เหลียง – จู้ : เพลงรักผีเสื้อ
碧草青青花盛开 彩蝶双双久徘徊
千古传颂生生爱 山伯永恋祝英台
同窗共读整三载 促膝并肩两无猜
十八相送情切切 谁知一别在楼台
楼台一别恨如海 泪染双翅身化彩蝶
翩翩花丛来 历尽磨难真情在,天长地久不分开
ทุ่งขจีบุบผาคลุ้งฟุ้งกลิ่น คู่ภมรร่อนบินพลอดเคล้า
นิทานรักผีเสื้อนานเนา เหลียงซานโป๋ –
จู้อิงไถเพล้าพลอดภิรมย์
สามปีหมั่นเพียรเรียนวิชา ร่วมศึกษาเคียงคู่สุขสม
สำเร็จวิชาจำใจลาฝืนตรม พรากคู่เคยชมชิดนิจนิรันดร์
ส่งเจ้าเฉลยความนัยจำใจจาก น้ำตาพรากถึงไกลไม่เปลี่ยนผัน
ณ หอรัก แม้ลำบากสัญญากัน ครองรักมั่นเคียงคู่อยู่ยืนยง
นิทานพื้นบ้านของจีนเรื่อง “เหลียงซานโป๋
กับ จู้อิงไถ” เป็นหนึ่งในสี่ของนิทานเรื่องเอกของจีน
(สี่นิทานเรื่องเอกของจีนได้แก่ หนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า นางเมิ่งเจียงหนีว์ นางพญางูขาว
และเหลียงซานโป๋ กับ จู้อิงไถ) ตำนานความรักของหนุ่มสาวในเรื่องนี้ ได้รับขนานนามว่าเป็น “โรมิโอแอนด์จูเลียตตะวันออก” ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์
ละครโทรทัศน์ ละครเวทีมากมาย และยังได้นำมาฉายในประเทศไทยด้วย
ภาพยนตร์เรื่องนี้ภาษาไทยตั้งชื่อว่า “ม่านประเพณี”
เรื่องราวของคู่รักทั้งสองเกิดขึ้นที่เมืองเจ้อเจียง
ในสมัยตงจิ้น สกุลจู้มีธิดาชื่อ
จู้อิงไถ มีใจรักการศึกษา
ขออนุญาตบิดามารดาไปคารวะอาจารย์เพื่อศึกษาในสำนักวิชาที่เมืองหังโจว
ท่านพ่อของจู้อิงไถด้วยความรักลูก จึงยอมอนุญาตให้ลูกสาวปลอมตัวเป็นบุรุษเพศเข้าศึกษาในสำนักวิชาที่เมืองหังโจว
และสั่งสาวใช้ให้ปลอมตัวเป็นชายติดตามไปรับใช้ด้วย เมื่อถึงสำนักวิชา อิงไถในคราบบุรุษ
ได้พบกับคุณชายเหลียงซานโป๋ พูดคุยถูกคอกัน จึงตกลงสาบานเป็นพี่น้องกัน ณ ที่นั้น
คุณชายเหลียง
และอิงไถอยู่ร่วมห้องพักเดียวกัน ร่วมเรียงเคียงคู่ศึกษาวิชา โดยที่คุณชายเหลียงหาได้รู้ไม่ว่า พี่น้องร่วมสาบานที่อยู่ร่วมหอเดียวกันนั้น
แท้จริงแล้วเป็นสตรี
ในขณะที่อิงไถมีใจปฏิพัทธ์หลงรักคุณชายเหลียงสุดหัวใจ
ต่อมาอิงไถได้รับจดหมายจากท่านพ่อเรียกตัวกลับบ้าน อิงไถอยากจะเฉลยเอ่ยความนัยกับคุณชายเหลียง
แต่ก็มิกล้า ในระหว่างทางที่คุณชายเหลียงเดินไปส่งที่ประตูเมือง อิงไถพยายามอ้อมค้อมเอื้อนเอ่ยเฉลยความนัยให้คุณชายเหลียงได้รู้ถึงสิบแปดหน
แต่คุณชายเหลียงผู้ใสซื่อบริสุทธิ์หาได้รู้ความนัยนั้นไม่
ท้ายที่สุดถึงคราต้องจาก
อิงไถได้ฝากหยกไว้ที่แม่ครูเพื่อเป็นสื่อแทนความรักให้กับคุณชายเหลียง
โดยได้บอกว่า ตนมีน้องสาวหนึ่งคน อยากให้เป็นคู่ครองกับคุณชายเหลียง
หากแม้นคุณชายเหลียงจบการศึกษา ขอให้ไปสู่ขอน้องสาวของตน
เมื่อคุณชายเหลียงได้รับหยกที่อิงไถฝากไว้
จึงได้รู้ความนัย และรีบออกเดินทางไปบ้านสกุลจู้
