วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

“เพลงระบำเผ่าอี๋” หนึ่งในเพลงทรงกู่เจิง ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี



หนึ่งในความโชคดีของประชาชนคนไทยคือ การที่เรามีพระมหากษัตริย์ผู้เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพนานัปการ ที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือพระอัจฉริยภาพทางดนตรีอันเป็นที่ประจักษ์และระบือพระนามไปทั่วโลก พระอัจฉริยภาพดนตรีนี้มิเพียงปรากฏแต่เพียงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว หากแต่ถ่ายทอดสู่พระบรมวงศานุวงศ์ เหตุนี้ เสียงดนตรีจากเขตพระราชฐานจึงได้บรรเลงแว่วหวานสู่พสกนิกรมิขาดเสียง ยังความสุข ปลาบปลื้ม ปิติ  ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
เมื่อปลายปี พ.ศ. 2543 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เวลานั้นรัฐบาลจีนได้จัดการแสดงดนตรีพื้นเมืองถวายให้ทอดพระเนตร เสียงของ กู่เจิง[1] ที่ลดหลั่นสูงต่ำอวดความงามแห่งจินตภาพของธารน้ำไหลระลอกแล้วระลอกเล่าซัดสาดไล่ล้อคลอเคลีย เสียงรัวไหวทั้งแผ่วเบาหวีดหวิวดุจสายลมโชยเอื่อย ทั้งกระแทกกระทั้นสนั่นดังดั่งลมพายุโหม เสียงดีดแผ่วเบาราวน้ำหยดจนหมดสาย เสียงต่ำทุ้มลุ่มลึกสูงส่งดุจขุนเขาสูงตระหง่าน เสียงกรีดสายกรีดกรายเกรี้ยวกราด เสียงประสานเรียงร้อยดุจฝูงภมรร่อนบิน จินตภาพที่ฝากผ่านมากับเสียงกู่เจิงนี้ ยังความโปรดปรานและพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีพระดำรัสถึงความสนพระทัยในเครื่องดนตรี กู่เจิง  ว่า  

 “ สำหรับเครื่องดนตรีกู่เจิง เป็นเครื่องดนตรีที่เพิ่งได้ค้นพบเมื่อปี 2543 ตอนไปเมืองจีน ได้ไปล่องแม่น้ำหลีเจียง ที่เมืองกุ้ยหลิน และบริษัทที่จัดดนตรีประกอบก็จัดกู่เจิงกับผีผามา แม้ครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้ยินก็ติดใจว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เสียงไพเราะมาก ไพเราะมากที่สุดในชีวิตที่เคยได้ยินมา และชอบเพลงที่เด็กวิทยาลัยดนตรีมาเดี่ยวให้

