ชื่อเรียกชนเผ่า เอ้อหลุนชุน (鄂伦春 Èlúnchūn) พบครั้งแรกในบันทึกสมัยต้นราชวงศ์ชิงชื่อ《บันทึกพงศาวดารต้นตระกูลชิง》ตอนที่ห้าสิบเอ็ด ในครั้งนั้นเรียกว่า เอ๋อเอ่อร์ทุน(俄尔吞 É’ěrtūn) สมัยจักรพรรดิคังซี ปีที่ยี่สิบสอง (ค.ศ. 1683) ในพระราชโองการเดือนเก้า มีกล่าวถึงชนกลุ่มนี้โดยเรียกชื่อว่า เอ๋อหลัวชุน (俄罗春 Éluóchūn) จากนั้นชื่อนี้จึงใช้เรียกกันอย่างแพร่หลายและทั่วไป คำว่า “เอ้อหลุนชุน ” มีความหมายสองอย่างคือ ชนเผ่าฝึกม้า และอีกความหมายหนึ่งหมายถึงชนชาวเขา จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าเอ้อหลุนชุน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 8,196 คน อาศัยอยู่บริเวณกลุ่มปกครองตนเองเมืองฮูหลุนเป้ยเอ่อร์เหมิง(呼伦贝尔盟 Hūlúnbèi’ěrménɡ) กลุ่มเอ้อหลุนชุน กลุ่มปกครองตนเองเมืองปู้เท่อฮา(布特哈Bùtèhā) กลุ่มปกครองตนเองเมืองโม่ลี่ต๋าหว่า (莫力达瓦Mòlì dáwǎ) กลุ่มต๋าโว่ร์ (达斡尔族Dáwò’ěr Zú) ในบริเวณเขตปกครองตนเองของมองโกเลียใน (内蒙古Nèi Měnɡɡǔ) นอกจากนี้ยังมีอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายบริเวณมณฑลเฮยหลงเจียง เช่น ตำบลฮูหม่า(呼玛Hūmǎ) อ้ายฮุย(爱辉Àihuī) ซวิ่นเค่อ(逊克Xùn kè) เจียอิน(嘉荫Jiāyīn) เป็นต้น ภาษาที่ใช้คือภาษาเอ้อหลุนชุน จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาภาษาหม่าน-ตุนกุส (Tungus) ไม่มีภาษาอักษร ส่วนใหญ่ใช้อักษรจีน และมีบางส่วนใช้อักษรมองโกล
บรรพบุรุษของชาวเอ้อหลุนชุน คือ “ซื่อเหวย” (室韦Shìwéi) หมายถึง “ชนชาวป่า” ถึงสมัยราชวงศ์หยวนเรียกชื่อชนเผ่านี้ว่า “ประชาชนชาวป่า” (林中百姓Línzhōnɡ bǎixìnɡ) ในสมัยหมิงเรียกชื่อว่า “ชาวป่าภูเหนือ” (北山野人běishān yěrén) ดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์ตามท้องทุ่ง บริเวณที่อยู่อาศัยมีอาณาเขตดังนี้ ทางทิศใต้จรดตำบลอานหลิ่ง (安岭Ānlǐnɡ) ทิศเหนือจรดแม่น้ำอูซูหลี่ (乌苏里江Wūsūlǐ jiānɡ) ทิศตะวันตกถึงคลองสือเล่อคา (石勒喀Shílèkā) ไปจนจรดเกาะคู่เย่ (库页Kùyè) ทางทิศตะวันออก กลางศตวรรษที่ 17 การล่าอาณานิคมของกระเจ้าซาร์ (沙俄Shā’é) รุกรานแผ่นดินจีนในบริเวณมณฑลเฮยหลงเจียง ชาวเอ้อหลุนชุน ต้องอพยพหนีภัยลงไปทางใต้รวมตัวกันตั้งถิ่นฐานอยู่ตามหุบเขาใหญ่น้อย แต่ก็ยังใช้ชีวิตด้วยการล่าสัตว์ไปทั่วทั้งบริเวณที่อยู่ใหม่และที่อยู่เดิม จนถึงศตวรรษที่ 19 หลังจากที่พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียรุกล้ำและครอบครองดินแดนเหนือเฮยหลงเจียงขึ้นไป รวมถึงทางทิศตะวันออกของแม่น้ำอูซูหลี่ ชาวเอ้อหลุนชุนจึงสูญเสียเขตล่าสัตว์ จนกระทั่งถึงสมัยราชวงศ์ชิงเข้าครอบครองจึงได้รวบรวมเอาชาวเอ้อหลุนชุนเข้าไว้ในการปกครอง ชีวิตของชาวเอ้อหลุนชุนจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น จักรพรรดิคังซี ปีที่ 30 (ค.