วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

ขลุ่ยจีนแบบเป่าแนวขวางและแบบเป่าแนวตั้ง



ขลุ่ยจีนแบบเป่าแนวขวางและแบบเป่าแนวตั้ง

ภาพจาก 

http://www.yqyjy.com/upload_tp/20091025172714235.jpg


เครื่องเป่าจำพวกขลุ่ยของจีนที่ทำจากเลาไม้ไผ่มีสองประเภทหลัก ๆ คือ ขลุ่ยที่เป่าลมจากปลายยอดด้านบน และขลุ่ยที่ผิวลมจากรูด้านข้าง ด้วยข้อแตกต่างของวิธีการเป่านี้เอง ทำให้ลักษณะการตั้งเลาขลุ่ยต่างกัน คือมีแบบตั้งกับแบบขวาง แต่ด้วยเหตุที่ขลุ่ยทั้งสองชนิดมีหน้าตาไม่ต่างกันมาก จึงทำให้เกิดความสับสนในชื่อเรียกของขลุ่ย แม้แต่ชาวจีนเองก็แยกไม่ออกว่าขลุ่ยทั้งสองชนิดนี้ แบบที่เป่าแนวตั้งเรียกว่าอะไร และแบบที่เป่าแนวนอนเรียกว่าอะไร จนต้องคิดสำนวนเพื่อเรียกชื่อและวิธีเป่าขลุ่ยทั้งสองชนิดนี้ว่า “横吹笛子竖吹箫” อ่านว่า เหิงชุยตี๋จื่อ ซู่ชุยเซียว หมายความว่า ขวางเป่าตี๋จื่อ ตั้งเป่าเซียว  ตัดปัญหาความสับสนเรื่องชื่อเรียกกับวิธีการเป่าไปได้
แต่ปัญหาของนักฟังดนตรี ก็คือ ตี๋จื่อ กับ เซียว มีเสียงต่างกันหรือไม่ และต่างกันอย่างไร
คำตอบคือ ขลุ่ยทั้งสองชนิดมีเสียงต่างกัน
ตี๋จื่อ มีเสียงหวีดหวิว กังวานใส จากทั้งลมที่ผิวจากปาก และลักษณะของขลุ่ย คือ ลมถูกผิวเข้าเลาขลุ่ยโดยตรง แล้วผ่านไปตามเลาขลุ่ยที่โล่งเปล่า มีเพียงนิ้วมือปิดเปิดบังคับทิศทางลมเพื่อกำหนดเสียงสูงต่ำเท่านั้น เสียงจึงมีความดัง สูง และแหลมมากเป็นพิเศษ 
เซียว มีเสียงนุ่มนวล เบาพลิ้ว สุขุมเหมือนกับขลุ่ยไทย เพราะเป่าจากรูด้านบน  ลมเป่าจากด้านบน กระจายเข้าเลาขลุ่ยผ่านไปตามเลาโล่งเปล่า ที่มีรูเรียงจากบนลงล่าง การปิดเปิดของนิ้ว ช่วยบังคับเสียงให้เกิดเป็นโน้ตสูงต่ำ  


    ตี๋จื่อ 笛子  
ภาพจาก
ตี๋จื่อ หรือขลุ่ยผิว  เป็นเครื่องเป่าแนวขวางชนิดหนึ่งของจีนที่นิยมแพร่หลายมาก   เนื่องจากเป็นเครื่องดนตรีที่ทำจากไม้ไผ่ บางครั้งเรียกชื่อว่า จู๋ตี๋(ขลุ่ยไม้ไผ่)
ตี๋จื่อทำมาจากไม้ไผ่ที่สกัดปล้องด้านในออกให้เป็นท่อกลวง เจาะรูสำหรับเป่า 2 รู และรูปิดเยื่อไผ่ 1 รู มีรูกดบังคับระดับเสียง 6 รู  รูที่อยู่ด้านบนสุดคือรูสำหรับเป่า  การบรรเลงตี๋จื่อจะเป่าในแนวขวาง โดย

