วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

จากเพลงระบำเผ่าอี๋ถึงกุหลาบแดง9999ดอก



ความนำ

                ดนตรีของแต่ละชนเผ่าสะท้อนเอกลักษณ์ของตนได้อย่างน่าพิศวง  ผู้คร่ำหวอดในวงการดนตรีเมื่อได้ยินได้ฟังเพลงๆหนึ่งจะสามารถบอกได้ว่าเป็นเพลงของชนชาติใด เหมือนอย่างที่นักดนตรีไทยสามารถบอกได้ว่าเพลงไทยแต่ละเพลงเป็นเพลงสำเนียงภาษาใดด้วยเอกลักษณ์ทางระบบเสียง โครงสร้างและลีลาการบรรเลง วิวัฒนาการของดนตรีชนเผ่าบ้างสูญหายไป บ้างพัฒนาขึ้น   บ้างถ่ายเทสู่กลุ่มชนอื่น และด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ดนตรีพื้นเมืองอาจถูกโยกย้ายถ่ายเทหรือนำไปใช้ในรูปแบบอื่น ซึ่งในการนำไปใช้นี้ ผู้ที่นำไปประยุกต์ใช้หากใช้อย่างมีความรู้ความเข้าใจในดนตรีดั้งเดิม จะก่อประโยชน์ในแง่ของการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น แต่หากนำไปใช้อย่างขาดความรู้ หรือขาดความรับผิดชอบ จะเป็นการทำลายวัฒนธรรมอันดีงามที่สั่งสมกันมาหลายชั่วอายุคนลงอย่างน่าเสียดาย

จาก เพลงระบำเผ่าอี๋ ถึง กุหลาบแดง9999ดอก       

ภาพจาก

http://www.chinalxnet.com/images/attachement/jpg/site1/20090308/00219732c9820b1dc2c318.jpg

