วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

ขับลำบรรเลงตำนานเพลงพิณสายเดี่ยว



ภาพนี้คัดลอกมาจาก http://img.yiyuanyi.org/article_pic/2009-06-23/1245739930.jpg

 ในวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย มีศิลปะดนตรีและเครื่องดนตรีที่สืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน มีเครื่องดนตรีของชนกลุ่มน้อยมากมายที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณชน บางครั้งสูญหายไปไร้หลักฐานร่องรอยอย่างน่าเสียดาย  เครื่องดนตรีบางชนิดสามารถสื่อถึงความเป็นชนชาตินั้นๆ ได้ชัดเจน แต่เนื่องจากได้รับแบบอย่างจากชนกลุ่มอื่น นำมาพัฒนาเปลี่ยนแปลงเครื่องดนตรีของตนไปจนไม่เหลือเค้าเดิม บางอย่างถูกบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงสำหรับการศึกษาวิจัยได้  บางอย่างคงเหลือแต่เพียงตำนานที่เล่าเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะสืบต่อกันรุ่นแล้วรุ่นเล่า  นานวันเข้า ไม่สามารถหาเค้าความจริง และความน่าเชื่อถือได้อีก 
บทความนี้แนะนำให้รู้จักกับศิลปวัฒนธรรมการขับร้องลำนำและดนตรีของชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนชื่อ เผ่าจิง” (京族) ชาวเผ่าจิงเป็นชนเผ่าที่มีเชื้อสายเดียวกันกับชาวเวียดนาม นับเป็นหนึ่งในจำนวนชนกลุ่มน้อย 55 กลุ่มของจีน เป็นกลุ่มที่มีจำนวนประชากรน้อยมาก     เรียกตัวเองว่า จิงมาแต่อดีต แต่คนภายนอกเรียกชนกลุ่มนี้ว่า อันหนาน (安南) และเยว่( ปัจจุบันภาษาจีนก็ใช้คำนี้เรียกประเทศเวียดนามว่า 越南เยว่หนาน) จนปี ค.ศ. 1958 รัฐบาลจีนรับรองชาวจิงให้เป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งของจีน และ ใช้ชื่อ จิง”     เป็นชื่อเรียกอย่างเป็นทางการตามความเห็นชอบของชาวจิงเอง ภาษาเวียดนามเรียกชาวจิงว่า ngưi Kinh หรือ ngưi Vit  ชาวจิงอาศัยอยู่กลางหุบเขาอำเภอเจียงผิง ตำบลลี่เหว่ย  อูโถว เหิงวั่ง  ถันจี๋  หงขั่น  จู๋ซานในเขตปกครองตนเองกลุ่มจ้วงของมณฑลกว่างซี  จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2,000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าจิงมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 22,517  คน  พูดภาษาจิง  ภาษานี้เหมือนกับภาษาเวียดนาม  แต่ชาวจิงส่วนใหญ่ในปัจจุบันใช้อักษรจีน พูดภาษาจีนสำเนียงกวางเจา และภาษากวางตุ้ง
แผนที่ประเทศจีน
                                                                                                     มณฑลกว่างซีถิ่นที่อยู่ของชาวจิง          
ชาวจิงอพยพมาจากพื้นที่ต่างๆ ในบริเวณดินแดนที่เป็นประเทศเวียดนามในปัจจุบันตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 16 โดยเฉพาะจากบริเวณหุบเขาถูซาน (涂山)  โดยช่วงแรกที่อพยพมานั้น ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณหมู่บ้านเล็กๆในเกาะอูซาน(巫山岛)และตำบลเจียงผิง (江平) ของประเทศจีน ต่อมาขยายอาณาเขตที่อยู่อาศัยไปยังพื้นที่ต่างๆ เช่นเมืองเหว่ย  () ซานซิน(山心) ถานจี๋ (潭吉) จนถึงสมัยราชวงศ์ชิง มีการตั้งด่านที่เมืองเจียงผิง  ต่อมาในปลายสมัยชิงเมืองนี้อยู่ในอำนาจการปกครองของราชสำนักชิง
ศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายของชาวจิง แสดงให้เห็นถึงความเป็นชนเผ่าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้อย่างชัดเจน  ศิลปะการร้องรำทำเพลงมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ  การร้องเพลงของชาวจิงมีพิณสามสายบรรเลงประกอบ และมีเครื่องประกอบจังหวะคือ กลอง และเกราะ  มีทำนองเพลงมากมายกว่า 30 ทำนอง เนื้อหาสำคัญของเพลงชาวจิงได้แก่เพลงชาวเขา เพลงรัก เพลงแต่งงาน เพลงชาวประมง เพลงรำพัน เพลงยาวเล่าเรื่อง เพลงแรงงาน เพลงพื้นบ้าน เป็นต้น เนื้อเพลงบางอย่างก็ได้มาจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งกลอนโบราณของจีน เช่น ซ่งเจิน, เฉินจวี๋ ฮวา《宋珍、陈菊花》จ่านหลงจ้วน《斩龙传》 ฉินเซียน《琴仙》 เป็นต้น  ทำนองเพลงและเนื้อเพลงมีทั้งที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ บ้างก็แต่งขึ้นใหม่   บทเพลงเป็นเครื่องมือสะท้อนสภาพชีวิตของชาวจิงที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับสายน้ำและอาชีพการประมงได้อย่างชัดเจน เช่น มีเพลงเพลงหนึ่งมีเนื้อร้องว่า
潮涨潮退不离海,   风吹云走不离天;
大路不断牛脚印,   海上不断钓鱼船。
น้ำสูงต่ำไม่ต่ำสูงเกินทะเล       ลมโบกเมฆาไกลไม่เกินฟ้า
ทะเลไม่สิ้นไร้เรือหาปลา           ถนนนาไม่โรยรารอยเท้าวัว
(ผู้เขียนแปล)
            เพลงรักเพลงหนึ่งของชาวจิงมีเนื้อร้องว่า

