วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

ผายเซียว เซิง หยวี : โหวดและแคนในแดนมังกร



            ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมีเครื่องดนตรีหลากหลายชนิด  ซึ่งนอกจากเครื่องดนตรีที่นับเป็นของชาวจีนหรือชาวฮั่นโดยเฉพาะแล้ว หากนับรวมถึงเครื่องดนตรีของชนกลุ่มน้อยในจีนซึ่งมีมากถึง 55 กลุ่มชาติพันธุ์แล้ว จะพบว่ายังมีเครื่องดนตรีรูปร่างแปลกตาอีกหลายร้อยชนิด มีวิธีการบรรเลงที่พิเศษมหัศจรรย์ ประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติและภูมิปัญญาที่น่าทึ่ง 
                การกำเนิดเสียงดนตรีของมวลมนุษยชาติไม่แตกต่างกัน มนุษย์ค้นพบการทำให้เกิดเสียงดนตรีสี่แบบคือ การดีดสาย การเสียดสี การกระทบกันของสิ่งของ และลม ซึ่งก็คือที่มาของวิธีการบรรเลงดนตรี ดีด สี ตี เป่า นั่นเอง  จะเห็นว่า ในบรรดาเครื่องดนตรีในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เครื่องเป่ามีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เพราะเป็นพื้นที่เขตร้อนชื้น เหมาะกับการเจริญเติบโตของพืชที่ใช้ทำเครื่องดนตรีประเภทเป่าเป็นอย่างยิ่ง นั่นก็คือ พืชตระกูล “ไผ่” ดังจะเห็นว่า เครื่องเป่าในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์นั้น มีต้นกำเนิดมาจากพืชที่มีต้นเป็นลำกล้องอย่างพืชตระกูลไผ่แทบเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งใช้บรรเลง พัฒนา วิวัฒนาการและสืบทอดมาให้เห็นจนปัจจุบัน
                วิวัฒนาการของเครื่องเป่าที่ทำจากพืชตระกูลไผ่โดยทั่วไป เริ่มแรกเป็นลักษณะของขลุ่ยหรือปี่เลาเดียว เสียงเดียว แล้ววิวัฒนาการโดยการเจาะรูเพื่อเพิ่มจำนวนเสียงให้มากขึ้น จากนั้นเริ่มมีการคิดค้นนำเอาขลุ่ยเลาเดียวเสียงเดียวมาประกอบเข้าด้วยกัน เกิดเป็นขลุ่ยหลายเลาหลายเสียง แต่ละเลามีเสียงสูงต่ำต่างกัน ตัวอย่างเช่นโหวดของอีสาน และประเภทหลายเลาประสานเสียงกัน เช่น แคนของอีสาน ต่อมาพบว่า การใส่ลิ้นเข้าไป ทำให้เสียงดังยิ่งขึ้น จึงเกิดเป็นเครื่องเป่าแบบมีลิ้นขึ้น
                ในประเทศจีน มีเครื่องเป่าที่มีวิวัฒนาการและมีลักษณะเหมือนอย่างโหวด และแคนของอีสาน  แม้จะมีลักษณะรูปร่างและวิธีการบรรเลงที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่หลักเกณฑ์และวิวัฒนาการของการกำเนิดเครื่องดนตรีชนิดนี้ไม่ต่างกัน บทความนี้นำเสนอเครื่องดนตรีประเภทเป่าที่พบในประเทศจีนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับ โหวด และแคนของอีสาน   เพื่อให้ผู้ศึกษาดนตรีได้ใช้เป็นข้อมูลในการค้นคว้าศึกษาและเปรียบเทียบถึงความสัมพันธ์ของเครื่องดนตรีประเภทนี้ต่อไป
ผายเซียว (Paixiao排箫)