  ทำนองเพลงลูกทุ่งไทยหรือเพลงไทยสากลตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลหรือมีพื้นฐานมาจากเพลงและดนตรีพื้นเมืองและดนตรีไทย ดังจะเห็นได้ว่าทำนองเพลงลูกทุ่งไทยจำนวนมากนำทำนองของดนตรีไทยมาปรับปรุงแต่งเติม หรือไม่ก็แต่งเพียงคำร้องขึ้นใหม่ โดยใช้ทำนองดั้งเดิมเลยก็มี  ความหมายและอารมณ์เพลงที่สื่ออยู่ในบทเพลงไทยเมื่อนำมาแต่งเป็นเพลงลูกทุ่งบางครั้งยังสื่อความหมายดังเดิม เช่น เพลงลาวเสี่ยงเทียนเป็นเพลงบุษบาเสี่ยงเทียน เพลงนกเขาขะแมร์เป็นเพลงนกเขาคูรัก แต่บางครั้งก็นำมาเพียงทำนอง ส่วนคำร้องที่แต่งขึ้นใหม่ไม่มีความสัมพันธ์กับความหมายที่สื่อในทำนองเพลงเดิมแต่อย่างใดเช่น เพลงแขกยิงนกเป็นเพลงนัดพบหน้าอำเภอ เพลงทยอยยวนเป็นเพลงเรียกพี่ได้ไหมเป็นต้น   นอกจากนี้เพลงลูกทุ่งไทยยังได้รับอิทธิพลจากเพลงและดนตรีจากต่างประเทศอีกด้วย  ทำนองเพลงจากต่างประเทศที่รับมานั้นมีทั้งเป็นเพลงขึ้นใหม่และใช้ทำนองเพลงอื่นที่เคยมีมาก่อน และที่น่าสนใจก็คือ มีบางเพลงมีจุดกำเนิดเช่นเดียวกันกับเพลงลูกทุ่งไทย นั่นก็คือนำเค้าโครงทำนองหรือใช้พื้นฐานทำนองของดนตรีพื้นเมืองในชนชาตินั้นๆ
                เพลงยอดนิยมของจีนชื่อ 《九百九十九朵玫瑰》  “กุหลาบเก้าร้อยเก้าสิบเก้าดอก  ที่แต่งเนื้อร้องโดย Lin Linan (林利南) แต่งทำนองโดย Tai Zhengxiao (邰正宵) เรียบเรียงทำนองโดย  Tu Huiyuan(涂惠元)ศิลปินชาวไทยนำทำนองเพลงนี้มาแต่งเนื้อร้องเป็นภาษาไทย ให้ชื่อเพลงว่า  กุหลาบแดง  ขับร้องโดยคุณ ไก่ พรรณิภา  จากเนื้อหาเพลงเดิมภาษาจีน เก้าร้อยเก้าสิบเก้าดอกมาเป็น เก้าพันเก้าร้อยเก้าสิบเก้าดอกในภาษาไทย  เนื้อหาและอารมณ์เพลงไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก ยังคงกล่าวถึงและเปรียบเปรยความรัก ที่สวยงามหอมหวาน แต่แฝงไว้ด้วยหนามอันแหลมคมทิ่มแทงหัวใจกับดอกกุหลาบ  แต่ไม่ว่าเนื้อเพลงภาษาจีนไทยจะเปลี่ยนจากเก้าร้อยเก้าสิบเก้าดอกมาเป็นเก้าพันเก้าร้อยเก้าสิบเก้าดอก หรือว่าจะเปรียบเปรยความรักกับดอกกุหลาบเหมือนหรือต่างกันหรือไม่อย่างไรนั้น น้อยคนนักที่จะรู้ว่าต้นกำเนิดที่แท้จริงของเพลงทั้งสองเพลงนี้ มีเนื้อหาที่มาและเรื่องราวอย่างไร 
               เพลง ยอดนิยมของจีนชื่อ  “กุหลาบเก้าร้อยเก้าสิบเก้าดอกนี้  ผู้แต่งนำเอาทำนองเพลงพื้นเมืองมาปรับแต่ง  เพลงนี้เดิมคือ เพลง 《彝族舞曲》 เพลงระบำเผ่าอี๋ ชื่อภาษาจีนเรียกว่า อี๋จู๋อู๋ฉวี่ (Yi zu wu qu)เป็นเพลงของชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งในประเทศจีน ชื่อ เผ่าอี๋”  ชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน  มีจำนวนประชากรเป็นอันดับห้า จากทั้งหมด 56 ชนเผ่าในจีน  อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ของมณฑล ยูนนาน เสฉวน กุ้ยโจว และกวางสี ชนเผ่าอี๋มีนิสัยรักความสนุกนานรื่นเริง ใช้ไฟเป็นสัญลักษณ์ของการแสวงหาแสงสว่างและความเจริญรุ่งเรือง เทศกาลที่สำคัญของชนเผ่าอี๋คือ เทศกาลคบเพลิงไฟ เทศกาลนี้เป็นงานรื่นเริงที่จัดขึ้นในวันที่ 24 หรือ 25 เดือนมิถุนายนของทุกปี  งานนี้จัดในเวลากลางคืน ชาวอี๋จะก่อกองไฟขึ้น มือถือคบเพลิงล้อมรอบกองไฟ ร้องเพลงเต้นระบำอย่างสนุกสนาน  Tai Zhengxiao ผู้แต่งทำนองเพลง กุหลาบเก้าร้อยเก้าสิบเก้าดอก  นี้ เป็นศิลปินชาวไต้หวัน  มิได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่เคยสัมผัสกับชนเผ่าอี๋แต่อย่างใด  ทำนองเพลงดั้งเดิมของชนเผ่าอี๋  กลายมาเป็นเป็นเพลงยอดนิยมนี้ได้อย่างไร

