ชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า “อุยกูร์” ภาษาจีนเรียกว่า เหวย อู๋ เอ่อร์ (维吾尔Wéi wú’ěr) มีความหมายว่า “เชื่อมโยง, ช่วยเหลือ” ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณทุ่งหญ้าทางทิศใต้ของหุบเขาเทียนซาน(天山Tiānshān) ในเขตปกครองตนเองอุยกูร์(Uyghur) มณฑลซินเจียง และมีส่วนน้อยที่กระจายอยู่ที่อำเภอเถาหยวน(桃源Táoyuán) ฉางเต๋อ (常德Chánɡdé) ของมณฑลหูหนาน(湖南Húnán) จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าอุยกูร์มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 8,399,393 คน พูดภาษาอุยกูร์ จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาภาษา เทอร์จิค ในสมัยโบราณชนเผ่าอุยกูร์ใช้ภาษาหุยกู่ (回鹘文Huíɡǔwén) หลังจากศาสนาอิสลามเผยแผ่เข้าสู่เผ่าอุยกูร์ในศตวรรษที่ 11 ชาวอุยกูร์ใช้อักษรภาษาอาหรับเป็นหลัก หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประดิษฐ์ภาษาเขียนขึ้นโดยใช้อักษรภาษาลาติน แต่ไม่เป็นที่นิยมนัก ในต้นปีคริสต์ศักราช 80 จึงกลับมาใช้อักษรภาษาอาหรับอีกครั้ง
ชาวอุยกูร์มีประวัติความเป็นมายาวนาน เรียกตัวเองด้วยชื่อ “อุยกูร์” มาแต่ครั้งอดีตกาลแล้ว มีการติดต่อสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกและชนชาติกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ในจีนมาตลอด นับถึงปัจจุบันชาวอุยกูร์มีอารยธรรมร่วมสองพันปีมาแล้ว ชาวฮั่นเรียกชื่อชนกลุ่มนี้หลากหลายมาก สามปีก่อนคริสตกาลถึงคริสต์ศตวรรษที่ 3 รู้จักชนกลุ่มนี้ในชื่อ “ติงหลิง” (丁零Dīnɡlínɡ) หลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 3 เรียกว่า เกาเชอ (高车Gāochē) ตี๋ลี่ (狄历Dílì) ชื่อเล่อ(敕勒Chìlè) อูฮู่ (乌护Wūhù) เหวยเกอ (韦纥Wéiɡē) หุยเหอ (回纥Huíhé) หุยกู่ (回鹘Huíɡǔ) เว่ยอูเอ๋อร์ (畏兀儿Wèiwū’ér) เป็นต้น ในสมัยก่อนคริสตกาล ชนกลุ่ม “ติงหลิง” อาศัยอยู่บริเวณเมืองซยง หนู(匈奴xiōnɡnú) ทางฝั่งทิศเหนือ ชุมชนหลักๆ คือบริเวณริมทะเลสาบเป้ยเจียร์ (贝加尔湖Bèijiā’ěrhú) และอีกกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่บริเวณที่เป็นภาคตะวันตกของจีน แถบบริเวณลุ่มแม่น้ำไอร์ติส (额尔齐斯河É’ěrqísīhé,Irtysh River)[1] หลังจากศตวรรษที่ 5 เป็นต้นมา ชาวติงหลิงที่อาศัยอยู่บริเวณตะวันตกมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น และแบ่งออกเป็น 3 แขนงใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือชุมชนบริเวณตั้งแต่หุบเขาเหยียนเทียน (沿天山Yántiānshān) ไปจนจรดเมืองเยียนฉี (焉耆Yānqí) ซึ่งก็คือดินแดนเมืองฮามี่(哈密Hāmì) มณฑลซินเจียง (新疆Xīnjiānɡ)ในปัจจุบัน