ศ.1691) แบ่งชาวเอ้อหลุนชุนออกเป็นสองบริเวณคือ หมัวหลิงอา (摩凌阿Mólínɡ’ā) และยาฟข่าน (雅发罕Yǎfāhǎn) ทั้งสองอยู่ภายใต้การดูแลของเมืองปู้เท่อฮา (布特哈Bùtèhā) หมัวหลิงอา (摩凌阿Mólínɡ’ā) คือ ชาวเอ้อหลุนชุนที่ขี่ม้า ส่วนยาฟข่าน (雅发罕Yǎfāhǎn) คือชาวเอ้อหลุนชุนที่เป็นนักเดินทาง ซึ่งหมายความว่าชาวเอ้อหลุนชุนแม้จะสูญเสีย “ลา” ไป แต่ก็ยังเป็นชนที่ล่าสัตว์อยู่เหมือนเดิม การจัดการปกครองในขณะนั้นจัดให้ชาวเอ้อหลุนชุน อาศัยอยู่เป็นกลุ่ม โดยแบ่งเป็นถนน 5 สาย คือ อาลี่(阿力Ālì) คู่หม่าร์(库玛尔Kùmǎ’ěr) ปิลาร์ (毕拉尔Bìlā’ěr) ตัวปู้คู่ร์ (多布库尔Duōbùkù’ěr) ทัวเหอ(托河Tuōhé) ถนนแต่ละสายมีสายย่อย 8 สาย แต่ละสายย่อยมีหัวหน้าหนึ่งคนปกครอง ทุกๆปี ราชสำนักชิงส่งคนมาตรวจตราหนึ่งครั้ง เพื่อเก็บภาษี ต่อมารวมถนน 5 สายเป็น 4 สายหลัก และมี 16 สายย่อย (รวมอาลี่และตัวปู้คู่ร์เข้าด้วยกัน) แล้วจัดให้อยู่ในเขตการปกครองของเมือง 4 เมืองคือ เฮยหลงเจียง (黑龙江Hēilónɡjiānɡ) โม่ร์เกิน(墨尔根Mò’ěrɡēn) ปู้เท่อฮา(布特哈Bùtèhā) และฮูหลุนเป้ย (呼伦贝Hūlúnbèi) จนถึงยุคที่ญี่ปุ่นเข้ารุกรานได้จัดแบ่งชาวเอ้อหลุนชุน ให้อยู่ภายใต้เขตการปกครองของมณฑลเฮยหลงเจียงและเขตซิ่งอานเป่ย
ในยุคที่ญี่ปุ่นครอบครอง ชาวเอ้อหลุนชุน ร่วมกับกองกำลังทหารภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อต้านญี่ปุ่นอย่างกล้าหาญ สละเลือดพลีชีพเพื่อรักษาดินแดนบ้านเกิดเมืองนอน จนถึงปี 1945 ได้รับการปลดปล่อย ปี 1951 รัฐบาลก่อตั้งกลุ่มธงปกครองตนเองเผ่าเอ้อหลุนชุน ในเขตมองโกเลียใน(内蒙古自治区鄂伦春族自治旗Nèiměnɡɡǔ zìzhìqū Èlúnchūn Zú zìzhìqí) ขึ้นสำเร็จ
ระบบเศรษฐกิจและสังคมของชาวเอ้อหลุนชุน เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา สังคมของชาวเอ้อหลุนชุน ยังคงยึดถือการสืบสายตระกูลจากพ่อ เรียกว่า อูลี่เหลิง (乌力楞Wūlìlénɡ) การสืบสายตระกูลแบบอูลี่เหลิงประกอบด้วยคนในสายตระกูลเดียวกันสืบทอดมาสองถึงสามช่วงอายุคน ผู้อาวุโสที่สุดในตระกูลเรียกว่า ถาถ่านต๋า (塔坦达Tǎtǎndá) การทำมาหากินจะร่วมมือกันทำในสายตระกูลเดียวกัน