               
                ในเดือน พฤษภาคมถึงตุลาคม ปี ค.ศ. 1956 Wang Huiran (王惠然) หัวหน้ากองดุริยางค์กรมการรักษาดินแดนได้ติดตามคณะผู้บัญชาการเพื่อเยี่ยมเยือนและให้ความบันเทิงแก่กองตำรวจตระเวนชายแดนที่เมืองเตียนหนาน ของมณฑลยูนนาน มีโอกาสสัมผัสกับวัฒนธรรมของชนเผ่าอี๋ ในคราวนี้เอง Wang Huiran ได้ประพันธ์เพลง โดยใช้เค้าโครงจากเพลงพื้นเมืองเดิมของชนเผ่าอี๋คือเพลง Hai cai qiang《海菜腔》และเพลง Yan he wu《烟盒舞》ตั้งชื่อเพลงใหม่นี้ว่า《彝族舞曲》 เพลงระบำเผ่าอี๋   เป็นเพลงเอกสำหรับบรรเลงเดี่ยวของเครื่องดีดจีนชื่อ ผีพา (Pipa 琵琶)
               เพลงนี้แต่งสำเร็จในปี ค.ศ. 1960 และบรรเลงสู่สาธารณชนครั้งแรกในงานดนตรีสาธารณะที่เมืองซานตง  ต่อมาได้บันทึกเสียงออกเป็นอัลบั้มเพลงบรรเลงเป็นครั้งแรก โดยสำนักบรรณาธิการดนตรีประชาชนแห่งปักกิ่งในปี ค.ศ.  1965โดยใช้เครื่องดนตรีผีพาบรรเลง  ต่อมาในปี ค.ศ. 1993 เพลงนี้ได้รับการยกย่องให้เป็น เพลงเอกในศตวรรษที่ 20ของจีน  ซึ่งถือเป็นเพลงแรกที่ได้รับรางวัลนี้นับตั้งแต่การปฏิวัติวัฒนธรรมจีนปี ค.ศ.1949 เป็นต้นมา   เพลงนี้บรรเลงและเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักดนตรีจีนมาจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1994  เพลง กุหลาบเก้าร้อยเก้าสิบเก้าดอกที่ระบุว่าร้องและแต่งทำนองเพลงโดยนักร้องยอดนิยมจากไต้หวัน Tai Zhengxiao โด่งดังขื้นและเผยแพร่สู่จีนแผ่นดินใหญ่ จึงเกิดกระแสการการฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์กันขึ้น
                ท่วงทำนองอันไพเราะงดงาม จังหวะอันครึกครื้น เร่งร้อน ของเพลงระบำเผ่าอี๋ บรรยายถึง ราตรีที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานรื่นเริง ระทึกกึกก้องไปทั่วท้องหุบเขาของชาวอี๋  เสียงดนตรีสะท้อนถึงกลิ่นไอและบรรยากาศที่สนุกสนานรื่นรมย์ของความเป็นชนเผ่าอี๋ได้อย่างน่าอัศจรรย์  หลังจากเพลงนี้บรรเลงออกสู่สาธารณชน  ก็ได้รับการตอบรับ ชื่นชมและชื่นชอบอย่างที่สุดในวงการดนตรีจีน มีการพัฒนาดัดแปลงเพื่อเป็นทางบรรเลงเดี่ยวของเครื่องดนตรีจีนอื่นๆ มากมาย เช่น กู่เจิง  พิณสามสาย ขิม แม้กระทั่งเครื่องดนตรีตะวันตกอย่างกีตาร์ก็ได้นำเพลงนี้มาดัดแปลงเป็นทางสำหรับบรรเลงเดี่ยว จนได้รับการยกย่องให้เป็นทางบรรเลงยอดเยี่ยมในงานศิลปกรรมดนตรีนานาชาติที่เมืองจูไห่  ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 1987 อีกด้วย
                เพลง ระบำเผ่าอี่มีสามท่อนตามรูปแบบโครงสร้างเพลงจีน คือ A-B-A  โน้ตที่ใช้ในเพลงนี้เป็นกลุ่มเสียง Pentatonic  5 เสียง อันเป็นเอกลักษณ์ของเพลงชนเผ่า และเอกลักษณ์ของดนตรีตะวันออก เสียงหลักของเพลงนี้ คือเสียง [ลาแต่แม้ว่าเพลงนี้จะใช้กลุ่มเสียง 5 เสียง  แต่มีการโหยเสียงไปใช้เสียง [ฟา และ ที] ด้วย การโหยเสียงของเพลงนี้เป็นเสียงที่ฟังดูแล้วแสดงถึงเสียงที่แว่วกังวานสะท้อนมาจากหุบเขาแดนไกล ที่บ่งบอกถึงความงดงาม ความสุข ความริสุทธ์ ความรื่นรมย์ ของชนเผ่าเล็กๆ เผ่าหนึ่ง อันเป็นเสียงที่น่าหลงใหล สะกดให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังไม่อาจละวางการกู่ก้องร้องเรียกของเสียงอันบริสุทธิ์นั้นได้เลย 
                โครงสร้างของเพลง A – B – A แบ่งเป็น ท่อน A1 ท่อน และท่อน A2   ท่อน A1 เป็นท่วงทำนองที่อ่อนโยน แช่มช้า บรรยายภาพชายชราเผ่าอี๋ที่นั่งอยู่ริมกองไฟในม่านอันมืดสนิทของราตรีกาลอย่างเดียวดาย เงียบเหงา  ทันใดภาพของความอ่อนหวาน งดงาม บริสุทธิ์ ของหนุ่มสาวชาวเผ่าอี๋ที่แต่งกายสวยงามเพื่อมาร่วมเทศกาลอันรื่นเริง ก็ฉายขึ้นมาในห้วงคำนึง  หวนให้รำลึกถึงความรื่นเริงของเทศกาลประจำชนเผ่า ทำนองหลักของท่อน A1 นี้ คือ

