วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

29. 珞巴族ชนกลุ่มน้อยเผ่าลั่วปา






















ชนกลุ่มน้อยเผ่าลั่วปาอาศัยอยู่บริเวณเมืองลั่วหยวี (洛渝Luòyú) ที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเขตปกครองตนเองทิเบต และบริเวณรอยต่อกับมณฑลใกล้เคียง เช่น ตำบล ฉาหยวี (察隅Cháyú) โม่ทัว (墨脱Mòtuō) หมี่หลิน (米林Mǐlín) หลงจื่อ (隆子Lónɡzǐ) เป็นต้น จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าลั่วปามีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 2,965 คน ชาวลั่วปาที่อาศัยอยู่ตำบลโม่ทัวใช้ภาษาทิเบต(藏语Zànɡ yǔ) นอกนั้นพูดภาษาของเผ่าตนเองคือภาษาลั่วปา ซึ่งมีหลายสำเนียงแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ภาษาลั่วปาจัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาภาษาทิเบต-พม่า (Tibeto - Burman)
ชาวลั่วปามีชีวิตอยู่บริเวณถ่าปู้กงปู้ (塔布工布Tǎbùɡōnɡbù) ของที่ราบสูงทิเบต (西藏Xīzànɡ) แนวสันเขาป๋ายหม่า(白马冈Báimǎ ɡānɡ) บริเวณเทือกเขาหิมาลัย(喜马拉雅山 Xǐmǎlāyǎ shān) ทุ่งหญ้าหนานโพ(南坡Nánpō) มาแต่ครั้งบรรพกาล บันทึกทางประวัติศาสตร์ของทิเบต ชื่อ “หงสื่อ” 《红史》Hónɡshǐ บันทึกไว้ว่า ในยุคซงจ้านกานปู้ ราวปี ค.ศ. 617 – 650 บริเวณตั้งแต่ทางใต้ที่ชื่อ “ลั่ว” (珞Luò) ขึ้นมาล้วนเป็นเขตปกครองของถู่ฟาน[1]ทั้งสิ้น จากนั้นเป็นต้นมา ชาวทิเบตกับชาวลั่วปาก็พัฒนาความสัมพันธ์ต่อกันเรื่อยมา จนถึงศตวรรษที่ 17 ทิเบตตกอยู่ภายใต้การครอบครองของราชสำนักชิง มีการส่งข้าราชการจากราชสำนักเข้ามาดูแลและจัดการการปกครองในเมืองลั่วหยวี(洛渝Luòyú) กลางศตวรรษที่ 19 พื้นที่ทิเบตถูกจัดให้เป็นเขตการปกครองภายใต้อำนาจของอ๋องโปมี่ถู่ (波密土王Bōmìtǔ wánɡ) จนถึงกลางศตวรรษที่ 20 มีการแบ่งเขตการจัดเก็บภาษีบริเวณเมืองโม่ทัว (墨脱Mòtuō) เจ๋อลา (则拉Zélā) ต๋ากั่งฉั้ว (达岗错Dáɡǎnɡcuò) หม่าหนีกั่ง(马尼岗Mǎníɡǎnɡ) ปาเชี่ยซีเหริน (巴恰西仁Bāqiàxīrén) ซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่อาศัยของชาวลั่วปา
ด้านเศรษฐกิจและสังคม ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 สภาพเศรษฐกิจและสังคมของชาวลั่วปา อยู่ในช่วงปลายของสังคมบุพกาล ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการทำการเกษตร ยังใช้วิธีถากถางและเผาไร่นาอยู่ มีเครื่องมือเหล็กขนาดเล็ก แต่ส่วนใหญ่ยังคงใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่ทำจากไม้ซึ่งสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ เช่น คราดไม้ จอบเสียมไม้ พืชที่ปลูกเช่น ข้าวโพด ข้าว แตงต่างๆ และพืชผักเบ็ดเตล็ด ปริมาณการผลิตต่ำมาก บางท้องที่ยังมีการเก็บของป่า เมล็ดพืชที่ได้จากผลไม้ รวมทั้งถั่วต่างๆ ที่ได้จากป่ามาเป็นอาหาร แม้กระทั่งก้านอ่อนของพืชจำพวกปาล์มก็เก็บมาบดเป็นแป้งใช้เป็นอาหารได้ ส่วนอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ได้มาจากการล่าสัตว์ในป่า เมื่อล่าได้สัตว์ใหญ่ ชาวลั่วปาจะแบ่งปันให้สมาชิกในชุมชนของตนเท่าๆ กัน
