วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

40. 撤拉族ชนกลุ่มน้อยเผ่าซาลาร์


































ชาวซาลาร์มีถิ่นฐานอยู่บริเวณชายแดนของที่ราบสูงทิเบต ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณกลุ่มปกครองตนเองเผ่าซาลาร์อำเภอสวินฮว่า(循化Xúnhuà) และเขตอำเภอปกครองตนเองใกล้เคียงคือ เขตปกครองตนเองเผ่าหุย (回族Huí Zú) หมู่บ้านกานตาน (甘郸Gāndān) อำเภอฮว่าหลง (化隆Huàlónɡ) และกลุ่มปกครองตนเองเผ่าป่าวอาน(保安族Bǎo’ān Zú) เผ่าซาลาร์ อำเภอสือซาน(石山Shíshān) อำเภอเซี่ยเหอ (夏河Xiàhé) อำเภออีหนิง(伊宁Yīnínɡ) เขตปกครองตนเองอุยกูร์ซินเจียง(新疆维吾尔自治区 Wéiwú’ěr Xīnjiānɡ Wéiwú’ěr zìzhìqū) เมืองอูรุมชี (乌鲁木齐市Wūlǔmùqí) ของมณฑลกานซู่ (甘肃Gānsù) ก็มีชาวเผ่าซาลาร์กระจายตั้งถิ่นฐานอยู่จำนวนหนึ่ง จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าซาลาร์ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 104,503 คน พูดภาษาซาลาร์ จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาภาษา เทอร์กิค(Turkic) แขนงภาษา Hsiung-Nu;Hun ไม่มีภาษาเขียน ส่วนใหญ่ใช้ภาษาจีนและภาษาทิเบต


“ซาลาร์” เป็นชื่อที่ชนกลุ่มนี้เรียกตัวเอง ชาวจีนใช้อักษรจีนเรียกชื่อชนกลุ่มนี้ว่า “เช่อลา” (撤拉Chèlā ) นักประวัติศาสตร์จีนเชื่อว่าชาวซาลาร์ ชนกลุ่มนี้สืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าโบราณชื่อ ซาลูร์ (撒鲁尔 Sālǔ’ěr) ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณชุมชนที่ชื่อ Turkic Ugus ในสมัยโบราณ ตามตำนานกล่าวว่าชนชาวซาลูร์ คือหลานของอูกุสข่าน(乌古斯汗Wūɡǔsīhàn) เป็นพี่ของธาเฮยข่าน(塔黑汗Tǎhēihàn) คำว่า ซาลูร์มีความหมายว่า “ผู้ที่เดินทางประจัญกระบี่แกว่งโล่ไปทั่วทิศ” แต่เดิมชนกลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตปกครองของราชสำนักถัง ต่อมาย้ายเข้าสู่ภาคกลาง ในสมัยหยวนอพยพผ่านดินแดนซามาร์ฮาน(撒马尔罕Sāmǎ’ěr hǎn) เข้าสู่ดินแดนประเทศจีนปัจจุบัน และตั้งรกรากอยู่ใกล้ๆกับเมืองซีหนิง (西宁Xīnínɡ)


ตำนานของเผ่าซาลาร์เล่าว่า บรรพบุรุษของชนเผ่าชื่อ ก่าเล่อหมั่ง (尕勒莽 Gǎlèmǎnɡ) ผิดใจกันกับกษัตริย์ จึงต้อนอูฐฝูงหนึ่งเดินแบกดิน น้ำ และคัมภีร์กู่หลานจิง《古兰经》 Gǔlánjīnɡ “คัมภีร์อัลกุรอ่าน” แยกตัวออกไปจากดินแดนซามาร์ฮานเดินทางไปทางตะวันออกเพื่อหาที่อยู่ใหม่ เดินทางวกไปวนมาจนมาถึงเมืองสวินฮว่า เห็นว่าเป็นทำเลที่ดีในการตั้งถิ่นฐาน มีทุ่งหญ้าเขียวขจี มีสายน้ำหล่อเลี้ยง มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ จึงตั้งหลักแหล่ง ณ ที่แห่งนี้ ต่อมารับอิทธิพลจากชาวทิเบต ชาวหุย และชาวฮั่นก่อกำเนิดอารยธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนนับตั้งแต่นั้นมา จนถึงปัจจุบันชาวซาลาร์มีประวัติศาสตร์กว่า 700 ปีมาแล้ว