อีกแขนงหนึ่งอยู่ที่ เมืองเจี๋ยเชี่ยวหู (荚诮鹕Jiáqiàohú) ปัจจุบันคือบริเวณเทือกเขาอัลไต (阿尔泰山Ā’ěrtàishān) กลุ่มที่สามอยู่ที่หุบเขาคุนหลุนบริเวณเมืองซ่านซ่าน(鄯善Shànshàn) ปัจจุบันคือบริเวณเมืองรั่วเชียง(若羌Ruòqiānɡ) ของมณฑลซิน เจียง เคยเป็นกลุ่มชนที่ปกครองและครอบครองอาณาเขตบริเวณด้านเหนือของหุบเขาคุนหลุน(昆仑山Kūnlúnshān) จนถึงศตวรรษที่ 7 ประชาชนในบริเวณมองโกลและภาคตะวันตกของจีนถูกประเทศ เทอร์จิคข่าน (突厥汗国Tūjuéhànɡuó) เข้าปกครอง
ต่อมาในสมัยถัง ตรงกับปีที่ 3 แห่งรัชสมัยพระเจ้าเทียนป่าว (天宝Tiānbǎo) ชาวหุยเหอปราบประเทศ เทอร์จิคข่านล่มสลาย และก่อตั้งประเทศหุยเหอข่าน (回纥汗国Huíhéhàn ɡuó) ต่อมาในสมัยกษัตริย์เจินหยวน(贞元Zhēnyuán) ปีที่สี่ ตรงกับปี ค.ศ. 788 เปลี่ยนชื่อจากหุยเหอเป็นหุยกู่ (回鹘Huíɡǔ) ถึงยุคกษัตริย์คายเฉิง(开成Kāichénɡ) ปีที่ห้า ตรงกับปี ค.ศ. 840 ประเทศหุยกู่ฮั่นล่มสลาย ประชาชนอพยพกระจัดกระจายไปสามกระแส ในจำนวนนี้มีกลุ่มหนึ่งอพยพลงใต้มาสวามิภัคกับราชสำนักถัง ยุคกษัตริย์เสียนทง(咸通Xiántōnɡ) ปีที่เจ็ด ตรงกับปี ค.ศ. 866 ชาวหุยกู่ก่อตั้งรัฐหุยกู่ตะวันตกขึ้น (西州回鹘政权Xīzhōu Huíɡǔ zhènɡquán) ถึงกลางศตวรรษที่10 เก๋อหลัวลู่ซึ่งเป็นชาวหุยกู่ (回鹘Huíɡǔ) ก่อตั้งราชวงศ์ฮาลา (喀剌Kāláหรือ 哈拉Hālā) ขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ชาวอุยกูร์ในประเทศจีน ในยุคนี้ชาวอุยกูร์ดำรงชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์เป็นหลักและเริ่มตั้งชุมชนเป็นหลักแหล่งแน่นอน ชุมชนบริเวณหุบเขาเทียนซาน (天山Tiānshān) และตอนใต้ของซินเจียง (新疆Xīnjiānɡ) ถูกชาวหุยกู่ขยายเผ่าพันธุ์ ตั้งที่อยู่อาศัย และยึดครองเข้ามาเป็นอาณาบริเวณของราชวงศ์คาลาในที่สุด เศรษฐกิจชาวอุยกูร์พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ กิจการคาราวานค้าขาย ม้า หยกและยา ถูกขนถ่ายเข้ามาค้าขายในอาณาเขตที่เป็นประเทศจีนในขณะนั้น ขณะเดียวกันก็ซื้อสินค้าจำพวกเครื่องมือเหล็ก ใบชา และผ้าไหมกลับไปขายด้วยเช่นกัน
สมัยราชวงศ์หมิง พระเจ้าหงอู๋ ปีที่สี่ ตรงกับ ค.ศ. 1371 ประเทศฉาเหอไถข่าน (察合台汗国Cháhétáihànɡuó) [2] ถึงกาลล่มสลาย ภายในซินเจียงแตกเป็นรัฐน้อยใหญ่มากมาย รัฐที่มีพื้นที่กว้างใหญ่เรียกตัวเองว่าประเทศ(国ɡuó) บางรัฐเล็กๆ เรียกตัวเองว่าเขต (地面dìmiàn) ประเทศและเขตน้อยใหญ่เหล่านี้ยังคงถูกปกครองโดยชนชั้นสูงชาวมองโกล ซึ่งเป็นทายาทของผู้ปกครองประเทศฉาเหอไถข่านนั่นเอง ผู้นำประเทศและรัฐเหล่านี้แย่งชิงความเป็นใหญ่ และทำสงครามสู้รบกันตลอดเวลา อันเป็นปัจจัยสำคัญในการทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของชาวอุยกูร์อย่างรุนแรง เพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ ชนชั้นสูงชาวมองโกลที่ปกครองประเทศและเขตต่างๆนี้ ผลักดันให้ประชาชนชาวมองโกลนับถือศาสนาอิสลาม ในยุคนี้ชาวมองโกลและชาวฮั่นถูกศาสนาอิสลามหลอมรวมจนกลืนกลายเข้ามาเป็นชนของเผ่าอุยกูร์
