วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

47. 佤族ชนกลุ่มน้อยเผ่าว้า























ชาวว้าในประเทศจีนมีถิ่นฐานอยู่ในมณฑลยูนนาน ที่อำเภอซีเหมิง(西盟Xīménɡ) ชางหยวน(沧源Cānɡyuán) เมิ่งเหลียน (孟连Mènɡlián) นอกจากนี้ยังมีกระจายอยู่ตามอำเภออื่นๆอีกเช่น เกิ๋งหม่า(耿马Gěnɡmǎ) หลานชาง(澜沧Láncānɡ) ซวงเจียง(双江Shuānɡjiānɡ) เจิ้นคัง(镇康Zhènkānɡ) หย่งเต๋อ (永德Yǒnɡdé) ชางหนิง(昌宁Chānɡnínɡ) เหมิงห่าย(勐海Měnɡhǎi) เป็นต้น บริเวณดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ช่วงทิศใต้ของเทือกเขานู่(怒山Nùshān) ที่ติดต่อกับแม่น้ำหลานชาง[1](澜沧江Láncānɡjiānɡ) ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวว้า จึงเรียกชื่อบริเวณหุบเขาแห่งนี้ว่า “หุบเขาอาหว่า” (阿佤山区Ā wǎ shānqū) จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าว้า มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 396,610 คน พูดภาษาว้า จัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเซียติค สาขาภาษามอญเขมร แขนงภาษาว้า มีสามสำเนียงภาษาคือ ปาหราวเค่อ (巴饶克Bāráokè) อาหว่า (阿瓦Ā wǎ) และ หว่า (瓦wǎ) ไม่มีภาษาเขียน ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน อังกฤษและอเมริกาเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในเผ่าว้า ได้ประดิษฐ์อักษรภาษาว้าขึ้นเพื่อการแปลพระคัมภีร์ แต่ภาษาว้านี้ไม่เป็นที่นิยมใช้ ต่อมาปี 1957 รัฐบาลจีนส่งนักภาษาศาสตร์จีนไปลงพื้นที่และประดิษฐ์ภาษาว้าขึ้นโดยใช้อักษรลาติน ซึ่งใช้มาจนปัจจุบัน


“ว้า” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เก่าแก่มากกลุ่มหนึ่งในมณฑลยูนนาน เมื่อ 109 ปีก่อนคริสตกาล(สมัยฮั่นอู่ตี้ถึงสมัยหยวน) จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้(汉武帝Hàn wǔdì) ขยายอาณาเขตไปถึงบริเวณที่เป็นหุบเขาก้งซานในเขตประเทศเกาหลีฝั่งตะวันออกในปัจจุบัน ชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆเช่น ชาวว้า(佤Wǎ) ชาวปลัง (布朗Bùlǎnɡ) และชาวเต๋ออ๋าง(德昂Déánɡ) เป็นต้น ตกอยู่ในการปกครองดูแลของราชสำนักฮั่นนับแต่นั้นมา คริสต์ศักราช 69 (ราชวงศ์ตงฮั่น ปีหย่งผิง ที่ 12 ) ก่อตั้งแคว้นหย่งชาง (永昌Yǒnɡchānɡ) มีเมืองในปกครองคือเมืองหลินชาง (临沧Líncānɡ) ซือเหมา(思茅Sīmáo) และสิบสองปันนา (西双版纳Xīshuānɡbǎnnà) ซึ่งครอบคลุมดินแดนของเขตปกครองตนเองชาวว้าในปัจจุบันถึงสองแห่ง ในช่วงการครอบครองของราชสำนักเว่ยจิ้น (魏晋 Wèijìn) และหนานเป่ย (南北朝Nánběicháo) ราชสำนักฝั่งจงหยวน (中原王朝Zhōnɡyuán Wánɡcháo คือบริเวณที่ราบกลาง หมายถึงเขตทิศใต้ของแม่น้ำหวงเหอ รวมพื้นที่ส่วนใหญ่ของมณฑลเหอหนาน ตะวันออกของมณฑลซานตง รวมไปถึงภาคใต้ของมณฑลเหอเป่ยและส่านซีในปัจจุบัน) ได้ขยายอาณาเขตออกไปและได้ก่อตั้งแคว้นหย่งชาง (永昌Yǒnɡchānɡ) ขึ้นเป็นดินแดนในการปกครอง