ปลายสมัยหยวน ราชสำนักหยวนได้แต่งตั้งหัวหน้าเผ่าซาลาร์ให้เป็นหัวหน้าเผ่าปกครองเมืองต๋าหลู่ฮวาชื่อ (达鲁花赤Dálǔhuāchì) ต้นสมัยหมิงแต่งตั้งหัวหน้าเผ่าให้เป็นอ๋องปกครองเมือง ถึงสมัยชิงมีการรวมอำนาจสู่ส่วนกลาง ชนเผ่าซาลาร์จึงถูกรวบรวมเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจราชสำนักส่วนกลาง ยุคนี้ชาวซาลาร์ถูกกดขี่รังแกจากขุนนางราชสำนักอย่างมาก ชาวซาลาร์พยายามที่จะต่อต้านอำนาจราชสำนักหลายต่อหลายครั้ง แต่ด้วยเหตุที่มีกำลังน้อยกว่า จึงถูกอำนาจราชสำนักชิงกดขี่ข่มเหง และจำกัดเสรีภาพ เป็นเหตุให้การสร้างชุมชน การขยายเผ่าพันธุ์ของชาวเผ่าซาลาร์เป็นไปอย่างเชื่องช้า


ในต้นสมัยหมิง มีการปกครองแบบที่เรียกว่า “ร้อยครัวเรือน” (百户Bǎihù) กับ “พันครัวเรือน” (副千户 Fùqiān hù) หัวหน้าเผ่าที่ได้รับแต่งตั้งจากราชสำนักหมิงกดขี่และเอารัดเอาเปรียบชาวเผ่าซาลาร์อย่างหนัก เกิดเป็นระบบสังคมแบบชนชั้นขึ้น การถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินทำกินแบ่งเป็นสองแบบ คือยึดถือตามเครือญาติสายในที่ประกอบด้วยกลุ่มเครือญาติที่เกิดจากพี่น้องเพศชาย เรียกว่า อาเก๋อหน่าย (阿格乃 Āɡénǎi) และเครือญาติสายนอกที่มีความสัมพันธ์กันโดยการแต่งงานหรือเครือญาติฝ่ายหญิงเรียกว่า ข่งมู่ซ่าน (孔木散Kǒnɡmùsàn) สิทธิในการถือครองที่ดินทำกินคือ ญาติสายในมีสิทธิถือครองที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ญาติสายนอกมีสิทธิในการฝังศพร่วมกับสุสานของญาติสายใน แต่ที่ดินทำกินเป็นแบบใช้ที่ดินร่วมกันในกลุ่มญาติสายนอกด้วยกันเอง การทำการเกษตรเป็นแบบร่วมมือร่วมแรงทำในพื้นที่ส่วนรวมแล้วแบ่งผลผลิตกัน การซื้อขายหรือสืบทอดที่ดินทำกินจะให้ความสำคัญกับกลุ่มญาติสายในก่อน และญาติสายนอกตามลำดับ จนถึงรัชสมัยจักรพรรดิยงเจิ้งและเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิงในช่วงปี 1723 ถึงปี 1795 สังคมชาวซาลาร์ได้พัฒนาขึ้นไปมาก ในปี 1781 ชาวซาลาร์มีประชากรกว่า 6 พันครัวเรือน มีจำนวนประชากรประมาณ 3 หมื่นคน มูลเหตุที่ชุมชนชาวซาลาร์ขยายตัวมากขึ้นนี้เอง จึงมีการจัดการปกครองออกเป็น 12 กง[1] (十二工shí èr ɡōnɡ) ต่อมารวบเป็น 8 กง(八工bā ɡōnɡ) ในยุคนั้นชุมชนชาวซาลาร์พัฒนาขึ้นมาก มีการก่อสร้างระบบชลประทาน คลองส่งน้ำไปถึงทั่วทั้ง 8 ตำบล ส่งผลให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นมาก แต่ในขณะเดียวกัน ระบบสังคมที่แบ่งเป็น 8 ตำบล โดยภายใต้ตำบลมีส่วนการปกครองย่อยเป็นหมู่บ้านนี้ แต่ละส่วนย่อยมีหัวหน้าการปกครอง ซึ่งหัวหน้าการปกครองนี้เองเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการกดขี่และเอารัดเอาเปรียบราษฎร เกิดระบบสังคมแบบชนชั้นขึ้น นอกจากนี้ผู้นำทางศาสนาอิสลามซึ่งเป็นศาสนาประจำเผ่าชาวซาลาร์ก็มีอำนาจในการควบคุม ครอบครอง และเป็นเจ้าของพื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชน ทั้งยังมีการสืบทอดต่อให้กับเครือญาติรุ่นหลังอีกด้วย ชาวบ้านทั่วไปไม่มีสิทธิครอบครองที่ดิน ต้องเช่าที่ดินทำกิน เกิดความยากลำบากกันถ้วนทั่ว ก่อนปี 1949 ระบบสังคมของชาวซาลาร์เข้าสู่สังคมแบบศักดินาโดยสมบูรณ์ ประชาชนชั้นธรรมดายากจนข้นแค้น ถูกรังแกและเอารัดเอาเปรียบอย่างแสนสาหัส