ต้นศตวรรษที่ 17 ทางตอนใต้ของที่ราบบริเวณหุบเขาเทียนซาน (天山Tiānshān) ได้แก่ เยียนฉี (焉耆Yānqí) ถูหลู่ฟาน (吐鲁番Tǔlǔfān) ฮามี่ (哈密Hāmì) มีการก่อตั้งประเทศเยร์เชียงข่าน (叶尔羌汗国Yè’ěrqiānɡhànɡuó) ขึ้น ประชาชนในประเทศนี้ก็คือชาวอุยกูร์ที่นับถือศาสนาอิสลาม ผู้ก่อตั้งประเทศก็คือทายาทของชนชั้นสูงชาวมองโกลของประเทศฉาเหอไถข่านที่นับถือศาสนาอิสลามนั่นเอง ประเทศเยร์เชียงข่านนี้ได้เจริญสัมพันธไมตรีและส่งบรรณาการให้กับราชสำนักชิง มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับราชสำนักชิงอย่างสนิทแน่นแฟ้น การแก่งแย่งความเป็นใหญ่ในประเทศเยร์เชียงข่านนำไปสู่การล่มสลายของประเทศในสมัยพระเจ้าคังซี (康熙kānɡxī) แห่งราชวงศ์ชิง ตรงกับปี 1678 ปีที่ 20 ถึงปีที่ 22 แห่งจักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆Qiánlónɡ) ตรงกับ ค.ศ. 1755 – 1757 ราชสำนักชิงปราบความวุ่นวายในกลุ่มชนชั้นสูงจุ่นเหอร์ (准喝尔Zhǔnhē’ěr) และในปีที่ 23 – 24 ตรงกับ ค.ศ. 1758 – 1759 ปราบความวุ่นวายกลุ่มที่ตั้งตนเป็นใหญ่ และพยายามก่อตั้งเป็นประเทศ “ปาถูร์ข่าน” (巴图尔汗国Bātú’ěr hànɡuó) ปี 1762 ราชสำนักชิงก่อตั้งแม่ทัพเพื่อปกครองดูแลความสงบเรียบร้อยของมณฑลซินเจียง โดยเฉพาะบริเวณทางตอนใต้และตะวันออกของปาร์คาสือ (巴尔喀什Bā’ěrkāshí)
ชาวอุยกูร์มีจิตวิญญาณการต่อสู้ต่อการปกครองในระบบศักดินาและการปกครองระบอบกษัตริย์อย่างแรงกล้า ภายใต้ภาวะที่ถูกครอบงำและการปกครองของราชสำนักชิง ชาวอุยกูร์จึงต่อต้านการปกครองของราชสำนักอย่างไม่คิดชีวิต สงครามการต่อต้านราชสำนักประทุขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน แต่ในขณะเดียวกัน ชาวอุยกูร์ก็ปกป้องดินแดนที่เป็นมณฑลซินเจียงของจีนในปัจจุบันจากการรุกรานของข้าศึกภายนอกอย่างเข้มแข็ง นับเป็นคุณประโยชน์ใหญ่หลวงแก่ประเทศจีนในปัจจุบัน
ด้านเศรษฐกิจและสังคม หลังจากที่ราชสำนักชิงเข้าปกครองซินเจียง ทางการได้ใช้กลยุทธการปกครองสามแบบ คือ
1. ในเขตชุมชนชาวอุยกูร์คือบริเวณตอนใต้ของมณฑลซินเจียงใช้ระบบขุนนางปกครอง ล้มล้างระบบการปกครองแบบสืบเชื้อสายหัวหน้าเผ่า ออกข้อกำหนดให้ขุนนางมีกรรมสิทธิ์ที่ดินในครอบครองแตกต่างกันตามระดับชั้น แต่ชนชั้นขุนนางนี้มีอำนาจ จึงมีการขูดรีดและการใช้แรงงานจากประชาชนชาวนา