       摇船过海摇绳断,    还有几摇到岸边;
板短搭桥难到岸,           望妹伸手过来牵
พายเรือลำหนึ่งน้อย         พายขาด
อีกกี่พายจึงวาด                     ถึงฝั่ง
ไม้สั้นมิอาจพาด                    ข้ามได้ เลยเอย
จดจ่อจิตจากฟ้า                              ส่งน้องช่วยเอื้อม
(ผู้เขียนแปล)

            หนุ่มสาวชาวจิงเลือกคู่โดยวิธีการร้องเพลงโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกัน  ดังนั้นชาวจิงจึงมีความเชี่ยวชาญการร้องรำทำเพลงเป็นพิเศษ  การร้องเพลงพื้นบ้านพัฒนาขึ้นเป็นการแสดง อุปรากรจิงซึ่งเป็นการแสดงอันสะท้อนถึงเอกลักษณ์ของชาวจิงที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ

พิณสายเดี่ยว พิณแห่งบรรพบุรุษชาวจิง
ชาวจิงมีเครื่องดนตรีอย่างหนึ่ง  ถือเป็นเครื่องดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว  ได้แก่ พิณสายเดี่ยวภาษาจิงเรียกพิณชนิดนี้ว่า “Du yan Dan bou” ภาษาเวียดนามซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวจิง  เรียกว่า ด่านบ่าว (Dan bau) ภาษาจีนเรียกว่า ผาวฉิน หรือ ตู๋เสียนฉิน (匏琴,独弦琴) ซึ่งหมายถึงพิณสายเดี่ยว  เกิดจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษชาวจิง (ชาวเวียดนาม) อย่างแท้จริง ภาษาจีนเรียกชื่อตามเสียงภาษาจิงว่า ตานผาว (ภาษาเวียดนามออกเสียงว่าด่านบ่าว) นิยมบรรเลงแถบเขตปกครองตนเองชาวจ้วง มณฑลกว่างซี

