เครื่องสาย
ใช้ไม้ตีให้เกิดเสียง คนไทยรู้จักหยางฉินในชื่อ
ขิม ความจริงแล้วคำว่า ขิม หรือ ฉิน ในภาษาจีนหมายถึงเครื่องดนตรีทุกชนิด คนไทยยืมคำว่าฉินสำเนียงภาษาแต้จิ๋วมาใช้เรียกเครื่องสายที่ใช้ไม้ตีนี้ว่า
ขิม
แต่ในภาษาจีนหากจะเรียกชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ให้ถูกต้อง จะเรียกว่า
หยางฉิน ในภาษาจีน คำว่า หยาง (洋yang)
หมายถึงต่างชาติ คำว่าฉิน (琴qin)
หมายถึงเครื่องดนตรี คำสองคำนี้รวมกันจึงหมายถึง “เครื่องดนตรีที่มาจากต่างชาติ” เป็นชื่อที่ภาษาจีนใช้เรียกขิม
เนื่องด้วยเป็นเครื่องดนตรีที่รับมาจากต่างชาตินั่นเอง
นอกจากจะเรียกว่า
หยางฉินแล้ว ในภาษาจีนยังมีชื่อเรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้อีกหลายชื่อ เช่น ต่าฉิน
(ขิมตี) ถงซือฉิน(ขิมสายลวด) ซ่านเมี่ยนฉิน(ขิมรูปพัด)
เปียนฝูฉิน (ขิมค้างคาว) หูเตี๋ยฉิน (ขิมผีเสื้อ) เป็นต้น
หยางฉิน
เผยแพร่เข้าสู่ประเทศจีนมาทางประเทศแถบตะวันออกกลางในช่วงสมัยราชวงศ์หมิง ในยุคแรกเริ่ม
ได้รับความนิยมแถบมณฑลกวางตุ้ง
เครื่องดนตรีชนิดนี้ เดิมเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองของชาวอาหรับและเปอร์เซีย มีชื่อเรียกเป็นภาษาพื้นเมืองว่า ซานเทอร์ (Santur) จากนั้นเผยแพร่เข้าสู่ยุโรป
อเมริกาเหนือและมีชื่อเรียกต่างๆกันไป ตามแต่ละท้องที่ เช่น ดัลซิแมร์ (Dulcimer) ซิมบาลอน (Cimbalon) แฮคเบรท (Hackbrete) ซัลเทอรี่ (Psaltery) เป็นต้น ส่วนชื่อเรียกในประเทศจีน
ด้วยรูปร่างของขิม และท่าทางการบรรเลงของแขนทั้งสอง
ที่คล้ายกับการโบยบินของผีเสื้อ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ขิมผีเสื้อ”
หยางฉิน เป็นเครื่องดนตรีจีนชนิดเดียวที่มีระบบเสียงที่เป็นสากล
รูปร่างสี่เหลี่ยมคางหมู ใช้ไม้ตีที่ทำจากไม้ไผ่ ตีลงบนสายให้เกิดเสียง น้ำเสียงใสกังวาน ไพเราะรื่นหูดุจสายฝนโปรยปราย
หลังจากหยางฉินได้เผยแพร่เข้ามาสู่แผ่นดินจีนแล้ว
ได้มีการพัฒนารูปแบบและวิธีการบรรเลงเรื่อยมา อย่างเช่นขิมผีเสื้อ ได้พัฒนารูปแบบของขิมเดิมให้มีขนาดใหญ่ขึ้น มีเสียงสลับซับซ้อน ช่วงเสียงกว้างมากขึ้น สามารถบรรเลงเสียงประสานและบรรเลงกรวด
บรรเลงครึ่งเสียงได้ โดยในยุคแรกๆ
นักดนตรีจีนใช้ขิมเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการบรรเลงเดี่ยวของเครื่องดนตรีชนิดต่างๆของจีน
จากนั้น ด้วยเสียงที่ไพเราะ และความสามารถเฉพาะตัวในการบรรเลงเสียงที่กว้างและหลากหลาย
นักดนตรีจีนเริ่มนำมาใช้บรรเลงเดี่ยว ซึ่งก็สามารถบรรเลงให้น้ำเสียงที่ไพเราะและอารมณ์ที่หลากหลายไม่แพ้เครื่องดนตรีจีนชนิดอื่น
จนได้รับความนิยมไปทั่ว
“หยางฉิน” เป็นเครื่องดนตรีสำคัญที่ขาดเสียมิได้ในวงดนตรีจีน
โดยปกติตัวหนังสือภาษาจีนที่หมายถึงหยางฉินเขียนว่า 扬琴 บางครั้งก็เขียนว่า 洋琴 อ่านว่าหยางฉินเช่นเดียวกันภาษาอังกฤษเขียนว่า
Yang Qin แปลว่าเครื่องดนตรีที่มาจากต่างชาติ ลักษณะน้ำเสียง
การกำเนิดเสียงและที่มาเป็นกลุ่มเดียวกันกับเปียโน มีน้ำเสียงกังวาน
ชัดเจนเป็นเอกลักษณ์ ฟังดูโอ่อ่า ยิ่งใหญ่ หนักแน่นแต่นุ่มนวล บรรเลงเพลงช้าดุจเสียงน้ำพุพุ่งซ่านจากหุบเขา
สายฝนโปรยปรายเย็นชุ่มฉ่ำ บรรเลงเพลงเร็วดุดันดุจสายน้ำเชี่ยวกรากและสายฝนกระหน่ำ ไม่ว่าจะเป็นการบรรเลงเดี่ยว บรรเลงประสม
หรือบรรเลงประกอบ เสียงของหยางฉินก็บรรเลงได้จับใจยิ่งนัก นอกจากนี้ยังใช้บรรเลงประกอบการขับลำ
การแสดงต่างๆ โดยเฉพาะวงดนตรีพื้นบ้าน
หยางฉินนับเป็นเครื่องดนตรีสำคัญที่ขาดมิได้เลยทีเดียว
ส่วนประกอบของหยางฉิน
หยางฉินแบบดั้งเดิม
กล่องเสียงประกอบขึ้นจากไม้เส้อมู่ ไม้ฮว่ามู่ หรือหยวีมู่
ด้านบนส่วนที่เป็นหน้าขิมใช้ไม้แผ่นสีขาวที่ทำจากไม้สน ไม้ถงมู่ ด้านล่างใช้ไม้แผ่นปิดเป็นพื้นขิม กล่องเสียงนิยมทำเป็นรูปผีเสื้อ
หรือรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ความยาว 90 - 97 เซนติเมตร กว้าง 32
- 41 เซนติเมตร หนา 5.7-7 เซนติเมตร
ขอบด้านซ้ายมีหมุดยึดสาย
ขอบด้านขวาเป็นเกลียวพันสาย หน้าขิมมีรูกลมสองรูเป็นช่องเสียง
ประดับด้วยกระดูกสัตว์แกะสลัก
หรือเครื่องประดับโลหะฉลุลายต่าง ๆ
มีหย่องยาวพาดตามแนวตั้ง ทำจากไม้ไผ่ ไม้แดง หรือเขาวัว ด้านซ้ายเป็นหย่องเสียงสูง
ด้านขวาเป็นหย่องเสียงต่ำ
หย่องแต่ละแถวเป็นไม้ยาวแท่งเดียวกัน ประกอบด้วยส่วนสำคัญสองส่วน
คือส่วนที่เป็นยอด และส่วนที่เจาะเป็นโพรง ส่วนที่เป็นยอดใช้พาดสายแต่ละเสียง
ส่วนที่เป็นโพรงใช้ร้อยสายไปพาดกับหย่องแท่งตรงกันข้าม
ขอบทั้งสองข้างมีไม้เนื้อแข็งแซะเป็นฟันปลาตั้งไว้เป็นที่รองสายและกำหนดตำแหน่งของสายไม่ให้เคลื่อน ภายในกล่องเสียงมีแท่งไม้ยึดติดพื้นขิมและหน้าขิมในตำแหน่งของหย่องแต่ละแท่งทำหน้าที่เป็นตัวนำเสียง แท่งไม้ที่เป็นตัวนำเสียงนี้ เจาะรูกลมตลอดแนว
4 - 5 รู
สายหยางฉินใช้สายลวด ช่วงเสียงสูงใช้สายเปลือย
สายเสียงต่ำใช้สายลวดที่พันด้วยลวดเส้นเล็กอีกชั้นหนึ่ง ไม้ขิมทำจากไม้ไผ่เป็นด้ามยาว
หัวไม้คือส่วนที่ใช้ตีกระทบกับสายเหลาเป็นรูปค้อนแบน
การตั้งเสียง
หยางฉินที่นิยมใช้มี 3 แบบ
