการออกเสียงวรรณยุกต์ตามกราฟวรรณยุกต์ 5 ระดับเสียง คำว่า 马 คือ /ma214/ ส่วน 麻 คือเสียง /ma35/ แต่เสียงจัตวาคำว่า “หมา” ในภาษาไทยคือ /ma324/ หากทำความเข้าใจกับกราฟเสียงวรรณยุกต์ให้ดี และเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างกับเสียงในภาษาจีนก็จะสามารถออกเสียงได้อย่างถูกต้อง
ข้อพึงจำในการออกเสียงวรรณยุกต์ภาษาจีน
- เสียงไม้เอกในภาษาไทยคล้ายกับเสียงที่ 3 ในภาษาจีน แต่ระดับเสียงวรรณยุกต์
ต่างกันเช่น 晚ออกเสียงว่า/wan214/ แต่ “หว่าน” ออกเสียงว่า /wa:n21/
- เสียงจัตวาในภาษาไทยคล้ายเสียงที่ 2 ในภาษาจีน แต่ระดับเสียงวรรณยุกต์
ต่างกันเช่น 麻ออกเสียงว่า/ma34/ แต่ “หมา” ออกเสียงว่า /ma:324/
5.2 ระบบ 拼音(pīnyīn)
นักศึกษาที่เริ่มเรียนภาษาจีนจำเป็นต้องศึกษาระบบสัทศาสตร์จีนที่เรียกว่า拼音(Pinyin) ต้องพยายามทำความเข้าใจและจดจำให้แม่นยำ เพราะอักษร拼音 นี้ไม่เพียงช่วยให้เราจดบันทึกเสียงอ่านคำภาษาจีนได้เท่านั้น ประโยชน์ของอักษร拼音 ยังสามารถช่วยให้เราแยกแยะเสียง และออกเสียงได้อย่างถูกต้องแม่นยำอีกด้วย นอกจากนี้อักษร拼音ยังมีความจำเป็นในการใช้พจนานุกรมอีกด้วย ในบางครั้งเมื่อเราได้ยินคำศัพท์คำหนึ่ง เราสามารถเปิดพจนานุกรมตามเสียงอ่านนั้นได้ โดยที่ไม่ต้องนับขีดตัวอักษร นอกจากนี้การพิมพ์อักษรจีนในคอมพิวเตอร์หลายโปรแกรมการพิมพ์ล้วนอยู่บนพื้นฐานของ拼音แทบทั้งสิ้น ความสับสนและไม่เข้าใจอักษร 拼音 ส่งผลโดยตรงต่อการออกเสียงภาษาจีน สามารถสรุปประเด็นสำคัญดังนี้
5.2.1 อักษร b และ p นักศึกษามักสับสนกับการใช้อักษรภาษาอังกฤษ เมื่อได้ยินคำว่า 八 มักจะจดด้วยเสียง 拼音 pā เช่นนี้หากพิมพ์ในคอมพิวเตอร์ จะได้เป็นอักษร 怕 爬 帕 หากเปิดพจนานุกรมจะไม่สามารถหาคำว่า 八 ได้ ดังนั้นพึงจดจำว่า b = ป ส่วน p = พ
5.2.2 อักษร d และ t เช่นเดียวกันกับข้างต้น นักศึกษามักสับสนกับการใช้อักษรภาษาอังกฤษ เมื่อได้ยินคำว่า 大แต่จดด้วยเสียง拼音 tà เช่นนี้หากพิมพ์ในคอมพิวเตอร์ จะได้เป็นอักษร 他 她 他หากเปิดพจนานุกรมก็ไม่สามารถหาคำว่า 大 พบ ดังนั้นพึงจดจำว่า d = ต , t = ท
5.2.3 ไม่สามารถแยกแยะ zh ch sh z c s กับ j q x ได้ จากการสังเกตและการสอนมักพบนักศึกษาบันทึกเสียงคำว่า 休 เป็น shiu หรือ siu บันทึกคำว่า 七 เป็น chi หรือ ci บันทึกคำว่า 川 เป็น quan ข้อพึงจดจำหลักที่จะไม่ทำให้สับสนสำหรับปัญหานี้ ดังนี้
(1) เสียงพยัญชนะกลุ่ม zh ch sh z c s เมื่อเกิดกับสระ i จะออกเสียงเป็นสระ
/อือ/ แต่เสียงพยัญชนะ j q x เมื่อเกิดกับสระ i จะออกเสียงเป็นสระ /อี/ ดังนั้นเมื่อได้ยินคำที่ออกเสียงสระ /อี/ มั่นใจได้ว่าต้องเป็นพยัญชนะในกลุ่ม j q x แต่เมื่อได้คำที่ออกเสียงสระ /อือ/ ก็มั่นใจได้ว่าต้องเป็นพยัญชนะในกลุ่ม zh ch sh z c s จากนั้นหากไม่แน่ใจว่าเป็นพยัญชนะกลุ่ม zh ch sh หรือ z c s ให้สังเกตว่าเป็นเสียงงอลิ้นหรือลิ้นกดที่ฟันล่าง หากเป็นเสียงงอลิ้น เป็นพยัญชนะกลุ่ม zh ch sh หากเป็นเสียงที่ปลายลิ้นกดฟันล่างเป็นพยัญชนะกลุ่ม z c s จากนั้นสามารถเลือกได้ว่า เป็น / จ / หรือ / ช / หรือ / ซ / ก็จะสามารถเลือกพยัญชนะ 拼音 ได้อย่างถูกต้อง