จากนั้นในปี 2544 พระองค์จึงได้ทรงฝึกหัดเครื่องดนตรีชนิดนี้กับพระอาจารย์ชาวจีนชื่อ หลี่หยาง (Li Yang) และพระอาจารย์หลี่ฮุย (Li Hui) ด้วยพระวิริยะอุตสาหะและพระอัจฉริยภาพ  ในระยะเวลาไม่นานนัก พระองค์ก็ทรงศึกษากู่เจิงและสามารถบรรเลงเพลงขั้นสูงได้อย่างมืออาชีพ พระอัจฉริยภาพอันเป็นที่ประจักษ์นี้ รัฐบาลจีนได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทรงแสดงกู่เจิงที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน พระองค์ได้นำ กู่เจิง มาเป็นเครื่องดนตรีเพื่อบรรเลงกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยและจีน โดยได้ทรงมีโอกาสบรรเลงเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2544 ในคอนเสิร์ตที่มีชื่อว่า สายสัมพันธ์สองแผ่นดินงานวัฒนธรรมสายสัมพันธ์สองแผ่นดินนี้ จัดติดต่อกันมาถึง 4 ครั้งแล้ว สำหรับในครั้งที่ 4 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะทรงบรรเลงกู่เจิง ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 12 ถึง 25 ธันวาคม 2552  รวม 5 เพลงคือ เพลงเผ่าไทย  เพลงชุนเต้าลาซ่า  เพลงระบำเผ่าอี๋ เพลงเมฆตามจันทร์ และเพลงสายสัมพันธ์สองแผ่นดิน (ข้อมูลจาก ข่าวในพระราชสำนักประจำวันที่ 8 กันยายน 2552) ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี นี้เอง ชาวไทยจึงมีโอกาสได้รู้จักเครื่องดนตรีชิ้นเอกของจีนที่สำคัญชิ้นนี้ จนเป็นที่นิยมชมชอบของชาวไทยอย่างกว้างขวางและแพร่หลายในเวลาต่อมาด้วยเช่นกัน  
นอกจากนี้ ในการเสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชภารกิจ ณ ต่างแดน  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้ทรงนำกู่เจิงไปบรรเลงพระราชทานแก่ชาวไทยในต่างแดนอยู่เป็นนิจ ดังจะเห็นได้จากข่าวในพระราชสำนัก มักนำเสนอข่าวทรงบรรเลงกู่เจิงจากฝีพระหัตถ์ให้ประชาชนคนไทยได้ชมได้ฟังอยู่เสมอ เพลงระบำเผ่าอี๋เป็นหนึ่งในเพลงที่ทรงบรรเลงเป็นประจำ และได้ยินจนคุ้นหู แต่เป็นที่น่าเสียดายด้วยระยะเวลาข่าวที่มีจำกัด มิอาจฟังอรรถรส ความไพเราะของบทเพลงนี้จนจบได้ ในขณะที่นักดนตรีของไทยมีความสนใจอยู่มาก แต่ติดปัญหาด้านภาษาจีนเพราะเป็นเพลงของจีน เครื่องดนตรีของจีน จึงไม่รู้ว่าจะหาฟังได้จากที่ใด และไม่รู้ว่าจะหาข้อมูลเกี่ยวกับเพลงนี้ได้อย่างไร ผู้เขียนจึงจะได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเพลงนี้ในบทความนี้
ก่อนที่จะรู้จักกับเพลงระบำเผ่าอี๋  จะขอแนะนำข้อมูลเกี่ยวกับ ชาวเผ่าอี๋ให้ได้รู้จักกันเสียก่อน 
                ชาวอี๋ (Yi) คือชนเผ่าเชียงโบราณที่อพยพลงใต้ ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ผ่านการผสมผสานกลมกลืนทั้งทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์กับชนพื้นถิ่น และสืบทอดอารยธรรมต่อกันมาเกิดเป็นชนกลุ่มชาติพันธุ์ใหม่ขึ้น  เมื่อหกพันปีก่อน ชนเผ่าเชียงโบราณที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือบริเวณเมืองเหอหวง เริ่มกระจายถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นบริเวณกว้าง  