หลังยุคปลดปล่อย การปฏิวัติวัฒนธรรมได้ล้มล้างระบบสังคมแบบศักดินาหมดสิ้น รัฐบาลดำเนินการคืนที่ดินทำกินสู่ประชาชน และสนับสนุนให้ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิในการปกครองตนเอง ชาวซาลาร์มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง การพัฒนาผลผลิตดีขึ้น สภาพชีวิตดีขึ้น ด้านการศึกษา สาธารณสุข การเกษตรแผนปัจจุบันก็พัฒนาตามมาเป็นลำดับ


ด้านศิลปวัฒนธรรม ชาวซาลาร์มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว ที่สำคัญคือการเล่าและการร้อง การเล่ามีหลายประเภทและมีเนื้อหาที่หลากหลาย มีการใช้ภาษาที่สละสลวยงดงาม เช่น นิทาน เทพนิยาย ตำนาน ภาษิต คำพังเพยและเรื่องขบขัน ส่วนการร้องมีเพลงพื้นเมืองหลายประเภท ที่สำคัญได้แก่ เพลงประเภท “เพลงซาลาร์” (撒拉曲Chèlā qǔ) “เพลงเฉลิมฉลอง” (宴席曲Yànxí qǔ) และเพลงประเภท “เพลงบุปผา” (花儿Huā’ér) เพลงซาลาร์เป็นเพลงพื้นเมืองที่มีท่วงทำนองไพเราะจับใจ ขับร้องโดยใช้ภาษาซาลาร์ เนื้อเพลงแต่งเป็นกลอนที่มีฉันทลักษณ์เฉพาะตัว เพลงที่ได้รับความนิยมร้องเช่น เพลงชื่อ《巴西古溜溜》Māxī ɡǔliūliū “เพลงเก่าปาซี” เพลงชื่อ《撤拉尔赛西布尕》Chèlā’ěr sài xībùɡǎ “ซาลาร์ชิงชัยซีปู้ก่า” เพลงเฉลิมฉลองเป็นเพลงที่สืบทอดกันมานาน ใช้ร้องในงานแต่งงาน เพลงบุปผา เป็นเพลงชาวเขาที่ร้องเป็นภาษาจีน ฉันทลักษณ์ของเนื้อเพลงมีลักษณะเป็นเป็นกลอนสี่ นอกจากนี้เนื่องจากได้รับอิทธิพลการขับร้องมาจากชาวทิเบต วิธีการขับร้องเพลงของชาวซาลาร์จึงมีการขับร้องแบบ “เสียงสั่น” ซึ่งเป็นวิธีการขับร้องที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวทิเบต มนต์เสน่ห์ของบทเพลงพื้นเมืองซาลาร์ผสมผสานกับวิธีการขับร้องที่มีเอกลักษณ์ของชาวทิเบต สะกดผู้ฟังให้หลงใหลอยู่ในภวังค์แห่งกลิ่นอายชนเผ่าได้อย่างน่าอัศจรรย์


การเต้นรำของชาวซาลาร์ผูกพันกับธรรมชาติและการดำรงชีวิต ระบำที่นิยมคือ “ระบำอูฐ”ระบำชนิดนี้ปกติจะแสดงในพิธีแต่งงาน ท่าทางการเริงระบำและลีลาจังหวะเรียบง่าย แต่แสดงออกถึงความรื่นเริงและความสุขได้อย่างงดงามน่าชม เครื่องดนตรีของชาวซาลาร์มีเพียงชนิดเดียวคือ “พิณปาก” (口弦kǒuxián) เป็นเครื่องดนตรีที่ทำจากทองเหลืองหรือเงิน รูปร่างคล้ายกับกีบม้า เป็นเครื่องดนตรีประจำชนเผ่าที่ชาวซาลาร์รัก หวงแหนและภาคภูมิใจ


งานหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวซาลาร์ที่ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงไปทั่ว คือ การปักผ้า การตัดกระดาษเป็นงานที่หญิงชาวซาลาร์ได้รับการฝึกฝนและปลูกฝังต่อกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า ส่วนชายชาวซาลาร์ชำนาญการก่อสร้างและงานฝีมือที่เกี่ยวกับการประดับประดาวัดและสถานที่เคารพทางศาสนา ภายหลังได้รับอิทธิพลจากศิลปะฮั่น งานฝีมือช่างชาวซาลาร์จึงเป็นการผสมผสานศิลปะซาลาร์กับศิลปะฮั่นได้อย่างกลมกลืน
ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ชาวซาลาร์ยึดถือธรรมเนียมการแต่งงานแบบมีสามีภรรยาเดียว ไม่แต่งกับคนในสายตระกูลเดียวกัน ทั้งญาติในสายตระกูล (阿格乃Āɡénǎi) หรือญาตินอกสายตระกูล (孔木散Kǒnɡmùsàn) การแต่งงานและการเลือกคู่ครองเป็นอำนาจของพ่อแม่ ลูกชายหญิงไม่มีสิทธิ์เลือกคู่ครองด้วยตัวเอง พิธีแต่งงานมีอิหม่าม (阿訇Āhōnɡ) เป็นผู้ประกอบพิธี ในวันแต่งงานมีการจัดพิธีนที่บ้านฝ่ายหญิงเรียกว่า “พิธีเบียดประตู” เป็นพิธีการที่ฝ่ายเจ้าสาวต้องเข้าบ้านตัวเองให้ได้ในขณะที่กลุ่มญาติกีดกัน ขวางกั้นประตูทางเข้า ในขณะที่บ้านเจ้าบ่าวต้องปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ฝ่ายหญิงเมื่อเข้าบ้านตนเองไม่ได้ก็จะแสดงละครอูฐ(骆驼戏Luòtuoxì) และการร้องไห้ขอแต่งงาน(哭嫁kūjià) ฝ่ายหญิงร้องเพลงรำพึงรำพันออกจากบ้านตัวเองมุ่งไปที่บ้านเจ้าบ่าว เมื่อถึงบ้านเจ้าบ่าว ต้องเอาเข็มและด้ายให้บ้านเจ้าบ่าวดู เพื่อแสดงว่าเป็นสาวที่ได้รับการอบรมเรื่องงานบ้านงานเรือนมาเป็นอย่างดี ฝ่ายเจ้าบ่าวจึงจะรับเข้าบ้าน


ชาวซาลาร์นับถือศาสนาอิสลาม การประกอบพิธีฝังศพกระทำโดยการฝัง ชาวซาลาร์แต่ละสายตระกูลมีสุสานรวมของตระกูล เมื่อมีผู้เสียชีวิตจะนำมาประกอบพิธีฝังในสุสานรวมนี้


การแต่งกายของชาวซาลาร์ ชายสวมหมวกทรงกลมไม่มีปีก สีขาวหรือดำ สวมเสื้อผ่าอกแขนยาว สวมเสื้อกั๊กทับด้านนอก คาดเอวด้วยผ้าสีแดง สวมกางเกงทรงกระบอกขายาว ผู้สูงอายุสวมชุดเสื้อคลุมยาวทั้งลำตัวภาษาซาลาร์เรียกว่า “ตง” ในการประกอบพิธีกรรม จะโพกศีรษะด้วยผ้าขาวเรียกว่า “ตัซตาร์” หญิงชาวซาลาร์สวมเสื้อผ่าอก ลายดอกสีฉูดฉาด และสวมเสื้อกั๊กสีดำทับด้านนอก นิยมสวมตุ้มหูที่มีลักษณะยาวระย้า และเครื่องประดับอื่นๆ จำพวกกำไล แหวน สร้อยไข่มุก และด้วยข้อกำหนดทางศาสนา หญิงชาวซาลาร์จะต้องโพกศีรษะด้วยผ้าคลุมผมคลุมยาวไปด้านหลัง แต่ชาวซาลาร์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนทิเบต นับถือศาสนาลามะแต่งกายอย่างชาวทิเบต