ในสมัยถัง (唐代Tánɡdài) บรรพบุรุษของชาวว้าตกอยู่ในการปกครองของแคว้นน่านเจ้า (南诏Nánzhào) ในสมัยซ่ง(宋代Sònɡdài) ชาวว้าที่อาศัยอยู่ในแต่ละพื้นที่ถูกแบ่งพื้นที่ปกครองต่างๆกัน ชาวว้าเหนืออยู่ในการปกครองของจังหวัดหย่งชาง (永昌Yǒnɡchānɡ) แคว้นต้าหลี่ (大理Dàlǐ) ส่วนชาวว้าที่อยู่ในการปกครองของราชสำนักต่างๆก่อนหน้านี้ถูกจัดให้อยู่ในเขตปกครองของกองกำลังเจิ้นคัง(镇康Zhènkānɡ) และเมิ่งติ่ง(孟顶Mènɡdǐnɡ) ซึ่งจัดอยู่ในบริเวณจังหวัดซิงเซิ่ง (兴盛Xīnɡshènɡ) ของมณฑลยูนนาน จนถึงสมัยหมิง(明朝Mínɡcháo) มีการแต่งตั้งเจ้าแคว้นเมิ่งเหลียน (孟连Mènɡlián) ให้ดูแลปกครองพื้นที่ในกลุ่มชนชาวว้าซึ่งราชสำนักหมิงได้ก่อตั้งให้เป็นเขตการปกครองของราชสำนัก โดยแบ่งการปกครองออกเป็นสองส่วน ได้แก่ จังหวัดในการปกครองของราชสำนักเมืองเจิ้นคัง(镇康Zhènkānɡ) และจังหวัดในการปกครองของราชสำนักเมืองเมิ่งติ้ง(孟定Mènɡdìnɡ) จากนั้นได้ยกให้เมืองเมิ่งติ้งเป็นเมืองลูกขุนเกิ๋งหม่า (耿马Gěnɡmǎ) แต่บางครั้งก็เรียกชื่อเดิมว่าเมิ่งติ้ง จากนั้นเรื่อยมาจนถึงสมัยชิงมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการจัดแบ่งเขตการปกครองหลายครั้ง จนถึงรัชสมัยของพระเจ้ากวางซวี่ ปีที่ 30 (ตรงกับปี 1887) ได้มีการก่อตั้งแคว้นที่มีอาณาเขตขยายไปถึงเมืองลี่ทิง (隶厅Lìtīnɡ) มีอำนาจปกครองเมืองใหญ่น้อยต่างๆ เช่น เมิ่งเหลียน (孟连Mènɡlián) ซีเหมิง (西盟Xīménɡ) หลานชาง(澜沧Láncānɡ) ชางหยวน (沧源Cānɡyuán) เป็นต้น จนถึงยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน เมืองชางหยวน(沧源Cānɡyuán) เกิ๋งหม่า (耿马Gěnɡmǎ) ตั้งเป็นตำบล ส่วนเจิ้นคัง(镇康Zhènkānɡ) ซวงเจียง(双江Shuānɡjiānɡ) หลานชาง (澜沧Láncānɡ) รวมเอาเมืองเก่าเมิ่งเหลียนและซีเหมิงเข้าด้วยกันก่อตั้งให้เป็นอำเภอ
เกี่ยวกับเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัยและบรรพบุรุษของชาวว้านี้ ช่วงเวลาของการรวมประเทศจีนในสมัยฮั่นและจิ้น(汉晋Hàn Jìn) เรียกชื่อชนกลุ่มที่พูดภาษากลุ่มมอญเขมรว่า “ผู” (濮Pú) ชนกลุ่มนี้ส่วนมากมีถิ่นพำนักบริเวณที่ราบลุ่มกว้างใหญ่แถบลุ่มแม่น้ำหลานชาง (澜沧江Láncānɡjiānɡ) ตลอดแนวไปจนถึงทางตะวันตกของแม่น้ำ ตั้งบ้านเรือนอาศัยปะปนกับชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ หลายกลุ่ม เช่น ชาวไต(傣Dǎi) ชาวจ้วง(壮Zhuànɡ) เป็นต้น ในสมัยถังและซ่ง กลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณตะวันตกของแม่น้ำหลานชางมีชื่อเรียกต่างๆกัน เช่น วั่งหมาน (望蛮Wànɡ Mán) ผูจึหมาน (朴子蛮Pǔzǐ Mán) ชื่อโข่วผู (赤口濮Chìkǒupú) เฮยเฝินผู (黑焚濮Hēifénpú) ล้วนเป็นกลุ่มชนที่พูดภาษาสาขาว้าปะหล่อง (佤崩龙语支Wǎbēnɡlónɡ yǔzhī)ทั้งสิ้น ในสมัยหยวนชนกลุ่มผูหมาน[2] แบ่งออกเป็นสองกลุ่มย่อย คือ เซิงผู (生蒲Shēnɡpú หมายถึงผูดิบบางครั้งก็เรียกว่าเหย่ผู 野蒲Yěpú หมายถึงผูป่า) อีกกลุ่มหนึ่งคือ สูผู (熟蒲Shúpú หมายถึงผูสุก) ชาวเซิงผูที่อาศัยอยู่บริเวณเมืองเจิ้นคังและค่อนไปทางตะวันตกมีความใกล้ชิดทางสายเลือดกับชาวว้ามากที่สุด สามารถนับได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวว้า