ในจำนวนนี้มีกลุ่มหนึ่งที่ขยายการตั้งถิ่นฐานไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน จนกระทั่งเมื่อ 3000 ปีก่อน  ชนกลุ่มนี้ก่อตั้งตนเองเป็นกลุ่มชนและเรียกชื่อตามถิ่นที่อยู่อาศัย ได้แก่ กลุ่ม ลิ่วอี๋ ชีเชียง จิ่วตี ในยุคที่กลุ่มชนเชียงโบราณอพยพร่อนเร่มาถึงบริเวณตะวันตกเฉียงใต้นั้น ได้มีชนเผ่าโบราณกลุ่มต่างๆ หลายต่อหลายกลุ่มอพยพมา และตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว ในประวัติศาสตร์จีนเรียกกลุ่มชนโบราณนี้ว่า ชนร้อยเผ่าเมื่อชนเชียงโบราณอพยพมาถึงบริเวณตะวันตกเฉียงใต้แล้ว ก็ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ปะปนรวมกันกับชนร้อยเผ่า ระยะเวลาที่อยู่อาศัยร่วมกันเป็นเวลายาวนานนี้เอง  ชนเผ่าเชียงโบราณได้มีปฏิสัมพันธ์  ซึมซับ ผสมผสาน กลมกลืนวัฒนธรรมของตนกับกลุ่มชนร้อยเผ่า 
                ศตวรรษที่ 8 ปีที่ 30 อาณาจักรเมิงเส่อ รวบรวมหกอาณาจักรเป็นผลสำเร็จ บรรพบุรุษชาวอี๋ และบรรพบุรุษชาวไป๋ ร่วมมือกันกับชนกลุ่มใหญ่น้อยต่างๆ ก่อตั้งอาณาจักรที่มีระบบการปกครองแบบชนชั้นศักดินากับทาสขึ้น เรียกว่าอาณาจักรน่านเจ้า มีศูนย์กลางอาณาจักรอยู่ที่เขตปกครองตนเองเมืองต้าหลี่ของมณฑลหยวินหนานในปัจจุบัน โดยมีอาณาเขตครอบคลุมดินแดนในปัจจุบันคือ ตะวันออกของมณฑลหยวินหนาน ตะวันตกมณฑลกุ้ยโจว ตอนใต้ของมณฑลเสฉวน  ซึ่งเป็นอาณาบริเวณที่ตั้งถิ่นฐานของชาวอี๋นั่นเอง
                ด้านศิลปะ และวัฒนธรรม   ชนเผ่าอี๋มีอารยธรรมยาวนาน สร้างสรรค์และสืบสานงานด้านวรรณกรรม ศิลปกรรมที่งดงาม  ชุมชนชาวอี๋ในท้องที่ต่างๆ มีเอกสารโบราณที่จดบันทึกด้วยลายมือเป็นภาษาอี๋มากมายนับร้อยนับพัน  ปัจจุบันมีการแปลเป็นฉบับภาษาจีน ตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่เป็นคลังความรู้และหลักฐานด้านปรัชญา ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ศาสนาอีกนับไม่ถ้วน นอกจากนี้ยังมีศิลาจารึก โลหะจารึกภาษาอี๋ และวรรณกรรมมุขปาฐะอันทรงคุณค่ายิ่งนัก โดยเฉพาะการแพทย์แผนโบราณเผ่าอี๋ มีการบันทึกตำรายา ตำราการรักษา นับเป็นแบบฉบับการรักษาแผนโบราณของวงการแพทย์แผนจีนเลยทีเดียว  นอกจากนี้นักวิชาการด้านวัฒนธรรมจีนในปัจจุบันเชื่อกันว่า ชาวอี๋เป็นผู้บุกเบิกการใช้ปฏิทินสุริยคติเป็นกลุ่มแรก
                ชาวอี๋เชี่ยวชาญการระบำรำร้อง  บทเพลงของชาวอี๋มีท่วงทำนองหลากหลาย   เช่น เพลงปีนเขา เพลงเยี่ยมบ้าน เพลงรับแขก เพลงเสพสุรา เพลงขอสาว เพลงร่ำโศกเป็นต้น บางทำนองเพลงมีเนื้อเพลงที่จำเพาะเจาะจง บางทำนองเพลงเป็นทำนองที่ใช้สำหรับร้องด้นเนื้อเพลงสดๆ  เพลงลำนำภูเขา ก็เป็นอีกทำนองเพลงหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอี๋ ซึ่งในแต่ละชุมชนมีท่วงทำนองเพลงลำนำภูเขาแตกต่างกันไป  เครื่องดนตรีของชาวอี๋ก็มีหลากหลาย เช่นปี่น้ำเต้า  พิณเป่า พิณวงเดือน ขลุ่ย พิณสามสาย ระฆังพวง กลองเหล็ก กลองยาว ปี่รวง (เสียงคล้ายแคน ภาษาอี๋เรียกว่า ปาอู巴乌) เป็นต้น 
