วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

25. 柯尔克孜族ชนกลุ่มน้อยเผ่าเคอร์กิส


















คัดลอกภาพจาก


http://www.chinaxinjiang.cn/xjgk/mzzj/W020070620323834666836.jpg
http://www.ludongpo.com/UpLoadFiles/Photo/2010-3//柯尔克孜族.bmp



เคอร์กิส “Kirgiz” เป็นภาษา เทอร์กิค (Turkic) ที่ชนกลุ่มนี้ใช้เรียกตนเอง ความหมายคือ “สาวสี่สิบนาง” จึงก็มีการตีความหมายไปหลายๆอย่าง บ้างก็ว่า “สี่สิบเผ่า” บ้างว่า “ชาวเขาเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน” บ้างก็ว่า “สีแดง” แต่ที่เป็นที่ยอมรับก็คือ “สาวสี่สิบนาง” ชาว Kirgiz อาศัยอยู่บริเวณเขตปกครองตนเองชื่อ Qizilsu Qirghiz ในมณฑลซินเจียง มีบางส่วนกระจัดกระจายอยู่ตามเมือง อีหลี (伊犁Yīlí) ถ่าเฉิง (塔城Tǎchénɡ) อาเค่อซู(阿克苏 Ā kèsū) นอกจากนี้ยังมีประปรายอยู่ในตำบลฟู่-ยวี่(富裕Fùyù) ของมณฑลเฮยหลงเจียง จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าเคอร์กิสมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 160,823 คน พูดภาษา เทอร์กิค (Turkic) จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขา เทอร์กิค(Turkic) มีภาษาเขียนที่พัฒนามาจากอักษรอาหรับ ชาวเคอร์กิสในซินเจียงใต้พูดภาษาอุยกูร์ ชาวเคอร์กิสในซินเจียงเหนือพูดภาษาคาซัคสถาน(Kazakstan) ส่วนกลุ่มที่อยู่ในมณฑลเฮยหลงเจียงพูดภาษามองโกลและภาษาฮั่น


เรื่องราวเกี่ยวกับบรรพบุรุษของชาวเคอร์กิสนั้น มีหลักฐานที่เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ของจีนที่ใช้อักษรจีนจดบันทึกไว้ โดยเรียกชื่อชนกลุ่มนี้หลายชื่อ เช่น เก๋อคุน (鬲昆Gékūn) เจียนคุน (坚昆Jiānkūn) ชี่กู่ (契骨Qìɡǔ) เกอกู่ (纥骨Gēɡǔ) เสียเจี๋ยซือ (黠戛斯, 辖戛斯Xiájiásī) จี๋ลี่จี๋ซือ (吉利吉思Jílìjísī) ฉีเอ๋อร์จี๋ซือ (乞儿吉思Qǐérjísī) ปู้หลู่เท่อ(布鲁特Bùlǔtè) เป็นต้น แต่ปัจจุบันรู้จักกันทั่วไปในชื่อชนเผ่าเคอร์กิส (柯尔克孜族Kē’ěr kèzī Zú,Khalkhus) ตั้งแต่ครั้งอดีตเมื่อ 2000 ปีก่อน บรรพบุรุษของชาวเคอร์กิสตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตอนเหนือของที่ราบลุ่มฝั่งแม่น้ำ เย่หนีซาย (叶尼塞河Yènísāihé, Yenisei) จากนั้นค่อยๆ อพยพลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้จนถึงหุบเขาเทียนซาน (天山Tiānshān) และอาศัยอยู่บริเวณนั้นเป็นเวลานานจนผสมกลมกลืนไปกับชนพื้นถิ่นคือ ชาว เทอร์จิค และ มองโกล