(2) เสียงพยัญชนะ zh ch sh z c s เกิดกับเสียงสระ u ไม่เกิดกับเสียงสระ ü ในขณะที่เสียงพยัญชนะ j q x เกิดกับเสียงสระ ü ไม่เกิดกับเสียงสระ u ดังนั้นเมื่อได้ยินคำที่มีเสียง จ ช ซ ให้สังเกตว่าเป็นเสียงสระใด ถ้าเป็นสระ u ต้องเป็นพยัญชนะชุด zh ch sh z c s แล้วเลือกว่าเป็น ชุดม้วนลิ้นเป็นเสียง zh ch sh ไม่ม้วนลิ้นเป็นชุด z c s แล้วจึงเลือกว่า เป็น / จ / หรือ / ช / หรือ / ซ / แต่หากได้ยินเสียงสระเป็น ü แน่นอนว่าต้องเป็นพยัญชนะชุด j q x แล้วจึงเลือกว่าเป็น เป็น / จ / หรือ / ช / หรือ / ซ / ก็จะสามารถเลือกพยัญชนะ拼音 ได้อย่างถูกต้อง
5.3 คำศัพท์ ปัญหาการเลือกใช้คำศัพท์สามารถอธิบายได้สองประเด็นคือ การเลือกใช้คำ
ภาษาจีน รวมไปถึงการแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาจีน และอีกประเด็นหนึ่งคือการแปลจากภาษาจีนเป็นภาษาไทย
5.3.1 การเลือกใช้คำภาษาจีน นักศึกษาไม่สามารถเลือกใช้คำภาษาจีนได้ถูกต้อง ตรงตามความหมายที่ต้องการจะสื่อ ปัญหาเกิดจากการไม่รู้คำศัพท์ จำคำศัพท์ผิดความหมาย ไม่รู้ความหมายของคำศัพท์อย่างถ่องแท้ชัดเจนและครบถ้วน เช่น นักศึกษาเรียนรู้คำว่า玻璃(bōli) แปลว่า กระจก หรือแก้ว แต่เมื่อต้องการพูดว่า ส่องกระจก ภาษาจีนกลับไม่เรียก “กระจก” ในที่นี้ว่า 玻璃 แต่เรียกว่า镜子(jìnɡzi) คำเดียวกันนี้ เมื่อต้องการจะพูดถึง “แก้ว” ที่ใช้ดื่มน้ำ ภาษาจีนก็ไม่เรียกว่า 玻璃 แต่เรียกว่า杯子(bēizi) หากเลือกใช้คำภาษาจีนตามความหมายประจำคำก็ทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้
การเลือกใช้คำภาษาจีนผิดอีกสาเหตุหนึ่งคือการแปลจากคำภาษาไทย ซึ่งบางครั้งภาษาจีนมีคำเรียกเฉพาะที่ไม่สามารถแปลจากคำภาษาไทยได้ เช่น
มือถือ ภาษาจีนไม่เรียกว่า手提(shǒutí แปลตรงตัวว่า มือถือ ) หรือ手拿(shǒuná แปลตรงตัวว่า มือถือ) แต่เรียกว่า手机(shǒujī)
รถถัง ภาษาจีนไม่เรียกว่า桶车(tǒnɡ chē แปลตรงตัวว่า ถัง + รถ) แต่เรียกว่า坦克车(tǎnkè chē)
หัวหน้า ภาษาจีนไม่พูดว่า头前(tóuqián แปลตรงตัวว่า หัว + หน้า ) 头面(tóumiàn แปลตรงตัวว่า หัว + หน้า) แต่เรียกว่า领导(línɡdǎo)
ห้องน้ำ ภาษาจีนไม่พูดว่า水房(shuǐfánɡ แปลตรงตัวว่า น้ำ + ห้อง) แต่เรียกว่า洗手间(xíshǒujiān)
แม่น้ำ ภาษาจีนไม่พูดว่า 母水(mǔ shuǐ แปลตรงตัวว่า แม่ + น้ำ ) แต่เรียกว่า江(jiānɡ)
ตัวอย่างข้างต้น มิใช่เป็นเพียงเรื่องเล่าขำขันทางภาษา แต่เป็นการใช้คำอันเนื่องจากสาเหตุการแปลคำจากภาษาไทยไปเป็นภาษาจีนที่ผิดพลาด ปรากฏการณ์เช่นนี้พบได้เสมอในการสอนภาษาจีนสำหรับผู้เริ่มเรียนระดับต้นถึงระดับกลาง สิ่งสำคัญที่จะไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดเช่นนี้คือ ต้องเรียนรู้คำศัพท์แต่ละคำว่าในภาษาจีนเรียกว่าอย่างไร อย่าแปลเอง หรือคิดประสมคำเอาเองตามคลังคำศัพท์ที่มีอยู่ เพราะในแต่ละภาษามีวิธีการเรียก หรือตั้งชื่อสิ่งของต่างๆ ต่างกัน ไม่สามารถแปลได้ตรงตัวได้
นอกจากนี้คำที่ใช้โดยมีข้อจำกัดทางสังคม บางครั้งไม่สามารถเลือกใช้ตรงตามความหมายของคำได้ เช่น
คนไทยเรียกพ่อแม่ของเพื่อนว่า พ่อ แม่ ได้ แต่คนจีน ไม่เรียกพ่อแม่เพื่อนว่า爸(bà) 、妈(mā)
คนไทยเรียกผู้สูงอายุว่า ตา ยาย ได้ แต่คนจีน กลับใช้คำเรียกสายพ่อ ว่า爷爷(yéye) “ปู่” 奶奶(nǎinɑi) “ย่า”