ด้านงานหัตถกรรมยังคงผลิตเพื่อการดำรงชีวิตหรือเพื่อการเกษตรกรรม ยังไม่ได้แยกออกมาเป็นงานหัตถกรรมฝีมือเพื่อความสวยงามหรือเพื่อการใช้สอยอย่างอื่น แต่เริ่มมีการผลิตเครื่องปั้นดินเผา การถักและทอผ้าใช้กันในครอบครัว ชาวลั่วปาทั้งหญิงและชายรู้จักวิธีสานไม้ไผ่ เสื่อ ตะกร้า เชือก และผลิตภัณฑ์ข้าวของเครื่องใช้จักสานต่างๆ ฤดูว่างเว้นจากการทำการเกษตรชาวลั่วปาจะนำข้าวของเครื่องใช้จักสาน พืชสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสัตว์เช่น อุ้งตีนหมี หนังสัตว์ ชะมดและพืชเกษตรเช่น พริก พืชผักป่านำไปแลกเครื่องมือโลหะเหล็ก ขนแกะ เกลือ เสื้อผ้า ใบชา อาหาร จากชาวทิเบตในบริเวณเมืองใกล้เคียงเช่น ฉาหยวี (察隅Cháyú) หมี่หลิน (米林 Mǐlín) โม่ทัว (墨脱Mòtuō) เป็นต้น
ครอบครัวของชาวลั่วปาอาศัยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ โดยยึดตามเครือญาติสายตรงจากพ่อ ในช่วงก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน สังคมชาวลั่วปาเริ่มมีระบบชนชั้นคนจนคนรวย และเริ่มมีทาสและนายทาส เข้าสู่ระบบสังคมที่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ โดยแบ่งเป็น 2 ชนชั้นคือ ม่ายเต๋อ (麦德Màidé) หมายถึง “เจ้าของ” และ เนี่ยปา (涅巴Nièbā) หมายถึง “ชนชั้นต่ำ”
หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชุมชนชาวลั่วปาได้รับการปลดปล่อย โดยในปี 1959 ระบบสังคมศักดินาของทิเบตถูกล้มล้าง และเข้าสู่การปฏิรูปสังคมเรื่อยมา ชาวลั่วปาได้รับสิทธิในการปกครองตนเอง ส่วนราชการในพื้นที่ของเขตปกครองตนเองที่มีชาวลั่วปาอาศัยอยู่ล้วนได้รับสิทธิในการเป็นสมาชิกคณะกรรมการการปกครองตนเอง จากนโยบายการสนับสนุนและช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยของรัฐบาล ชุมชนชาวลั่วปาพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ หลุดพ้นจากสภาพชีวิตที่ลำบากยากเข็ญแบบดั้งเดิม ตลอดเวลา 50 ปีมานี้ ชาวลั่วปาร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและพัฒนาระบบพื้นฐานการเกษตรของชุมชนขนานใหญ่ เรียนรู้วิธีการทำการเกษตรอย่างถูกวิธี มีการใช้ปุ๋ย ใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ทำให้ปริมาณการผลิตเพิ่มมากขึ้นเพียงพอต่อการบริโภคในชุมชน