วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

24. 景颇族 ชนกลุ่มน้อยเผ่าจิ่งโพ



















ชนกลุ่มน้อยเผ่าจิ่งโพอาศัยอยู่บริเวณเขตปกครองตนเองเผ่าไตเผ่าจิ่งโพเมืองเต๋อหง มณฑลยูนนาน ในบริเวณที่เป็นหุบเขา เช่น เขตตำบลลู่ซี(潞西Lùxī) รุ่ยลี่(瑞丽Ruìlì) หล่งชวน (陇川Lǒnɡchuān) อิ๋งเจียง(盈江Yínɡjiānɡ) และ ตำบลเหลียงเหอ (梁河Liánɡhé) บ้านเพี่ยนหม่า(片马Piànmǎ) กู่ลั่ง(古浪Gǔlànɡ) กั่งฝาง(岗房Gǎnɡfánɡ) ในเขตปกครองตนเองนู่เจียง(怒江Nùjiānɡ) เผ่าลี่ซู(傈僳族Lìsù Zú) นอกจากนี้ยังมีกระจัดกระจายอยู่บริเวณเมืองหลินชาง(临沧Líncānɡ)เขตปกครองตนเองเกิ๋งหม่า(耿马Gěnɡmǎ) อำเภอปกครองตนเองเผ่าไต และตำบลหลานชาง(澜沧Láncānɡ)ของอำเภอซือเหมา (思茅Sīmáo) จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าจิ่งโพมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 132,143 คน พูดภาษาจิงโพ จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาธิเขตพม่า แขนงภาษาจิ่งโพ นอกจากนี้บางกลุ่มพูดภาษาไจวา (Zaiwa language) ที่จัดอยู่ในสาขาภาษาพม่า มีภาษาเขียนที่พัฒนาขึ้นภายหลังโดยใช้อักษรลาติน
จากคำบอกเล่าในตำนานประจำเผ่า รวมทั้งบันทึกทางประวัติศาสตร์ของจีนระบุว่า บรรพบุรุษของชาวจิ่งโพอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของบริเวณที่ราบสูงคังจั้ง (康藏高原Kānɡ Zànɡ ɡāoyuán) ต่อมาอพยพลงใต้ไปตั้งถิ่นฐานที่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนาน(云南Yúnnán) และทางตะวันตกของแม่น้ำนู่(怒江Nùjiānɡ) ซึ่งบริเวณทั้งสองนี้ ในสมัยฮั่นจัดอยู่ในการปกครองของเมืองหย่งชาง(永昌Yǒnɡchānɡ) ในสมัยถังจัดอยู่ในการปกครองของแคว้นน่านเจ้าของยูนนาน (云南南诏Yúnnán Nánzhào) ในเขตการปกครองดังกล่าวมีประชากรหลากหลายชนเผ่า รวมทั้งชาวจิ่งโพด้วย รวมเรียกบริเวณดังกล่าวว่า “สวินจ้วน” (寻传 Xún zhuàn) ต่อมา ในสมัยหยวนสถาปนามณฑลยูนนานขึ้น บริเวณสวินจ้วนจัดอยู่ในการปกครองของมณฑลยูนนาน จากนั้นชาวจิ่งโพแบ่งการปกครองภายใน ก่อตั้งหมู่บ้านขึ้นสองหมู่บ้าน คือ ฉาซาน(茶山Cháshān) และ หลี่หมา (里麻Lǐmá) เกิดการปกครองแบบชุมชนชาวเขาขึ้น ระบบสังคมแบ่งเป็นชนชั้นสามระดับ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ทางการ ราษฎร และทาส


ต้นศตวรรษที่ 15 ราชวงศ์หมิงส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาจัดการเกี่ยวกับระบบที่ดินในบริเวณนี้ และก่อตั้งเจ้าเมืองผู้ดูแลเมืองฉาซาน (茶山Cháshān) และ หลี่หมา (里麻Lǐmá) ผู้ดูแลบริเวณที่อยู่อาศัย รวมทั้งสภาพชีวิตของชาวจิ่งโพคือหัวหน้าเมือง เมืองฉาซานแรกเริ่มเดิมทีอยู่ในการดูแลของกองกำลังทหารจินฉื่อ(金齿Jīnchǐ) จากนั้นโอนไปอยู่ในการดูแลของกองกำลังหย่งชาง (永昌Yǒnɡchānɡ) และต่อมาครั้งสุดท้ายโอนไปอยู่ในการปกครองของจังหวัดเถิงชง (腾冲Ténɡchōnɡ) ส่วนเมืองหลี่หมาสังกัดมณฑลยูนนานมาตั้งแต่อดีต