ภาษาไทยเรียกผู้ฟังโดยรวมว่า “พ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย”แต่ภาษาจีนไม่เรียกว่า “爸妈兄弟们” (bà mā xiōnɡdi men ) แต่มักเรียกว่า “兄弟姐妹们” (xiōnɡdi jiěmèimen) หรือ “兄弟们” (xiōnɡdimen)
5.3.2 การแปลภาษาจีนเป็นภาษาไทย ปัญหาในการแปลคำภาษาจีนเป็นภาษาไทย
เกิดจากการรู้ความหมายของคำไม่ครอบคลุม ไม่ครบถ้วน คำหลายๆ คำในภาษาจีนมีหลายความหมายเมื่ออยู่ในบริบทที่ต่างกัน หรืออาจไม่ได้มีความหมายตามตัวหนังสือนั้นก็ได้ เพราะภาษาจีนเมื่อคำสองคำประสมกันมักเกิดเป็นคำใหม่ ซึ่งเมื่อแปลเป็นภาษาไทยอาจไม่มีเค้าความหมายเดิมเลยก็เป็นได้ เช่น
瘦猪肉(shòu zhūròu) ไม่ได้หมายถึง เนื้อหมูผอม แต่หมายถึง หมูเนื้อที่ไม่มีมัน
没关系(méiɡuānxi) ไม่ได้หมายถึง ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่หมายถึง ไม่เป็นไร
白花不少钱(báihuā bù shǎoqián) ในประโยคนี้ 白花 ไม่ได้หมายถึงดอกไม้สีขาว แต่หมายถึงการใช้จ่ายเงินโดยเปล่าประโยชน์
洗手间(xíshǒujiān) ไม่ได้หมายถึง ห้องล้างมือ แต่หมายถึง ห้องน้ำ
一五一十地说 (yìwǔyīshí deshuō) ไม่ได้หมายถึง พูดหนึ่งเรื่องห้าเรื่อง หนึ่งเรื่องสิบเรื่อง แต่หมายถึง พูดอย่างละเอียด เล่าให้ฟังอย่างละเอียด
ปัญหาในการแปลภาษาจีนเป็นภาษาไทยของนักศึกษาไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในระดับคำ ในระดับไวยากรณ์ที่สูงขึ้นไปคือวลี และประโยคก็พบว่านักศึกษามีปัญหาในการแปลเช่นกัน ในที่นี้จะสรุปปัญหาสำคัญในการแปลอย่างคร่าวๆ เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษา การทำความเข้าใจตลอดจนการแปลภาษาจีน ดังนี้
(1) ระมัดระวังคำหลายเสียง เพราะอักษรจีนหนึ่งตัวบางครั้งออกเสียงได้
มากกว่าหนึ่งเสียงและเสียงที่ต่างกันนั้นมีความหมายเป็นอย่างอื่น
(2) วงคำศัพท์ในแต่ละภาษาแตกต่างกัน ไม่ได้มีคำศัพท์เพื่อเรียก หรือแสดงความหมายถึงสิ่งเดียวกันในทุกภาษา การแปลคำศัพท์เหล่านี้บางครั้งอาจไม่สามารถหาคำเทียบเคียงความหมายได้ หากจำเป็นต้องแปลคำประเภทนี้สามารถแปลโดยใช้วิธีอธิบายได้
(3) คำในแต่ละภาษาถือครองความหมายต่างกัน ในภาษาหนึ่ง คำๆหนึ่งหมายถึงสิ่งเดียว แต่ไม่แน่เสมอไปว่า ในอีกภาษาหนึ่งจะหมายถึงสิ่งเดียวกัน แต่อาจสื่อถึงสิ่งเดียวกันและสิ่งอื่นได้อีกหลายความหมายก็เป็นได้
(4) คำในภาษาจีนมักเป็นคำสองพยางค์ หากพบคำที่ไม่รู้ว่าจะแปลว่าอะไรหรือแปลออกมาแล้วไม่ได้ความหมาย อาจรวมกับคำถัดไปเป็นคำสองพยางค์ แล้วหาคำศัพท์สองพยางค์นั้นในพจนานุกรม เพราะหากแปลโดยแยกคำอาจทำให้ความหมายผิดเพี้ยนไปได้
(5) ระมัดระวังคำยืมที่มาจากภาษาต่างประเทศ เพราะภาษาจีนบางครั้งใช้วิธีเลียนเสียงโดยไม่คำนึงถึงความหมาย หากนำอักษรเหล่านั้นมาแปลจะทำผิดพลาด เพราะตัวอักษรที่ปรากฏ ไม่ได้สื่อความหมาย แต่เป็นอักษรแทนเสียงเท่านั้น
(6) การแปลวลีที่มีการขยายที่ซับซ้อน สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องหาให้ได้ว่าคำใดเป็นคำหลัก ส่วนใดเป็นส่วนขยายคำหลักนั้น การเริ่มต้นแปล จะใช้คำหลักเป็นคำเริ่มต้นประโยคในภาษาไทย แล้วตามด้วยส่วนขยายตามแบบไวยากรณ์ไทย เพราะทิศทางการขยายคำในไวยากรณ์จีน กับไวยากรณ์ไทยสวนทิศทางกัน กล่าวคือภาษาจีนจะขยายจากคำหลักไปในทิศทางข้างหน้า แต่ไวยากรณ์ไทยจะมีทิศทางการขยายไปด้านหลัง