แต่ไม่ทันการณ์เสียแล้ว ท่านพ่อของอิงไถ ได้ยกอิงไถให้กับคุณชายหม่าลูกขุนนางผู้ใหญ่แล้ว
แต่อิงไถขัดขืนแม้ตายก็มิยอมแต่งงานกับคุณชายหม่า และได้แอบนัดแนะลักลอบพบกับคุณชายเหลียงพร้อมบอกความในใจ
ท่านพ่อของจู้อิงไถเดือดดาลโทสะ
ส่งลูกน้องไปฆ่าคุณชายเหลียงจนตาย
เมื่ออิงไถรู้ข่าวว่าคุณชายเหลียงเสียชีวิตแล้ว ก็โศกาอาดูรยิ่งนัก
ตกปากรับคำยอมแต่งกับคุณชายหม่า
แต่มีข้อแม้ว่าขอให้ขบวนเจ้าสาวเดินผ่านไปที่หลุมศพของคุณชายเหลียงเพียงขอคารวะศพสักครั้ง
ท่านพ่อของอิงไถรับปากตามที่ธิดาร้องขอ
เมื่อขบวนเจ้าสาวผ่านมาถึงหลุมศพของคุณชายเหลียง ได้เกิดพายุหนัก
ท้องฟ้าผืนดินสะเทือนเลื่อนลั่น พัดหอบเอาขบวนเจ้าสาวกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง
อิงไถถอดชุดเจ้าสาวออก ภายในสวมชุดขาวไว้ทุกข์
วิ่งไปที่หน้าหลุมฝังศพของคุณชายเหลียง ร่ำไห้คร่ำครวญ พลันพายุโหมกระหน่ำจนหลุมศพถล่มทลาย
เห็นคุณชายเหลียงนอนสงบนิ่งอยู่ภายใน
อิงไถกัดนิ้วใช้เลือดเขียนชื่อตนเองบนแผ่นป้ายวิญญาณคู่กับคุณชายเหลียง และกระโดดลงไปในหลุมศพ พายุสงบลง
ท้องฟ้าพลันแจ่มใส ดอกไม้ผลิบาน
เกิดเป็นผีเสื้อสองตัวโบยบินคลอเคล้าหยอกเย้าสุขสันต์ ณ หลุมศพแห่งนั้น จวบนิจนิรันดร์
ในปี
1958 คีตกรจีนชื่อ เฉินกัง และเหอจั้นหาว (Chen Gang ,He Zhanhao)ในขณะที่ยังเป็นนักศึกษาวิทยาลัยการดนตรีเมืองเซี่ยงไฮ้
ได้แรงบันดาลใจจากนิทานเรื่องนี้ แต่งทำนองเพลงขึ้น
โดยอาศัยเหตุการณ์นับตั้งแต่อิงไถและคุณชายเหลียงพบกัน เกิดความรัก จนถึงการพลัดพราก
การถูกบีบบังคับ การต่อต้าน พื้นพสุธาถล่มทลาย จนถึงความสงบและความสุขอันเป็นนิรันดร์
ประกอบกับท่วงทำนองการขับร้องอุปรากร “เยว่จวี้” อันเป็นอุปรากรพื้นถิ่นของเจ้อเจียง ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของนิทานเรื่องเหลียงจู้
มาแต่งเป็นทำนองเพลงเพื่อสื่อถึงอารมณ์ความรู้สึก และภาพพจน์
บรรยายเล่าเรื่องราวของนิทานได้อย่างลึกซึ้ง โดยใช้ชื่อตัวละครเอกของนิทานเรื่องนี้คือ
เหลียงซานโป๋ และ จู้อิงไถ
ตั้งเป็นชื่อเพลง ชื่อ “เหลียง – จู้”
บรรเลงครั้งแรกที่เมืองเซี่ยงไฮ้ในเดือนพฤษภาคม
ปีเดียวกัน โดยใช้ไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีดำเนินทำนองหลัก ได้รับความชื่นชมและชื่นชอบเป็นอย่างมาก
นับตั้งแต่เพลง
“เหลียงจู้” ออกบรรเลงครั้งแรกเป็นต้นมา
เพลงนี้ได้รับความนิยมเป็นอันมาก มีผู้นำไปปรับปรุงเป็นทางบรรเลงหลากหลายประเภท
ทั้งทางบรรเลงเดี่ยวบรรเลงร่วม บรรเลงเป็นวง และทำเป็นเพลงยอดนิยม
ทำให้เพลงเหลียงจู้เป็นที่รู้จักกันและนิยมกันอย่างกว้างขวาง
ทำนองเพลงแบ่งได้หลายตอน