เหลือพอที่จะส่งออกจำหน่ายภายนอกนำรายได้สู่ชุมชน สภาพชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก มีการก่อสร้างระบบคมนาคม การสร้างถนนทางหลวงเชื่อมต่อกับพื้นที่ภายนอก พื้นที่ที่อยู่อีกฝั่งแม่น้ำ ก็มีการสร้างสะพานแขวนขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมต่อชุมชน และนำความเจริญไปสู่ชาวลั่วปา นอกจากนี้รัฐบาลยังสนับสนุนการก่อสร้างเมืองใหม่ให้ชาวลั่วปามีที่อยู่อาศัยที่ดีขึ้น มีการสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ปัจจุบันในหมู่บ้านชาวลั่วปาเริ่มมีเครื่องจักรกลอยู่ทุกหนทุกแห่ง ชาวลั่วปากำลังก้าวเดินอยู่บนถนนแห่งความอยู่ดีมีสุข พลิกฟื้นชีวิตให้มีความทัดเทียมกับชนกลุ่มอื่นๆ ในประเทศจีน
ด้านศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรมของชาวลั่วปามีความหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นนิทานพื้นบ้าน ตำนาน ส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เวลามีเทศกาล ชาวลั่วปาจะรวมตัวกันร้องรำทำเพลง การขับร้องของชาวลั่วปามีทั้งการร้องเดี่ยว ร้องหมู่และร้องคู่ตอบโต้กัน เรื่องราวที่ร้องมักเกี่ยวกับตำนานโบราณ ในงานรื่นเริงชาวลั่วปาจะร้องเพลงโต้กันข้ามวันข้ามคืน
การแต่งกายของชาวลั่วปามีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นพิเศษ โดยทั่วไปผู้ชายจะสวมเสื้อแขนยาว ลำตัวยาวคลุมทั้งตัวไว้ด้านใน ท่อนบนมีเสื้อคลุมไหล่ที่ทำจากหนังสัตว์ สวมเสื้อกั๊กขนแกะคลุมไว้ด้านนอก สวมหมวกกลมที่ทำจากหนังหมีและบุด้วยขนหมีโดยรอบ หมวกด้านหลังยาวคลุมลงไปถึงคอ สมัยโบราณใช้เพื่อป้องกันลูกธนู และป้องกันการถูกฟันคอในการต่อสู้ รวมทั้งให้ความอบอุ่นกับร่างกายในฤดูหนาว เมื่อออกจากบ้านชายชาวลั่วปาจะคล้องธนูและสะพายย่ามใส่มีด สวมเครื่องประดับคล้องคอหลายเส้นหรือพันหลายรอบ สร้อยคอร้อยมาจากลูกปัดหลากสี สวมกำไลข้อมือทองเหลืองหรือเงิน สวมต่างหูที่สานจากไม้ไผ่ หญิงสวมเสื้อผ้าที่ทอขึ้นเองจากขนแกะ ใยป่านใยปอและฝ้าย สวมเสื้อแขนยาวลำตัวสั้น สวมผ้าถุงยาว ชายหญิงชาวลั่วปานิยมไว้ผมยาว และชอบสวมใส่เครื่องประดับ หญิงชาวลั่วปาสวมกำไลทองเหลืองและเงิน สวมสร้อยคอร้อยด้วยลูกปัดสีขาวและสีฟ้า หลายเส้น ตามรอบเอวสวมสร้อยห้อยเป็นระย้ามากมาย ตามเสื้อผ้าประดับประดาด้วยเหรียญโลหะต่างๆ รอบลำตัว
ด้านอาหารการกิน ชาวลั่วปาแต่ละท้องที่มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง อย่างเช่น ชาวลั่วปาที่อาศัยอยู่ทางเหนือของเมืองลั่วหยวี (洛渝Luòyú) จะใช้ข้าวโพดบดเป็นแป้งแล้วผสมน้ำร้อนคลุกกับเมล็ดธัญพืชต่างๆ นอกจากนี้ยังมีขนมแผ่นที่ทำจากแป้งสาลีนวด แล้วทำเป็นแผ่นย่างบนหินร้อน เป็นอาหารหลัก กินกับพริกป่นและเนยแข็ง ชาวลั่วปาชอบอาหารรสเผ็ด ทั้งชายและหญิงชอบสูบยาและดื่มเหล้า บ้านเรือนของชาวลั่วปาสร้างเป็นสี่เหลี่ยมทรงยาว หรือจัตุรัส บ้านที่สร้างเป็นสี่เหลี่ยมทรงยาวซอยแบ่งเป็นห้องๆ สร้างด้วยไม้ไผ่สองชั้น มีฉางข้าวสร้างแยกต่างหากจากตัวบ้าน