(7) การแปลวลีเฉพาะ จำพวกสำนวน สุภาษิต คำพังเพย ต้องแปลโดยความหมายทั้งวลี ไม่ใช่แปลเป็นคำ ต้องดูว่าวลีนั้นหมายถึงอะไร แล้วในภาษาไทยมีสำนวนใดที่มีความหมายตรงกัน เพราะบางสำนวน ไม่สามารถแปลตรงตัวได้
(8) การแปลประโยคต้องดูส่วนประกอบของประโยคให้ชัดเจนว่าเป็นประโยคความเดียว หรือประโยคความรวม หากเป็นประโยคความเดียวให้ดูว่าเป็นประโยคที่มีลักษณะความหมายเป็นแบบใด เช่น ประโยค “是 shì คือ”、“被 bèi ถูก”、“比 bǐ กว่า”、“或 huò หรือ” แล้วกำหนดรูปประโยคและความหมายนั้นในภาษาไทย ก็จะสามารถแปลได้อย่างถูกต้อง หากเป็นประโยคความรวม ให้ดูว่ามีคำเชื่อมแบบใดจึงจะรู้ได้ว่าเป็นประโยคความรวมแบบใด เช่น 虽 然 suīrán …但是 dànshì… “แม้ว่า แต่ว่า”,因 为… yīnwèi 所 以… suóyǐ “เพราะว่า ดังนั้น” จากนั้นจะสามารถเทียบรูปแบบไวยากรณ์ในภาษาไทย และแปลได้อย่างถูกต้อง
(9) คำที่เกิดจากปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม การแปลบางครั้งต้องอาศัยภูมิหลังทางวัฒนธรรมในการทำความเข้าใจ ดังนั้นผู้แปลนอกจากจะมีความรู้ภาษาแล้ว ยังจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องวัฒนธรรมของเจ้าของภาษาด้วย จึงจะสามารถแปลความหมายได้อย่างถูกต้อง
(10) ผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้แปล หรือนักแปลได้ดีนั้น ไม่เพียงแต่มีความเชี่ยวชาญในภาษาที่จะแปล แต่จะต้องมีความชำนาญในภาษาแม่ของตนเองเช่นกัน ต้องสะสมคลังคำศัพท์ไว้มากๆ เพื่อเลือกออกมาใช้ได้ทันท่วงที เพราะการแปลจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่งมิใช่เพียงรู้ความหมายของคำแล้วจะสามารถแปลได้ แต่ต้องรู้จักวิธีการใช้คำ การเลือกคำให้ถูกต้องภายใต้ข้อกำหนดของความหมาย สังคม วัฒนธรรมและบริบททางภาษาเป็นสำคัญ
5.4 ไวยากรณ์ ความผิดพลาดทางไวยากรณ์ส่วนมากเกิดจากการคิดเป็นภาษาแม่ก่อน
แล้วแปลไปเป็นภาษาจีน ซึ่งการใช้ภาษาต่างประเทศที่ถูกต้องนั้น ควรที่จะคิดและใช้เป็นภาษาต่างประเทศโดยตรงจึงจะเกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด จากการสังเกตพบว่า นักศึกษามักพูดภาษาจีนด้วยไวยากรณ์ไทย เช่น
ประโยคที่ถูก มัพูดผิดเป็น ความหมาย
他 大声 地说
tā dàshēnɡ dìshuō 她说大声。 เขาพูดเสียงดัง
那 本 红色 的
汉语 书
nà běn hónɡsè de
hànyǔ shū 汉语书红色那本。 หนังสือภาษาจีนสีแดงเล่มนั้น
ข้อผิดพลาดเหล่านี้เกิดจากการไม่เข้าใจการวางตำแหน่งส่วนขยายและส่วนที่ถูกขยาย ส่วนขยายในภาษาจีนจะวางไว้หน้าส่วยที่ถูกขยาย ซึ่งตรงกันข้ามกับภาษาไทยที่ส่วนขยายจะตามหลังส่วนที่ถูกขยาย ดังนั้นหากเข้าใจรูปแบบไวยากรณ์แล้วก็สามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง
ตัวอย่างข้อผิดพลาดการใช้ประโยคการแสดงความเป็นเจ้าของ
ประโยคที่ถูก มัพูดผิดเป็น ความหมาย
我的 爸爸
wǒde bàbɑ 爸爸的我。 พ่อของฉัน
我的 书
wǒde shū 书的我。 หนังสือของฉัน
ข้อผิดพลาดข้างต้นเกิดจากความไม่เข้าใจรูปแบบไวยากรณ์ของการแสดงความเป็นเจ้าของ ภาษาจีน ซึ่งภาษาจีนวางผู้ที่เป็นเจ้าของไว้หน้าประประโยค ผู้ถูกเป็นเจ้าของไว้ท้ายประโยค ซึ่งต่างจากภาษาไทยที่ผู้ถูกเป็นเจ้าของจะอยู่หน้าประโยคและผู้เป็นเจ้าของอยู่ท้ายประโยค
ตัวอย่างข้อผิดพลาดประโยคที่มีคำลักษณะนาม
ประโยคที่ถูก มัพูดผิดเป็น ความหมาย
一辆 汽车
yíliànɡ qìchē
汽车一辆 รถยนต์ 1 คัน