2. ในบริเวณอูรุมชี (乌鲁木齐Wūlǔmùqí) และบริเวณใกล้เคียง ค่อนไปทางตะวันออก จัดการปกครองแบบที่ใช้กับภายในประเทศจีนคือมีการแบ่งส่วนราชการเป็นจังหวัดและอำเภอ
3. ชาวมองโกลและชาวอุยกูร์ที่กลับมาสวามิภักดิ์กับราชสำนักชิง มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองฮามี (哈密Hāmì) หลู่เค่อชิ่น (鲁克沁Lǔkèqìn) มีหัวหน้าเผ่าที่สืบทอดทายาทกันได้ ในยุคดังกล่าวนี้ สภาพเศรษฐกิจสังคมของชาวอุยกูร์จัดอยู่ในช่วงสังคมศักดินา บางพื้นที่ยังคงรักษาการปกครองแบบทาสอยู่
ทางบริเวณตอนใต้ของมณฑลซินเจียงมีชนชั้นคนรวยที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเพียง 8% แต่มีที่ดินอยู่เพียง 40-50% ต่อประชากรทั้งหมด ผู้คนกว่า 92% ยึดอาชีพเกษตรกรรม ในขณะที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินขูดรีดเกษตรกรอย่างหนัก โดยการให้เช่าที่ดินแล้วเก็บผลผลิตที่ได้ครึ่งต่อครึ่ง และผู้เช่ายังมีหน้าที่รับผิดชอบเสียภาษีที่นาแทนเจ้าของที่ดินอีกด้วย ทุกๆ ปีต้องไปรับใช้หรือใช้แรงงานให้กับเจ้าของที่ดินโดยไม่ได้รับค่าจ้างใดๆ ชุมชนที่อยู่ใกล้แหล่งความเจริญจะเก็บค่าเช่าที่ดินเป็นสิ่งของ ทางตอนใต้ของซินเจียงได้แก่ เมืองโม่ยวี่ (墨玉Mòyù) คู่เชอ (库车Kùchē) อาคซู (阿克苏Ā kèsū) ยังมีระบบการปกครองแบบทาสอยู่อย่างสมบูรณ์ เจ้าศักดินาผู้ครอบครองทาสมีชื่อเรียกว่า “เหอเจีย” (和加Héjiā หมายถึงทายาทเทพเจ้า) เจ้าผู้ครองทาสมีกรรมสิทธิ์ในตัวทาส สามารถซื้อขาย ใช้เป็นบรรณาการมอบเป็นของขวัญให้ผู้อื่นหรือสืบทอดกรรมสิทธิ์ได้ ชนชั้นศักดินาจะมีทาสในครอบครอง 2 – 4 คนเป็นอย่างน้อย และด้วยเหตุที่ชนชาวอุยกูร์อาศัยอยู่บริเวณชายเขา โดยเฉพาะบริเวณหุบเขาคุนหลุน (昆仑山Kūnlúnshān) หุบเขาคาลาคุนหลุน (喀喇昆仑山Kālākūnlúnshān) และหุบเขาเทียนซาน (天山Tiānshān) ซึ่งเป็นบริเวณที่อากาศหนาวเย็นทำให้ขาดแคลนน้ำ อีกทั้งเจ้าของที่ดินยังครอบครองแหล่งน้ำอีกด้วย เกษตรกรต้องเช่าหรือซื้อน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร สร้างความลำบากยากเข็ญให้แก่ชาวอุยกูร์อย่างหนัก
เจ้ากรรมสิทธิ์ที่ดินและการปกครองในสังคมชาวอุยกูร์ยังสัมพันธ์กับศาสนาอีกด้วย ชนชั้นสูงในศาสนาเป็นผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์หลายๆอย่าง เช่น ที่ดิน ทรัพย์สมบัติ แหล่งน้ำ เป็นต้น ชนชั้นกรรมกรและเกษตรกรยังมีหน้าที่ต้องส่งภาษีให้กับชนชั้นสูงอีกด้วย ภาษีที่ต้องส่งมีหลายประเภท ที่สำคัญคือ
1. ภาษีอู๋โสวเอ่อร์ (吾守尔 Wúshǒu’ěr) คือภาษีที่ได้จากผลผลิตหนึ่งในสิบ
2. ภาษีจาข่าเท่อ (扎卡特Zhākǎtè) คือภาษีที่ได้จากผลผลิตหนึ่งในสี่สิบของผลผลิตทั้งปี