ผู้บรรเลงจะผิวลมเข้าทางรูเป่า กระแสลมสั่นสะเทือนภายในเกิดเป็นเสียงดังขึ้น  รูถัดลงไปคือรูปิดเยื่อไผ่ โดยจะใช้เยื่อไผ่หรือเยื่อหวายบาง ๆ ปิดรู  การสั่นสะเทือนของเยื่อไผ่เวลาที่เป่าลมเข้านี้จะให้ตี๋จื่อมีเสียงไพเราะนุ่มนวล
ตี๋จื่อ สามารถประดิษฐ์ให้มีเสียงประจำตัวได้หลายเสียงตามแต่ความต้องการในการบรรเลง แต่ที่นิยมคือเสียงปิดทุกรูเป็นเสียง G การบังคับเสียงของตี๋จื่อ เป็นตามผังเสียงต่อไปนี้ วงกลมดำหมายถึงปิดสนิท วงกลมขาวหมายถึงเปิด ดำขาวครึ่งวงกลมหมายถึงปิดครึ่งรู
ตี๋จื่อ แม้จะมีขนาดเล็ก และมีองค์ประกอบง่าย ๆ แต่ก็เป็นเครื่องดนตรีที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 7 พันปี  ราว 4,500 ปีก่อน ตี๋จื่อที่เดิมทำด้วยกระดูกสัตว์ เปลี่ยนมาใช้ไม้ไผ่แทน ในรัชสมัยพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ คือช่วงก่อนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 1 ตี๋จื่อมีชื่อว่า เหิงชุย   (หมายความว่า เป่าขวาง เนื่องจากท่าทางการเป่าขลุ่ยชนิดนี้คือผู้บรรเลงถือขลุ่ยในแนวขวาง)  เป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญชนิดหนึ่งในวงปี่กลอง ซึ่งเป็นวงดนตรีหลักในยุคนั้น นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 เป็นต้นมา  ตี๋จื่อมีการพัฒนาขึ้นอีกระดับหนึ่ง มีการเพิ่มรูปิดเยื่อไผ่ เพิ่มความหลากหลายทางเสียงให้กับตี๋จื่อ รวมทั้งวิธีการบรรเลงก็พัฒนาขึ้นมากเช่นกัน จนถึงศตวรรษที่ 10 เพลงขับราชวงศ์ซ่งและเพลงกลอนราชวงศ์หยวนพัฒนาขึ้น  ได้นำเอาตี๋จื่อมาเป็นเครื่องดนตรีหลักบรรเลงประกอบการแสดงทั้งสองอย่าง ตี๋จื่อ จึงกลายเป็นที่นิยมชมชอบของผู้คนอย่างกว้างขวาง วงดนตรีพื้นเมือง การขับร้อง การแสดงพื้นเมืองต่างๆ ล้วนต้องมีตี๋จื่อทั้งสิ้น
ตี๋จื่อสามารถบรรเลงอารมณ์ได้หลากหลาย  นอกจากจะสามารถบรรเลงเสียงที่มีความยาวและเสียงสูงได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังสามารถบรรยายอารมณ์เพลงได้พรุ่งพรู  ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถบรรเลงทำนองเพลงที่กระชับ กระฉับกระเฉงรวดเร็วอย่างเพลงเต้นรำต่างๆได้เป็นอย่างดีอีกด้วย  ที่สำคัญ ตี๋จื่อไม่เพียงเป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงท่วงทำนองแว่วหวานไพเราะ แต่ยังสามารถบรรเลงเลียนเสียงธรรมชาติต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเสียงนกต่างๆ
ตี๋จื่อไม่เพียงมีเทคนิควิธีการบรรเลงและกลเม็ดที่แพรวพราว แต่ยังมีรูปแบบและชนิดที่หลากหลายตามความต้องการใช้งานด้วย เช่น ฉวี่ตี๋ (ขลุ่ยเพลง)  ปังตี๋ (ขลุ่ยเกราะ) ติ้งเตี้ยวตี๋ (ขลุ่ยตั้งเสียง)  เจียเจี้ยนตี๋ (ขลุ่ยเพิ่มปุ่มกด)  ยวี่ผิงตี๋ (ขลุ่ยลิ้นหยก)  ชีข่งตี๋ (ขลุ่ยเจ็ดรู)  สืออีข่งตี๋ (ขลุ่ยสิบเอ็ดรู)  เป็นต้น  ความนิยมแพร่หลายของตี๋จื่อในแต่ละท้องที่ทำให้พัฒนาความเป็นเอกลักษณ์ที่หลากหลายต่างๆกัน สามารถแบ่งออกเป็นสองทางขลุ่ยใหญ่ ๆ   คือทางขลุ่ยสำนักเหนือ และทางขลุ่ยสำนักใต้
ทางขลุ่ยสำนักใต้มีท่วงทำนองหวาน สูงส่ง งดงาม  ขลุ่ยที่สำนักใต้นิยมใช้คือ ฉวี่ตี๋ (ขลุ่ยเพลง)  ซึ่งเป็นขลุ่ยที่มีขนาดใหญ่และยาว น้ำเสียงทุ้มต่ำ นุ่มนวล  แต่แว่วหวานกังวานใส  นิยมแพร่หลายในแถบบริเวณเจียงหนาน
ทางขลุ่ยสำนักเหนือมีท่วงทำนองแข็งกร้าว ดุดัน  ขลุ่ยที่สำนักเหนือนิยมใช้คือ ปังตี๋ (ขลุ่ยเกราะ)  เป็นขลุ่ยที่มีรูปร่างเรียวเล็ก  เสียงสูงแหลม เป็นที่นิยมแพร่หลายแถบภาคเหนือของจีน