一个 苹果
yíɡè pínɡɡuǒ 苹果一个 แอ๊ปเปิ้ล 1 ลูก
ข้อผิดพลาดนี้เกิดจากการไม่เข้าใจตำแหน่งของคำลักษณะนาม ซึ่งในภาษาไทยคือ [นาม + จำนวน + ลักษณะนาม] ซึ่งต่างจากภาษาจีนคือ [จำนวน + ลักษณะนาม + นาม]
ตัวอย่างข้อผิดพลาดการใช้คำอกรรมกริยา สกรรมกริยา และกริยาที่ต้องการกรรมสองตัว
ประโยคที่ถูก มัพูดผิดเป็น ความหมาย
爸爸 给 我 书
bàbɑ ɡěi wǒ shū 爸爸给书我 พ่อให้หนังสือฉัน
他 给 我 钱
tā ɡěi wǒ qián 他给钱我 เขาให้เงินฉัน
ข้อผิดพลาดนี้เกิดจากการไม่เข้าใจลักษณะการใช้คำกริยาที่ต้องการกรรมมารับสองตัว ในภาษาจีนจะวางกรรมรองต่อจากกริยาและกรรมตรงตามมา ซึ่งสลับกับภาษาไทยที่วางกรรมตรงต่อจากกริยาและกรรมรองตามมา
ตัวอย่างข้อผิดพลาดทางไวยากรณ์ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นเป็นรูปแบบไวยากรณ์ที่นักศึกษามักใช้ผิดอยู่เป็นประจำ ผู้สอนจึงต้องใส่ใจ เน้นย้ำการสอนไวยากรณ์ที่มีข้อแตกต่างกันให้มาก โดยการเปรียบเทียบกับไวยากรณ์ไทย เพื่อให้ผู้เรียนเห็นภาพชัดเจน ไม่ใช้ผิดพลาด
5.5 อักษรจีน
เป็นที่ทราบดีว่าอักษรจีนวิวัฒนาการมาจากอักษรภาพ จนปัจจุบันพัฒนามาเป็นอักษร
ขีดที่มีการกำหนดเส้น และลำดับเส้นตายตัว รูปแบบเส้นในแต่ละตัวอักษรที่มีทิศทาง ความสั้นยาว การหักมุมที่ต่างกันอาจเกิดเป็นอักษรที่แตกต่างกันได้ ปัญหาในการเรียนอักษรจีนของนักศึกษาไทยที่สำคัญสามารถสรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้
5.5.1 อักษรที่มีรูปคล้ายคลึงกันก่อให้เกิดความสับสน เช่น尤 龙 大 , 天 末 未 木 朱 本 失 禾 , 午 牛 年 ,长 卡 片 ,母 每 丹,士 土 十 干 于 工,儿 几 ,有 看 着 者,八 入 人 ,日 曰 目 自 白 百, 田 四 西 匹,已 己 巴,文 又 友 丈 ,甲 由 田,求 火 水 炎 ,瓜 爪,乌 鸟 马 ,风 凤 เป็นต้น
5.5.2 อักษรที่มาจากรากเสียงเดียวกัน แต่ตัวประกอบธาตุคำต่างกัน เช่น 第 弟 递,丁 订 顶 盯 钉,因 茵 洇 姻,青 请 清 情 晴,店 掂 踮 惦,生 胜 笙 牲 ,诗 寺 持,良 粮 娘 ,扁 骗 编 遍 篇 เป็นต้น
5.5.3 อักษรที่มีธาตุคำเดียวกันแต่ตัวประกอบเสียงต่างกัน เช่น 雨 :雾 雪 雹
雷,金:铁 铜 银 锈 ,木:林 桶 树,土:地 场 埋 培 坑心:忍 忐 忑 您,手:拿 提 打 挖 拉เป็นต้น
5.5.4 อักษรที่อ่านได้หลายเสียง เช่น 长:zhǎng(เพิ่ม)cháng(ยาว),卡:
kǎ(บัตร)qiǎ(คา),乐:lè(สุข)yuè(ดนตรี),没:méi(ไม่มี)mò(ฝัง),便:biàn (สะดวก)pián(ถูก),重:chóng(อีก)zhòng(หนัก),传:chuán(ส่ง)zhuàn(เปลี่ยน)
行:háng(ห้างร้าน)xíng(เดิน)เป็นต้น คำที่อ่านได้หลายเสียงเหล่านี้สื่อความหมายต่างกัน ดังนั้นนักศึกษามักประสบปัญหาในการอ่านคำเหล่านี้ เพราะไม่รู้ว่าจะอ่านว่าอย่างไร หรือจำได้เพียงเสียงอ่านเสียงเดียว เมื่ออ่านออกเสียงผิดก็ทำให้แปลความหมายผิดด้วยเช่นกัน
การจดจำตัวอักษร นักศึกษานอกจากจะต้องท่องจำ และจดจำรูปอักษรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วนั้น วิธีการจดจำอักษรจีนที่ดีอีกทางหนึ่งก็คือการจดจำส่วนที่ทำหน้าที่แสดงความหมาย และส่วนที่ทำหน้าที่แสดงเสียง เพราะอักษรจีนส่วนใหญ่ประกอบด้วยส่วนสำคัญสองส่วน คือ ส่วนประกอบความหมาย และส่วนประกอบเสียง หากตัวอักษรเป็นเสียงที่เคยรู้จักมาก่อนแล้ว อาจจะสามารถคาดเดาเสียงอ่านได้ ส่วนที่แสดงความหมายสามารถชี้ให้เราคาดเดาความหมายได้ว่าตัวอักษรตัวนั้นๆ เกี่ยวข้องกับอะไร นอกจากนี้ด้วยเหตุที่ภาษาจีนมีวิวัฒนาการมาจากอักษรภาพนี่เอง หากสามารถศึกษาถึงวิวัฒนาการของตัวอักษรแต่ละตัวได้ว่ามีต้นกำเนิดจากอะไร มีความเป็นมาอย่างไร สื่อถึงอะไร ก็จะเป็นผลดีในการจดจำรูปตัวอักษรในปัจจุบันได้อย่างไม่ผิดพลาด