ช่วงต้นราชวงศ์ฮั่น เคยอยู่ในปกครองของชนชาติซี-ยงหนู (匈奴Xiōnɡnú) ต่อมาถูกราชวงศ์ฮั่นตีแตกพ่าย ชนส่วนหนึ่งหลุดพ้นจากการปกครองของชาติซี-ยงหนูอพยพไปทางทิศตะวันตกตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเขาเทียนซาน มณฑลซินเจียงในปัจจุบัน ต่อมาในสมัยสุยและสมัยถังตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาว เทอร์จิค ในปีที่ 22 รัชสมัยถังเจินกวาน (ปี 648) หัวหน้าเผ่าเสียเจี๋ยซือ (黠戛斯Xiájiásī) ขอเข้ามาสวามิภัคดิ์ต่อราชสำนักถัง เนื่องจากมีกำลังพลจำนวนนับแสน ร่วมมือกับราชสำนักถังปราบกบฏกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย จากนั้นก่อตั้งตนเป็นประเทศเสียเจี๋ยซือฮั่น (黠戛斯汗Xiájiásīhàn) ซึ่งเป็นประเทศที่มีสัมพันธ์อันดีกับราชวงศ์ถัง
ศตวรรษที่ 13 ชาวเคอร์กิสตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของราชสำนักหยวน และก่อตั้งเมืองขึ้นบริเวณแม่น้ำเย่หนีซาย ชื่อเมือง ว่านฮู่ (万户府Wànhùfǔ) เพื่อการก่อร่างสร้างเมือง ราชสำนักหยวนได้ส่งช่างและชาวนาจากภายในประเทศ และจากเมืองทางทิศตะวันตกเข้าไปยังเขตเชียนโจว (谦州Qiānzhōu) ปัจจุบันคือเมืองโบราณแถบลุ่มน้ำอูลูเคอมู่(乌鲁克木河Wūlǔkèmù hé) ภาษาจีนเรียกชื่อเมืองนี้ว่าเอ้ออีหม่าเค่อ(鄂依玛克Èyīmǎkè) โดยได้พัฒนาการผลิตเครื่องปั้นดินเผา การหลอมโลหะ การต่อเรือและงานหัตถกรรมขึ้นในชุมชนดังกล่าว สนับสนุนให้มีการก่อตั้งกองกำลังทหาร กองกำลังประชาชน พัฒนาการเกษตรโดยการสนับสนุนสัตว์เลี้ยงเพื่อการเกษตร เครื่องมือการเกษตร เครื่องนุ่งห่ม สร้างฉางข้าว สร้างโรงเกลือ พัฒนาการคมนาคม ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรมระหว่างชนเผ่า ทำให้การเกษตรในบริเวณจี๋ลี่จี๋ซือ (吉利吉思Jílìjísī) พัฒนารุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ในเวลาเดียวกันมีชาวจี๋ลี่จี๋ซือบางส่วนถูกอพยพโยกย้ายไปอยู่ในบริเวณตะวันออกเฉียง เหนือของลุ่มน้ำซงฮวา (松花江 Sōnɡhuājiānɡ) ซานตง (山东Shāndōnɡ) และบริเวณเมืองหลวงปักกิ่งในปัจจุบัน จากนั้นค่อยๆ หลอมรวมเป็นชนในพื้นที่นั้นๆ ไปในที่สุด


หลังจากราชวงศ์หยวนล่มสลาย อำนาจจากส่วนกลางของราชสำนักดูแลครอบคลุมไปไม่ถึงบริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเคอร์กิส จึงเกิดความวุ่นวายในดินแดนของชาวเคอร์กิสอยู่ตลอดเวลา เป็นเหตุให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวอพยพเข้าสู่ที่ราบสูงพามีร์ (帕米尔高原Pàmǐěr ɡāoyuán) และบริเวณป่าลึกของหุบเขาเทียนซาน (天山Tiānshān) หลังจากนั้นชาวเคอร์กิสต่อสู้และพยายามที่จะหลุดพ้นจากการปกครองของชนชาติ จุนการ์กุย(准噶尔贵族Zhǔnɡá’ěrɡuì Zú) ส่วนหนึ่งได้อพยพย้ายถิ่นฐานอีกครั้งหนึ่งไปยังตะวันออกกลางและตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเมืองทาสกาน(塔什干Tǎshíɡān) เฟร์กานน่า(费尔干纳Fèi’ěr ɡānnà) และเมืองใกล้เคียง อีกส่วนหนึ่งอพยพกระจัดกระจายไปตั้งถิ่นฐานใกล้กับบริเวณที่ราบสูงผูหมี่ร์ เขาซิงตูคูส (兴都库什山Xìnɡdōukùshí shān) และเขาคาลาคุนหลุน (喀喇昆仑山Kālākūnlún shān) จากชนเผ่าที่รวมตัวกันเป็นเอกภาพ แต่กลับต้องอพยพกระจัดกระจายไปในหลายพื้นที่ นานวันเข้าเกิดการหลอมรวมเข้ากับชนในพื้นที่ ทำให้จำนวนประชากรชาวเคอร์กิสลดจำนวนลงอย่างมาก