ในสมัยราชวงศ์ชิง ชาวจิ่งโพอยู่ในการปกครองของอำเภอ จังหวัด มณฑลตามการจัดแบ่งเขตการปกครองของราชสำนักชิง จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 16 ชาวจิ่งโพระลอกใหญ่อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองเต๋อหง และอยู่มาจนปัจจุบัน


ยุคก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระบบสังคมของชาวจิ่งโพเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากระบบคอมมูนไปเป็นแบบระบบมีชนชั้น เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากระบบศักดินาของราชสำนักจีนที่ใช้จัดการดูแลชนชาวไต ประกอบกับการได้รับอิสระในการปกครองตนเองแบบ “การปกครองชนชาวเขา” หน่วยราชการที่ปกครองชนชาวเขาในแต่ละหน่วยเดิมทีมีระบบสังคมเป็นแบบระบบคอมมูน หัวหน้าหมู่บ้านเป็นตัวแทนที่มีอำนาจสูงสุดในการดูแลและปกครองในส่วนการปกครองของตน การสืบทอดตำแหน่งต้องสืบทอดให้กับผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าโดยอำนาจของหัวหน้าหมู่บ้าน ต่อมาในยุคหลัง ระบบการปกครองชนชาวเขาล่มสลายไป โดยนำการปกครองแบบให้ประชาชนออกเสียงเลือกผู้นำหมู่บ้านเข้ามาแทนที่


ระบบภูมิศาสตร์ของถิ่นที่อยู่ชาวจิ่งโพจัดอยู่ในเขตร้อน มีความสูง 1,500 – 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล สภาพภูมิอากาศอบอุ่น ที่ดินอุดมสมบูรณ์ ในอดีตการทำมาหากินของชาวจิ่งโพเป็นระบบสังคมแบบคอมมูน แต่ด้วยวิธีการเกษตรแบบเก่าที่ใช้วิธีการเผานา และไม่มีการบำรุงดิน ทำให้ผลผลิตที่ได้มีปริมาณและคุณภาพต่ำมาก แต่ในระยะร้อยปีมานี้ความรู้ด้านการเกษตรของชาวจิ่งโพพัฒนาขึ้น ปริมาณการผลิตสูงขึ้น ในขณะที่ประชากรเพิ่มมากขึ้น เกิดภาวะว่างงาน ไม่มีที่ดินทำกิน เกิดการจ้างแรงงาน การเช่าที่ การจำนองและการซื้อขายที่ดินขึ้น จากจุดนี้ระบบการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเริ่มก่อตัวขึ้นในสังคมชาวจิ่งโพ นำไปสู่ระบบชนชั้นในที่สุด ประชาชนชาวจิ่งโพกว่า 80 % เป็นคนจน ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ไม่มีเครื่องมือการเกษตร ไม่มีสัตว์เลี้ยงเพื่อการเกษตรอย่างวัวและควายเป็นของตนเอง ประกอบกับการซ้ำเติมของระบบจักรวรรดินิยมที่กดขี่ทารุณ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจิ่งโพตกอยู่ในสภาวะแร้นแค้นอย่างแสนสาหัส


หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยผลของการดำเนินงานด้านนโยบายชนกลุ่มน้อยของรัฐบาล ในปี 1953 ได้ก่อตั้งเขตปกครองตนเองชาวไตและชาวจิ่งโพขึ้นที่เมืองเต๋อหง (德宏傣族景颇族自治州Déhónɡ Dǎi Zú Jǐnɡpō Zú zìzhìzhōu) ชาวจิ่งโพมีสิทธิในการเป็นสมาชิกสภาราษฎร และเข้ารับราชการในหน่วยงานต่างๆของรัฐ ร่วมมือกับรัฐบาลในการพัฒนาชุมชน มีการก่อสร้างโรงงานน้อยใหญ่ขึ้นมากมาย เช่น โรงกำเนิดไฟฟ้า ระบบประปา เครื่องสีข้าว เครื่องกลั่นน้ำมันธรรมชาติ เครื่องบดแป้ง มีการก่อตั้งสถานศึกษา สาธารณสุข ชลประทาน ตลอดจนการคมนาคมทั้งในชุมชนชาวจิ่งโพและเชื่อมต่อกับชุมชนภายนอก ทำให้ความเป็นอยู่และฐานะเศรษฐกิจของชาวจิ่งโพดีขึ้นเป็นลำดับ