บทสรุป
ปัญหาการเรียนภาษาจีนของนักศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือดังที่กล่าวมาข้างต้น ประเด็นที่สำคัญคือขาดการสนับสนุนที่แท้จริง การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาในแขนงอื่นๆ ล้วนรวมตัวกันและพิจารณาแนวนโยบายอยู่ในส่วนกลาง จากนั้นจึงใช้แนวนโยบายดังกล่าวในการพัฒนาการศึกษาสู่ภูมิภาค ซึ่งการพัฒนามักหยุดอยู่ที่แนวนโยบายดังกล่าวนั่นเอง เพราะขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง บุคคลผู้ทำงานด้านภาษาจีนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับความต้องการของผู้เรียน และความต้องการในการพัฒนา การสนับสนุนและความช่วยเหลือ นอกจากกลุ่มคนที่เป็นผู้ที่อยู่ในวงการศึกษาแล้ว ก็ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนบ้าง แต่ความต้องการเรียนภาษาจีนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การสนับสนุน และบุคลากรมีอยู่เท่าเดิม การส่งเสริมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนคงกระทำได้เพียงการพยายามให้บรรลุตามภารกิจของหลักสูตรเท่านั้น ส่วนการเสริมความรู้ ประสบการณ์อื่นๆ คงเป็นเรื่องเกินกว่ากำลังบุคลากรที่มีอยู่อันน้อยนิดจะกระทำได้ ผู้เรียนจำเป็นต้องกระตือรือร้น ขวนขวายหาความรู้ด้วยตนเองให้มากที่สุด แหล่งข้อมูลสารสนเทศอินเตอร์เน็ตเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ผู้เรียนสามารถสืบค้นข้อมูลได้เป็นอย่างดี การพัฒนาระบบการการเรียนรู้ทางอินเตอร์เน็ตของประเทศจีนมีการพัฒนาที่ดีมาก ผู้เรียนนอกจากจะได้ความรู้จากการสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตแล้ว ยังเป็นการฝึกฝนความชำนาญด้านภาษาไปในตัวอีกด้วย
บรรณานุกรม
กรรณิการ์ สงวนนวล.(2546)การศึกษาการใช้หลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ
(ภาษาจีน)ในสังกัดกรุงเทพมหานคร.วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต.จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย
กรุณา เลิศพุฒิภิญโญ.(2543) การศึกษาเจตคติของผู้ปกครองที่มีต่อการเรียนการสอนภาษาจีนใน
โรงเรียนเอกชน.สารนิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล.
การพัฒนาหลักสูตรภาษาจีนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน,คณะกรรมการ.(2550) หลักสูตรภาษาจีน
ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่วงชั้นที่ 1 - 4 จังหวัดอุบลราชธานี.อุบลราชธานี:ยงสวัสดิ์
อินเตอร์กรุ๊ป.
เชี่ยวชาญ ศิวะคุณาการ.(2551) การประเมินผลโครงการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนของโรงเรียน
เทศบาลบ้านสามกอง (ขุนวิเศษนุกูลกิจอุทิศ).สารนิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.)
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
ซุนย้ง แซ่เตียว.(2551). สภาพและแนวทางการจัดการศึกษาภาษาจีนโรงเรียนอนุบาลศรีสะเกษ.
งานวิจัย ครูชำนาญการ, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 1.