รูปลักษณ์และส่วนประกอบของพิณสายเดี่ยว
ส่วนประกอบของพิณสายเดี่ยว อธิบายตามลำดับหมายเลขดังนี้ ได้แก่  1.ลำตัว  2. หน้าพิณ 3. สายพิณ  4. ลูกบิด  5. สะพาน 6.คันโยก  7. กรวยร้อยสาย 8. ช่องเสียบคันโยก 9.จุดกดสาย (มีอยู่ 5 ช่วง) 10. เครื่องขยายเสียง 11.ช่องระบายเสียง
จากรูปลักษณ์ภายนอก ด่านบ่าว  ดูจะเป็นเครื่องดนตรีที่ประกอบขึ้นง่ายๆ และธรรมดามาก แต่สามารถบรรเลงเสียงที่แว่วหวาน กังวานไกล ไพเราะ มีมนต์ขลัง  มีท่วงทำนองงดงามและสูงส่งยิ่งนัก  ลักษณะเครื่องดนตรีคือท่อนลำไม้ไผ่ผ่าครึ่งเป็นทรงโค้ง หรือประกอบขึ้นด้วยไม้สามแผ่นเป็นรูป ┏┓  ความยาวประมาณ 60 70 เซนติเมตร ปลายด้านซ้ายมีเสาโค้งเป็นที่ยึดสาย  พาดสายจากเสาด้านซ้ายขึงผ่านลำตัวพิณจากสูงลงต่ำมามัดไว้ที่ปลายอีกด้านหนึ่ง เวลาบรรเลงใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นแผ่นบางๆ ดีดที่สายแล้วโยกคันโยกด้านซ้ายให้สายตึงและหย่อนเกิดเป็นเสียงดนตรีสูงต่ำ 
 พิณสายเดี่ยวมีสองแบบคือ แบบที่ทำจากไม้ท่อนขุด และแบบที่ทำจากไม้ไผ่  พิณที่ทำจากไม้ไผ่ลำตัวพิณยาว 100 เซนติเมตร ลำไม้ไผ่ผ่าครึ่งค่อน 1ใน 3 เส้นผ่าศูนย์กลาง 12 15 เซนติเมตร ส่วนนี้เป็นกล่องเสียงของพิณ  วางด้านที่ผ่าคว่ำลงด้านล่าง ให้ด้านโค้งขึ้นบน  บางครั้งเรียกว่า พิณผาวสายเดี่ยว  
ส่วนพิณที่ทำจากไม้  ลำตัวพิณเป็นรูปทรงกระบอกเหลี่ยม ความยาว 105 เซนติเมตร ปลายด้านขวากว้างและใหญ่กว่าอีกด้านหนึ่งเป็นด้านหัวพิณ กว้าง 11.5 เซนติเมตร  หนา 8 เซนติเมตร  ปลายด้านซ้ายเล็ก เรียกว่า หางพิณ  กว้าง 9 เซนติเมตร สูง 6.5 เซนติเมตร หน้าพิณและพื้นล่าง ทำจากไม้ถงมู่หรือไม้สน  หน้าพิณโค้งนูนขึ้นเล็กน้อย  ลำตัวของพิณทำจากไม้หงมู่ หรือไม้ฮวาหลี  ด้านหัวพิณมีช่องระบายเสียง ภายในมีกล่องเก็บเสียง และกระจายเสียง  ลูกบิดทำจากไม้หรือหมุดเกลียว ฝังทะลุในแนวขวางที่หัวพิณ  หางพิณมีแท่งที่ทำจากเขาวัว หรือเหลาจากไม้ไผ่ลักษณะโค้งงอ  ใช้เป็นก้านสำหรับโยกสาย ความยาว 30 เซนติเมตร  (ด้วยความโค้งของคันโยกลักษณะคล้ายธนูนี้ บางครั้งเรียกชื่อว่า พิณธนู)  ด้านล่างแขวนน้ำเต้าเป็นเครื่องประดับ  ใช้สายลวดหรือสายไนล่อนพันลวด  ผูกสายที่หมุดยึดสาย แล้วโยงผ่านลำตัวพิณตามแนวยาวไปผูกกับคันโยก ไม้ดีดทำจากไม้ไผ่เหลาเป็นแผ่นความยาว 10 เซนติเมตร  กว้าง 0.5 เซนติเมตร ใช้ส่วนที่แหลมของไม้ดีด ดีดสาย แล้วโยกคันโยกเพื่อบังคับเสียง