ด้านศิลปวัฒนธรรม จากการดำรงชีวิตด้วยการเกษตรมาตั้งแต่อดีตเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น ในด้านวรรณกรรม ชาวจิ่งโพมีวรรณกรรมมุขปาฐะเกี่ยวกับการสร้างโลก ประวัติศาสตร์ชนเผ่า และนิทานพื้นบ้านมากมาย นอกจากนี้ยังมีวรรณกรรมแบบขับร้องประกอบดนตรีที่ไพเราะน่าฟัง แสดงออกถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้อย่างเด่นชัด เครื่องดนตรีของชาวจิ่งโพมี กลองไม้ แตรเขาวัว ขลุ่ย ขลุ่ยผิว พิณเป่า และเครื่องดนตรีที่ได้รับอิทธิพลมาจากชนเผ่าอื่น เช่น โหม่ง ฉิ่ง ฉาบ พิณสามสาย เป็นต้น นอกจากนี้การเต้นรำของชาวจิ่งโพก็แสดงออกถึงชีวิตความเป็นอยู่ได้เป็นอย่างดี เช่น การเต้นระบำที่เกี่ยวกับการทำการเกษตร การบูชาเทพเจ้า การต่อสู้ เป็นต้น การเต้นรำของชาวจิ่งโพที่น่าสนใจคือการเต้นรำเป็นหมู่จะพบเห็นได้ในงานเทศกาลสำคัญ ชาวจิ่งโพนับร้อยนับพันจะรวมตัวกันร้องเพลงเต้นรำตามจังหวะและท่วงทำนองพื้นเมืองเสียงดังกึกก้องไปทั่วห้วงหุบเขา งานด้านหัตถกรรมของชาวจิ่งโพงดงามโดดเด่น ชาวจิ่งโพมีฝีมือในการวาดภาพ การแกะสลักไม้ แกะสลักไม้ไผ่ ตลอดจนงานปักผ้าและเครื่องประดับเงินก็เป็นงานฝีมือที่ชาวจิ่งโพเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ


ด้านขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม ชาวจิ่งโพแต่งงานมีสามีภรรยาคนเดียว แต่ในชนบทห่างไกลบางท้องที่ผู้ชายยังสามารถมีภรรยาหลายคนได้ ในแต่ละครอบครัวมีพ่อเป็นหัวหน้าครอบครัว หากแต่งงานแล้วไม่มีลูกชายสามารถแต่งงานครั้งที่สองได้ แต่ภรรยาคนที่สองไม่เปลี่ยนนามสกุลตามสามี หากยังไม่มีลูกชายเสียทีสามารถรับเลี้ยงลูกชายเป็นบุตรบุญธรรมได้ บุตรบุญธรรมมีสิทธิในมรดกและมีภาระการเลี้ยงดูพ่อแม่เหมือนลูกโดยสายเลือดทุกประการ หากมีลูกสองคน ลูกคนเล็กมีสิทธิเหนือกว่าลูกคนโต แต่ลูกผู้หญิงถูกจำกัดสถานภาพทั้งภายในครอบครัวและสังคม สังคมชาวจิ่งโพมีวัฒนธรรมการแต่งงานในเครือญาติ คือ ลูกชายของพี่สาวน้องสาวพ่อ จะต้องแต่งงานกับลูกสาวของพี่ชายน้องชายแม่ แต่ลูกชายของพี่ชายน้องชายแม่ไม่สามารถแต่งงานกับลูกสาวของพี่สาวน้องสาวพ่อได้ เมื่อภรรยาเสียชีวิตฝ่ายชายจะแต่งงานกับพี่สาวหรือน้องสาวของภรรยา นอกจากนี้การแต่งงานยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับระดับชั้นทางสังคมด้วย เช่น ชนชั้นข้าราชการจะต้องแต่งงานกับข้าราชการ ราษฎรก็ต้องแต่งกับชนชั้นราษฎร การเลือกคู่ครองหนุ่มสาวมีอิสระเลือกคู่ด้วยตนเอง แต่การจัดการแต่งงานพ่อแม่จะเป็นผู้จัดการให้