การเต้นรำของชาวอี๋ก็โดดเด่นเป็นที่หนึ่ง  แบ่งเป็นการระบำแบบเดี่ยวและการระบำแบบหมู่ ในเทศกาลรื่นเริงต่างๆ ชาวอี๋นิยมรวมตัวกันร้องเล่นเต้นรำ เริงระบำเป็นหมู่อย่างสนุกสนาน ระบำที่นิยมเช่น ระบำขับร้อง ระบำดนตรี ระบำวงเดือนเป็นต้น  ท่าทางการร่ายรำสนุกสนานเร่งเร้า ท่วงทำนองเข้มแข็ง มีพลัง มักใช้เครื่องดนตรีขลุ่ย พิณวงเดือน และพิณสามสายบรรเลงประกอบ
                เทศกาลสำคัญของชาวอี๋หลักๆ คือ เทศกาลคบเพลิงไฟ  เทศกาลขึ้นปีใหม่อี๋  เทศกาลไหว้บรรพบุรุษ เทศกาลระบำรำร้อง ในจำนวนนี้เทศกาลคบเพลิงไฟถือเป็นเทศกาลที่ชาวอี๋ให้ความสำคัญและจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่  จัดในเดือนหกวันที่ 15 หรือ 24 ตามปฏิทินสุริยคติ  ในงานเทศกาลคบเพลิงไฟนี้ ชนชาวอี๋จะสวมชุดประจำเผ่าชุดใหม่เต็มยศมาร่วมพิธีเฉลิมฉลองและบูชาเทพต่างๆ ถ้วนหน้า จากนั้นก็จะร่วมกันร้องเพลง เต้นรำอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมรื่นเริงอื่นๆอีก เช่น แข่งม้า มวยปล้ำ เป็นต้น ตกกลางคืนชาวอี๋ทุกครัวเรือนจุดคบเพลิงสว่างไสวไปทั่วชุมชน ถึงเวลานัดหมายแต่ละคนจะถือคบเพลิงตรงไปที่ลานกลางแจ้งร่วมกันก่อกองไฟ  จากนั้นร้องระบำรำเต้นกันอย่างสนุกสนาน
เพลง เพลงระบำเผ่าอี๋  《彝族舞曲》ชื่อภาษาจีนออกเสียงว่า อี๋จู๋อู๋ฉวี่ (Yi zu wu qu)เป็นเพลงเอกของชนเผ่าอี๋  เดิมเป็นเพียงเพลงร้องเล่นเต้นระบำอยู่ในชนกลุ่มน้อยในหุบเขาลึกและห่างไกล หรือเพลงนี้จะดังผ่านข้ามหุบเขาลูกแล้วลูกเล่า  ออกสู่โลกดนตรีภายนอก  
ในเดือน พฤษภาคมถึงตุลาคม ปี ค.ศ. 1956 Wang Huiran (王惠然) หัวหน้ากองดุริยางค์กรมการรักษาดินแดน ได้ติดตามคณะผู้บัญชาการเพื่อเยี่ยมเยือนและให้ความบันเทิงแก่กองตำรวจตระเวนชายแดนที่เมืองเตียนหนาน ของมณฑลหยวินหนาน มีโอกาสสัมผัสกับวัฒนธรรมของชนเผ่าอี๋ ในคราวนี้เอง Wang Huiran ได้ประพันธ์เพลง โดยใช้เค้าโครงจากทำนองเพลงพื้นเมืองเดิมของชนเผ่าอี๋  คือเพลง Hai cai qiang《海菜腔》(เพลงผักทะเล) และเพลง Yan he wu《烟盒舞》(เพลงระบำกล่องบุหรี่) ตั้งชื่อเพลงใหม่นี้ว่า《彝族舞曲》แปลว่า เพลงระบำเผ่าอี๋   ใช้เป็นเพลงเอกสำหรับบรรเลงเดี่ยวของเครื่องดีดของจีนชนิดหนึ่ง ชื่อ ผีพา (Pipa 琵琶)
เพลงนี้แต่งสำเร็จในปี ค.ศ. 1960 และบรรเลงสู่สาธารณชนครั้งแรกในงานดนตรีสาธารณะที่เมืองซานตง  ต่อมาได้บันทึกเสียงออกเป็นอัลบั้มเพลงบรรเลงเป็นครั้งแรก โดยสำนักบรรณาธิการดนตรีประชาชนแห่งปักกิ่งในปี ค.ศ.  1965โดยใช้เครื่องดนตรีผีพาบรรเลง  ต่อมาในปี ค.ศ. 1993 เพลงนี้ได้รับการยกย่องให้เป็น เพลงเอกในศตวรรษที่ 20 ของจีน  ซึ่งถือเป็นเพลงแรกที่ได้รับรางวัลนี้นับตั้งแต่การปฏิวัติวัฒนธรรมจีนปี ค.ศ.1949 เป็นต้นมา   เพลงนี้บรรเลงและเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักดนตรีจีนเรื่อยมา จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1994  เพลง กุหลาบเก้าร้อยเก้าสิบเก้าดอกที่ระบุว่าร้องและแต่งทำนองเพลงโดยนักร้องยอดนิยมจากไต้หวัน Tai Zhengxiao โด่งดังขึ้นและเผยแพร่สู่จีนแผ่นดินใหญ่  จึงเกิดกระแสการการฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์กันขึ้น[2]