การบรรเลง วางพิณไว้บนตักหรือบนโต๊ะตามแนวขวาง มือขวาดีดสาย มือซ้ายโยกคันบังคับเสียงให้ตึงหย่อน ทำให้ได้เสียงต่างๆ กัน เสียงที่ได้เช่น ซอล โด มี ซอลสูง โดสูง  การโยกคันโยกสามารถบังคับเสียงให้เสียงสูงถึงสามระดับคู่แปด  เสียงต่ำสี่ระดับคู่แปด  ตั้งสายเสียง ลา จะได้ช่วงเสียงเป็นเสียง มีต่ำ ถึง โดสูงสามช่วงคู่แปด  วิธีดีดนอกจากการดีดแล้ว ยังมีวิธีการบรรเลงอย่างอื่นอีกเช่น  เกี่ยว ประ เป็นต้น ส่วนการบรรเลงของมือซ้ายมี ดัน ดึง ดึงขยี้ ดันขยี้ ตี ชน เขย่า สั่น โหยเป็นต้น
การกำเนิดเสียงของพิณสายเดี่ยวโดยทั่วไปแบ่งได้ 2 ประเภท 1) เสียงที่เกิดจากการดีดสายธรรมชาติ  2) เสียงจากเครื่องขยายเสียง (ดูภาพส่วนประกอบของพิณ ส่วนประกอบหมายเลข 10 ส่วนขยายเสียงไฟฟ้า) แต่ไม่ว่าจะเป็นพิณที่มีการกำเนิดเสียงอย่างไร เวลาบรรเลง ผู้บรรเลงใช้นิ้วก้อยมือขวาดีดสาย และใช้มือขวาจับคันโยกบังคับเสียง  (วิธีดีดอย่างโบราณ) ในปัจจุบันนิยมใช้นิ้วชี้มือขวาติดเล็บปลอมดีดสายแล้วใช้มือขวาโยกคันโยกบังคับเสียงปล่อยให้เสียงโหยยาว  มีวิธีการดีดที่เมื่อดีดเสร็จ นิ้วก้อยประลงบนเส้นแล้วปล่อยอย่างรวดเร็ว เกิดเป็น เสียงบอด  การดีดเสียงสองเสียงประสมกัน ทำให้ได้เสียงนุ่มนวล กลมกลืน
 การบรรเลงพิณสายเดี่ยวแบ่งช่วงดีดบนสายเป็น  8  ช่วง  จุดที่ดีดบนสายมี 6 จุด ต่างกัน ให้เสียงที่ต่างกัน คือ ช่วง 1/2 (เสียงสองส่วน), 1/3(เสียงสามส่วน) , 1/4 (เสียงสี่ส่วน)  , 1/5 (เสียงห้าส่วน), 1/6 (เสียงหกส่วน)  และ 1/8 (เสียงแปดส่วน) แต่การดีดสายตามจุดแบ่งช่วงเสียง เพียง 6 จุด นั่นก็หมายถึง 6 เสียง ไม่เพียงพอสำหรับการบรรเลงบทเพลงที่ล้ำลึกไพเราะได้ นอกจากการดีดลงบนสายในช่วงเสียงต่างๆ  แล้ว  ลักษณะเด่นของพิณสายเดี่ยวอีกอย่างหนึ่งคือ คันโยก ที่ทำหน้าที่เพิ่มลดความตึงหย่อนของเสียง  ทำให้เกิดเสียงสูงต่ำต่างกัน เพิ่มความหลากหลายของเสียงอีกมากมาย ช่วงเสียงของพิณสายเดี่ยวแสดงในกราฟต่อไปนี้    

มีเรื่องเล่าของชาวจิงเกี่ยวกับกำเนิดของ พิณสายเดี่ยวเป็นตำนานประจำชนชาติอันแสนประทับใจที่เล่าสืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน  