นอกจากนี้กิจกรรมทางการค้าต่างๆ ยังต้องเสียภาษีให้ชนชั้นสูงอีก ได้แก่ การซื้อขายทรัพย์ การเช่า การยืม การสืบทอดทรัพย์ การจำนอง การครอบครองสัตว์เลี้ยง การฟ้องร้อง เป็นต้น การขูดรีดรังแกจากชนชั้นสูงเหล่านี้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างหนัก ประกอบกับการเข้ามาปกครองของกว๋อหมินตั่ง ยิ่งทำให้ชีวิตของชาวอุยกูร์ดำดิ่งสู่ความยากลำบากแสนสาหัส
อาชีพหลักของชาวอุยกูร์คือการเกษตรกรรม พืชที่สำคัญคือฝ้าย ชาวอุยกูร์มีประวัติการเพาะปลูกฝ้ายมาตั้งแต่ยุคหนานเป่ย (ค.ศ. 420 - 589) แต่ในประเทศจีนเริ่มมีการเพาะปลูกฝ้ายช้ากว่าชาวอุยกูร์มาก คือเริ่มมีในสมัยหยวน (ค.ศ. 1279 - 1368) ซึ่งการเพาะปลูกฝ้ายในประเทศจีนก็ได้รับอิทธิพลมาจากชาวอุยกูร์ในดินแดน ซิน เจียงนี่เอง นอกจากนี้ชาวซินเจียงยังเพาะปลูกพืชเมล็ดมากมาย ผลไม้จำพวกลูกท้อชนิดต่างๆ และจำพวกถั่วอัลมอน องุ่น แตงหวาน แอบเปิ้ล ล้วนส่งเข้ามาขายในประเทศจีนเป็นจำนวนมาก จนได้รับการขนานนามและเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “เมืองแห่งผลไม้และเมล็ดแตง”
ด้วยเหตุที่ชาวอุยกูร์เพาะปลูกฝ้ายเป็นพืชเศรษฐกิจ ผลผลิตงานหัตถกรรมที่โดดเด่นและมีชื่อเสียงก็คือการทอพรมและไหม พรมที่มาจากซินเจียงโดยฝีมือของชาวอุยกูร์มีความงดงาม สีสันลวดลายละเอียด สดสวยและคงทน ส่งขายไปทั่วประเทศและต่างประเทศ สินค้าอย่างอื่นที่มีชื่อเสียงของชาวอุยกูร์ได้แก่ ไหมปักจากอำเภอซาเชอ หมวกปักจากเมืองคาสือ (喀什Kāshí) บุหรี่โม่เหอและถุงน่องจากเมืองอี่หนิง (伊宁Yīnínɡ)เครื่องมือเกษตร จากอำเภอคู่เชอ (库车Kùchē) เคียวเกี่ยวข้าวจากเมืองอูรุมชี (乌鲁木齐Wūlǔmùqí) โดยเฉพาะหยกที่มาจากเมืองเหอเถียน (和田Hétián) และรั่วเชียง (若羌Ruòqiānɡ) มีชื่อเสียงมากในเรื่องความงดงามทั้งคุณภาพหยกและฝีมือการแกะสลัก
ปี 1949 กองกำลังทหารปลดแอกของจีนเข้าโจมตีกานซู่และเหอซีได้รับชัยชนะ และประกาศรวมซินเจียงเป็นมณฑลหนึ่งของจีน มณฑลซินเจียงได้รับการปลดปล่อยด้วยความราบรื่นและสงบ นับแต่ปี 1953 เป็นต้นมา ทางการได้ก่อตั้งหมู่บ้านชนกลุ่มน้อยขึ้น 9 หมู่บ้าน เมืองปกครองตนเอง 7 เมือง อำเภอปกครองตนเอง 6 อำเภอ และเขตปกครองตนเอง 5 เขต ในปี 1955 ก่อตั้งเมืองปกครองตนเองชาวอุยกูร์ซินเจียงขึ้น ปี 1957 ทั่วทั้งเขตปกครองตนเองเข้าสู่การปกครองแบบสาธารณรัฐอย่างเต็มรูปแบบ