                ท่วงทำนองอันไพเราะงดงาม จังหวะอันครึกครื้น เร่งร้อน ของเพลงระบำเผ่าอี๋ บรรยายถึง ราตรีที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานรื่นเริง ระทึกกึกก้องไปทั่วห้วงหุบเขาของชาวอี๋  เสียงดนตรีสะท้อนถึงกลิ่นไอ และบรรยากาศที่สนุกสนานรื่นรมย์ของความเป็นชนเผ่าอี๋ได้อย่างน่าอัศจรรย์  หลังจากเพลงนี้บรรเลงออกสู่สาธารณชน  ก็ได้รับการตอบรับ ชื่นชมและชื่นชอบอย่างที่สุดในวงการดนตรีจีน มีการพัฒนาดัดแปลงเพื่อเป็นทางบรรเลงเดี่ยวของเครื่องดนตรีจีนอื่นๆ มากมาย เช่น กู่เจิง  พิณสามสาย ขิม แม้กระทั่งเครื่องดนตรีตะวันตกอย่างกีตาร์ เปียโน ก็ได้นำเพลงนี้มาดัดแปลงเป็นทางสำหรับบรรเลงเดี่ยว จนได้รับการยกย่องให้เป็นทางบรรเลงยอดเยี่ยมในงานศิลปกรรมดนตรีนานาชาติที่เมืองจูไห่  ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 1987 อีกด้วย
ความชาญฉลาดของคีตกวีชาวอี๋ และคีตกวี Wang Huiran สามารถใช้ตัวโน้ต ร้อยเรียงสร้างเสียงเพลง ท่วงทำนอง ตลอดจนวิธีการบรรเลง เพื่อบรรยาย ถ่ายทอดความรู้สึกได้ชัดเจน ท่วงทำนองเพลงชักนำให้เกิดจินตนาการภาพความงามของชนเผ่าเล็กๆ ในหุบเขาห่างไกลในคืนอันมืดมิด มีเพียงแสงจันทร์นวลที่ส่องสว่างโอบกอดขุนเขาในราตรีกาล กับแสงคบเพลิงที่สุมอยู่กลางลานเต้นรำ หนุ่มสาวชาวอี๋รวมตัวกันรอบกองไฟ เต้นรำสนุกสนานรื่นเริงในคืนวันเทศกาล โครงสร้างเพลงระบำเผ่าอี๋แบ่งออกเป็น 9 ส่วน ดังนี้  
ช่วงที่  1  เริ่มด้วยการรัวที่แผ่วเบา จากช้าไปเร็ว พลิ้วแผ่วหวานแว่วดุจเสียงขลุ่ย  ถ่ายทอดเสียงอันเงียบสงัดแห่งราตรีกาล  บรรยายถึงความอิสระและเสรีภาพของผู้คน  ภายใต้ทัศนียภาพอันงดงามของแสงจันทร์ที่สาดแสงผ่องนวลปกคลุมความมืดมิดของหุบเขา 
ช่วงที่  2 เข้าสู่ทำนองหลัก ใช้วิธีโหยเสียง สูงต่ำขึ้นลง ทำให้เกิดท่วงทำนองที่ฟังดูงดงาม แช่มช้อย บรรยายถึงท่าทางการร่ายรำที่อ่อนช้อยกรีดกรายของหญิงสาวชาวอี๋
ช่วงที่  3 และ 4   ทำนองหลักที่สามและสี่ นำทำนองเชื่องช้าของทำนองหลักที่หนึ่งและสองตัดให้กระชับเข้า จังหวะเร่งเร็วขึ้น ทำนองหนักแน่นขึ้น ใช้การดีดแบบสะบัดรัวและกวาดสาย สลักเสลาภาพการร่ายรำของชายหนุ่มชาวอี๋ ที่เข้ามาเกี้ยวพาราสีสาวน้อยด้วยท่าทีที่องอาจและ เข้มแข็ง
ช่วงที่ 5  ทำนองที่แกร่งกร้าว หยุดชะงักลงด้วยทำนองที่เชื่องช้าและแผ่วเบา  หางเสียงร้อยประสานย้อนกลับเข้าสู่ทำนองของช่วงที่ 4 ราวกับการเต้นรำที่เหนื่อยล้า หนุ่มสาวหยุดพักความสนุกสนานลงชั่วครู่ 
ช่วงที่ 6   ทำนองเพลงกระชั้น ผลักไล่ให้เร็วและดุดันขึ้นอีกครั้ง ดั่งกองไฟที่โหมปะทุลุกโชนขึ้น ส่งทำนองเพลงและบรรยากาศรื่นเริงสู่จุดสูงสุด
ช่วงที่ 7 และ 8  ทำนองเพลงปลุกเร้า โหมกระหน่ำ ดั่งวงดนตรีทั้งวงร่วมบรรเลงประสานทำนอง ผู้คนลุกขึ้นร่วมเริงระบำ   สื่อจินตนาการของการเต้นรำรอบกองไฟอันสนุกสานในอ้อมกอดของหุบเขาที่มืดมิด
ช่วงที่ 9 บรรเลงซ้ำทำนองหลัก แผ่วเบา แว่วหวิว พลิ้วหวาน ดั่งหนุ่มสาวที่ตกอยู่ในภวังค์รัก  เคล้าคลอพลอพลอดมิห่าง ณ หุบเขาห่างไกลแห่งนั้น       