       กาลครั้งหนึ่ง  ชาวจิงมีสามีภรรยาคู่หนึ่งรักกันมาก สามีชื่อจางหยวน ภรรยาชื่อหยวนซื่อฟาง  ต่อมาราชสำนักเกณฑ์ชายฉกรรจ์ไปเป็นทหารนานกว่า 10 ปี ก่อนจากบ้านไปจางหยวนฝากแม่ให้หยวนซื่อฟางดูแล หยวนซื่อฟางก็ได้มอบไข่มุกประจำตระกูลสองเม็ดให้กับสามี ให้ติดตัวไว้จะช่วยปกป้องคุ้มครองฟันแทงไม่เข้า  เวลาผ่านไปจนครบ 10 ปีก็ไม่เห็นสามีกลับมา  ที่บ้านก็ยากจนลงจนไม่มีอะไรกิน หยวนซื่อฟางต้องพาแม่ย่าเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อขอทานมาเลี้ยงตัว  แต่โชคร้ายเจอกับโจรใจบาป  โจรพวกนี้เมื่อปล้นแล้วจะควักลูกตาไปหนึ่งข้าง หากไม่ยอมก็จะฆ่าทิ้งเสีย  ทั้งหยวนซื่อฟางและแม่ย่าต่างแย่งกันให้โจรควักลูกตาตัวเอง แต่ด้วยความที่สามีฝากแม่ไว้กับตน หยวนซื่อฟางจึงปกป้องไม่ให้โจรควักลูกตาแม่  แล้วให้โจรควักลูกตาตัวเองทั้งสองข้าง  เมื่อกลุ่มโจรจากไป  สองแม่ลูกกอดกันร้องไห้โหยหวน  เสียงร้องไห้ดังไปถึงสวรรค์  เทพยดาจึงลงมาดู เมื่อเห็นสองแม่ลูกก็เกิดความเวทนาสงสาร จึงได้มอบพิณสายเดี่ยวนี้ให้พร้อมกับบอกว่า เจ้าจงเก็บพิณนี้ไว้  เดินไปข้างหน้าแล้วดีดพิณไปเรื่อย เจ้าก็จะมีข้าวกิน และจะหาสามีพบ”  หยวนซื่อฟางเริ่มเรียนรู้วิธีดีดพิณ และสามารถดีดได้ไพเราะจับใจ ผู้คนสงสารเห็นใจมอบเงินและอาหารให้ตลอดทาง จางหยวนเมื่อรบชนะก็เดินทางกลับบ้าน  ระหว่างเดินทางกลับได้ยินเสียงพิณแว่วมาแต่ไกลจึงตามเสียงไป  พบผู้คนกำลังมุงดูสาวตาบอดดีดพิณกับหญิงชรา  จึงถามผู้คนที่มุงดูอยู่นั้นว่าทั้งสองเป็นใครมาจากไหน หยวนซื่อฟางได้ยินเสียงสามีก็จำได้ แต่ไม่กล้าเอ่ยปากร้องทัก  จางหยวนพินิจดูหญิงดีดพิณอยู่นาน เมื่อรู้ว่าเป็นภรรยาตน   จึงเข้าไปพูดด้วยว่าตนเองชื่อจางหยวน แต่หยวนซื่อฟางกลับบอกว่า ฉันไม่รู้จักท่านนายพลจางหยวน  ฉันรู้จักแต่จางหยวนคนที่มีไข่มุกวิเศษติดตัวเท่านั้น  ไม่ทราบว่าท่านมีหรือไม่  จางหยวนรีบล้วงเอาไข่มุกออกจากกระเป๋าเสื้อ วางไว้ในมือของหยวนซื่อฟาง  หยวนซื่อฟางคลำดูก็รู้ว่าเป็นไข่มุกวิเศษประจำตระกูล ทันใดนั้นไข่มุกก็กลิ้งหลุดจากมือ เปล่งประกายสว่างไสวกลายเป็นดวงตาของหยวนซื่อฟาง  ทำให้หยวนซื่อฟางมองเห็นอีกครั้งหนึ่ง  สามีภรรยา และแม่ก็ได้พบหน้ากัน แล้วเดินทางกลับบ้านเกิด  ด่านบ่าวก็ได้กลายเป็นสมบัติล้ำค่าของชาวจิงทุกครัวเรือนนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ภาพชาวจิง ดีดพิณสายเดี่ยว


เพลงเอกของพิณสายเดี่ยว เช่น  ซือเซียงฉวี่ (เพลงรำพันบ้านเกิด) เกาซานหลิวสุ่ย (เขาสูงน้ำไหล)  ฉีหม่า (ขี่ม้า)  บทเพลงที่เพลงแต่งขึ้นใหม่ เช่น จีจ้านเปียนฉุย (กองทัพพรมแดน)  หยวีชุนเฉินฉวี่ (บทเพลงรุ่งอรุณ ณ หมู่บ้านประมง) เป็นต้น
ฟังเพลงที่บรรเลงโดยพิณสายเดี่ยวได้ที่เวบไซต์นี้ http://www.duxianqin8.com/index_music_cn.html

ตัวอย่างโน้ตเพลงพิณสายเดี่ยว
《思乡曲》ชื่อเพลง   ซือเซียงฉวี่   “เพลงรำพันบ้านเกิด
เอกสารอ้างอิง
陈坤鹏编著《独弦琴教程》中国文联出版社2004.8.
陈坤鹏《独弦琴的改良与推广》载《广西少数民族音乐暨广西音乐创作民族化
                研究论文集》中国文联出版社2006.11.
何洪《独弦琴与京族民歌关系考》载《艺术探索》1988.2 .
张前、王次炤《音乐美学基础》人民音乐出版社1992.
张前主编《音乐美学教程》上海音乐出版社2002.2.
罗小平《音乐美的寻觅-罗小平音乐文集》上海音乐学院出版社2005.10.
刘承华《中国音乐的神韵》福建人民出版社2004.5第二版 .

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น