นับถึงปัจจุบัน รัฐบาลทุ่มเททั้งด้านทรัพยากรมนุษย์ งบประมาณและสิ่งของเพื่อพัฒนาพื้นที่มณฑลซินเจียง แม้จะผ่านความยากลำบากมากมาย แต่ด้วยความวิริยะอุตสาหะของชาวอุยกูร์ที่จะร่วมกันสร้างบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น นำความเจริญสู่ชุมชนเรื่อยมา ปริมาณการผลิตสินค้าและอาหารเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว นำรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีสู่ชาวอุยกูร์ถ้วนหน้า มีการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านต่างๆมากมาย เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก ถ่านหิน แร่ ไฟฟ้า โลหะ ก๊าซธรรมชาติ เครื่องมือการเกษตร การทอผ้า การผลิตหนัง น้ำตาล ไม้แปรรูป เป็นต้น ด้านอาชีพการเกษตร ประมง เลี้ยงสัตว์ ป่าไม้ก็พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศจีนและเอเชียที่สำคัญแห่งหนึ่ง
ด้านศิลปวัฒนธรรม ชาวอุยกูร์มีประวัติศาสตร์อารยธรรมยาวนาน และมีศิลปะ วรรณกรรมที่เป็นเอกลักษณ์และหลากหลาย เนื้อหาและเรื่องราวในวรรณกรรมของชาวอุยกูร์ แฝงไว้ด้วยภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของบรรพบุรุษชาวอุยกูร์ เช่น เรื่อง《福乐智慧》Fúlè zhìhuì “ความสุขและสติปัญญา” เป็นบทกลอนเล่าเรื่องขนาดยาวอันทรงคุณค่ามาก วรรณกรรมมุขปาฐะของเกษตรกรผู้ใช้แรงงานเป็นบทเพลงที่เกิดขึ้นจากการประกอบอาชีพและการทำงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาพชีวิตของชาวอุยกูร์ได้เป็นอย่างดี เรื่องที่ได้รับความนิยมเช่น เรื่อง《阿凡提的故事》Ā fántí de ɡùshi “นิทานอาฝานถี” เป็นนิทานที่ไม่เพียงชาวอุยกูร์เท่านั้นที่นิยมชื่นชอบ แต่ยังเป็นที่นิยมไปทั่วและรู้จักกันดีในประเทศจีน
วรรณกรรมในยุคใกล้ปัจจุบันที่มีชื่อเสียงเขียนโดย ชาวอุยกูร์เช่น เรื่อง《中国土地上的战争》Zhōnɡɡuó tǔdì shànɡ de zhànzhēnɡ “ศึกสงครามบนแผ่นดินจีน” เป็นบทกลอนเล่าเรื่องขนาดยาว บรรยายถึงภาพเหตุการณ์ที่ชาวอุยกูร์ทำศึกสงครามต่อต้านการปกครองของราชสำนักชิง วรรณกรรมที่บรรยายเรื่องราวการทำศึกสงครามยังมีอีกไม่น้อยที่ได้รับความนิยม ที่สำคัญได้แก่ เรื่อง《中国游击队》Zhōnɡɡuó yóujīduì “กองจรยุทธจีน” เรื่อง《战斗的姑娘》Zhàndòu de ɡū’niɑnɡ “สาวน้อยสงคราม” เรื่อง《爱与恨》Ài yǔ hèn “รักและเกลียด” เป็นต้น นอกจากนี้ชาวอุยกูร์เชี่ยวชาญการดนตรีและเต้นรำ ในชนบท เมื่อมีงานแต่งงาน เทศกาลรื่นเริง การต้อนรับแขกผู้มาเยือนและการแสดงความยินดีต่างๆ ชาวอุยกูร์จะร้องรำทำเพลงอย่างมีความสุขกันถ้วนหน้า ระบำที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นที่ชื่นชอบของชาวอุยกูร์คือระบำทูนถ้วย (ระบำที่เอาถ้วยวางทูนบนศีรษะ) ระบำกลอง ระบำถ้วยเหล็ก ระบำ “ไซ่ไหนหมู่” (赛乃姆Sài nǎi mǔ) และระบำ “เซี่ยตี้ย่าน่า” (夏地亚纳Xià dì yà nà) เป็นการเต้นระบำหมู่ที่สร้างความสนุกสนานรื่นเริงและเป็นที่นิยมชมชอบอย่างกว้างขวาง