ด้านเศรษฐกิจและสังคม ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวเคอร์กิสดำรงชีวิตด้วยการทำปศุสัตว์เร่ร่อน ยังคงรักษาระบบสังคมแบบการปกครองตนเองในชนเผ่า หมู่บ้านขนาดใหญ่ที่สำคัญมี ชองปากาสือ(穷巴噶什Qiónɡbāɡáshí) เคอพูชาค (克普恰克Kèpǔqiàkè) ไน่หมาน (奈曼Nàimàn) เจียวอูซี (交务西Jiāowùxī) คูชิว (库秋Kùqiū) ชิลิค (奇里克 Qílǐkè) ทีอีท (提依特Tíyītè) เคอซัค (刻赛克Kèsàikè) ปูคู (布库Bùkù) ซาปากาสือ (萨尔巴噶什Sàěrbāɡáshí) ภายใต้หมู่บ้านมีครอบครัวใหญ่เรียกว่า อาอิ๋นเล่อ (阿寅勒 Ā yínlè) ที่ประกอบด้วยคนในสายตระกูลเดียวกันเป็นองค์ประกอบย่อย ในแต่ละอาอิ๋นเล่อ มีผู้อาวุโสที่สุดเป็นหัวหน้า ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการแบ่งเขตทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และตัดสินปัญหาข้อขัดแย้งภายในสายตระกูล


ในสมัยกว๋อหมินตั่งมีการจัดแบ่งส่วนการปกครองเป็นแบบตำบล อำเภอและเขต ระบบสังคมของชนเผ่าเคอร์กิสที่มีมาแต่เดิมจึงล่มสลายไป เพราะรัฐบาลไม่ยอมรับหัวหน้าหมู่บ้านที่แต่ละชนเผ่าเลือกขึ้นมาเอง แต่ถึงกระนั้นการปกครองแบบเดิมยังคงมีอิทธิพลต่อการปกครองภายในของชนเผ่าอยู่ อิทธิพลของการปกครองพื้นบ้านแบบเดิมปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในเรื่องของการยึดถือการมีชนชั้นในสังคม ความแตกต่างนี้เองส่งผลต่อการกดขี่แรงงาน การเกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน คนเลี้ยงสัตว์ไม่มีแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงเป็นของตนเอง ต้องไปรับจ้างชนชั้นคนรวยเลี้ยงสัตว์ เจ้าของฝูงสัตว์เป็นทั้งเจ้าของสัตว์และเจ้าของที่ดิน ชนชั้นศักดินาชั้นสูงยังต่อต้านระบบการปกครองของรัฐบาล มีอำนาจเหนือรัฐ ผลผลิตและรายได้ตกเป็นของชนชั้นนายทุน แต่คนจนถูกกดขี่แรงงานอย่างหนัก ไม่ได้รับผลกำไรหรือรายได้อย่างอื่น นอกจากค่าจ้างเล็กน้อยที่แทบไม่พอต่อการดำรงชีวิต