- - - ล
- - - ล
-ล - ด
--- ร
ด - ล
- -ล ล
-ท- ล
- ท ล ซ
- - -ล
- - ล ล
-ล-ซ
- - -╰
- รฺ - ม
- ม -ม
- ม- ม
- - - ซ
- - - ล
- ล - ล
- ด- ร
- - -
- ด - ล
- -ล ล
-ท- ล
- ท ล ซ
- รํ - -
- ร - ร
- ร - ท
- มฺ - ล
- ล- ล
- ล- ล
- - - ล
- - - ล
- - - -
- - - -
-ด-ล
-ซ-มฺ
- - - -
- - - -
- - -ซ
- ม - รฺ
- - - -
- - - -
- ม - ด
- ร - ม
- - - -
- - - -
- - - ร
- - - -
- - - -
- ด- ล
- ด -ร
- - - -
- - - -
- - - ม
- ซํ - ดฺ
หยุด
- ร - ท
- ล - ซ
- ม- ล
- - - -
- - - -
- - - -
- - - -
               
ท่อน B ของเพลงเป็นท่วงทำนองที่กระชับรวดเร็ว เร่าร้อนขึ้นมาอย่างกะทันหันทันที โดยค่อยๆ เร่งจังหวะจากช้าให้รู้สึกถึงเสียงที่กระหึ่มดัง แล้วเร่งให้เร็วขึ้น ๆ อย่างเร่าร้อน แสดงถึงการได้มารวมกันอย่างพร้อมเพรียง และร่วมกันเต้นรำ เพื่อเฉลิมฉลองในงานเทศกาลอย่างมีความสุข สนุกสนานครื้นเครงอย่างถึงที่สุด ทำนองเพลงในท่อน B นี้ แม้จะรวดเร็วแต่ก็ยังคงเสียงและทำนองหลักของท่อน A อยู่ ดังนี้

- - - ล
-ลลลด-ล
ดลซล
-ลลลด-ล
ดลซล
-ลลลล-ซ
ลซรฺม
-มมมม-ม
-ซ-ล
-ลลลด-รํ
มํรํดล
-ลลลด-ล
ดลซฺรํ
-รรรร -ท
ลซมฺล
-ลลลล-ล
- ล - ล
-ลลลล-ล
ลดมํรํ
-รรรร -ร
มรมซ
-รรรร -ร
มรดล
-ลลลล-ล
ดลดร
-ลลลล-ล
ดลซมฺ
-มมมม-ม
ซมซลรฺ
-รรรร -ร
มรมซ
-รรรร -ร
รมรดฺ
-ดดดด-ด
รดรม
-ดดดด-ด
มรดลฺ
-ลลลล-ล
- ล - ล
 - - - -
               