ด้านอาหารการกิน อาหารหลักของชาวซาลาร์คือข้าวสาลี นอกจากนี้ยังมีข้าวโอ๊ต มันฝรั่ง และผักต่างๆ อาหารเนื้อมีเนื้อวัว แกะ ไก่เป็นหลัก ชาวซาลาร์ไม่บริโภคเนื้อลา ล่อ ม้า และไม่บริโภคเลือดสัตว์และสัตว์ที่ตายตามธรรมชาติทุกชนิด เนื้อสัตว์ที่ชาวซาลาร์กินจะต้องฆ่าโดยชาว ซาลาร์เท่านั้น ในเทศกาลสำคัญหรือมีแขกมาเยือนจะมีอาหารพิเศษคือแป้งทอด หมี่ทอด ยำเนื้อแกะ ซาลาเปาหวาน พร้อมทั้งมีชานม น้ำนมข้าวเป็นเครื่องดื่ม


ชาวซาลาร์ก่อตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ชิดกัน บ้านชาวซาลาร์ก่อสร้างด้วยไม้และปูน เป็นทรงตึกหลังคาเรียบ กำแพงบ้านทั้งสี่ก่อด้วยอิฐและปูน ฝาผนังภายในบ้านประดับภาพที่เขียนด้วยอักษรภาษาอาหรับ แสดงถึงความสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ บนหลังคาบ้านทั้งสี่มุม ตั้งหินสีขาวไว้ตามความเชื่อทางศาสนา


ชาวซาลาร์มีนิสัยโอบอ้อมอารีและเป็นมิตร เมื่อพบหน้ากันจะทักทายกันด้วยการ “ซาลาม” ซึ่งหมายถึงการอวยพรซึ่งกันและกัน การไปเป็นแขกที่บ้านของชาวซาลาร์ เมื่อเจ้าของบ้านรินน้ำชาให้ แขกผู้มาเยือนต้องถือถ้วยชาไว้ในมือ เวลากินหม่านโถวต้องบิออกเป็นชิ้นๆ ห้ามกัดกินทั้งลูก เพราะชาวซาลาร์เชื่อว่าเหมือนกับลักษณะการกินเนื้อของหมาป่าและเสือ ชาวซาลาร์ให้ความเคารพ “ลุง” (พี่ชายพ่อ) มากเป็นพิเศษ โดยมีภาษิตของชาวซาลาร์ว่า “เหล็กหลอมมาจากเตา คนหลอมมาจากลุง”


ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ห้ามคนเดินผ่านด้านหน้า และห้ามซักผ้าหรือล้างสิ่งของริมบ่อน้ำและสระน้ำ เมื่ออยู่ต่อหน้าผู้อื่นห้ามไอ และห้ามสั่งน้ำมูก


ด้านศาสนาความเชื่อ ชาวซาลาร์นับถือศาสนาอิสลาม ก่อนสมัยชิง ชาวซาลาร์นับถือศาสนาอิสลามที่ยังไม่มีการแบ่งแยกนิกาย คือ นิกายสุหนี่ หลังสมัยชิงจนถึงก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ศาสนาอิสลามเริ่มมีการแบ่งเป็นหลายนิกาย แต่เนื้อแท้ของศาสนาไม่มีข้อแตกต่างกันมากนัก มีเพียงคำสอน พิธีกรรม และวิธีปฏิบัติเท่านั้นที่มีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย เหตุแห่งความแตกต่างนี้เอง เจ้าศักดินาในยุคสังคมศักดินาได้ใช้เป็นเหตุในการยุยงสร้างความแตกแยกในกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลาม สร้างความเดือดร้อนเสียหายและภัยพิบัติขึ้นอย่างรุนแรง หลังยุคปลดปล่อยเป็นต้นมา ชาวซาลาร์จึงมีอิสระในการเลือกนับถือศาสนา และอยู่อย่างผาสุกมาจนปัจจุบัน


เทศกาลสำคัญของชาวซาลาร์ล้วนเกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น เทศกาลถือศีลอด และเทศกาลกุรปัง เทศกาลบูชาศาสดา และเทศกาลบูชาแม่พระปาติมา ในเทศกาลสำคัญต่างๆ ชาวซาลาร์จะจัดเตรียมข้าวสาลี แป้งทอด ซาลาเปาเป็นอาหารในเทศกาล แล้วเชิญอิหม่ามมาประกอบพิธีกรรมสวดมนต์ที่บ้านของตน


[1] “กง” หมายถึงการแบ่งเขตการปกครองเป็นตำบลเล็กๆ และภายใต้ “กง” ยังมีการปกครองระดับหมู่บ้านขึ้นตรงต่อ “กง”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น