            ผายเซียว(ขลุ่ยแผง)  ประกอบขึ้นจากไม้ไผ่ที่มีขนาดสั้นยาวต่างกัน  เรียงลำดับจากยาวไปสั้นต่อกันใช้เชือกหรือเส้นไผ่ร้อยเข้าเป็นแผง ใช้ไม้เนื้อแข็งเลี่ยมเป็นกรอบ  หากใช้ไม้ไผ่ที่มีขนาดความยาวเท่ากัน จะใช้วิธีการอุดรูไม้ไผ่  การอุดรูสูงต่ำไม่เท่ากันเกิดเป็นเสียงสูงต่ำต่างกัน   วิธีการเช่นนี้ทำให้ผายเซียวมีสองชนิด คือ ชนิดที่มีพื้นกับชนิดที่ไม่มีพื้น เรียกชื่อว่า ต้งเซียว (เซียวกลวง) กับ ตี่เซียว (เซียวตัน)
uploadpic-1023ในสมัยโบราณ ผายเซียวได้รับความนิยมเช่นเดียวกันกับระฆังราว ชิ่งราว  นับเป็นเครื่องดนตรีชั้นสูงชิ้นหนึ่งในเครื่องดนตรีราชสำนักหนานเป่ย  สุย และถัง  เมื่อปี ค.ศ. 1998 เดือนสิงหาคม การขุดค้นทางโบราณคดีสุสานเจิงโห้วอี่  ที่ตำบลสุย มณฑลหูเป่ย พบผายเซียว 2 ชิ้น รูปร่างงดงามเป็นพิเศษ คล้ายกับปีกหงส์   เป็นผายเซียวที่ประกอบด้วยไม้ไผ่เรียว 13 เลาที่มีขนาดความสั้นยาวต่างกันใช้เชือกไม้ไผ่ผูกเรียงกันเป็นแผง  ด้านนอกวาดลวดลายสวยงาม  ผายเซียวทั้งสองชั้นนี้ แม้จะมีรูปร่างคล้ายคลึงกัน แต่ความยาวของเลาไม้ไผ่ต่างกัน  เป็นผายเซียวตัวผู้ และตัวเมีย  ผายเซียวตัวผู้ยาวกว่าผายเซียวตัวเมียเล็กน้อย ในอดีตผายเซียวทั้งสองใช้บรรเลงคู่กัน สอดเสียงประสานเล่นคลอล้อกัน เปรียบเหมือนกับเสียงหญิงชายขับลำเพลงกลอนเกี้ยวกัน    เดิมทีเราจะพบผายเซียวที่ว่านี้ได้จากภาพวาดฝาผนังที่วาดในสมัยเว่ย จิ้นและหนานเป่ย  แต่หลังจากการพบโบราณวัตถุสมัยชุนชิวซึ่งมีอายุกว่า 2,400 ปี  จึงนับได้ว่า “ผายเซียว” ที่ขุดพบนี้นับหลักฐานชิ้นสำคัญสำหรับวงการดนตรีของจีนและของโลก
ในยุคที่สมัยราชวงศ์ถังรุ่งเรือง  ผายเซียวของจีนได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่ว ที่สำคัญเผยแพร่เข้าสู่ญี่ปุ่น ดังมีหลักฐานเป็นผายเซียวที่เผยแพร่เข้ามาตั้งแต่สมัยถังยังเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในวัดโทไดจิ (Todaiji) เมืองเก่านารา (Nara)  ในขณะนั้นมีบัญชีการรับบริจาคของวัดเรียกชื่อผายเซียวว่า กานจู๋ลวี่ (ทำนองไผ่หวาน) ภาษาญี่ปุ่นอ่านว่า Kannatiku no shou  ประกอบขึ้นด้วยไม้ไผ่เรียว 12 เลา ใช้ไม้จันทันหรือสายหนังผูกติดกันเป็นแผง  สูง 30.5 เซนติเมตร  อีกตัวหนึ่งประกอบขึ้นด้วยไม่ไผ่เรียว 7 เลา ความสูง 23.5 เซนติเมตร  แต่สภาพในปัจจุบันชำรุดไปมาก ภายในไม้ไผ่แต่ละเลาอุดด้วยกระดาษ  เพื่อใช้ปรับระดับเสียง  ต่อมาได้รับการซ่อมแซมให้มีสภาพสมบูรณ์ขึ้น แต่รูปร่างแตกต่างไปจากแบบเดิมในสมัยโบราณ  ที่สำนักวิจัยดนตรีปักกิ่งเก็บรักษาผายเซียวไว้หนึ่งชิ้น เป็นผายเซียวที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง (ปี 1736 - 1795)ประกอบขึ้นด้วยไม้ไผ่เรียว 16 เลา แต่ละเลาสลักชื่อเรียกเสียง(โน้ต) ลงบนไม้ไผ่   งานศิลปะประณีตงดงาม  กรอบไม้ครอบยังสลักเสลาเป็นรูปมังกรทองร่อนเมฆา แสดงออกถึงเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมแห่งเชื้อชาติจีนได้อย่างโดดเด่นชัดเจน  
 