ในปี 1949 มณฑลซินเจียงได้รับการปลดปล่อย ชนเผ่าเคอร์กิสก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงและการปฏิวัติระบบสังคมและการปกครองแบบใหม่ ในปี 1954 รัฐบาลร่วมมือกับชนชาวเคอร์กิสก่อตั้งเขตปกครองตนเองเผ่าเคอร์กิสขึ้นที่เมืองเค่อจือเล่อซือ (克孜勒苏柯尔克孜自治州Kèzīlèsū Kē’ěrkèzī zìzhìzhōu) ได้สำเร็จ ชาวเคอร์กิสมีสิทธิในการปกครองตนเอง และสร้างคุณประโยชน์ใหญ่หลวงแก่ประเทศชาติ โดยรัฐได้ดำเนินจัดการให้ทุ่งหญ้าตาลีมู (塔里木Tǎlǐmù) ซึ่งเป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ทางตอนตะวันออกเฉียงใต้ของเขตปกครองตนเองเผ่าเคอร์กิสเป็นเขตทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ ส่วนบริเวณภูเขาจัดให้เป็นที่อยู่อาศัย ที่ราบลุ่มตามภูเขาน้อยใหญ่เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ขนาดเล็กที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านสามารถทำมาหากิน เลี้ยงตัวเองและดำรงชีวิตอยู่มาหลายชั่วอายุคน สัตว์เลี้ยงที่ชาวเคอร์กิสเลี้ยงได้แก่ แกะ ม้า อูฐ วัว จามรี เป็นต้น นอกจากการเลี้ยงสัตว์แล้ว ชาวเคอร์กิสยังประกอบอาชีพทางการเกษตรอย่างอื่นด้วย เช่น ปลูกพืชจำพวกแตง และผลไม้ต่างๆ เพื่อบริโภคในครัวเรือน


ช่วงก่อนปฏิวัติวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่และสภาพเศรษฐกิจของชาวเคอร์กิสเรียกได้ว่าอยู่ในสภาวะล้มละลาย ผลผลิตการเกษตรขาดแคลน ผลผลิตจากการเลี้ยงสัตว์ไม่มีที่จำหน่าย ไม่มีอุตสาหกรรมและการค้าขายใดๆ หลังการปฏิวัติวัฒนธรรม ด้วยความสนับสนุนและช่วยเหลือของรัฐบาล ประกอบกับความร่วมมือของชาวเคอร์กิส ร่วมมือกันพัฒนา ทำให้ระบบเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมของชาวเคอร์กิสพัฒนาดีขึ้นเรื่อยมา จนปัจจุบันชาวเคอร์กิสสร้างกิจการและโรงงานน้อยใหญ่ขึ้นมากมาย เช่น โรงงานถลุงเหล็ก ก๊าซธรรมชาติ เหมืองแร่ โรงกำเนิดไฟฟ้า โรงงานถ่านหิน โรงเลื่อยไม้ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลการเกษตร โรงงานประกอบอาหารสำเร็จรูป ส่วนอาชีพเลี้ยงสัตว์ที่มีมาแต่ดั้งเดิมได้รับการพัฒนาทางด้านความรู้ เทคนิควิธีการเลี้ยงสัตว์ จนพัฒนาไปสู่การทำการเกษตรแบบผสมผสาน ผลผลิตที่ได้มีปริมาณมากเพียงพอในการส่งออกจำหน่าย รัฐบาลสนับสนุนการสร้างเส้นทางคมนาคมเพื่อการขนส่งสินค้าออกสู่ภายนอก ส่วนภายในชุมชนการพัฒนาในด้านการศึกษา วัฒนธรรม สาธารณสุข และระบบการเงินได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว พื้นที่ที่เดิมเคยเป็นที่รกร้างว่างเปล่าได้รับการพัฒนาจนเป็นเมืองใหม่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น อาทูสือ (阿图什 Ā túshí) อาเหอฉี (阿合奇Ā héqí) อูเชี่ย (乌恰Wūqià) อาคถาว (阿克陶Ā kètáo) เป็นต้น


ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้วยชีวิตที่ผูกพันกับการเลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ ชาวเคอร์กิสจึงมีนิสัยร่าเริงเบิกบาน มีวัฒนธรรมที่งดงามและหลากหลาย มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่โดดเด่นได้แก่ เพลงพื้นเมือง กลอนเพลง และดนตรี กลอนที่ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือกลอนชื่อ หม่าน่าซือ 《玛纳斯》Mǎnàsī เป็นกลอนบันทึกประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงวีรบุรุษที่มุ่งมั่นต่อสู้ เพื่อปกป้องชนเผ่าเคอร์กิสจากการรุกรานของคนเผ่าอื่นด้วยความกล้าหาญและชาญฉลาด นอกจากนี้ชาวเคอร์กิสทุกคนชอบการร้องเล่นเต้นรำ มีนักประพันธ์เพลงที่มีชื่อเสียงของชาวเคอร์กิสที่เป็นที่รู้จักทั่วไปเช่น อาเคน (阿肯Ā kěn ) อีร์ชี (伊尔奇Yīěrqí) มานาซชี (玛纳斯奇Mǎnàsīqí) เป็นต้น เครื่องดนตรีประจำเผ่ามี พิณเป่า สามสาย แตร ซอ พิณเหล็ก แตรเขาวัวเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการละเล่นพื้นบ้านที่สื่อให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตที่มีมาแต่อดีต เช่น การแข่งม้าคล้องแกะ การเล่นมวยปล้ำ ชักคะเย่อ โล้ชิงช้า การเล่นซ่อนหา เป็นต้น