ผลผลิตที่ได้ถือเป็นสมบัติส่วนรวมของตระกูล โดยมีหัวหน้าครอบครัวเป็นผู้จัดการดูแล และแบ่งปันให้สมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยสภาพภูมิประเทศที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวเอ้อหลุนชุนอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 500 – 1500 เมตร ซึ่งเป็นบริเวณอากาศหนาวเย็น ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก ชาวเอ้อหลุนชุน จึงยังชีพด้วยการล่าสัตว์ สัตว์ป่าที่ล่า เช่น กวาง เสือดาว เสือ หมูป่า หมี หมาป่า แมวป่า ส่วนชุมชนชาวเอ้อหลุนชุน ที่อยู่ใกล้แม่น้ำนอกจากจะล่าสัตว์ป่าแล้ว ยังทำการประมงจับสัตว์น้ำด้วย เนื้อสัตว์ที่ได้มาหากบริโภคไม่หมดจะตากแห้งไว้เป็นเสบียงในยามขาดแคลน โดยจะเก็บไว้ที่กองกลางของตระกูล
จนถึงกลางศตวรรษที่ 17 ราชสำนักชิงเข้ามาปกครองดูแลชาวเอ้อหลุนชุน ในขณะนั้นชาวเอ้อหลุนชุนมีการติดต่อสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับชาวหม่าน(แมนจู) และชาวฮั่น การผลิตเหล็กกล้า ปืน รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตรและล่าสัตว์หลั่งไหลเข้าสู่วัฒนธรรมของชาวเอ้อหลุนชุน ทำให้สภาพความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของชาวเอ้อหลุนชุน พัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากผลผลิตที่ได้จากการล่าสัตว์ ป่าไม้ และการประมงที่ยังคงรักษาการจัดแบ่งผลผลิตในตระกูลแล้ว ผลผลิตด้านอื่นๆ เริ่มเปลี่ยนแปลงไปเป็นของตนเอง สามีภรรยาเริ่มแยกครอบครัวไปตั้งครอบครัวเดี่ยวเป็นของตนเองและทำมาหากิน สร้างฐานะด้วยตัวเอง ระบบสังคมแบบสายตระกูลจึงค่อยๆ หมดไป จนถึงปี 1945 ยุคก่อนการปลดปล่อย ระบบสังคมของชาวเอ้อหลุนชุน เริ่มเข้าสู่สังคมแบบคอมมูนประชาชน
งานหัตถกรรมของชาวเอ้อหลุนชุน เกี่ยวข้องกับอาชีพหลัก นั่นก็คือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ หญิงชาวเอ้อหลุนชุน มีฝีมือในการลอกหนังสัตว์เพื่อตากแห้งแล้วตัดเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่มในแต่ละฤดู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยภูมิอากาศที่หนาวเย็น ชาวเอ้อหลุนชุนใช้ขนสัตว์เป็นเสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ชายชาวเอ้อหลุนชุน ยังใช้ประโยชน์จากกระดูกสัตว์ผลิตเป็นเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับได้อย่างชาญฉลาด
แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่ยุคปัจจุบันเป็นต้นมา รัฐบาลควบคุมไม่ให้มีการล่าสัตว์ป่าอย่างเสรี และส่งเสริมให้ประชาชนหันมาปลูกพืช ทำการเกษตร สังคมของชาวเอ้อหลุนชุน จึงเปลี่ยนจากการล่าสัตว์มาเป็นการเกษตร แต่ชาวเอ้อหลุนชุน ไม่เคยมีความรู้และไม่เคยชินกับการทำการเกษตร ประกอบกับเข้าสู่ช่วงที่ญี่ปุ่นรุกราน ต่อมาในปี 1939 การพัฒนาทางการเกษตรของชาวเอ้อหลุน-ชุน จึงหยุดชะงักลง
แม้ว่าชาวเอ้อหลุนชุน จะมีประวัติศาสตร์ พัฒนาการและอารยธรรมที่สืบทอดกันมายาวนาน แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกภาวะกดดันจากราชสำนักและรัฐบาลกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ญี่ปุ่นรุกรานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ชาวเอ้อหลุนชุนได้ร่วมกันลุกขึ้นต่อต้านข้าศึกจนสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อไปมากมาย ในปี 1945 ชาวเอ้อหลุนชุนมีจำนวนประชากรหลงเหลืออยู่เพียงหนึ่งพันคนเศษ หลังชนะสงครามญี่ปุ่น เพื่อให้ชาวเอ้อหลุนชุนมีสิทธิในการปกครองตนเอง รัฐบาลก่อตั้งชุมชนปกครองตนเองชาวเอ้อหลุนชุนขึ้นหลายแห่ง สนับสนุนเงินทุนเพื่อดูแลและฟื้นฟูชุมชนชาวเอ้อ-หลุนชุน ในปี 1953 ช่วยเหลือในการก่อสร้างที่พักอาศัย ให้ชาวเอ้อหลุนชุนได้มีที่พำนักและก่อตั้งบ้านเรือนเป็นหลักแหล่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดินแดนที่เคยแห้งแล้งก็กลับเขียวขจีขึ้นด้วยการสนับสนุนให้มีการปลูกป่า หลืบเขาที่เคยมืดมิดก็เริ่มมีแสงไฟฟ้าเข้ามาถึง ทุ่งล่าสัตว์กลายเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์และเรือกสวนไร่นาทำการเกษตร จากที่เคยอยู่อย่างโดดเดี่ยวตัดขาดจากโลกภายนอก ใช้ม้าและเรือเป็นพาหนะหลัก ปัจจุบันรัฐบาลสร้างถนน ทางรถไฟเชื่อมต่อทุกหย่อมหญ้า ชาวเอ้อหลุนชุน ในอดีตที่ไม่เคยรู้หนังสือร่วมมือกันภายใต้ความช่วยเหลือและสนับสนุนของรัฐบาลสร้างโรงเรียนใหญ่น้อย ลูกหลานชาวเอ้อหลุนชุนได้เรียนหนังสือ ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ชีวิตที่เคยทุกข์ยากลำเค็ญเปลี่ยนมาเป็นหน้าชื่นตาบาน มีสถานบันเทิง คณะละคร สถานีวิทยุโทรทัศน์ เดิมที่เคยทนทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยไร้หนทางเยียวยา รัฐบาลสร้างโรงพยาบาลและส่งคณะแพทย์มาประจำดูแลเรื่องความเจ็บป่วยและการสาธารณสุข การปกครองตนเอง การปกครองดูแลของรัฐบาลนำความผาสุกมาสู่ชุมชนชาวเอ้อหลุนชุนเรื่อยมา