เซียว
ภาพจาก

http://www.ypxd.com/pic/digi/2008418155240553.jpg


 
             เซียว  หรือขลุ่ยเป่า เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ต้งเซียว เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่าแนวตั้งที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งของจีน เซียวเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ชาวจีนมานานนับพันปีแล้ว  การกำเนิดและที่มาของเซียวมีจุดเริ่มต้นมาจากเครื่องเป่าชนิดหนึ่งชื่อ ผายเซียว (ขลุ่ยแผง)  ในยุคที่ผายเซียวเริ่มกำเนิดขึ้นนั้น ผู้คนเรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า เซียว จากนั้นผู้คนพบว่าในเซียวแต่ละตัว หากเจาะรูเพิ่มขึ้นให้มีระยะห่างต่าง ๆ กัน  จะสามารถให้กำเนิดเสียงที่แตกต่างกันได้  จากนั้นเซียวที่เดิมประกบกันเป็นแผง แต่ละตัวมีเพียงเสียงเดียว วิวัฒนาการมาเป็นเซียวเดี่ยวที่แต่ละตัวให้เสียงได้หลายเสียงโดยการเจาะรูหลายรูบนเซียว 1 ลำ
                เซียวอย่างในปัจจุบันเริ่มปรากฏรูปร่างขึ้นมาตั้งแต่สมัยฮั่นแล้ว  แต่ในขณะนั้นเรียกชื่อว่า เชียงตี๋เชียงตี๋เดิมเป็นเครื่องดนตรีประจำเผ่าชนกลุ่มน้อยเผ่าหนึ่งชื่อ ชาวเชียง อาศัยอยู่แถบมณฑลเสฉวน และมณฑลกานซู่  นิยมแพร่หลายสู่ชุมชนแม่น้ำฮวงโหในช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 1 วิวัฒนาเรื่อยมาจนมีรูบังคับเสียง 6 รู ซึ่งเป็นลักษณะของเซียวอย่างที่พบในปัจจุบัน
                โครงสร้างของเซียวไม่ซับซ้อน  รูปร่างคล้ายกับตี๋จื่อ  ทำจากไม้ไผ่ม่วง ไผ่เหลืองหรือไผ่ขาว  ลำตัวมีความยาวกว่าตี๋จื่อเล็กน้อย  ยอดเซียวใช้ข้อไม้ไผ่ปิดปากลำ  ปลายยอดมีรูสำหรับเป่า ด้านหน้ามีรูบังคับเสียง 7 – 8 รู แต่ที่นิยมและใช้เป็นมาตรฐานทั่วไปมี 6 รู รูของเซียวเจาะตามแนวยาวของลำไม้ไผ่   ด้านหลังบนมีรูสำหรับนิ้วหัวแม่มือปิด 1 รู  ด้านหลังล่างมีรูอีก 3 4  รู เป็นรูที่ใช้สำหรับปรับความแม่นยำ ความไพเราะ และความดังของเสียงเซียว   