งานฝีมือของชาวเคอร์กิสก็มีเอกลักษณ์โดดเด่น ที่สำคัญและมีชื่อเสียงมากที่สุดคือการปักผ้า และการทอพรม ผ้าที่ใช้ในการแต่งกายหรือใช้ในชีวิตประจำวัน หญิงชาวเคอร์กิสจะปักลวดลายสวยงาม ลวดลายที่นิยมได้แก่ ดอกไม้ นก และลวดลายประดิษฐ์ต่างๆ สีสันสวยสดงดงาม พรมที่ปักโดยชาวเคอร์กิสมีลวดลายและสีสันสะดุดตา นอกจากใช้ปูพื้นแล้ว ยังใช้แขวนผนังตกแต่งได้เป็นอย่างดี สีที่ชาวเคอร์กิสชอบใช้ในการผลิตงานหัตถกรรมฝีมือได้แก่ สีขาว แดงและน้ำเงินเป็นสีหลัก โดยเฉพาะสีแดงเป็นสีที่ชาวเคอร์กิสโปรดปรานมากที่สุด
ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ชาวเคอร์กิสส่วนใหญ่ยึดถือการแต่งงานแบบสามีภรรยาเดียว แต่ชนชั้นคนรวยสามารถมีภรรยาหลายคนได้ ผู้ชายมีสิทธิเหนือผู้หญิง ผู้อาวุโสได้รับความเคารพและเชื่อฟัง ในสมัยโบราณมีวิธีการแต่งงานแบบการซื้อขายผู้หญิงมาเป็นภรรยา การแต่งงานพ่อแม่เป็นฝ่ายจัดการให้ การหมั้นหมายมีสามลักษณะคือ การหมั้นหมายตั้งแต่ตั้งครรภ์ การหมั้นหมายตั้งแต่ยังเด็ก และการหมั้นหมายเมื่อโตเป็นหนุ่มสาว สินสอดของหมั้นอย่างต่ำต้องมีสัตว์เลี้ยง 1 ชุด (1 ชุดเท่ากับ 9 ตัว) ไม่แต่งงานระหว่างญาติสายเลือดเดียวกัน แต่มีการแต่งงานระหว่างญาติร่วมสายตระกูล เช่น ลุง (พี่ชายพ่อ) กับ ป้า (พี่สาวแม่) หรือ อา (น้องชายพ่อ) กับ น้า (น้องสาวแม่) เป็นต้น และสามารถแต่งงานกับคนนอกเผ่าได้


ชาวเคอร์กิสยึดถือการเคารพซึ่งกันและกัน เมื่อพบเจอกัน ใช้มือทั้งสองข้างประสานที่ระดับอก แล้วค้อมตัวลงเป็นการแสดงความเคารพต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นคนรู้จักมักคุ้น หรือกับคนแปลกหน้า ล้วนแสดงความเคารพด้วยวิธีเช่นนี้