                ในเดือนสิงหาคม ปี 1956 งานมหกรรมสัปดาห์ดนตรีครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่ปักกิ่ง  ที่ประชุมจัดงานมีมติให้ใช้ผายเซียวเป็นสัญลักษณ์ของงานในครั้งนั้นด้วย อันเป็นสัญลักษณ์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ทางดนตรีที่โดดเด่นของจีนที่สำคัญอย่างหนึ่ง 
เซิง (Sheng)
     เซิง  เป็นเครื่องเป่าที่เก่าแก่ของจีน  นับเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ลิ้นปี่แบบอิสระชนิดแรกของโลก และยังเป็นเครื่องดนตรีที่มีอิทธิพลต่อเครื่องเป่าตะวันตกในยุคต่อๆ มาอีกด้วย
ในปี 1978 มีการขุดค้นทางโบราณคดีที่สุสานเฉิงโห้วอี่ อำเภอสุย มณฑลหูเป่ย พบเซิงน้ำเต้าที่มีอายุมากกว่า 2,400 ปี  เป็นเซิงเก่าแก่ที่สุดที่มีอยู่ในปัจจุบัน
กระนั้นก็ตาม การกำเนิดของเซิงสามารถสืบสาวขึ้นไปยาวนานกว่านั้น คือเมื่อ 3,000 ปีก่อน เซิงได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว เซิงกับผายเซียว (ปี่แผง) มีความคล้ายคลึงกัน  คือไม่มีลิ้นปี่ และไม่มีกรวย  เพียงใช้เลาไม้ไผ่ที่มีเสียงต่างๆ กัน ใช้เชือกพันเข้าด้วยกันเป็นแผงเหมือนอย่างขลุ่ยแผง  ต่อมามีการเพิ่มลิ้น และใช้น้ำเต้าเป็นเป็นกรวยรวบเลาไม้ไผ่เข้าด้วยกัน เกิดเป็นเซิงที่มีรูปแบบอย่างในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เซิงและผายเซียว (ขลุ่ยแผง)   แตกต่างกันออกไปอย่างชัดเจน
กรวยของเซิงทำด้วยน้ำเต้า ปากเป่าทำด้วยไม้ เลาไม้ไผ่ที่มีเสียงต่างๆกันเรียงรายอยู่ในกรวยเป็นรูปกีบม้า ภายหลังสมัยถังเป็นต้นมา  นักดนตรีเปลี่ยนกรวยมาเป็นไม้ทั้งหมด  และวิวัฒนาการเรื่อยมาจนมีการใช้โลหะทำเป็นกรวยแทนไม้ ในขณะที่ลิ้นปี่ก็เปลี่ยนจากไม้ไผ่เป็นแผ่นโลหะแทนด้วย
ด้วยเหตุที่เซิงสืบทอดมายาวนานหลายยุคหลายสมัย  ทำให้รูปลักษณ์ของเซิงในแต่ละท้องที่มีต่างๆ กันไป เซิงแต่เดิมมีช่วงเสียงแคบ การบรรเลงไม่คล่องแคล่ว ไม่สามารถเปลี่ยนบันไดเสียงได้  แต่ภายหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน  คีตกรและช่างเครื่องดนตรีพยายามคิดประดิษฐ์และพัฒนาเซิงเรื่อยมา จนกระทั่งสามารถประดิษฐ์เซิงที่มีช่วงเสียงกว้างขึ้น เพิ่มก้านควบคุมเสียงเพื่อให้การบรรเลงคล่องตัวขึ้นด้วยเซิงมีน้ำเสียงใสดังกังวาน แต่เสียงประสานหวานนุ่มละมุนละไม  ช่วงเสียงกลางมีความนุ่มนวล ช่วงเสียงต่ำมีเสียงทุ้มนุ่มลึก เป็นเครื่องเป่าชนิดเดียวของจีนที่สามารถเป่าเสียงประสานได้  เมื่อใช้บรรเลงรวมวงกับเครื่องดนตรีอื่น จะทำหน้าที่เป็นตัวประสานเสียงของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดเข้าด้วนกันให้กลมกลืนนุ่มเนียน ในวงดนตรีพื้นเมืองขนาดใหญ่ จะใช้เซิงถึงสามตัวบรรเลง คือ เซิงใหญ่(เสียงต่ำ) เซิงกลาง(เสียงกลาง) และเซิงเล็ก(เสียงสูง)      
   หยวี  ( Yu )