เมื่อเต้นรำสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจกันจนเหนื่อยอ่อนใกล้รุ่งสาง  ได้เวลาที่จะต้องแยกย้ายจากลาเพื่อพักผ่อน และดำเนินวิถีชีวิตตามปกติแล้ว  ทำนองเพลงในท่อน B กลับช้าลง ๆ มาบรรเลงซ้ำท่อน A อีกครั้ง เสียงดนตรีค่อยๆ จบลงอย่างช้า ๆ เงียบลงไปทีละนิด ๆ จนเสียงเพลงค่อยๆ จาง เลือนรางแผ่วหายลอยลับไป ราวประหนึ่งว่าชาวอี๋อาลัยอาวรณ์กับความสุข ไม่อยากให้ราตรีนี้ผ่านพ้นไป แต่รุ่งอรุโณทัยที่แย้มพรายส่องสว่าง ก็เป็นสัญญาณให้แต่ละคนต้องกลับไปพักผ่อนและกลับสู่วิถีชีวิตตามปกติอีกครั้ง กลับมาสู่ชายชราผู้มโนภาพถึงความรื่นเริง แต่กลับพบว่ามีเพียงตนเองเงียบเหงาเดียวดายอยู่ข้างกองไฟที่ลุกโชนเพียงลำพัง
                จะเห็นได้ชัดว่าเพลง กุหลาบเก้าร้อยเก้าสิบเก้าดอก ในภาคภาษาจีน ใช้ทำนองเพลง ระบำเผ่าอี๋ท่อน A มาแต่งเป็นทำนองหลักของเพลง ในท่อนที่ร้องว่า
 我早已为你种下              ฉันปลูกดอกไม้ไว้เพื่อเธอ
 九百九十九朵玫瑰 
            กุหลาบเก้าร้อยเก้าสิบเก้าดอก   
 从分手的那一天        
นับแต่วันนั้นที่เลิกรา
 九百九十九朵玫瑰      
กุหลาบเก้าร้อยเก้าสิบเก้าดอก   
 花到凋谢人已憔悴   
           ดอกไม้เหี่ยวเฉาคนเราก็อ่อนล้า
 千盟万誓已随花事淹灭
                หมื่นล้านสาบานพลอยโรยราร้างไป
เมื่อกลายมาเป็นเพลง กุหลาบแดง (เก้าพันเก้าร้อยเก้าสิบเก้าดอก) ในภาคภาษาไทยก็คือท่อนที่ร้องว่า
ปลูกกุหลาบแดงไว้เพื่อเธอ เก้าพันเก้าร้อยเก้าสิบเก้าดอก
บ่งบอกความจริงที่ยิ่งใหญ่บ่งบอกว่าใจฉันยังคงมั่น
พันปีหมื่นวันไม่เคยหน่าย ฟ้าดินสลายหัวใจมั่นรักเธอ

                ก็คือทำนองดั้งเดิมของเพลง ระบำเผ่าอี๋นั่นเอง      

                สิ่งที่น่าสนใจก็คือ มโนภาพที่บรรยายอยู่ในเพลง ระบำเผ่าอี๋คือความงดงาม ความรื่นรมย์ ความสุข สนุกสนาน แต่ผู้แต่งเพลง กุหลาบเก้าร้อยเก้าสิบเก้าดอก ในภาคภาษาจีน และ กุหลาบแดง (เก้าพันเก้าร้อยเก้าสิบเก้าดอก) ในภาคภาษาไทย กลับแปลความหมายทำนองที่ดูเชื่องช้านั้น เป็นความทุกข์ เศร้าโศกจากการสูญเสียความรักและการจากลา ดังในคำร้องภาคภาษาจีนตอนหนึ่งว่า
往事如风 痴心只是难懂    อดีตที่ผ่านเหมือนลม  ความลุ่มหลงยากที่จะเข้าใจ
借酒相送 送不走身影蒙蒙 
ดื่มให้ลืมเธอ  แต่ก็ลืมไม่ลงดั่งเงาติดตามเรื่อยไป
烛光投影 映不出你颜容   
แสงเทียนส่องสว่างเพียงไร  ก็มองไม่เห็นใจเธอสักที
仍只见你独自照片中     
ยังคงมองเห็นภาพเธอ
夜风已冷 回想前尘如梦   
ค่ำคืนอันเหน็บหนาว หวนคำนึงถึงอดีตที่ผ่านไปดังฝัน