ข้างท้ายนี้เป็นโน้ตเพลงระบำเผ่าอี๋  ลักษณะการบันทึกโน้ตของจีนคือใช้ตัวเลข โดยใช้หลักการคล้ายกันกับการบันทึกโน้ต 5 เส้น คือ 
-                   เลข 1 ถึง  7 แทนเสียงโน้ต โด ถึง ที
-                   ตัวเลขเปล่าไม่ขีดเส้นใต้ คือ โน้ตเต็มจังหวะ
-                   จังหวะของตัวโน้ต มีค่าตามเลขกำกับจังหวะ 4/4 หรือ 2/4  ถ้า 4/4 ในหนึ่งห้องมี 4 จังหวะ 2/4 ในหนึ่งห้องมี  2 จังหวะ 
-                   การขีดเส้นใต้แสดงถึงความยาวของเสียงโน้ต  เช่น  4/4   1 ห้องมี 4 จังหวะ   ขีดเส้นใต้ 1 เส้น หมายถึง 1 ใน 8  สองเส้น หมายถึง  1 ใน 16   เลขจังหวะ 2/4  ขีดเส้นใต้ 1 เส้น หมายถึง 1 ใน 4  ขีดเส้นใต้  2 เส้น หมายถึง 1 ใน 8  เป็นต้น หากต้องการลดความยาวของเสียงโน้ต ซึ่งก็หมายถึงการเพิ่มจำนวนตัวโน้ตให้มากขึ้นเป็นทวีคูณ  สามารถเพิ่มเส้นเป็นสามเส้น สี่เส้นได้ 
-                   จุดหลังตัวเลข หมายถึงครึ่งเสียงของโน้ตตัวหน้า
-                   จุดข้างบนตัวโน้ต หมายถึงเสียงสูง หากมีสองจุด หรือสามจุด หมายถึงเสียงที่สูงขึ้นไป
-                   จุดข้างล่างตัวโน้ต หมายถึงเสียงต่ำ หากมีสองจุด หรือสามจุด หมายถึงเสียงที่ต่ำลงไป
-                   โน้ตในบรรทัดเดียวกันแต่มีตัวเลขคู่ในลักษณะบนและล่าง หมายถึงการประสานคู่เสียง
-                   เลขหลายตัวเรียงกันในแนวตั้ง หมายถึงการไล่ระดับเสียงโน้ตทีละตัว จากสูงไปต่ำ หรือต่ำไปสูง หรือเป็นกลุ่มตัวโน้ต 

