ชนเผ่าต้งอาศัยอยู่ในมณฑลกุ้ยโจว (贵州省Guìzhōushěnɡ) บริเวณเมืองหลีผิง (黎平Lípínɡ) ฉงเจียง(从江Cónɡjiānɡ) หรงเจียง (榕江Rónɡjiānɡ) เทียนจู้ (天柱Tiānzhù) จิ่นผิง(锦屏 Jǐnpínɡ) ซานซุ่ย(三穗Sānsuì) เจิ้นหย่วน(镇远Zhènyuǎn) เจี้ยนเหอ (剑河Jiànhé) ยวี่ผิง(玉屏Yùpínɡ) ในมณฑลหูหนาน(湖南省Húnánshěnɡ) บริเวณเมืองซินห่วง(新晃Xīnhuǎnɡ) จิ้งเซี่ยน(靖县Jìnɡxiàn) ทงเต้า (通道Tōnɡdào) ในเขตปกครองตนเองเผ่าจ้วง มณฑลกว่างซี(广西Guǎnɡxī) บริเวณตำบลซานเจียง (三江Sānjiānɡ) หลงเซิ่ง(龙胜Lónɡshènɡ) หรงสุ่ย(融水Rónɡshuǐ)
จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าต้งมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 2,960,293 คน ภาษาที่ใช้คือภาษาต้ง(侗语Dònɡyǔ) จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต (汉藏语系HànZànɡ yǔxì) สาขาภาษาจ้วง-ต้ง (壮侗语族 Zhuànɡ Dònɡ yǔzú) แขนงภาษาต้ง-สุ่ย (侗水语支 Dònɡ Shuǐ yǔzhī) แบ่งออกเป็นสองสำเนียงภาษาคือ สำเนียงต้งเหนือ และสำเนียงต้งใต้ ไม่มีภาษาอักษรเป็นของตัวเอง ส่วนใหญ่ใช้อักษรจีน กระทั่งในปี ค.ศ. 1958 มีการประดิษฐ์ภาษาอักษรโดยใช้อักษรภาษาลาตินขึ้นใช้
ในสมัยราชวงศ์ฉินและฮั่น ชาวต้งอาศัยกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณที่เป็นมณฑลกว่างตง และกว่างซีในปัจจุบัน ในสมัยนั้นเรียกชนกลุ่มนี้ว่า ลั่วเยว่(骆越Luòyuè) ซึ่งเป็นกลุ่มชนเผ่าย่อยของชนร้อยเผ่าที่ชื่อ ป่ายเยว่(百越Bǎiyuè) หลังสมัยราชวงศ์เว่ยและจิ้นเรียกชาวลั่วเยว่นี้ว่าเหลียว บันทึกชื่อหย่า《赤雅》Chìyǎ ของผู้เขียนชื่อ หมิงคว่างลู่(明邝露Mínɡ Kuànɡlù) ที่เขียนในสมัยราชวงศ์หมิงกล่าวถึงชนชาวต้งไว้ว่า “ชาวต้งเป็นชนกลุ่มย่อยหนึ่งในกลุ่มชนชาวเหลียว” กลุ่มชนที่จัดเป็นกลุ่มย่อยของชาว “ป่ายเยว่” ในปัจจุบันมีชาวต้ง ชาวเหมาหนาน ชาวจ้วง และชาวสุ่ย ชนทั้งสี่กลุ่มนี้มีความสัมพันธ์ด้านภาษา วัฒนธรรม ความเป็นอยู่และบริเวณที่อยู่ใกล้เคียงและคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะทางด้านภาษา นักภาษาศาสตร์จีนจัดภาษาทั้งสี่ภาษาอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาภาษาย่อยจ้วง-ต้ง จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์สันนิษฐานได้ว่าชาวต้งก็คือชาวลั่วเยว่ที่มีอารยธรรมสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยฉินจนปัจจุบัน
ชาวต้งมีพัฒนาการมาตั้งแต่ยุคบุพกาล พัฒนา และเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาจนถึงระบบสังคมศักดินาในสมัยราชวงศ์ถัง แต่มีบางกระแสเชื่อว่าระบบสังคมของชาวต้งเคยผ่านระบบทาสมาก่อน ตั้งแต่สมัยถังถึงสมัยชิงได้รวบรวมพื้นที่อาศัยของชาวต้งไว้เป็นเมืองในการปกครอง ระบบสังคมในสมัยนั้นเป็นแบบสังคมศักดินา ต้นราชวงศ์ชิงยึดที่ดินคืนสู่อำนาจกลางของรัฐ และครอบครองชาวต้งเป็นประชาชนในอาณัติ เข้าสู่ระบบการปกครองแบบระบบศักดินาถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่ระบบสังคมชาวต้งที่ถือปฏิบัติมาแต่เดิมคือระบบกฎรวมของเผ่ายังคงใช้อยู่ กล่าวคือ ในทุกๆหมู่บ้านมีผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้าใหญ่ชั้นที่หนึ่ง ผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ดูแลคนในชุมชนให้ปฏิบัติตามขนบ จารีตประเพณี ผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้านขึ้นตรงต่อหัวหน้าคณะกรรมการหมู่บ้านที่เลือกขึ้นมาจากผู้ใหญ่บ้านเป็นการปกครองที่สูงขึ้นเป็นชั้นที่สอง หัวหน้าคณะกรรมการผู้ใหญ่บ้านนี้ขึ้นตรงต่อประธานที่ได้รับคัดเลือกมาจากหัวหน้าหมู่บ้านต่างๆ อีกชั้นหนึ่ง เป็นการปกครองชั้นที่สูงสุด วิธีการปกครองแบบนี้ถือปฏิบัติมาจนถึงปลายสมัยราชวงศ์ชิงเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน
ระบบเศรษฐกิจสังคมของชาวต้งมีการเปลี่ยนแปลง และมีพัฒนาการเริ่มต้นอย่างชัดเจนมาตั้งแต่หลังยุคสงครามฝิ่นในปี 1840 สังคมของชาวต้งได้รับผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมจากสังคมภายนอก จึงค่อยๆปรับเปลี่ยนมาเป็นระบบสังคมแบบกึ่งอาณานิคมกึ่งศักดินา ภายใต้การกดขี่และขูดรีดของจักรวรรดินิยมของราชวงศ์ชิง ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวต้งตกอยู่ในสภาพลำบากแร้นแค้นอย่างแสนสาหัส จนถึงยุคสงครามปลดแอก ระบบศักดินาแบบถือครองที่ดินก็ยังคงเป็นอยู่ เจ้าของที่ดินมีที่ดินในครอบครองมากกว่าชาวนาถึงยี่สิบเท่า ชาวต้งต้องเช่าที่ดินทำกิน และยังถูกกดขี่ขูดรีดทั้งการเก็บผลผลิตและดอกเบี้ยค่าเช่าจากเจ้าของที่ดินและนายทุนอย่างอย่างรุนแรง ถึงยุคกว๋อหมินตั่งได้ก่อการต่อต้านระบบการปกครองรัฐบาล และใช้ระบบศักดินาจัดการให้ผู้มีอำนาจสูงดูแลพื้นที่ของชาวต้ง อันเป็นการสนับสนุนให้คนชั่วก่อกรรมทำเข็ญ ผู้ปกครองในระดับหมู่บ้าน ตำบล และเมืองที่มีชาวต้งอาศัยอยู่ต่างพากันเก็บภาษี รีดไถประชาชนอย่างแสนสาหัส ชาวต้งจึงตกสู่ภาวะลำเค็ญและยากแค้นอย่างที่สุด
หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลได้ก่อตั้งเขตปกครองตนเองชาวต้งขึ้นหลายแห่ง ดังนี้
1. ปี 1951 ก่อตั้งอำเภอปกครองตนเองชาวต้ง จ้วง เหยา เหมียวในเขตอำเภอหลงเซิ่ง ของ
มณฑลกว่างซี (广西龙胜侗、壮、瑶、苗各族自治县 Guǎnɡxī Lónɡshènɡ Dònɡ、Zhuànɡ、Yáo、Miáo ɡè Zú zìzhìxiàn)
2. ปี 1952 ก่อตั้งอำเภอปกครองตนเองชาวต้งอำเภอซานเจียง ในมณฑลกว่างซี (广西
三江侗族自治县Guǎnɡxī Sānjiānɡ Dònɡ Zú zìzhìxiàn)
3. ปี 1954 ก่อตั้งอำเภอปกครองตนเองชาวต้งอำเภอทงต้าว มณฑลหูหนาน (湖南通道侗
族自治县 Húnán Tōnɡdào Dònɡ Zú zìzhìxiàn)
4. ปี 1956 ก่อตั้งเขตปกครองตนเองชาวเหมียวและต้ง เมืองเฉียนตง เฉียนหนาน มณฑล