ชาวเคอร์กิสมีข้อกำหนดและยึดถือหลายอย่าง ที่สำคัญคือ การไม่กินเนื้อหมู เนื้อลา และเนื้อสุนัข รวมทั้งสัตว์เลี้ยงที่เสียชีวิตเอง และไม่กินเลือดสัตว์ทุกชนิด ห้ามการปัสสาวะอุจจาระใกล้บริเวณชายคาบ้านเรือน ในระหว่างพูดคุยห้ามสั่งน้ำมูก ห้ามขี่ม้าด้วยความเร็วมาหยุดลงหน้าบ้านเพราะเชื่อว่าจะเป็นการนำข่าวร้ายมาบอก ห้ามพูดโกหก ห้ามด่าทอ ห้ามพูดคำหยาบ และสาปแช่งผู้อื่น ก่อนกินข้าวต้องล้างมือให้สะอาด หลังกินข้าวน้ำที่ติดอยู่ที่มือห้ามสะบัด ต้องใช้ผ้าเช็ดให้แห้ง เมื่อไปเป็นแขกที่บ้านชาวเคอร์กิส การกินอาหารต้องเหลือติดจานไว้เล็กน้อย ห้ามกินจนเกลี้ยง เพื่อแสดงว่าเจ้าของบ้านต้อนรับอย่างเหลือกินเหลือใช้ ขณะที่แขกที่มาเยือนกำลังกินข้าว ห้ามมิให้คนอื่นเข้ามาในบ้านหรือมองดู เมื่อแขกจะจากไป จะต้องเดินหันหลังออกจากบ้าน


พิธีศพของชาวเคอร์กิสกระทำโดยการใช้ผ้าขาวพันรอบศพแล้วนำไปฝัง โดยกำหนดให้เพศชายเป็นผู้ส่งศพ


การแต่งกายของชาวเคอร์กิส ชายสวมหมวกที่ทำด้วยหนังสัตว์หรือผ้าสักหลาด หมวกมีลักษณะทรงสูงคลุมศีรษะ สองข้างยาวลงมาปิดหู สวมเสื้อคลุมยาวไม่มีปก แล้วสวมเสื้อกล้ามทับด้านนอก สะพายกระเป๋าย่าม และคล้องมีด ฤดูร้อนสวมเสื้อคอตั้ง ลำตัวยาวคลุมทั้งตัว ฤดูหนาวสวมกางเกงขากว้างอีกชั้นหนึ่ง สตรีสวมชุดเสื้อกระโปรงยาว สวมเสื้อกั๊กสีดำ บางท้องที่สวมเสื้อคอตั้งคลุมด้านนอก และสวมเครื่องประดับทั่วไป


เรื่องอาหารการกินชาวเคอร์กิสบริโภคเนื้อและนมที่ได้จากวัว แกะ ม้า และอูฐเป็นอาหารหลัก รวมถึงอาหารที่ทำจากแป้ง ชอบดื่มชาที่ได้มาจากพืชตระกูลเห็ดชนิดหนึ่ง บ้านเรือนของชาวเคอร์กิสสร้างด้วยไม้และหญ้า ฤดูร้อนอาศัยอยู่ในบ้านที่เป็นกระโจม ฤดูหนาวจะย้ายไปสร้างบ้านเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมพักหลบหนาวอยู่ในบริเวณหุบเขา


ความเชื่อและเทศกาลสำคัญ ชาวเคอร์กิสแต่เดิมบูชาโทเทม ที่สำคัญคือเสือดาวหิมะ และวัว นอกจากนี้ยังนับถือเทพธิดา “อูหม่าย” (乌买女神Wūmǎi nǚshén) บูชาบรรพบุรุษและเทพเจ้าธรรมชาติ เช่น เทพพระอาทิตย์ และมีความเชื่อว่าพระจันทร์เป็นดาวแห่งความอัปมงคล จนถึงสมัยราชวงศ์ชิงจึงเริ่มนับถือศาสนาอิสลาม นิกายสุหนี่ ส่วนชาวเคอร์กิสทางตอนใต้นับถือศาสนาซ่าหม่าน (萨满教Sàmǎnjiào) และมีบางส่วนนับถือศาสนาพุทธอย่างชาวทิเบต


เทศกาลสำคัญมี เทศกาลออกศีล (เทศกาล Eid ul Fitr หรือ Id UL Fiter) เทศกาลกุรปัง(古尔邦节Gǔ’ěrbānɡjié) เทศกาลนั่วหลู่จือ (诺鲁孜节Nuòlǔzījié) ชายหญิงสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ในงานเทศกาลสำคัญ ต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยเหล้า และน้ำชา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น