ด้วยอารยธรรมล่าสัตว์อันยาวนาน ก่อเกิดวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งวรรณกรรมมุขปาฐะ ดนตรี เต้นรำ ศิลปะต่างๆ ด้วยเหตุที่ชาวเอ้อหลุนชุน ไม่มีภาษาเขียน วัฒนธรรมส่วนใหญ่สืบทอดกันแบบปากต่อปาก วัฒนธรรมทางภาษาเช่น เทพนิยาย ตำนาน นิทาน เพลง สะท้อนถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ชีวิต สังคมและการดำรงชีวิตของชนเผ่า เช่น เรื่อง 《恩都力创造了鄂伦春人》Ēndūlì chuànɡzào le Èlúnchūnrén “เอินตูลี่สร้างเผ่าเอ้อหลุนชุน” เรื่อง 《白衣仙姑》Báiyī xiānɡū “เทพธิดาชุดขาว” กล่าวถึงเรื่องราวการกำเนิดและการสรรเสริญผู้กล้าชาวเอ้อหลุนชุน นอกจากนี้ยังมีเพลงและการเต้นรำที่เป็นเอกลักษณ์และมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต เช่น ระบำชื่อ 《熊舞》Xiónɡ wǔ “ระบำหมี” ระบำชื่อ《野牛搏斗舞》Yěniú bódòu wǔ “ระบำชนวัว” ระบำชื่อ《树鸡舞》Shùjī wǔ “ระบำนกกับต้นไม้” ระบำชื่อ《红果舞》Hónɡɡuǒ wǔ “ระบำลูกไม้แดง” ที่สำคัญมีระบำ “หมุนรอบตัว” เป็นระบำที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวเอ้อหลุนชุน ผู้เต้นสามารถหาความสุขสนุกสนานได้ด้วยตัวเอง ทั้งร้องทั้งเต้นไปพร้อมๆกัน ระบำชื่อ《假面舞》Jiǎmiàn wǔ “ระบำหน้าปลอม” เป็นระบำที่แสดงออกถึงการอธิษฐานขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนการล่าสัตว์
การขับร้องเพลงของชาวเอ้อ หลุนชุน มีเพลงประจำเผ่าชื่อว่า จาเอินต๋าเล่อ (扎恩达勒Zhā’ēn dá lè) ซึ่งมีเนื้อหาและท่วงทำนองหลากหลาย เป็นศิลปะที่ชาวเอ้อหลุนชุนพยายามสะท้อนสภาพการดำรงชีวิตแฝงไว้ในเพลงและดนตรีของชาวเอ้อหลุนชุนที่ใช้บรรเลงประกอบในการรื่นเริง เต้นรำ และขับร้องลำนำ เครื่องดนตรีของชาวเอ้อหลุนชุน มี กลองที่ตีด้วยมือ ปี่เขากวาง หีบเพลงเป่าทำจากเหล็ก เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมทางภาษาจำพวกสุภาษิต คำพังเพยที่เกิดในช่วงหลัง หลังจากที่บ้านเมืองสงบ ชาวเอ้อหลุนชุนอยู่ติดพื้นที่มีหลักแหล่งแน่นอน และเริ่มเรียนภาษาฮั่นแล้ว นับเป็นวัฒนธรรมทางภาษาที่มีค่าและสำคัญอีกอย่างหนึ่งของชาวเอ้อหลุนชุนในเวลาต่อมา
บ้านเรือนของชาวเอ้อหลุนชุนก็มีลักษณะโดดเด่น คือสร้างเป็นทรงกระโจม มีเสาใหญ่เป็นเหล็กปักกลาง แล้วมีเสาอีกสามสิบเสาล้อมรอบเป็นวงกลม ฤดูร้อนคลุมด้วยเปลือกไม้ ฤดูหนาวคลุมด้วยหนังสัตว์ มีลักษณะพิเศษคือเคลื่อนย้ายง่าย ก่อสร้างง่าย เมื่อเปิดประตูเข้าไปข้างในแบ่งเป็นด้านข้างซ้ายขวา เป็นที่พัก และที่รับแขก ส่วนตรงกลางเป็นเตาผิงให้ความอบอุ่น เสาหลังแขวนรูปเคารพ และมีข้อกำหนดว่าห้ามผู้หญิงแตะต้องรูปเคารพนี้เด็ดขาด ในภาพ เป็นที่พักอาศัยจำลองของชาวเอ้อหลุนชุน ซึ่งตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เอ้อหลุนชุน เมืองฮูหลุนเป้ยเอ่อร์ (呼伦贝尔Hūlúnbèi’ěr)