เสียงประจำตัวของเซียวมีหลายเสียงตามความต้องการบรรเลง แต่ที่นิยมและใช้เป็นมาตรฐานคือ เซียวเสียว G  วิธีการกดปิดรูเพื่อให้ได้เสียงต่างๆ แผนผังเสียงต่อไปนี้บอกการปิดรูบังคับเสียงของเซียวห้าชนิด เรียงลำดับจากช่องซ้าย(ช่องที่2)ไปขวา คือ เซียวเสียงซอล เซียวเสียงเร เซียวเสียงโด เซียงลา เซียวเสียง  วงกลมดำหมายถึงปิดสนิท วงกลมขาวหมายถึงเปิด ดำขาวครึ่งวงกลมหมายถึงปิดครึ่งรู
                เสียงของเซียวมีน้ำเสียงนุ่ม สูงส่ง ช่วงเสียงต่ำลึกล้ำ บรรเลงเสียงเบาแผ่วผิวได้อ่อนโยนยิ่งนัก  ช่วงเสียงกลางมีน้ำเสียงกลมกล่อม ไพเราะพลิ้วไหว วิธีการบรรเลง การใช้นิ้วของเซียวไม่แตกต่างจากการบรรเลงตี๋จื่อมากนัก  แต่ความคล่องแคล่วว่องไวยังน้อยกว่าตี๋จื่อ  ไม่เหมาะกับการบรรเลงบทเพลงที่มีทางเก็บมาก ๆ  เหมาะกับการบรรเลงบทเพลงทางกรอที่เชื่องช้า นุ่มนวล ให้อารมณ์เงียบสงบ  มักใช้บรรยายความงดงามของธรรมชาติ และภาวะอารมณ์ของมนุษย์  เซียวสามารถใช้บรรเลงเดี่ยว บรรเลงร่วม และบรรเลงประกอบเครื่องดนตรีอื่น โดยเฉพาะในวงดนตรีไม้ไผ่ของเจียงหนาน วงเพลงใต้ของสำนักฝูเจี้ยน เพลงสำนักกวางตุ้ง นอกจากนี้ยังใช้บรรเลงประกอบการแสดงพื้นเมืองในบางท้องที่ด้วย
                เซียวมีหลายชนิด แต่ที่ได้รับความนิยมและรู้จักกันแพร่หลายได้แก่ เซียวไม้ไผ่ม่วง  เซียวลิ้นหยก และเซียวเก้าข้อ
                เพลงเอกของเซียว เช่น ผิงซาลั่วเยี่ยน (หงส์ร่อนหาดทรายทอง)  เป็นท่วงทำนองเพลงที่ทั้งแผ่วโผย ทั้งกระชั้น บรรยายภาพห่านป่าโบยบินอยู่บนท้องนภา  นอกจากนี้ยังมีเพลง เทียนถังเหนี่ยว (วิหคสวรรค์)  เซียวฉวี่เสิน (เทพเพลงเซียว) เป็นต้น 
            ข้างท้ายนี้เป็นตัวอย่างเพลงเอกที่ตี๋จื่อและเซียวนิยมใช้บรรเลง ชื่อเพลง จื่อจู๋เตี้ยว (เพลงไผ่ม่วง) เป็นเพลงพื้นเมืองของเมืองซูโจว มณฑลเจียงซู จัดเป็นทางขลุ่ยสำนักใต้ นิยมแถบเจียงหนาน
                และที่เว็บไซต์นี้ รวบรวมการแสดงเดี่ยวตี๋จื่อสี่สิบเพลงเอก บรรเลงโดยศิลปินชั้นแนวหน้าของประเทศจีน http://cunhuahanxue.blog.163.com/blog/static/185782320086835410187/

4 ความคิดเห็น:

  1. ผมเป็นคนนึงที่ชอบขลุ่ยจีนมากครับอยากมีเพื่อนทีชอบ ตี้จื้อ หรือขลุ่ยจีนมาแชร์กันครับ@มานะครับ kk_pun1983@hotmail.com

    ตอบลบ
  2. ภาพประกอบในบทความนี้ทุกเลาเป็นเซียวหมดเลยครับ

    ตอบลบ