ภูมิปัญญาที่ชาวอุยกูร์ภาคภูมิใจ และเป็นสิ่งที่สร้างคุณประโยชน์ใหญ่หลวงต่อประเทศจีนก็คือ การแพทย์แผนอุยกูร์ มีชื่อเรียกว่า “เวยอี” (维医Wéiyī) เป็นวิทยาการทางการแพทย์ที่มีการบันทึกเป็นภาษาหุยกู่ (回鹘文Huíɡǔwén) มาแต่สมัยเกาชางหุยกู่ (高昌回鹘时期Gāochānɡhuíɡǔ shíqī) และพัฒนาเรื่อยมา แขนงการแพทย์แผนอุยกูร์มีการรักษาภายใน การรักษาภายนอก จักษุแพทย์ แพทย์ผิวหนัง สูติแพทย์ กุมารเวช เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีวิทยาการด้านโภชนาการซึ่งเป็นวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับในวงการแพทย์ระดับชาติและสากลอีกด้วย ในสมัยหยวนชาวอุยกูร์ได้แปลตำราการแพทย์แผนจีนเป็นภาษาชาวอุยกูร์เพื่อใช้ในการรักษาโรคและการศึกษาวิทยาการทางการแพทย์จีนด้วย มีการกำหนดโรค วิธีรักษาและการผลิตยามากมาย นับเป็นการแพทย์แผนโบราณที่สำคัญแขนงหนึ่งของประเทศจีนเลยทีเดียว
ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ชาวอุยกูร์อาศัยอยู่เป็นครอบครัวเล็ก เมื่อแต่งงานจะแยกไปตั้งบ้านเรือนของตนต่างหาก ไม่อาศัยอยู่รวมกับพ่อแม่ ในอดีตชาวอุยกูร์ยึดถือการแต่งงานแบบมีสามีภรรยาคนเดียว การแต่งงานพ่อแม่เป็นผู้จัดการให้ สถานภาพทางสังคมของเพศหญิงต่ำกว่าเพศชายมาก อาจเรียกได้ว่าไม่มีสิทธิและสถานภาพใดๆในสังคมเลยแม้แต่น้อย นอกจากนี้ชาวอุยกูร์ยังยึดถือธรรมเนียมการให้ความเคารพต่อผู้อาวุโสอย่างเคร่งครัด
บ้านเรือนของชาวอุยกูร์สร้างด้วยปูน มีช่องหน้าต่างบนหลังคาเพื่อรับแสงและความอบอุ่น ภายในบ้านมีเตาเพื่อทำครัว และเตาเผาฟืนให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว ตามฝาผนังประดับด้วยภาพปูนปาสเตอร์แกะสลักเพื่อใช้เป็นที่แขวนสิ่งของเครื่องใช้และเป็นเครื่องประดับ ชนชั้นระดับกลางภายในบ้านแบ่งห้องเป็นสองห้องคือห้องนอนฤดูร้อนและห้องนอนฤดูหนาว รอบๆบริเวณบ้านปลูกต้นท้อ อัลมอน แอ๊ปเปิ้ล เบอร์รี่ เป็นต้น ประตูรั้วหน้าบ้านมักปลูกต้นองุ่นทั้งเป็นผลไม้รับประทาน และเป็นไม้ซุ้มประดับได้ด้วย นอกจากนี้ยังปลูกไม้กระถางประดับประดาบ้านเรือนด้วย
อาหารหลักของชาวอุยกูร์คือแป้งแผ่นอบไฟเรียกชื่อว่า “หนาง”(馕nánɡ) นอกจากนี้ยังมีบะหมี่ ข้าวซ้อมมือ ชา และนม เป็นต้น ในตลาดนัดประจำหมู่บ้านจะมีแผงเนื้อย่าง แป้งอบ ซาลาเปาแป้งบาง เกี๊ยวขนาดจิ๋วขาย ล้วนเป็นอาหารที่ชาวอุยกูร์ชื่นชอบ นอกจากนี้อาหารขบเคี้ยวจำพวกเมล็ดแตงต่างๆ เป็นสิ่งที่ขาดมิได้ของชาวอุยกูร์
พัฒนาการการทอพรมและทอฝ้ายของชาวอุยกูร์มีมายาวนาน ในอดีตชาวอุยกูร์สวมผ้าที่ทอจากฝ้ายที่ปลูกขึ้นเอง ชายสวมชุดคลุมยาวเรียกชื่อว่า “เชียพ่าน” (袷袢qiāpàn) หญิงสวมชุดคลุมยาวแล้วสวมเสื้อกั๊กทับชั้นนอก แต่ปัจจุบันนิยมสวมเสื้อและชุดกระโปรงแบบชาวตะวันตก ชาวอุยกูร์นิยมสวมหมวกทรงสี่เหลี่ยมปักลวดลายสวยงาม เรียกชื่อว่า “ก่าปา” (尕巴ɡǎbā) ส่วนหญิงชาวอุยกูร์นิยมประดับประดาร่างกายด้วยเครื่องประดับต่างๆ เช่น กำไล ตุ้มหู สร้อยคอ