เนื้อเพลงกุหลาบแดงในภาษาไทยตอนหนึ่งร้องว่า
โอ้กุหลาบแดง เป็นสื่อแห่งความรักเรา กลิ่นสียวนเย้า เร้าใจให้รักรัญจวน
หนามกุหลาบคม เผลอใจชมเจ้าเย้ายวน ถูกคมหนามร้องครางครวญ หัวใจสลาย
วันคืนล่วงเลย เห็นกุหลาบกลีบกระจาย ใจหายเสียดาย สิ้นสุดกันแล้วหรือเรา
อ้อนวอนเท่าไร เธอก็ไม่กลับหวนคืน ผิดที่ฉัน หรือว่าเธอ เป็นอื่นไปแล้ว


สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ เสียงเพลงแห่งความความสนุกสนานรื่นเริงของชนเผ่าอี๋กลับถูกคนเมืองมองว่าเป็นเรื่องเศร้า และระทมทุกข์  แต่ที่น่าเสียใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ชนเผ่าอี๋ถูกคนเมือง ขโมยความรักไป ทิ้งความขมขื่นไว้อย่างไม่ใยดี
หากตั้งคำถามว่า  การนำเอาเพลงพื้นเมืองมาแต่งเป็นเพลงลูกทุ่งหรือเพลงยอดนิยมจะมีส่วนร่วมอนุรักษ์เพลงพื้นเมืองไม่ให้สูญหายไปหรือไม่        ธรรมชาติของเพลงเหล่านี้ ได้รับความนิยมและโด่งดังเพียงยุคสมัยหนึ่งเท่านั้น  และมีอายุความนิยมไม่ยืนยาวมากนัก  เมื่อเวลาผ่านไปมีเพลงใหม่ได้ที่รับความนิยมมากว่าเข้ามาแทนที่ก็จะกลายเป็นเพลงเก่าที่นานๆครั้งอาจมีคนเอากลับ
มาร้องใหม่ แต่ส่วนมากมักหมดความนิยมและจะถูกลืมไปในที่สุด  หากจะกล่าวถึงแง่ดีก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเอาเสียเลย การที่เพลงยอดนิยมหรือเพลงลูกทุ่งนำเอาทำนองเพลงพื้นเมืองมาใช้นั้น ถือเป็นวิธีการที่ดีในการเผยแพร่เพลงพื้นเมืองให้เป็นที่รู้จักทั่วไป  แต่ผู้แต่งเพลงควรมีสำนึกรับผิดชอบในการยอมรับ และประกาศให้รู้ว่าไม่ใช่ทำนองที่แต่งขึ้นใหม่ หากแต่ปรับปรุงมาจากเพลงพื้นเมืองที่มีอยู่แล้ว  และการนำทำนองเพลงมาใช้นั้น ผู้แต่งเพลงสมัยใหม่ควรได้ศึกษาถึงเรื่องราว ความเป็นมาของเพลงดั้งเดิมด้วย เพื่อจักได้นำมาใช้ได้อย่างสอดคล้องและถูกต้อง   เช่นนี้นอกจากจะทำให้เพลงพื้นเมืองเป็นที่รู้จักแล้ว ในขณะเดียวกันผู้แต่งเพลงยังจะได้รับการยอมรับ และยกย่องอย่างภาคภูมิในฐานะที่เป็นผู้มีความรู้ในกระบวนเพลงพื้นเมืองอย่างถ่องแท้  ไม่ต้องถูกตำหนิจากสังคมในภายหลัง หากพบว่าเป็นการลอกเลียนแบบทำนองเพลงของผู้อื่น กระทั่งไม่ต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์อีกด้วย
บรรณานุกรม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น