ได้แก่ หยางฉินแปดเสียง หรือขิมแปดคู่ (มีช่วงเสียง 24 เสียง คือ ฟา1 -โด2) หยางฉินสิบเสียง หรือขิมสิบคู่ (มีช่วงเสียง 30
เสียงคือโด1 -โด3) หยางฉินสิบสองเสียง
หรือ ขิมสิบสองคู่ (มีช่วงเสียง 36 เสียงคือ โด - มี 3 ) แผนผังเสียงดังภาพต่อไปนี้
ประเภทของหยางฉิน
หยางฉินเผยแพร่เข้าสู่ประเทศจีนและพัฒนาเรื่อยมาเป็นเวลากว่าสี่ร้อยปีแล้ว
นักดนตรี และช่างทำเครื่องดนตรีจีนได้ประดิษฐ์หยางฉินแบบใหม่ขึ้นมากมาย เช่น
หยางฉินเปลี่ยนเสียง
หยางฉินเปลี่ยนบันไดเสียง
หยางฉินกู่เจิง(ใช้ดีด) หยางฉินไฟฟ้าเป็นต้น โดยเฉพาะหยางฉินไฟฟ้า
ที่พัฒนาให้มีตัวนำไฟฟ้าจากการสั่นสะเทือนของสาย ไปสู่เครื่องขยายเสียง และด้วยเสียงของ
หยางฉินสามารถบรรเลงเดี่ยวและร่วมกับเครื่องดนตรีอื่นได้อย่างกลมกลืนนี้เอง
จึงเป็นที่นิยมชมชอบของนักดนตรีทั่วไป
การบรรเลงหยางฉิน
วิธีการบรรเลงหยางฉินคือ
มือสองข้างถือไม้ตี ตีลงบนสายแต่ละสายให้ได้เสียงสูงต่ำ คือการตีเสียงเดี่ยว ยังมีการตีรัวไม้เพื่อให้ได้เสียงยาว นอกจากนี้ยังมีวิธีการตีให้ได้เสียงต่างๆ
หลายแบบ คีตกรหยางฉินที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายยุคปี 50 ชื่อ หวางอี๋ฝู่
บันทึกถึงวิธีการตีขิมไว้ว่ามี 8 แบบ เรียกชื่อว่า “หยางฉินปาฝ่า”หมายถึง
วิธีบรรเลงหยางฉินแปดแบบ ได้แก่ ดีด
รัว สั่น
โหย จุด ดึง ขยี้ และเกี่ยว
วิวัฒนาการของหยางฉินที่ผ่านมาได้รับเอาเทคนิคและวิธีการบรรเลงจากดนตรีต่างประเทศมากมาย
ทำให้หยางฉินสามารถบรรเลงเสียงได้หลากหลาย
กลายเป็นเอกลักษณ์ของหยางฉินในปัจจุบัน สามารถแบ่งเป็นวิธีหลัก ๆ ได้ 7
ประเภท คือ เสียงคู่ เสียงรัว ดีดรัว แยกเสียงประสาน ทำนองประสาน และแพรวพราว
แต่พื้นฐานหลักที่เป็นหัวใจของการบรรเลงหยางฉินคือ
การตีเสียงเดี่ยวและการตีเสียงรัว
เสียงเดี่ยวก้องดุจไข่มุกหล่นบนจานหยก
ใช้บรรเลงเป็นทำนองเสริม
สร้างบรรยากาศเบิกบาน และมีชีวิตชีวา
เสียงคู่แพรวพราวกราวก้อง เข้มแข็ง
ใช้บรรเลงเพลงที่ต้องการความหนักแน่นและทำนองที่โดดเด่น
เสียงรัวดุจสายน้ำไหลรินไม่ขาดสาย
ใช้บรรเลงทำนองเพลงช้าและเพลงขับทั่วไป ให้อารมณ์อ้อยสร้อย งดงาม การดีดสะบัด หรือรัวสะบัดใช้บรรเลงโน้ตสั้นๆ
ให้กระชับว่องไว ดุจประกายระยิบระยับของผิวคลื่น ใช้บรรยายความงามของท่วงทำนองเพลงแห่งสายน้ำและทิวทัศน์ธรรมชาติอันชวนหลงใหล เสียงประสานสร้างมิติต่างๆของทำนองเพลง
ให้ภาพพจน์และจินตนาการที่กว้างไกล ลึกซึ้ง ชัดเจน
สำนักวิชาหยางฉิน
ความกว้างใหญ่ไพศาลของประเทศจีน
ประชาชนอยู่ห่างกันนับหมื่นนับพันลี้ เมื่อหยางฉินเผยแพร่เข้าสู่ดินแดนจีน