กุ้ยโจว (贵州黔东南苗族侗族自治州 Guìzhōu Qiándōnɡnán Miáo Zú Dònɡ Zú zìzhìzhōu) และอำเภอปกครองตนเองเผ่าต้ง อำเภอซินห่วง มณฑลหูหนาน (湖南新晃侗族自治县 Húnán Xīnhuǎnɡ Dònɡ Zú zìzhìxiàn)
5. ปี 1984 ก่อตั้งอำเภอปกครองตนเองชาวต้งอำเภอยวี่ผิง มณฑลกุ้ยโจว (贵州省玉屏侗
族自治县 Guìzhōushěnɡ Yùpínɡ Dònɡ Zú zìzhìxiàn)
การก่อตั้งเขตปกครองตนเองนี้ ทำให้ประชาชนชาวต้งมีสิทธิในการปกครองดูแลตนเองในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการทำมาหากิน ล้มล้างระบบศักดินากรรมสิทธิ์ที่ดิน ประชาชนมีสิทธิ์ประกอบอาชีพและมีรายได้เป็นของตัวเอง ชาวต้งเริ่มเปลี่ยนแปลงการผลิตผลิตผลทางการเกษตรโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล อาชีพด้านการเกษตร ป่าไม้ อุตสาหกรรม เลี้ยงสัตว์ และประมงพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว เข้าสู่ยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน เขตปกครองตนเองเผ่าต้งเมืองเฉียนหนานก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมน้อยใหญ่หลายแห่ง ผลิตสินค้าจำพวกเครื่องจักรกล ปุ๋ยเคมี กระดาษ เขตปกครองตนเองเผ่าจ้วงตำบลซานเจียงก่อตั้งโรงงานผลิตน้ำและกระแสไฟฟ้า ชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวต้งดีขึ้นเป็นลำดับ หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นต้นมา ชุมชนชาวต้งที่เฉียนตงหนาน(黔东南 Qiándōnɡnán) มีถนนยาวเพียง 500 กิโลเมตร ปัจจุบันรัฐบาลสนับสนุนการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อทุกตำบลและหมู่บ้าน
ทางด้านการศึกษาก็มีการพัฒนาที่ดีขึ้นเช่นกัน จากเดิมก่อนการปฏิวัติวัฒนธรรมมีโรงเรียนมัธยมเพียงแห่งเดียว โรงเรียนประถมไม่เกิน 3 แห่ง แต่ปัจจุบันได้ก่อสร้างโรงเรียนประถมและมัธยมจนครบทุกตำบลหมู่บ้าน ชาวต้งอดทนขยันขันแข็ง มานะบากบั่นสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของประเทศ ปัจจุบันมีชาวต้งได้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โตในคณะรัฐบาล เป็นหัวหน้างาน ทหาร นักวิชาการ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นจำนวนไม่น้อย นอกจากนี้ในชุมชนชาวต้งบางแห่งลงขันกันก่อตั้งโรงเรียนภาคค่ำสำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่มีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนปกติ
การรักษาพยาบาลก็พัฒนาก้าวหน้าขึ้น เดิมทีชาวต้งนับถือผี เมื่อเจ็บป่วยก็ไหว้ผีสางให้มาช่วยรักษา แต่หลังจากความเจริญเข้ามาถึง ชาวต้งเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการสาธารณสุขมากขึ้น มีการก่อตั้งโรงพยาบาลขึ้นหลายแห่ง โรคร้ายแรงที่เคยระบาดในชุมชนชาวต้งก็ค่อยๆหมดไป สภาพชีวิตชาวต้งดีขึ้น มีไฟฟ้า น้ำประปาใช้ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆใช้แล้ว