นพวรรณ พงษ์เจริญ.(2548) การศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนของครูที่ผ่านการ
อบรมการสอนภาษาจีน ณ มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน. กรุงเทพฯ : กลุ่มวิจัย
และพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ.
ประพิณ มโนมัยวิบูล.(2547) การสอนภาษาจีนในประเทศไทย.เอกสารการประชุมสัมมนา
ผลงานวิจัยเรื่อง การเรียนการสอนภาษาต่างประเทศในระดับต่าง ๆ .กรุงเทพ: จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย
ปราณี กุลละวณิชย์(2547) ชุดโครงการนโยบายการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศของไทย.คณะ
อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
_______________(2547) การศึกษาการจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศและความต้องการ
ภาษาต่างประเทศในภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคตะวันออกของไทย .คณะอักษร
ศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
_______________(2548) นำร่องเพื่อพัฒน่าโจทย์วิจัยเรื่อง ฐานรากการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ.
คณะอักษรศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
_______________ (2549) วิจัยฐานรากการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ .คณะอักษรศาสตร์.
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ปรารถนา กาลเนาวกุล.(2546) ข้อมูลพื้นฐานการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศและการใช้ภาษา
ต่างประเทศของภาคใต้. คณะอักษรศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พิชัย รัตนพล.(2512)วิวัฒนาการการควบคุมโรงเรียนจีน.วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต.สถาบัน
บัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
พรหทัย จันทรกานตานนท์.(2549)การศึกษาสถานภาพการจัดการโรงเรียนเอกชนที่สอนภาษาจีนใน
หลักสูตรระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน.วิทยานิพนธ์การศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต.
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต.
ฝูเจินจู. (2545) หลักไวยากรณ์จีน.สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,กรุงเทพฯ.
ยุพกา ฟูกุชิม่า สร้อยสุดา ณ ระนอง และ กนกพร นุ่มทอง(2550) แนวโน้มการศึกษาภาษาญี่ปุ่น
และ ภาษาจีนในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ – เปรียบเทียบเรื่องแรงจูงใจ.งานวิจัยคณะ
มนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
เยาวลักษณ์ อภิชาตวัลลภ.(2549)ข้อมูลพื้นฐานการเรียนภาษาต่างประเทศและการใช้
ภาษาต่างประเทศในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.งานวิจัยคณะมนุษยศาสตร์และ
สังคมศาสตร์: มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
วีรวรรณ สุธีรไกรลาศ. (2551) เอกสารหลักสูตรการศึกษาทางไกล ประเภทการศึกษาต่อเนื่อง
หลักสูตรภาษาจีนเพื่อการสื่อสาร.สถาบันการศึกษาทางไกล สำนักงานส่งเสริมการศึกษา
นอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ.