ในสมัยหยวนและหมิง ชาวฮั่นอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเมืองเตียนซี(滇西Diānxī) จำนวนมาก ในขณะเดียวกันชาวไตก็มีอำนาจแข็งแกร่งขึ้น โดยมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่สิบสองปันนา(西双版纳Xīshuānɡbǎnnà)และเต๋อหง (德宏Déhónɡ) การอพยพเข้ามาของชาวไตและชาวฮั่น ด้านหนึ่งทำให้ชาวว้าอพยพถอยร่นไปรวมตัวกันอยู่ที่หุบเขาอาหว่า (阿佤山区Ā wǎ shānqū) ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ชาวว้าเริ่มมีปฏิสัมพันธ์และอยู่ร่วมปะปนกับชนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในบันทึกในสมัยหมิงและชิงมีคำเรียกกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำหลานชาง (澜沧江Láncānɡjiānɡ)และแม่น้ำนู่ (怒江Nù jiānɡ) หลายชื่อ โดยชื่อที่ใช้เรียกชาวว้า ได้แก่ กาหล่า (嘎喇Gālā ) กู่หล่า (古喇Gǔlā) ลาลา(喇喇Lālā) ฮาหว่า (哈瓦Hāwǎ) ข่าลาหว่า(卡喇瓦Kǎlāwǎ) ฮาลาหว่าง(哈喇枉Hālāwǎnɡ) และ ข่าหว่า(卡佤Kǎwǎ) เป็นต้น บันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชาวว้าในช่วงก่อนสมัยถังไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากนับตั้งแต่สมัยซีฮั่นมาจนถึงสมัยถัง กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณเตียนซี (滇西Diānxī) มีภาษาและชาติพันธุ์ใกล้ชิดกับชาวว้ามาก เช่น ชนกลุ่มปะหล่อง (崩龙Bēnɡlónɡ) และ ปลัง (布朗Bùlǎnɡ) ชาวว้าจึงมักถูกเรียกชื่อรวมกันและถูกเหมารวมว่าเป็นชนกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มชนดังกล่าว