ด้วยความที่มีอารยธรรม ประวัติศาสตร์การตั้งชุมชนที่ยาวนาน ชาวต้งจึงนับได้ว่าเป็นชนที่ร่ำรวยทางวัฒนธรรมมากเผ่าหนึ่ง จนได้รับการขนานนามว่า “เมืองกวี ปฐพีเพลง” เพลงของชาวต้งสัมผัสคล้องจอง ทำนองเสนาะ ไพเราะเปิดเผย เปรียบเปรยเด่นชัด ให้อารมณ์กลอนงดงามสูงสง่า ล้ำค่าจริงใจและอบอุ่น การบรรยายเรื่องราวในบทกลอนแฝงซ่อนภูมิปัญญา นุ่มนวลลึกซึ้ง นับเป็นมรดกทางภาษาและวรรณกรรมอันล้ำค่าของชาวต้ง เช่น บทกวีเรื่อง《珠郎娘嫫》Zhūlánɡ niánɡmó “เทพบุตรกับหญิงอัปลักษณ์” และเรื่อง《三郎五妹》Sān lánɡ wǔ mèi “สามหนุ่มกับห้าอนงค์” เป็นนิทานกลอนที่นิยมแพร่หลายไปทั่ว นอกจากนี้การขับร้องเพลงหมู่ของชาวต้งมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว ด้วยพลังเสียงมหัศจรรย์ ส่งเสียงที่ดังกังวานก้อง ท่วงทำนองที่ฟังดูมีอิสระ ประกอบด้วยเครื่องดนตรีผีผาบรรเลงทำนองคล่องแคล่ว เริงร่า เป็นเอกลักษณ์เพียงหนึ่งเดียวพบได้ในเผ่าต้ง นิทาน ตำนานที่เล่าสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน มีมากมายหลากหลายเรื่องราว รูปแบบการดำเนินเรื่องยอกย้อน แยบยล ดึงดูดให้หลงใหล แสดงออกถึงจินตนาการอันสลับซับซ้อนและลึกซึ้งของชาวต้งได้เป็นอย่างดี งิ้วต้งเป็นการแสดงอุปรากรที่พัฒนามาจากการเล่านิทานกลอน ถือกำเนิดขึ้นในต้นศตวรรษที่ 19 การแสดงงิ้วต้งนี้ท่าร่ายรำเรียบง่าย แต่การขับร้องทำนองมีมากมาย ในการแสดงใช้เครื่องดนตรีจำพวก ซอ ผีผาบรรเลงประกอบ ก่อนการแสดงโหมโรงด้วยการลั่นกลองเรียกบรรยากาศอย่างครึกครื้นเร้าใจ งิ้วต้งไม่วาดหน้า แต่แฝงไว้ด้วยกลิ่นอายของความเป็นชนเผ่าได้อย่างน่าอัศจรรย์ นอกจากนี้วัฒนธรรมการรื่นเริงของชาวต้งยังมีระบำตัวเย(哆耶Duōyē) ระบำขลุ่ยน้ำเต้า ระบำมังกร ระบำสิงโต เป็นต้น
“ระบำตัวเย” คือการเต้นระบำเป็นกลุ่มใหญ่ทั้งชายหญิงรวมกันเริงระบำในงานรื่นเริง ประสานมือคล้องคอล้อมกันเป็นวง ร้องเล่นเต้นระบำ “ระบำขลุ่ยน้ำเต้า” ก็เป็นการเต้นระบำเป็นกลุ่มเช่นกัน ผู้เต้นเป่าขลุ่ยน้ำเต้าไปพร้อมๆ กับเต้นรำ เครื่องดนตรีที่ชาวต้งใช้บรรเลงในงานรื่นเริงและงานพิธีต่างๆ ยังมีอีกมาก เช่น ขลุ่ยเหล็ก ปี่ เป็นต้น
งานหัตถกรรมเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษเช่นกัน งานฝีมือที่มีชื่อเสียงของชาวต้งเช่น งานปักผ้า ร้อยมาลัย วาดภาพ แกะสลัก ตัดกระดาษ ถัก สาน เป็นต้น หัตถกรรมปักผ้าของหญิงชาวต้ง เป็นงานฝีมือชั้นเยี่ยม ชาวต้งนิยมปักลวดลายต่างๆ เช่น ดอกไม้ สัตว์ต่างๆ รูปบุคคลลงบนเสื้อผ้า ลวดลายและสีสันชัดเจน กลมกลืนเหมือนจริง นอกจากนี้ยังมีการทำเครื่องประดับเงินได้แก่ สร้อยเงิน กำไลเงิน ตุ้มหู แหวน ปิ่นปักผม ดอกไม้เงินล้วนเป็นเครื่องประดับที่เป็นที่นิยมอย่างมากของหญิงชาวต้ง