สื่อถึงอารมณ์และเหตุการณ์ของนิทานเรื่อง เหลียงซานโป๋ กับ จู้อิงไถ
ได้อย่างไพเราะและชัดเจน ตัวอย่างบทเพลงที่เรียบเรียงเพื่อบรรเลงสำหรับวง Orchestra แบ่งเป็นท่อนเพื่อบรรยายเรื่องราว
ดังนี้
เริ่มจากทำนองเริ่มต้น
ใช้ขลุ่ยผิวบรรเลงอวดฝีมือ เสียงพรมนิ้ว ระยิบพริบพราย
เสียงพลิ้วแผ่วเรื่อยเอื่อยเย็น สื่อถึงบรรยากาศของแสงรัศมีแห่งรุ่งอรุณ
ปลุกมวลบุบผาชาติให้ตื่นจากราตรีกาล หมู่วิหกโบกบินผกโผผินร่อนร้อง เป็น Introduction ของเพลง ก่อนเข้าสู่ท่วงทำนองหลัก
ท่วงทำนองหลักใช้ไวโอลินบรรเลง
ผู้แต่งตั้งชื่อ “ทำนองรัก” มีท่วงทำนองหวานแว่ว
เป็นเสียงแห่งความสุขสดชื่น ความหอมหวานของความรักอันบริสุทธิ์และงดงาม
ผู้แต่งใช้ทำนองอุปรากรเพลงพื้นบ้านที่ชื่อว่า “เยว่จวี้”
ท่อนหนึ่ง โดยจับโน้ตตัวหลักของการร้องอุปรากรท่อนที่ได้รับความนิยมร้องกันมาแต่โบราณ
มาแต่งเป็นทำนองใหม่ของเพลง และใช้เป็นทำนองพื้นฐาน อันเป็นหัวใจหลักของทำนองเพลงทั้งเพลง
ซึ่งท่อนอื่น ๆ
จะใช้ทำนองหลักนี้แปรเป็นทำนองรองเพื่อบรรยายเหตุการณ์และอารมณ์อื่น ๆ
ตลอดทั้งเพลง
ทำนองรอง
สื่อถึงความรื่นรมย์ บังเทิง สุขสันต์ ท่วงทำนองเพลงเปลี่ยนไปเป็นทำนองเร่งเร้า
กระชั้น โลดเต้น สนุกสนาน
การบรรเลงใช้วิธีเหลื่อมล้อกันระหว่างเครื่องดนตรีเดี่ยว กับ วง ทำนองช่วงนี้บรรยายภาพที่อิงไถ และคุณชายเหลียง
ได้พบกัน สนุกสนานหยอกล้อกัน สาบานเป็นพี่น้องกัน ร่ำเรียนวิชา
ร่วมเรียงเคียงคู่สุขสันต์ในสำนักวิชาแห่งนั้นอย่างมีความสุข
ทำนองท่อนต่อมา
ท่วงทำนองกลับแผ่วลง อ่อนลง เชื่องช้า วกวนกลับไปกลับมา เพื่อสื่อถึงคนทั้งสองจำใจจำจาก ทั้งที่ยังอาวรณ์
ความลังเล ว้าวุ่นในใจ เสียงดนตรีค่อยๆ แผ่วและจางลงด้วยเสียงต่ำ
สื่อถึงเรื่องราวอันน่ากังวลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยที่ทั้งสองมิอาจคะเน
ท่วงทำนองท่อนต่อมาใช้เสียงเครื่องเป่าโลหะที่แผดร้อง
เสียงไวโอลินที่รัวกระชั้นหนักหน่วง
เครื่องดนตรีทั้งวงบรรเลงทำนองยืนพื้น แต่ไวโอลินบรรเลงทำนองแบบ Improvise
บรรยายเรื่องราวของการต่อต้าน การหลบหนี ในภาวะที่ถูกยื้อยุด ความรุนแรง
และการถูกบีบบังคับให้แต่งงาน
เครื่องดนตรีทั้งวงบรรเลงกระแทกกระทั้น
กระชั้นไล่กวด ในขณะที่ไวโอลินก็บรรเลงแบบ Improvise สื่อถึงการดื้อดึง หลบลี้
หลีกหนีอย่างสุดชีวิต แต่ทันใดทำนองก็หยุดชะงัก และแผ่วลง
บางลงอย่างกะทันหัน บอกเรื่องราวที่อิงไถกับคุณชายเหลียงลักลอบนัดพบกัน ไวโอลิน และเชลโล บรรเลงสลับกันด้วยท่วงทำนองเชื่องช้า
หนัก เสียงต่ำทุ้ม แผ่วเบา ใช้เสียงสะบัดและหยุดเป็นบางช่วง เพื่อบรรยายภาพการได้พบหน้า
ถามสารทุกข์สุขดิบกัน