ด้านเศรษฐกิจและสังคม เอกสารบันทึกทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยถังลงมาพบว่า อาชีพหลักของชาวว้าคือการล่าสัตว์ เก็บของป่า เลี้ยงสัตว์ บางพื้นที่เริ่มรู้จักทำการเพาะปลูกพืชเพื่อใช้เป็นอาหารแล้ว ตั้งแต่สมัยหมิงและชิงเป็นต้นมาเศรษฐกิจและสังคมของชาวว้าพัฒนาขึ้นจากเดิมมาก ระบบเศรษฐกิจและรายได้หลักของชาวว้าที่แต่เดิมได้มาจากการเก็บของป่าและล่าสัตว์ เปลี่ยนมาเป็นการเพาะปลูกพืชการเกษตร และปรับเปลี่ยนระบบที่ดินทำกินจากเดิมที่ทุกคนมีสิทธิทำกินในที่ดินเท่าเทียมกัน มาเป็นการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมกันเป็นกลุ่มชน แต่ด้วยเหตุที่วิทยาการด้านการเพาะปลูกยังล้าสมัย ยังไม่มีการใช้แรงงานสัตว์ ยังไม่มีเครื่องมือการเกษตรที่ทันสมัย การพัฒนาระบบเศรษฐกิจสังคมยุคนี้เป็นไปอย่างเชื่องช้า


นับจากศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา สังคมของชาวว้าเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ อันเนื่องมาจากมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันเกิดขึ้นในสังคมชาวว้าและกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในขณะเดียวกันการพัฒนาของสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันก็ชัดเจนขึ้น ยุคก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวว้าที่เมือง เจิ้นคัง (镇康Zhènkānɡ) หย่งเต๋อ (永德Yǒnɡdé) เถิงชง (腾冲 Ténɡchōnɡ) ชางหนิง (昌宁Chānɡnínɡ) จิ่งตง (景东Jǐnɡdōnɡ) ได้รับอิทธิพลทางสังคมจากชาวฮั่น ทำให้ระบบเศรษฐกิจสังคมของชาวว้าเริ่มปรับเข้าสู่ระบบศักดินา ส่วนชาวว้าที่อาศัยอยู่ตอนกลางของหุบเขาอาหว่า (阿佤山Ā wǎshān) ได้แก่ เมืองซีเหมิง (西盟Xīménɡ) และชางหยวน (沧源Cānɡyuán) ยังคงรักษาระบบสังคมแบบดั้งเดิมอยู่ แต่มีบางส่วนเริ่มปรับเข้าสู่การมีระดับชนชั้นทางสังคมบ้างแล้ว ชาวว้าที่ซีเหมิงปลูกข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก การเพาะปลูกใช้วิธีการหักร้างถางพงที่ดินทำกินและหว่านเมล็ดข้าวลงบนทุ่งนาแล้วปล่อยให้งอกเองตามธรรมชาติ ผลผลิตที่ได้ของแต่ละครัวเรือนไม่เท่ากัน ทำให้เริ่มมีความแตกต่างของชนชั้นคนรวยคนจนเกิดขึ้น คนจนเริ่มรับจ้างทำงานให้กับชนชั้นคนรวย เกิดระบบทาสขึ้นในสังคม


หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวว้าได้รับชีวิตใหม่ โดยรัฐบาลได้ก่อตั้งเขตปกครองตนเองชาวว้าขึ้นหลายแห่ง ดังนี้
1. ปี 1954 ก่อตั้งอำเภอปกครองตนเองชาวว้า ไต ลาหู่ขึ้นที่อำเภอเมิ่งเหลียน (孟连傣
族拉祜族佤族自治县Mènɡlián Dǎi Zú Lāhù Zú Wǎ Zú zìzhìxiàn)
2. ต่อมาในปี 1955 ก่อตั้งอำเภอปกครองตนเองไต – ว้าขึ้นที่อำเภอเกิ๋งหม่า (耿马傣族
佤族自治县 Gěnɡmǎ Dǎi Zú Wǎ Zú zìzhìxiàn)
3. ในปี 1964 ก่อตั้งอำเภอปกครองตนเองชาวว้าอำเภอชางหยวน(沧源佤族自治县
Cānɡyuán Wǎ Zú zìzhìxiàn)
4. ปี 1965 ก่อตั้งอำเภอปกครองตนเองชาวว้าขึ้นที่อำเภอซีเหมิง (西盟佤族自治县Xīménɡ Wǎ Zú zìzhìxiàn)


ภายหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และการได้มีสิทธิในการปกครองตนเองของชาวว้าเป็นต้นมา กิจการด้านการก่อสร้าง ตลอดจนการอาชีพของชาวว้าพัฒนาขึ้นมาก มีการพัฒนาที่ดินภูเขาให้เป็นพื้นที่เพาะปลูก การสร้างระบบน้ำ การพัฒนาวิทยาการทางการเกษตรที่ทันสมัยทำให้ผลผลิตที่ได้มีปริมาณมากขึ้นเป็นทวีคูณ เริ่มมีการสร้างระบบไฟฟ้า พัฒนาโรงงานผลิตอาหาร โรงงานผลิตเหล็กและโรงงานอุตสาหกรรมน้อยใหญ่มากมาย มีการพัฒนาระบบการจราจร การค้า การศึกษา สาธารณสุขเพื่อความอยู่ดีมีสุขของชนชาวว้า เดิมทีชาวว้าไม่รู้หนังสือ ปัจจุบันมีการก่อสร้างโรงเรียนประถมศึกษาหลายร้อยแห่ง เฉพาะที่อำเภอชางหยวน (沧源) มีมากถึง 200 แห่ง ลูกหลานชาวว้าได้รับการศึกษาจนถึงระดับมหาวิทยาลัย เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติ


ด้านศิลปวัฒนธรรม ชาวว้ามีวรรณกรรมมุขปาฐะที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมามากมายและมีรูปแบบหลากหลาย ที่น่าสนใจก็คือเรื่องราวที่เกี่ยวกับการกำเนิดพิภพ การเกิดและการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง การประกอบพิธีการแต่งงาน พิธีศพ และการประกอบอาชีพต่างๆ นับเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีวรรณกรรมโดดเด่นมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง วรรณกรรมประเภทนิทานปรัมปรา และตำนานพื้นบ้านมี เทพนิยาย นิทาน เพลงกลอน ปริศนาคำทาย สุภาษิตคำพังเพย โดยมากเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับสัตว์ ความสัมพันธ์ของสัตว์กับมนุษย์ มีการใช้กลวิธีการเปรียบเทียบแบบบุคลาธิษฐานเพื่อใช้เป็นคำสอนที่มีความลึกซึ้งกินใจเป็นอย่างมาก


นับตั้งแต่ปี 1965 เป็นต้นมา นักโบราณคดีสำรวจพบภาพเขียนฝาผนังอายุมากกว่า 3000 ปีจำนวนมากที่เมืองชางหยวน แม้จะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นฝีมือการวาดของบรรพบุรุษชาวว้า แต่การสื่อความหมายในภาพมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประวัติความเป็นมาของชาวว้าเป็นอย่างยิ่ง ภาพเขียนฝาผนังมีทั้งหมด 10 กลุ่ม รวมกันอยู่ตามแนวลุ่มแม่น้ำเหมิงเสิ่ง (勐省Měnɡshěnɡ) มีภาพหนึ่งวาดบรรยายเกี่ยวกับชุมชนโบราณ ซึ่งมีความสอดคล้องคล้ายคลึงกับชุมชนชาวว้าที่หุบเขาอาหว่า (阿佤山 Ā wǎshān) ไม่ผิดเพี้ยน จึงเป็นที่น่าเชื่อได้ว่าเป็นภาพเขียนของบรรพบุรุษชาวว้าซึ่งตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าวมาตั้งแต่บรรพกาลนั่นเอง


ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ชาวว้าในอดีตผู้ชายสวมเสื้อสีดำลำตัวสั้นและกางเกงขากว้าง หญิงสวมเสื้อคอกลม ผ้าถุงปักลายขวาง ประดับประดาด้วยเครื่องประดับที่ทำด้วยเงินหรือไม้ไผ่วาดลวดลายด้วยสีธรรมชาติ เครื่องประดับของชาวว้า เช่น สร้อย กำไล สร้อยรัดเอว สร้อยข้อเท้าเป็นต้น แต่ด้วยกระแสการพัฒนาของสังคมรอบนอก ชาวว้าเริ่มแต่งกายตามอย่างสมัยนิยม หรือตามอย่างชาวฮั่น ยังมีการแต่งกายแบบดั้งเดิมหลงเหลือให้เห็นในชุมชนชาวว้าที่อยู่ในชนบท หรือหุบเขาห่างไกล ผ้าที่นำมาตัดเย็บเสื้อผ้าชาวว้าทอขึ้นมาเองจากจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ปอ ฝ้าย เมื่อทอเป็นผ้าแล้วยังมีการปักลวดลายเพิ่มความสวยงามอีกด้วย ลวดลายที่นิยมได้แก่ ลายนกประเภทต่างๆ หรือสัตว์สวยงามที่มีอยู่ในธรรมชาติทั่วไป