ได้รับความนิยมชมชอบไปทั่ว
แต่ละท้องถิ่นมีคีตศิลปินประดิษฐ์ประพันธ์ท่วงทำนองเพลงที่มีเอกลักษณ์ต่างกัน
ด้วยท่วงทำนองบทเพลงของแต่ละท้องที่ที่เป็นหนึ่งไม่เหมือนใคร
ส่งผลต่อการบรรเลงดนตรีที่ต่างสำนัก ต่างมีกลเม็ดเด็ดพราย
บรรเลงหยางฉินได้ไพเราะแตกต่างกันไป เป็นที่มาของสำนักวิชามากมาย
ในประเทศจีน สำนักวิชาหยางฉินแบ่งได้ดังนี้
1. สำนักกว่างตง
หรือที่คนไทยรู้จักว่า กวางตุ้ง ครอบคลุมบริเวณเมืองกวางตุ้ง กวางสี ฮ่องกง
สิงคโปร์
เป็นสำเนียงตะวันออกที่มีต้นกำเนิดมาจากเพลงพื้นเมืองในท้องถิ่นแถบนี้นั่นเอง
เดิมทีหยางฉินเป็นเพียงเครื่องดนตรีบรรเลงประกอบเท่านั้น
แต่ในสำนักวิชากว่างตงเริ่มนำมาใช้บรรเลงเดี่ยวเป็นเครื่องดนตรีหลักในปลายสมัยราชวงศ์หมิง
ต้นราชวงศ์ชิง ท่วงทำนองเอกลักษณ์ของสำนักกว่างตงคือพลิ้วไหว คล่องแคล่ว
จังหวะกระฉับกระเฉง สนุกสนาน เร้าใจ
การบรรเลงเน้นการอวดฝีมือและกลเม็ดเด็ดพราย
เหมาะกับการขับลำเพลงพื้นเมืองที่ร้องด้วยภาษากวางตุ้งได้อย่างสอดประสานกลมกลืน
เพลงเอกอันถือเป็นตัวแทนของสำนักวิชากว่างตงเช่น
แพรม่านพริ้ว
《倒垂帘เต้า ฉุย เหลียน》ม้าหิวสั่นกระดิ่ง《饿马摇铃เอ้อ หม่า เหยา หลิง》พิรุณพรมหยวกกล้วย《雨打芭蕉 หยวี ต่า ปา เจียว》ดาวคู่พิโรธ《双星恨 ซวง ซิง เฮิ่น》เจาจวินพิไร《昭君怨 เจา จวิน ย่วน》เป็ดหนาวเริงธาร《寒鸭戏水 หัน ยา ซี่ สุ่ย》เป็นต้น
2. สำนักเจียงหนาน
ครอบคลุมบริเวณมณฑลเจียงซู เจ้อเจียง
เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงเป็นหลักในวงเครื่องสาย เครื่องไผ่ของ
ซึ่งเป็นวงดนตรีพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมทั่วไปแถบเจียงหนาน นิยมบรรเลงในงานพิธีต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน
งานศพ งานมงคลรื่นเริง เฉลิมฉลองต่างๆ หรือพิธีกรรมในวัด ก็ใช้ได้ และก็เช่นเดียวกันกับสำนักวิชากว่างตงที่เริ่มนิยมนำมาบรรเลงเดี่ยวนับแต่สมัยปลายราชวงศ์หมิง
ต้นราชวงศ์ชิง ท่วงทำนองสูงส่ง งดงาม แช่มช้อย พลิ้วหวาน ลอยลม
ถ่ายทอดเอกลักษณ์ทัศนียภาพที่โดดเด่นของเจียงหนาน ราวกับเสียงสายธาราริน
สกุณาโผผกผิน กู่ร้อง บินว่อนร่อนฟ้าคราม เพลงเอกอันถือเป็นตัวแทนของสำนักวิชาเจียงหนาน
เช่น เพลงเริงรมย์
《欢乐歌 ฮวน เล่อ เกอ》 บรรเลงพิณร่ายกวี《弹词三六ถัน ฉือ ซาน ลิ่ว》 ทางดำเนิน《行街สิง เจีย》เป็นต้น
3. สำนักเสฉวน
ท่วงทำนองหยางฉินสำนักวิชาเสฉวนนี้ เป็นศิลปะดนตรีที่กำเนิดมาจากอุปรากร การขับลำ
เล่าเรื่องนิทานเพลงพื้นเมือง
นิยมบรรเลงประกอบการขับร้องโรงเตี๊ยม โรงน้ำชา สำเนียงเพลงเรียบง่าย