ชายชาวต้งมีความชำนาญในการก่อสร้างตึกด้วยอิฐ หิน และไม้ การสร้างตึกแขวนกลอง สร้างสะพานถือเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ชาวต้งมีความชำนาญมากที่สุด การก่อสร้างตึกแขวนกลองของชาวต้งใช้ไม้ล้วนๆ ไม่มีการใช้ตะปูตอกยึด สามารถสร้างได้สูงเป็นสิบชั้นเลยทีเดียว รูปทรงหกเหลี่ยมแปดเหลี่ยมงดงามดุจเจดีย์แก้ว สูงส่ง สง่างาม นับเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของชุมชนชาวต้ง นับเป็นจุดศูนย์รวมของชุมชน นอกจากนี้ยังมีสะพานเฉิงหยาง (程阳桥Chénɡ yánɡ qiáo) ที่ตำบลซานเจียง เป็นสะพานที่สร้างโดยช่างชาวต้ง มีความงดงาม แข็งแรง ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศจีนอีกด้วย
ชาวต้งสวมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ผลิตขึ้นเอง ชาวต้งชอบสวมเสื้อผ้าสีเขียว ม่วง ขาว น้ำเงิน ชายชาวต้งในปัจจุบันสวมเสื้อผ้าไม่แตกต่างจากชาวฮั่น แต่ยังมีชาวต้งที่อยู่ในบริเวณห่างไกล เช่น ชาวต้งภูเขายังคงสวมเสื้อผ้าแบบดั้งเดิม คือสวมเสื้อแขนสั้นผ่าอกไม่มีปก สวมกางเกงขากว้างยาว ใช้ผ้าโพกหัว บางคนไว้ผมจุก ชุดของหญิงชาวต้งแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ บ้างสวมเสื้อทรงกระบอกผ่าอก ไม่มีปก ติดกระดุมเงิน บ้างสวมเสื้อคอกระเช้าคล้องไหล่ บ้างสวมกางเกงขากว้างยาว บ้างสวมชุดเสื้อยาวคลุมเข่า บ้างสวมผ้าถุงคาดเข็มขัด เกล้าผมขึ้นแล้วใช้ผ้าโพกหัว สวมรองเท้าคลุมหน้าแข้งใช้เชือกมัดแน่น แต่บางท้องที่ก็แต่งตัวเหมือนอย่างชาวฮั่น แต่ที่สำคัญชาวต้งชอบสวมเครื่องประดับที่ทำด้วยเงิน
อาหารการกินของชาวต้งกินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก ชาวต้งที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ราบชอบกินข้าวสวย แต่ชาวต้งที่อยู่ตามภูเขาชอบกินข้าวเหนียว ชอบกินอาหารรสเผ็ดและเปรี้ยว รู้จักวิธีถนอมอาหารเช่น ทำปลาร้า เนื้อหมัก การรับแขกที่สำคัญต้องมีน้ำชาเป็นการต้อนรับ ชาวต้งตั้งบ้านเรือนอยู่ริมภู ริมน้ำ ซึ่งเป็นทิวทัศน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ของจีน สร้างบ้านแบบใต้ถุนสูง ข้างบนเป็นที่พักอาศัย ชั้นล่างเป็นคอกสัตว์ และเก็บของ
ประเพณีสำคัญที่น่าสนใจของชาวต้ง คือประเพณี “เยว่เหย่” (月也Yuèyě) ตรงกับวันที่แปด เดือนหนึ่งตามปฏิทินจันทรคติของจีน เป็นประเพณีที่ชาวต้งจากหมู่บ้านหนึ่งไปเป็นแขกเยี่ยมเยือนอีกหมู่บ้านหนึ่ง กิจกรรมสำคัญคือการรื่นเริงและสังสรรค์ มีการเป่าขลุ่ยน้ำเต้า ร้องงิ้วบรรเลงขับกล่อม จัดในช่วงว่างเว้นจากการเพาะปลูก มีการชนวัวเป็นกีฬาบันเทิงประจำชนเผ่า ช่วงเทศกาลนี้จะตีฆ้องร้องป่าวให้ผู้คนมากมายมาร่วมร้องรำทำเพลง สนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจ จุดพลุเฉลิมฉลองสว่างไสวไปทั่วหุบเขา เป็นการต้อนรับชาวต้งจากหมู่บ้านอื่นที่มาเยือนด้วยความยินดีปรีดา เป็นโอกาสที่หนุ่มสาวได้พบปะคบหาสมาคมกัน ชาวต้งทางเหนือเรียกเทศกาลนี้ว่า