บ้านเรือนของชาวว้าสร้างด้วยไม้ไผ่ ด้านหลังพิงเข้ากับเชิงเขาหรือหน้าผา ชุมชนชาวว้าที่หมู่บ้านซีเหมิง (西盟Xīménɡ) มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่าร้อยปีแล้ว บ้านเรือนของชาวว้าบางแห่งเปลี่ยนมาสร้างด้วยอิฐและปูนเพื่อความคงทนแข็งแรง โดยสร้างเป็นเรือนชั้นเดียว หากเป็นบ้านไม้ไผ่จะสร้างเป็นสองชั้น ชั้นล่างเป็นคอกสัตว์ ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย ภายในบ้านเป็นห้องโถงโล่ง วางสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น แต่ละครัวเรือนจะมีสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือเตาไฟเพื่อให้ความอบอุ่นกับทั้งคนแล้วสัตว์เลี้ยง และอีกอย่างที่ขาดไม่ได้คือแท่นบูชาเทพเจ้า ก่อนที่จะมีกระทะเหล็กเผยแพร่เข้ามาสู่ชุมชนชาวว้า เดิมทีชาวว้าใช้กระบอกไม้ไผ่หุงข้าว เวลากินข้าวแม่บ้านจะแบ่งข้าวให้เท่าๆกัน ตามจำนวนคน และแบ่งให้เสร็จในครั้งเดียว นอกจากนี้ชาวว้านิยมเคี้ยวหมาก ชอบดื่มสุรามากเป็นพิเศษ ถึงขั้นที่มีภาษิตว่า 无酒不成礼,说话不算数wú jiǔ bú chénɡlǐ,shuōhuà bú suànshù “ขาดสุราไร้พิธี ลั่นวจีมิครองสัตย์” เหล้าของชาวว้าหมักด้วยข้าวแดงในกระบอกไม้ไผ่ เมื่อเหล้าหมักได้ที่แล้วจะใช้ไม้ไผ่หลอดเล็กเป็นหลอดสำหรับดูดเหล้าดื่ม แขกที่ไปเยือนชุมชนชาวว้า จึงยากที่จะปฏิเสธการเชื้อเชิญของชาวว้าให้ร่วมดื่มด่ำสุรารสเลิศ นอกจากนี้ชาวว้ายังชอบดื่มชา ชาของชาวว้ารสชาติเข้มข้นมาก นอกจากนี้หนุ่มสาวชาวว้าชอบกินอาหารรสเผ็ด ในเทศกาลรื่นเริง การได้กินอาหารรสเผ็ดถือเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานรื่นเริงอย่างหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้เลย



ขนบธรรมเนียมการแต่งงานของชาวว้ายึดถือการแต่งงานแบบมีสามีภรรยาคนเดียว และอยู่อาศัยกันเป็นครอบครัวเล็ก การสืบทอดมรดกจะให้กับลูกชายคนเล็กเป็นผู้รับมรดก ส่วนลูกสาวไม่มีสิทธิ์รับมรดกใดๆจากพ่อแม่ การตั้งชื่อของชาวว้านิยมใช้คำในชื่อพ่อมาตั้งเป็นชื่อลูก เป็นโซ่คล้องกันไป ด้วยเหตุนี้สามารถสืบสาวขึ้นไปถึงบรรพบุรุษของตนเองได้ไม่ยาก ปัจจุบันชาวว้าสามารถสืบสาวไปถึงบรรพบุรุษรุ่นแรกที่สุดชื่อ “ซือกั่ง” (司岗Sīɡǎnɡ) มีความหมายว่า “ น้ำเต้า หรือ ถ้ำหิน” อันเป็นสัญลักษณ์การบูชาเพศแม่ในสมัยโบราณ เพราะถือว่าแม่เป็นผู้ให้กำเนิด หนุ่มสาวชาวว้าสามารถเกี้ยวพาราสี พูดจารักใคร่กันโดยอิสระ ส่วนมากจะรวมตัวกันในงานเทศกาลเพื่อร้องเพลงโต้ตอบกัน ใช้หมาก และดอกหญ้าเป็นสัญลักษณ์ในการบอกรักกัน แต่การแต่งงานต้องได้รับความเห็นชอบจากพ่อแม่ ฝ่ายชายมอบสินสอดเป็นวัวสองสามตัว เรียกว่าเป็น “ ค่าแม่นม ” และ “ ค่าลูกสาว” ในอดีตชาวว้านิยมแต่งงานในเครือญาติ คือ ลูกบ้านป้า (พี่สาวน้องสาวพ่อ) แต่งงานกับลูกบ้านลุง (พี่ชายน้องชายแม่) แต่ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมแล้ว