             หยวี  คือ เครื่องเป่าโบราณชนิดหนึ่งของจีน นิยมแพร่หลายในยุคจ้านกว๋อและฮั่น ในบันทึก หานเฟยจื่อ - เจี๋ยวหล่าวกล่าวถึงหยวีไว้ว่า หยวี มีลำยาว 5 เสียง หยวีเกิดก่อน ระฆังและเส้อเกิดตามมา ใช้บรรเลงเพลงขับและรวมวงรูปร่างของหยวีคล้ายกับเซิง แต่มีขนาดใหญ่กว่า  ในศิลาจารึกภาพฝาผนังและเครื่องดนตรีหินจำลองสมัยราชวงศ์ฮั่น พบมีภาพเครื่องเป่าชนิดนี้อยู่เป็นจำนวนมาก จากบันทึกโจวหลี่ (บันทึกพิธีราชวงศ์โจว) ของเจิ้งเสวียนจู้  บันทึกซัวเหวินเจี่ยจื้อ (อักขราธิบาย) ของสวี่เซิ่น  พงศาวดารฟงสูทงอี้ (ขนบประเพณี) ล้วนมีบันทึกถึงหยวี  จากเอกสารประวัติศาสตร์ดังกล่าวสรุปความได้ว่า หยวี เป็นเครื่องดนตรีจำพวกน้ำเต้า เดิมมี 36 เลา ต่อมาลดลงเหลือ 23 เลา มีขนาดความยาว 78 เซนติเมตร  กรวยของหยวี (คือส่วนกระเปาะที่รวมหยวีแต่ละเลาเข้าด้วยกัน) และปากหยวีทำด้วยไม้  ทาสีแดงเข้ม  มีเลาเสียงทั้งหมด 22 เลา แต่ละเลาใช้ไม้ไผ่เล็กเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.8 เซนติเมตร  แท่งที่ยาวที่สุดยาว 78 เซนติเมตร เลาที่สั้นที่สุดยาว 14 เซนติเมตร เสียบเรียงรอบตามแนวขอบกรวย  แต่ละแถวมี 11 เลา ใช้ไม้ตอกมัดเข้าด้วยกัน ด้านปลายยอดอาจใช้ผ้าแพรผูกเป็นเครื่องประดับ  เลาที่อยู่ด้านหน้าเสียบเครื่องประดับที่ทำจากเขาสัตว์  ด้านล่างของเลาแต่ละเลามีรูสำหรับกด  ด้านข้างของกรวยมีรูสองรู เลาที่อยู่แถวหลังสองเลาขนานกันพอดี
                ที่พิพิธภัณฑ์วัดนาระโตะ  ประเทศญี่ปุ่น เก็บรักษาหยวีที่เผยแพร่เข้ามาตั้งแต่สมัยถังไว้ 3 ตัว  ในจำนวนนี้มีหยวีที่ทำจากไม้ไผ่อู๋ 2 ตัว ความยาว 87 และ 78.8 เซนติเมตร  ทำจากไม้ไผ่ลาย  1 ตัว ความยาว 91.8 เซนติเมตร  กรวยของหยวีทำด้วยไม้  ขัดสีชักเงา มีเลาทั้งหมด  17 เลา มีปากเป่ายาวเรียว มีลักษณะคล้ายกับเครื่องเป่เซิงในปัจจุบัน ในบันทึกราชวงศ์ถังเก่า ภาคดนตรี บันทึกไว้ว่า หยวี และเซิงในปัจจุบันนี้ ใช้ไม้ขัดสีชักเงาแทนน้ำเต้าแต่เดิมโรงงานผลิตเครื่องดนตรีที่เมืองซูโจวก็เคยประดิษฐ์หยวีเลียนแบบหยวีโบราณ 1 ตัว   
               