ลักษณะนิสัยของชาวลั่วปาเป็นมิตรมาก เมื่อมีแขกมาบ้านจะต้อนรับด้วยความกระตือรือร้นและมีพิธีการต้อนรับแขกที่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชนเผ่า เมื่อแขกเข้าบ้านจะเชิญให้แขกนั่งในห้องที่อยู่ใกล้กับเตาผิง แล้วต้อนรับด้วยอาหารที่ชาวลั่วปาโปรดปรานเช่น เนื้อแห้ง นม ขนมแผ่น น้ำ และชา ชาวลั่วปามีพิธีการต้อนรับแขกที่ถือเป็นประเพณี เช่น เมื่อเจ้าของบ้านนำอาหารอะไรออกมาต้อนรับแขก แขกผู้มาเยือนจะต้องกินให้หมด เจ้าของบ้านจะดีใจมาก ก่อนที่แขกจะกินอาหารเจ้าของบ้านจะต้องดื่มเหล้าก่อน 1 จอก กินอาหารก่อน 1 คำ เพื่อแสดงว่าเหล้าและอาหารไม่มีพิษใดๆ ต่อมาถือเป็นความจริงใจที่เจ้าของบ้านมีต่อแขก โดยเฉพาะแขกที่มาจากแดนไกล หากในชุมชนมีงานแต่งงาน จะต้องไปบ้านงานเพื่อร่วมรับประทานอาหาร ดื่มเหล้า ร้องรำทำเพลง แสดงความยินดี ชาวลั่วปาถือว่าหากเชิญแขกให้มาที่บ้านได้ หรือมีโอกาสได้ต้อนรับแขกจะถือเป็นเกียรติอย่างมาก หากบ้านใดทำให้แขกไม่พอใจ แขกไม่อยู่ร่วมรับประทานอาหารจะถูกคนในชุมชนตำหนิ และเหยียดหยาม
ชาวลั่วปาแต่งงานแบบมีสามีภรรยาคนเดียว แต่ผู้มีอำนาจสูงศักดิ์และคนร่ำรวยสามารถมีภรรยาได้หลายคน มีธรรมเนียมการปฏิบัติเกี่ยวกับการแต่งงานกับคนนอกสายตระกูล และการแต่งงานกับคนในชนชั้นเดียวกันอย่างเคร่งครัด ถ้าสามีเสียชีวิตจะต้องยกบ้านให้กับพี่น้องสามี ผู้หญิงในสังคมชาวลั่วปาไม่มีสถานภาพทางสังคมใดๆ มรดกพ่อแม่ต้องตกเป็นของลูกชาย และมีข้อบังคับเกี่ยวกับการตั้งชื่อของลูกให้สอดคล้องเกี่ยวพันกับชื่อของพ่อ
ชาวลั่วปามีความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือบูชาผีและวิญญาณ โดยเชื่อว่าสรรพสิ่งมีวิญญาณ เชื่อว่าเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลก การเกิดแก่เจ็บตาย และภัยพิบัติต่างๆ ล้วนเกิดจากการกระทำของเทพเจ้าหรือผีสาง ดังนั้นชาวลั่วปาจึงมีความเชื่อว่าจะต้องบูชาเทพเจ้า ผี และวิญญาณต่างๆ ด้วยการฆ่าสัตว์และเชิญหมอผีมาสวดมนต์เพื่อทำพิธีบูชา และอธิษฐานขอให้เทพเจ้าผีสางและวิญญาณเหล่านั้นปกป้องคุ้มครอง


[1] คำว่า ถู่ฟาน (吐蕃 Tǔfān ) เป็นชื่อชนชาติในสมัยโบราณ เป็นบรรพบุรุษของชนชาติทิเบต อาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบสูงทิเบตและมณฑลชิงห่ายในปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น