รณพล มาสันติสุข. (2551) การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย ระดับชั้นประถม-มัธยมศึกษา. กรุงเทพฯ : ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา.
หวัง หยวนหยวน.(2551)ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทย-จีน:กรณีศึกษาการเรียนการสอน
ภาษาจีนในสถาบันการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย.เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัย
เชียงใหม่.
สำนักงานความสัมพันธ์ต่างประเทศ,ธนาคารกสิกรไทย.(2548) สรุปสาระการสัมมนาวิชาการไทย-
จีน เรื่องบนเส้นทางความสัมพันธ์ ไทย-จีน. 28 มีนาคม 2548 ณ ธนาคารกสิกรไทย
สำนักงานใหญ่ ,กรุงเทพฯ.
สุวิชัย โกศัลยะวัฒน์.(2543)แนวทางการพัฒนาโรงเรียนนโยบายพิเศษในจังหวัดชลบุรี : กรณีศึกษา
เฉพาะโรงเรียนสอนภาษาจีน.รายงานการวิจัยคณะศึกษาศาสตร์,มหาวิทยาลัยบูรพา.
สุทธิชาต ชอบดี. (2549)ปัจจัยการเลือกเรียนภาษาจีนกรณีศึกษาโรงเรียนที่เปิดหลักสูตรสอน
ภาษาจีน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต. สารนิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (บธ.ม.) คณะ อุตสาหกรรมบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
สุวรรณา สมบุญสุโขและคณะ.(2543) ชุดการเรียนภาษาจีนด้วยคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบ IMM.
งานวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.
เอนก กิมสุวรรณ.(2546) ข้อมูลพื้นฐานการจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศและการใช้ภาษา
ต่างประเทศในภาคเหนือ . คณะอักษรศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สารสนเทศทางอินเตอร์เนต
中国互联网新闻中心《方兴未艾的泰国华文教语》http://www.china.org.cn/chinese/WISI/2252.htm
(2007年8月8日)
กุลนรี นุกิจรังสรรค์. (2551) สรุปผลงานวิจัย การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย : การศึกษา
นอกระบบ. เว็บไซต์สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://www.thaiworld.org
(20 สิงหาคม 2552)
ซุนย้ง แซ่เตียว.การสอนภาษาจีนในชั้นประถมศึกษา.บทความบนเว็บไซต์ของสำนักงานเขตพื้นที่
การศึกษาศรีสะเกษ เขต 1. http://edinno.sisaketedu1.go.th/nineboard/view.php?id=61252
(20 สิงหาคม 2552)
ทวี ธีระวงศ์เสรี.(2551) สรุปผลงานวิจัย เรื่อง ความร่วมมือไทย-จีน ด้านการเรียนการสอนภาษาจีน.
บทความจากเว็บไซต์ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
http://www.thaiworld.org (20 สิงหาคม 2552)
นงลักษณ์ หมอยา.(2552) รายงานการสัมมนาการเสริมสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งในการ
เรียนการสอนภาษาจีน. ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ www.inspect8.moe.go.th/chaina_lang2.htm (20 สิงหาคม 2552)
ครูภาษาจีนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ชมรม.https://sites.google.com/site/laoshidongbei/ (20
สิงหาคม 2552)
ครูจีนภาคอีสาน,ชมรม. http://zhongwendongbei.blogspot.com/(20 สิงหาคม 2552)
พัชนี ตั้งยืนยงและสุรีย์ ชุณหเรืองเดช(2551) สรุปรายงานวิจัย การเรียนการสอนภาษาจีนใน
ประเทศไทย : ระดับอุดมศึกษา. บทความจากเว็บไซต์ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชีย
ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
http://www.thaiworld.org/th/include/answer_search.php?question_id=831
(20 สิงหาคม 2552)
李俊,吴苑妃.(2006)《中国大陆与台湾的中文之差别》中国学研究期刊,年第1期。
褚佩,金及逯 (2002)《汉语多音字学习手册》北京大学出版社,北京。
张斌.(2002)《新编现代汉语》复旦大学出版社:上海。
บรรณานุกรมอินเตอร์เน็ต
曹复《方兴未艾的泰国华文教语》中国互联网新闻中心,
http://www.china.org.cn/chinese/WISI/2252.htm
维基百科网,“方言”http://zh.wikipedia.org/wiki/%E6%B1%89%E8%AF%AD%E6%8B%BC%E9%9F%B3
维基百科网,“汉语拼音”http://zh.wikipedia.org/wiki/%E6%B1%89%E8%AF%AD%E6%96%B9%E8%A8%80
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น