ด้านความเชื่อและเทศกาลสำคัญ ชาวอุยกูร์ตั้งแต่อดีตเคยนับถือศาสนาซ่าหม่าน(萨满教Sàmǎnjiào,Shamanism) ศาสนาโหมวหนี (摩尼教Móníjiào, Manicheism) ศาสนาจิ่ง (景教Jǐnɡjiào) ศาสนาอ่าว(袄教 Ăo jiào, Zoroastrianism เป็นลัทธิบูชาไฟ) และศาสนาพุทธ หลังจากศรวรรษที่ 11 เป็นต้นมานับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ (逊尼派Xùnnípài) เป็นส่วนใหญ่ และมีส่วนน้อยที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายอีซ่าน(依鄯派Yīshànpài) หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลล้มล้างระบบชนชั้นสูงในศาสนาที่กุมอำนาจและแทรกแซงกิจการด้านการปกครอง การศึกษา เศรษฐกิจ ตลอดจนการนับถือศาสนาของชาวอุยกูร์ นับจากการปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นต้นมาชาวอุยกูร์ก็ได้รับการคุ้มครองในทุกๆด้านจากรัฐบาลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
เทศกาลที่สำคัญของชาวอุยกูร์ คือ เทศกาลถือศีลอด(开斋节Kāizhāijié) เทศกาลกุรปัง(古尔邦节Gǔ’ěrbānɡjié)[3] เทศกาลนั่วหลูจือ (诺鲁孜Nuòlǔzī) เทศกาลกุรปังจัดขึ้นปีละครั้งถือเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ วันเทศกาลมาถึง ทุกครัวเรือน ทำ “หนาง” ฆ่าแกะ ฆ่าไก่ เพื่อตระเตรียมอาหารในงานเฉลิมฉลอง ผู้คนสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ ไปเยี่ยมเยือนเพื่อนบ้าน เพื่ออำนวยอวยพรซึ่งกันและกัน
[1] แม่น้ำสายนี้มีต้นน้ำอยู่ที่เทือกเขาอัลไตฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแม่น้ำหนึ่งเดียวของจีนที่ไหลลงสู่ Arctic Ocean มีความยาวตลอดสาย 2969 กิโลเมตร มีพื้นที่ที่แม่น้ำไหลผ่าน 10.7 ตารางกิโลเมตร เฉพาะระยะทางไหลของแม่น้ำในประเทศจีนมีความยาวทั้งสิ้น 600 กิโลเมตร ไหลออกจากพรมแดนประเทศจีนเข้าสู่ประเทศคาซัคสถาน แล้วไหลขึ้นเหนือเข้าสู่รัสเซีย สุดท้ายบรรจบกับแม่น้ำในไซบีเรียชื่อ Ob River ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับสี่ของรัสเซีย
[2] คือประเทศที่ชื่อ Chagatai Khanate state บุตรของเจงกิสข่านเป็นผู้ปกครองรัฐ อยู่ภายใต้การปกครองของมองโกล
[3] เทศกาลกุรปังคือเทศกาลสละชีวิตสัตว์ เป็นเทศกาลบูชายันตร์ที่สำคัญของชาวอิสลาม มีชื่อเป็นภาษาอิสลามว่า ‘Id al-Adha เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘Id al-Qurban มีความหมายว่า บูชา สละชีวิตสัตว์เพื่อบูชา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น