แต่โบราณมาชาวจิ่งโพมีกฎหมายประจำเผ่า แต่บทลงโทษสูงสุดไม่มีการประหารชีวิต ผู้กระทำความผิดฆ่าคนตายต้องชดใช้ค่าชีวิตให้กับญาติผู้ตาย การชดใช้ในการกระทำผิดต่อทรัพย์สิน จะต้องชดใช้เป็นสองเท่า หรือถึงสิบเท่าของมูลค่าเดิม คดีที่สืบสาวเอาเรื่อง หรือหาคนผิดไม่ได้ จะใช้วิธีทางความเชื่อโดยการบนบานเทพเจ้า หรือการสาปแช่ง สาบาน กฎหมายประจำเผ่าสูญสลายไปจากการเข้ามาปกครองของระบบชนชาวเขา ซึ่งหัวหน้าเผ่ามีอำนาจสูงสุดในการปกครอง


พิธีศพของชาวจิ่งโพ กระทำโดยการฝัง แต่ศพที่ถูกฆ่าจะประกอบพิธีศพโดยการเผา เด็กและคนพิการประกอบพิธีศพโดยการทิ้งไว้ในหุบเขาห่างไกลให้แห้งไปเองตามธรรมชาติ


การแต่งกายของชาวจิ่งโพ ชายโพกศีรษะด้วยผ้าสีขาวหรือดำ สวมเสื้อและกางเกงสีขาวหรือดำ เมื่อออกนอกบ้านจะคล้องดาบและสะพายย่าม ส่วนหญิงสวมเสื้อลำตัวสั้นสีขาวหรือดำ สวมกระโปรงสีแดงปักลายด้วยขนแกะ คาดเข็มขัดและสวมรองเท้าที่ทอด้วยขนสัตว์ นิยมสวมเครื่องประดับจำพวกแหวน กำไล สร้อยคอ ต่างหูที่ทำจากเงิน


อาหารการกินของชาวจิ่งโพ อาหารหลักของชาวจิ่งโพคือข้าว และมีส่วนน้อยบางกลุ่มที่บริโภคข้าวโพดเป็นอาหารหลัก ในสมัยโบราณใช้ใบตองห่อข้าว กินข้าวด้วยมือ ดื่มน้ำแร่ตามธรรมชาติ และรู้จักการทำเหล้า ชาวจิ่งโพมีพิธีฆ่าหมูเพื่อบูชาเทพเจ้า เนื้อหมูจะแบ่งให้คนในชุมชนเท่าๆกัน นอกจากนี้ชาวจิ่งโพยังชอบเคี้ยวหมาก เมื่อมีแขกมาเยือนหรือพบปะกันการต้อนรับด้วยหมาก ถือเป็นการให้เกียรติและเคารพผู้มาเยือนอย่างมาก


บ้านเรือนของชาวจิ่งโพสร้างด้วยไม้ไผ่และไม้เนื้อแข็งสร้างเป็นรูปทรงจั่ว และมีบางกลุ่มสร้างบ้านด้วยอิฐและกระเบื้อง ตัวบ้านสร้างเป็นสองชั้น ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย ชั้นล่างเป็นคอกเลี้ยงสัตว์ ภายในบ้านกั้นเป็นสองส่วน ส่วนแรกไว้ต้อนรับผู้มาเยือน ชั้นที่สองเป็นที่อาศัยของเจ้าของบ้านห้ามผู้อื่นเข้า บ้านที่สร้างมาแล้วประมาณ 7 – 8 ปีจะรื้อสร้างใหม่ การสร้างบ้าน ผู้คนในหมู่บ้านจะร่วมลงแรงกันสร้างบ้าน และมีพิธีขึ้นบ้านใหม่อย่างเอิกเริก


ชาวจิ่งโพนับถือวิญญาณของทุกสรรพสิ่ง มีความเชื่อและข้อห้ามมากมาย หมอผีนอกจากจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างคนกับวิญญาณแล้ว ยังสามารถรักษาคนป่วยได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีหน้าที่จดบันทึกหรือจดจำเรื่องราว ตำนาน นิทานและประวัติศาสตร์ของชนเผ่า พิธีบูชาแต่ละครั้งล้วนเกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น พิธีกินข้าวใหม่ พิธีบูชากองข้าว พิธีเรียกขวัญข้าว แต่ละครั้งจะต้องฆ่าวัวเพื่อบูชา เทศกาลที่ยิ่งใหญ่คือเทศกาลชื่อ มู่หน่าว (目脑节Mùnǎojié) จัดขึ้นปีละครั้ง เป็นพิธีบูชาผีและวิญญาณที่ชาวจิ่งโพนับถือ ปัจจุบันมีชาวจิ่งโพบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น