ระคนความสุขความตื่นเต้นดีใจของอิงไถกับคุณชายเหลียงที่ได้พบหน้ากัน ในขณะเดียวกันก็ยังมีความหวาดระแวงในการลักลอบมาพบกันครั้งนี้ด้วย
ท่วงทำนองต่อไป
ไวโอลินที่ดำเนินทำนองหลักกรีดคันชักลงบนสายอย่างหนักหน่วง แต่ช้า
นิ้วมือซ้ายกดโยกสายให้เสียงโหยหวน รูดสายจากเสียงสูงไปต่ำ ต่ำไปสูง
แสดงถึงเสียงร่ำรำพัน โหยหวนของอิงไถ
พลันดนตรีทั้งวงก็กระหึ่มดุดัน ทั้งกลอง ฉาบ
เครื่องเป่าทั้งหลายแผดเสียงครึกโครมบรรยายภาพพายุกระหน่ำ พสุธาวิปโยค
ท้องฟ้าสะเทือนเลื่อนลั่น ขบวนเจ้าสาวระเนระนาดกระจัดกระจาย ทำนองเพลงไล่กระชั้นจนถึงจุดสุดยอดของเพลง
และแผ่วเบาลงในที่สุด
สุดท้าย เครื่องดีดจำพวกฮาร์ป บรรเลงเสียงเรื่อยริน
อ้อยสร้อย ชดช้อย อ่อนหวาน รื่นละมุน
มิใช่โลกมนุษย์ที่สองหนุ่มสาวต้องต่อสู้กับการกีดกั้นของกำแพงประเพณีอันหนักหนาสาหัส
หากแต่เป็นโลกแห่งเทพนิยายของผีเสื้อสองตัวที่ไร้ทุกข์จากการพันธนาการใด ๆ “ทำนองรัก” หลักที่บรรเลงเมื่อตอนเริ่มต้น กรีดกราย อวดโฉมดังแว่วขึ้นมาอีกครั้งด้วยความอิสระ
งดงาม และรื่นรมย์
ปัจจุบันเพลง “เหลียง - จู้” ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
มีการเรียบเรียงทำนองเพื่อการบรรเลงของเครื่องดนตรีหลายประเภททั้งเครื่องดนตรีจีน
และเครื่องดนตรีตะวันตก
ซึ่งเครื่องดนตรีแต่ละประเภทก็สามารถบรรเลงเพลงนี้ได้อย่างไพเราะลึกซึ้งกินใจ
เช่น ซอเอ้อร์หู กู่เจิง ขลุ่ยผิว กีต้าร์ เปียโน ฟลุ๊ท ทั้งที่เป็นวงดนตรีวงใหญ่ทั้ง
ประเภทวงดนตรีจีน และวงดนตรีสากล นอกจากนี้ยังมีการนำไปแต่งเนื้อร้องเป็นเพลงสตริงยอดนิยมอีกหลายสำนวน
ใช้ชื่อเพลงต่างกันไปบ้าง เช่น เพลงรักผีเสื้อ ผีเสื้อแสนสวย
เพลงผีเสื้อเป็นต้น
ชื่อภาษาอังกฤษของเพลงนี้คือ Butterfly Romance
ศิลปะการแสดงต่างๆไม่ว่าจะเป็นอุปรากรดั้งเดิม อุปรากรสมัยใหม่ ละครเวที ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์
ล้วนใช้เพลงที่แต่งขึ้นใหม่นี้เป็นสัญลักษณ์ เรียกได้ว่า เมื่อกล่าวถึงผีเสื้อ
ชาวจีนทุกคนจะต้องต้องนึกถึงเหลียงซานโป๋กับจู้อิงไถ
และเมื่อกล่าวถึงเหลียงซานโป๋กับจู้อิงไถ ทุกคนจะต้องรู้จักเพลง
“เหลียงจู้
” อย่างแยกกันไม่ออก
ข้างท้ายบทความนี้เป็นโน้ตเพลงที่คัดลอกมาจากเว็บไซต์ www.tom163.net
สามารถรับฟังเพลงบรรเลงด้วยซอเอ้อร์หูได้ที่เว็บไซต์นี้ http://www.5music.org/Song/152947/
สามารถรับฟังเพลงบรรเลงด้วยไวโอลินได้ที่เว็บไซต์นี้ http://www.st020.cn/play/216020.htm
สามารถรับฟังเพลงบรรเลงด้วยขลุ่ยผิวได้ที่เว็บไซต์นี้ http://www.ppqu.com/show-video-13886740.htm
สำหรับกอง
บก.
ที่อยู่สำหรับโน้ตเพลง
ภาพประกอบต่างๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น