ชาวเอ้อหลุนชุนยึดถือการแต่งงานแบบมีสามีภรรยาคนเดียว และเคร่งครัดในการเลือกคู่ครองที่เป็นคนนอกสายตระกูล ทำให้สามารถสร้างความผูกพันเป็นญาติได้กว้างขวางออกไปเรื่อยๆ สถานภาพของชายหญิงไม่แตกต่างกันมากนัก แต่การสืบทอดสายตระกูลใช้เพศชายเป็นหลัก เมื่อลูกคนโตแต่งงานจะสร้างกระโจมอยู่ไม่ไกลจากบ้านพ่อแม่ หญิงมีครรภ์ไม่ให้พักอยู่ในกระโจมเดิม จะต้องไปสร้างกระโจมใหม่ที่อยู่ห่างไกลจากบ้านออกไปและต้องพักอยู่ที่ใหม่นี้หนึ่งเดือนจึงจะกลับบ้านได้ ผู้ชายห้ามเข้าในกระโจมใหม่นี้
พิธีศพกระทำโดยการทิ้งไว้บนเขาให้แห้งไปเอง แต่ต่อมากระทำโดยการฝัง
หญิงชาวเอ้อหลุนชุนมีฝีมือการประดิษฐ์หมวกล่าสัตว์เป็นเลิศชนิดที่ที่หาชนเผ่าใดเปรียบได้ยาก หมวกชนิดนี้ชื่อ มี่ถ่าฮา (密塔哈Mìtǎhā) เป็นหมวกที่ทำจากหัวกวางทั้งหัว เลาะเนื้อและกระดูกทิ้งทั้งหมด แต่ยังคงรักษาสภาพหัวกวางนั้นไว้คงเดิมทุกประการ เวลาออกล่าสัตว์จะใส่หมวกชนิดนี้เพื่อล่อให้สัตว์ตัวอื่นเข้ามาใกล้รวมทั้งสามารถพรางตัวเองได้ด้วย สมกับคำกล่าวที่ว่าชาวเอ้อหลุนชุนคือ “จ้าวแห่งป่า กินในป่า สวมเสื้อผ้าจากป่า นอนในป่า อยู่ในป่า” ทุกอย่างในชีวิตมาจากป่าธรรมชาติทั้งสิ้น
ชาวเอ้อหลุนชุน เชื่อในสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ ทุกสิ่งในธรรมชาติล้วนมีวิญญาณ ซึ่งเป็นความเชื่อตามหลักศาสนาซ่าหม่าน (萨满教Sàmǎnjiào) ศาสนานี้มีความเกี่ยวพันและสอดคล้องกับชีวิตของชาวเอ้อหลุนชุน อย่างลึกซึ้ง เพราะชีวิตของชาวเอ้อหลุนชุน อยู่กับธรรมชาติ มีความเชื่อนับถือและบูชาธรรมชาติอยู่แล้ว ซ่าหม่านคือหมอผีผู้เป็นตัวแทนติดต่อระหว่างโลกมนุษย์กับวิญญาณต่างๆ เช่น จันทรเทพ เทพแห่งดวงดาว เทพอัคคี เทพเมฆินทร์ เทพปฐพี วายุเทพ เทพพิรุณ เทพสมุทร เทพพฤกษา เทพภูพาน นอกจากนี้ชาวเอ้อหลุนชุน ยังนับถือโทเทม (totem) หมี และเสือ ดังนั้นจึงถือในเรื่องการเรียกชื่อหมีและเสือด้วย คือจะไม่สามารถกล่าวนามของหมีและเสือได้ เพราะเป็นสิ่งเคารพบูชา แต่จะเรียกว่าเป็น เทพ ขุนนางหรือเทวดาแทน นอกจากนี้ที่สำคัญยังนับถือและบูชาบรรพบุรุษอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น