สามารถรับฟังและชมการบรรเลงกู่เจิงและผีพาเพลงระบำเผ่าอี๋ได้ที่เว็บไซต์แห่งนี้


















อ้างอิง
[1] บันทึก สลก.ทร.ที่ กห ๐๕๐๑/๒๐๘๙ ลง ๑๘ ต.ค.๔๘ สูจิบัตรการแสดงกาชาดคอนเสิร์ต
ครั้งที่ ๓๐
[2] โน้ตเพลงจาก เว็บไซต์ http://zhaogepu.com







ภาพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงบรรเลงกู่เจิง






เครื่องเป่าชนิดหนึ่ง เป็นเครื่องดนตรีของชาวเผ่าอี๋ ชื่อ ปาอู มีเสียงคล้ายแคน

โน้ตเพลงมีทั้งหมด 4 หน้า
โน้ตเพลง หน้า 1  http://zhaogepu.com/upfile/qita/200906270529563996.gif
โน้ตเพลง หน้า 2 http://zhaogepu.com/upfile/qita/200906270529573997.gif
โน้ตเพลง หน้า 3 http://zhaogepu.com/upfile/qita/200906270529573998.gif
โน้ตเพลง หน้า 4 http://zhaogepu.com/upfile/qita/200906270529583999.gif

ชาวเผ่าอี๋กับชุดประจำเผ่าสีสันสดใส
ชาวเผ่าอี๋ http://www.yizuwh.cn/files/pic/2007824221943.jpg


สภาพบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชาวเผ่าอี๋ สร้างด้วยอิฐดินเผา หิน โคลนและไม้http://www.675304.com/UploadFile/200810/25/1432133969.jpg
หนุ่มชาวอี๋เป่าขลุ่ย ปาอูเกี้ยวสาวในเทศกาลรื่นเริง http://www.artcn.cn/art/UploadFiles/200603/20060324235540940.jpg




[1] ผู้เขียนได้เคยเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับ กู่เจิง ไว้แล้ว ในวารสารเพลงดนตรีนี้ ในเล่มปีที่ 14 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 ชื่อ ครบเครื่องเรื่องกู่เจิง  สามารถอ่านเพิ่มเติมได้

[2] ผู้เขียนได้เคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องราวของเพลงระบำเผ่าอี๋และเพลง กุหลาบแดง 9999 ดอก ลงในวารสารเพลงดนตรีปีที่ 13 ฉบับที่ 5 ประจำเดือนกันยายน 2550 ชื่อเรื่อง จากเพลงระบำเผ่าอี๋ ถึงกุหลาบแดง 9999 ดอกสามารถอ่านเพิ่มเติมได้  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น