การประกอบพิธีศพ ชาวว้าประกอบพิธีศพที่เรียกว่า “ป๋าวจ้าง” (薄葬Báozànɡ) ชาวว้าเชื่อว่าคนเราเกิดมาไม่มีอะไร ตอนตายไปก็ไม่มีอะไรเช่นกัน จึงไม่มีพิธีกรรมใดๆ ชาวว้าจะห่อศพคนตายด้วยผ้าขาว หรือบางที่ก็ไม่ใส่เสื้อผ้าหรือพันผ้าให้ศพ แต่จะฝังศพด้วยร่างเปลือยเปล่าที่สุสานรวมของชุมชน บางพื้นที่ยังคงรักษาพิธีศพแบบดั้งเดิมคือ เมื่อมีคนตายจะนำไปฝังไว้ที่กอไผ่ หรือบริเวณใกล้เคียงกับกอไผ่
ด้านความเชื่อ ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวว้านับถือบูชาสรรพเทพตามธรรมชาติ เพราะเชื่อว่าภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ใหญ่ และทุกสรรพสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ล้วนมีวิญญาณและเทพซึ่งให้ทั้งคุณและโทษต่อมนุษย์สิงสถิตย์อยู่ เทพเจ้าที่ชาวว้านับถือสูงสุดชื่อว่า“มู่อีจี๋”(木依吉Mùyījí) เพราะเชื่อว่าเป็นผู้สร้างโลก เทพเจ้าองค์นี้มีลูกอยู่ 5 องค์ คือเทพเบิกนภา เทพฟ้าฟาด เทพพสุธากัมปนาถ เทพฟ้าร้อง และเทพบรรพบุรุษของชาวว้า มีชาวว้าบางท้องที่นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน บ้างนับถือพุทธนิกายหินยาน บ้างนับถือศาสนาพระเยซู


[1] แม่น้ำนี้ภาษาจีนเรียกชื่อว่า ซ่า เอ่อร์ เวิน (萨尔温江Sà’ěr wēn jiānɡ,Saraween) มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาถางกู่ลา (唐古拉山Tánɡɡǔlāshān) บนที่ราบสูงทิเบต ต้นแม่น้ำสายนี้เรียกชื่อว่า เฮยสุ่ยเหอ(黑水河hēishuǐhé,หมายความว่า แม่น้ำดำ) ชาวทิเบตเรียกชื่อเป็นภาษาทิเบตว่า ข่าลาฉวี่ (卡拉曲kǎlāqǔ) ไหลผ่านเขตปกครองตนเองทิเบต มณฑลเสฉวนเข้าสู่พื้นที่ตำบล อำเภอและเมืองต่างๆของมณฑลยูนนาน เช่น ก้งซาน(贡山ɡònɡshān) ฝูก้ง(福贡fúɡònɡ) หลูสุ่ย(泸水lúshuǐ) ป่าวซาน(保山bǎoshān ) เต๋อหง(德宏déhónɡ) ไหลเข้าสู่ประเทศพม่า แล้วไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดีย

[2] สมัยถังและซ่งใช้ชื่อว่า ผูจึหมาน (朴子蛮Pǔzǐ Mán) ในสมัยหยวนเรียกชื่อว่า ผูหมาน (蒲蛮Pú Mán)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น