เที่ยวภูเขา (玩山Wánshān) หนุ่มสาวชาวต้งรวมกันเป็นกลุ่มหลังว่างเว้นจากงานในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน เมื่อมารวมกันพร้อมหน้าจะร้องเพลงตอบโต้ เกี้ยวพาราสีกัน ชาวต้ง ทางตอนใต้เรียกงานนี้ว่า “แอ่วเมือง” หรือ “แอ่วสาว” คืนวันงานหญิงสาวปักผ้าอยู่ในเรือน ชายหนุ่มขับกล่อมดนตรีและร้องเพลงโต้ตอบกัน พรรณนาความรักต่อกัน เมื่อถูกใจกันจะแลกของที่ระลึกซึ่งกันและกันเป็นการหมั้นหมายเอาไว้ ในวันที่สามเดือนสามหรือวันที่สองเดือนสองของทุกปี ชุมชนชาวต้งที่ตำบลซานเจียงรวมตัวกันในลานกว้างประจำหมู่บ้าน จัดงานเทศกาลรื่นเริง โดยจะช่วยกันทำพลุดอกไม้ยิงขึ้นฟ้า เมื่อตกลงสู่พื้นให้คนที่มาร่วมงานแย่งกันเก็บ ผู้ที่เก็บได้จะมีรางวัลให้ งานนี้เรียกว่า “งานชิงพลุ”
ชาวต้งยึดถือการแต่งงานแบบสามีภรรยาคนเดียว การแต่งงานกันระหว่างพี่สาวหรือน้องสาวพ่อกับพี่ชายแม่เป็นที่นิยมของชาวต้ง แต่ญาติร่วมสายเลือดจะไม่แต่งงานกัน หญิงแต่งงานแล้วไม่ย้ายไปอยู่บ้านสามี สถานภาพทางครอบครัวและสังคมของผู้หญิงต่ำต้อยกว่าผู้ชาย มีกฎข้อห้ามมากมายสำหรับผู้หญิงเช่น ห้ามตีกลอง ห้ามอยู่บนบ้านในขณะที่มีผู้ชายนั่งอยู่ข้างล่าง หญิงชาวต้งจะสามารถมีสิทธิในทรัพย์สมบัติที่ตนเองหามาได้หรือทรัพย์สมบัติของพ่อแม่ก็ต่อเมื่อแต่งงานแล้วเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้มีปริมาณมากเท่าใดนัก สมบัตินี้เรียกว่า “นาผู้หญิง ที่ผู้หญิง” ส่วนผู้ชายเป็นผู้รับสืบทอดมรดกประจำตระกูล หากไม่มีลูกชายสามารถรับเลี้ยงลูกบุญธรรมและสืบทอดสายตระกูลให้กับลูกบุญธรรมต่อได้
พิธีงานศพของชาวต้งเหมือนกับชาวฮั่น คือใช้วิธีฝังศพ แต่ชาวต้งบางพื้นที่เมื่อมีคนเสียชีวิต จะยังไม่ประกอบพิธีศพ แต่จะใส่โลงแล้วนำไปเก็บไว้ในป่าช้าที่อยู่ห่างไกลออกไปจากหมู่บ้าน รอจนคนที่เกิดวัน เดือน ปี เดียวกันเสียชีวิตทั้งหมดจึงจะประกอบพิธีฝังศพพร้อมกัน
ชาวต้งนับถือผี และเทพมากมาย เคารพบูชาธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ใหญ่ หินก้อนใหญ่ บ่อน้ำ สะพาน มีเจ้าแม่สร้างเมืองชื่อ ซ่าซุ่ย (萨岁Sàsuì) ซึ่งถือกันว่าเป็นหญิงผู้เป็นต้นกำเนิดและสร้างชุมชนชาวต้ง เป็นเทพที่ชาวต้งเคารพสูงสุด ในทุกๆหมู่บ้านจะสร้างวัดซ่าซุ่ย โดยใช้การเสี่ยงทายของนก หญ้า ไข่ หอย ข้าว เป็นสิ่งชี้วัดความเป็นสิริมงคล
เทศกาลสำคัญของชาวต้งมีเทศกาลตรุษจีน เทศกาลไหว้เทพวัว (วันที่ 8 เดือน 4 หรือวันที่ 6 เดือน 6 ) เทศกาลกินอาหารใหม่ (กลางเดือน 7 ) บางท้องที่มีการขึ้นปีใหม่ของชาวต้งในช่วงเดือน 10 หรือเดือน 11 นอกจากนี้ยังรับอิทธิพลเทศกาลของชาวฮั่นที่มาพร้อมกับการเกษตรอีก เช่น เทศกาลวันเชงเม้ง เทศกาลตวนอู่ เทศกาลไหว้พระจันทร์ และเทศกาลฉงหยาง(วันที่ 9 เดือน 9)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น