หนักแน่น เกรี้ยวกราด โผงผาง และครึกครื้น
ถ่ายทอดบรรยากาศความเป็นลูกทุ่งอย่างออกรส เพลงเอกที่เป็นเอกลักษณ์ของสำนักวิชานี้ เช่น
แม่ทัพกร้าว 《将军令เจียง จวิน ลิ่ง》 อึกทึก《闹台น่าว ถาย》
4. สำนักตงเป่ย คำว่า
ตงเป่ย หมายถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักวิชานี้กำเนิดขึ้นมาจากศิลปินพื้นบ้านแห่งอำเภอก้าย
มณฑลเหลียวหนิง ชื่อ จ้าว ต้วน ปฏิวัติการบรรเลงหยางฉินใหม่
ที่แต่เดิมใช้ไม้ขิมตีลงบนสาย โดยได้ประยุกต์วิธีการบรรเลงกู่เจิง มาใช้บรรเลงหยางฉิน เกิดวิธีการบรรเลงใหม่ ๆ
เช่น การสั่นไม้ การเอื้อนโหยเสียง
การขยี้สายเป็นต้น ต่อมาศิษย์เอกชื่อ หวาง อี๋ ฝู่
ได้นำวิธการบรรเลงดังกล่าวมาเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักและชื่นชอบไปทั่ว
ท่วงทำนองสำเนียงตงเป่ยมีความเรียบง่าย ล้ำลึก เพลงเอกที่เป็นเอกลักษณ์ของสำนักวิชานี้ เช่น
ซูวูเลี้ยงแกะ《苏武牧羊 ซู อู่ มู่ หยาง》สายนทีหลั่งไหล《汩罗江上 กู่ หลัว เจียง ซ่าง》เป็นต้น
6. หยางฉินของชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยบริเวณซินเจียง
มองโกลเลียใน ทิเบต หยินหนาน กุ้ยโจว ใช้หยางฉินบรรเลงประกอบจังหวะการเต้นรำ เลียนแบบวิธีการบรรเลงจากเครื่องตี ทำให้ท่วงทำนองฟังดูสนุกสนานครึกครื้น รื่นเริง
จังหวะกระชั้นเร่าร้อน เพลงเอกของหยางฉินชนกลุ่มน้อยเช่น เพลงระบำทักษิณ《南疆舞曲หนาน เจียง อู๋ ฉวี่》เพลงเร็วสี่จังหวะ《数西调
ซู่
ซื่อ เตี้ยว》เพลงพิณทิเบต《藏族弦子歌》เป็นต้น
เพลงเอกของหยางฉินที่ได้รับความนิยมทั่วไป
เช่น หลงฉวน (เรือมังกร) เจาจวินย่วน
(เจาจวินครวญ) เซียงเหลียนฉ่วงกง
(กรุ่นกลิ่นบัวฟุ้งวัง)
ปาเยว่กุ้ยฮวาเปี้ยนตี้คาย (ดอกกุ้ยฮวาสิงหาบานสะพรั่ง) ไห่ซ่างหยวีเกอ (ลำนำเพลงประมง) หลิวสุ่ยฮวนเกอ (เพลินเพลงธาราริน) เป็นต้น
ตัวอย่างโน้ตเพลง ธาราริน 流水 ชื่อภาษาจีน อ่านว่า หลิว สุ่ย เป็นเพลงที่ใช้กลเม็ดการบรรเลง
หยางฉินบรรยายทัศนียภาพของสายธาราริน
เสียงรัวเบานุ่มนวลแต่ละเอียดบรรยายทัศนียภาพของสายน้ำไหลเรื่อยริน
การตีสะบัด โหยเสียง ดีดรัวดั่งสายน้ำซัดเซาะซอกหินรินเอื่อย เสียงตีเดี่ยว ตีคู่ รัวเร็ว ขยี้ เร่งเร้า
ฉะฉาน ดั่งสายน้ำเชี่ยวกรากจากหุบผาสูง
ในบรรดาเครื่องดนตรีตะวันออก
เห็นจะไม่มีเครื่องดนตรีใดบรรยายท่วงทำนองและจินตภาพแห่งสายน้ำได้ไพเราะอย่าง “หยางฉิน” เป็นแน่
โน้ตเพลงจากเว็บไซต์ http://www.guo-yue.com/?action-viewthread-tid-8897
https://en.wikipedia.org/wiki/Santur
ตอบลบวิกิบอกเป็ฯของเปอร์เซีย