                บทสรุป ผายเซียว (ขลุ่ยแผง) เป็นเครื่องเป่าที่เดิมทีเป็นขลุ่ยเลาเดียวเสียงเดียวไม่มีลิ้น นำมาเรียงต่อกันโดยใช้ขนาดความสั้นยาวของเลาเป็นตัวกำหนดความต่ำสูงของเสียงตามลำดับ วิธีการเป่าคือเป่าด้านบน โดยเลื่อนขลุ่ยในลักษณะโค้งไปมาเพื่อเป่าเสียงที่ต้องการ โดยหลักการแล้ว หากพิจารณาจากลักษณะและวิธีการบรรเลงของเครื่องดนตรีชนิดนี้คล้ายคลึงกับเครื่องเป่าในวงดนตรีอีสานคือ “โหวด”
                ส่วนเซิงและหยวี่ เป็นเครื่องเป่าที่รวบเอาขลุ่ยเลาเดียวหลายๆระดับเสียงไว้ในกรวยเดียวกัน กรวยทำหน้าที่เป็นกะเปาะเก็บลมแล้วกระจายผ่านไปสู่เลาแต่ละเลาพร้อมกัน แต่ละเลามีรูสำหรับกดบังคับลมเพื่อบังคับระดับเสียง การปิดเปิดนิ้วที่ควบคุมเสียงประจำแต่ละเลาเป็นการบังคับเสียงประสานของเครื่องเป่าชนิดนี้ โดยหลักการแล้ว หากพิจารณาจากลักษณะของเครื่องดนตรีและวิธีการบรรเลงคล้ายคลึงกับเครื่องเป่าในวงดนตรีอีสานคือ “แคน” นั่นเอง    

เอกสารอ้างอิง
高厚永《民族器乐概论》台北:丹青图书有限公司,1986
简裝本《中华乐器大典》北京:民族出版社,2002
民族音乐研究所《中国历代乐器说明》(附图片)北京:中央音乐学院,1956
    《中国古代音乐史简编》上海:上海音乐出版社,1989
杨荫浏《中国古代音乐史稿》(上、下册)北京:人民音乐出版社,1981
Lee Yuan-Yuan and Shen, Sinyan. Chinese Musical Instruments (Chinese Music Monograph
           Series). Chinese Music Society of North America Press. 1999.
Shen, Sinyan. Chinese Music in the 20th Century (Chinese Music Monograph Series). Chinese
            Music Society of North America Press. 2001.

ผายเซียว (ขลุ่ยแผง)

เซิง

หยวี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น