การกำเนิดของเครื่องดนตรีตามคำบอกเล่าของบรรพบุรุษของแต่ละชนชาติเป็นเรื่องน่าสนใจและน่าอัศจรรย์ในจินตนาการของบรรพชนเป็นอย่างมาก
โดยมากเป็นนิทานตำนานเหนือธรรมชาติ ดังเรื่องซอหัวม้าของชาวมองโกล ชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งของจีน ที่สร้างจากกระดูก หนังและเส้นหางของม้า
เพราะม้าอันเป็นที่รักถูกทำร้ายแสนสาหัสจนเสียชีวิต
เจ้าของเสียใจมากจึงใช้อวัยวะในร่างกายของม้าทุกส่วนประกอบเป็นซอเพื่อเป็นสิ่งระลึกถึงม้า
จนกลายมาเป็นเครื่องดนตรีประจำชาติของชาวมองโกล เรื่องกู่เจิงของจีนในสมัยราชวงศ์ฉิน
ที่เดิมมีห้าสิบสาย แล้วเกิดการแย่งชิงกันแตกออกเป็นสามส่วน
ส่วนหนึ่งกลายไปเป็นพิณกายาคึมของเกาหลี ส่วนหนึ่งกลายไปเป็นพิณโกโตะของญี่ปุ่น
และอีกส่วนหนึ่งกลายมาเป็นกู่เจิงของจีนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
เรื่องพิณสายเดี่ยวของชาวจิงที่เป็นบรรพบุรุษของเวียดนาม
หนุ่มสาวคู่หนึ่งแต่งงานได้ไม่นาน สามีถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารหลายปีไม่กลับ นางจึงออกเดินทางตามหาสามีแล้วถูกโจรทำร้าย
ควักลูกตาจนบอดทั้งสองข้าง
เสียงร้องไห้โหยหวนดังถึงเทวดาจนต้องลงมาดู และได้มอบพิณสายเดี่ยวไว้
จากนั้นเสียงพิณสายเดี่ยวก็นำนางไปพบกับสามีสมดังใจ พิณสายเดี่ยวก็กลายเป็นเครื่องดนตรีประจำชาติของชาวจิงมาจนตราบปัจจุบัน
แต่การกำเนิดของเครื่องดนตรีที่แท้จริงคงไม่ใช่อย่างในตำนาน
หรือนิทานปรัมปราเล่ากันมาเป็นแน่ หากแต่เกิดขึ้นและสร้างสรรค์มาจากธรรมชาติโดยแท้ เสียงกระทบกันของก้อนหิน ไม้
โลหะทำให้เกิดเครื่องตี เสียงเสียดสีกันของกิ่งไม้ เส้นไหม ทำให้เกิดเครื่องสี เสียงลมพัดใบไม้ ลมพัดเข้าในรูกลวงของท่อนไม้ทำให้เกิดเครื่องดนตรีประเภทเป่า
เสียงดึงเชือกลากจูงตึงหย่อน หรือการง้างเส้นธนูล่าสัตว์ที่ตึงหย่อนทำให้เกิดเครื่องดนตรีประเภทดีด
เป็นต้น หลังจากที่ผู้คนสังเกตเห็นเสียงที่เกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ
นำมาสร้างเครื่องดนตรีและวิวัฒนาการเรื่อยมา
จนกลายเป็นเครื่องดนตรีที่ให้เสียงไพเราะล้ำลึกมากมายมหาศาล
นับเป็นของขวัญชิ้นเอกที่ธรรมชาติมอบให้กับโลกและผู้คนบนโลกใบนี้
ซวิน
คือเครื่องเป่าดินเผา ที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่งของจีน มีอายุราว 7 พันปี แต่สิ้นเสียงไปอย่างแทบจะไม่มีโอกาสได้อวดเสียงขับกล่อมชาวโลกได้อีกด้วยถูกฝังกลบอยู่ใต้ดินไปนาน
แต่หลังจากการปฏิวัติวัฒนธรรมจีนเป็นต้นมา โดยเฉพาะในระยะสิบกว่าปีมานี้
หลังจากการขุดพบซวิน นักดนตรีวิทยาของจีนได้พยายามศึกษาค้นคว้าบนความว่างเปล่า
เพื่อศึกษาหาวิธีการบรรเลงจากเครื่องดนตรีแปลกหน้าที่ไร้การสืบทอดชิ้นนี้จนเป็นผลสำเร็จ ซวินได้ถูกปลุกให้ฟื้นตื่นจากการหลับใหล
กลับมาขับเสียงหวานแว่วก้องไปทั่วโลกแห่งดนตรีกาลอีกครั้ง
เสียงที่เป็นเอกลักษณ์บรรเลงก้องไปไกลถึงหนใด
ดึงดูดความฉงนสนใจของนักดนตรีทั่วโลกให้ตามหาเสียงนั้น สันนิษฐานว่า ซวินพัฒนามาจากเครื่องมือล่าสัตว์ชนิดหนึ่งที่ชื่อ
สือหลิวซิง (หมายความว่า ดาวตกหิน) ในอดีตผู้คนใช้เชือกมัดหินก้อนกลม หรือโคลนปั้นเป็นก้อนกลมตากให้แห้ง
ใช้ขว้างนกหรือสัตว์ป่ามาเป็นอาหาร ลูกหินบางลูกภายในกลวงและมีรูบนพื้นผิว เมื่อขว้างออกไป
ลอยปะทะกับลมเกิดเป็นเสียงขึ้น สร้างความประหลาดใจ ความสนอกสนใจและความสนุกสนานให้คนในสมัยนั้นเป็นอันมาก จึงลองนำมาเป่าดูและพบว่าสามารถเป่าเป็นเสียงต่างๆได้
และเมื่อเอามือปิดรูบนพื้นผิวทำให้เกิดเสียงสูงต่ำต่างกัน จึงมีการพัฒนาเรื่อยมา เกิดเป็นเครื่องเป่าดินเผาที่เรียกว่า
ซวิน ในที่สุด
ซวินในยุคเริ่มแรกทำมาจากหินและกระดูกสัตว์
เมื่อเข้าสู่ยุคดินเผาจึงได้พัฒนามาเป็นซวินที่ทำจากดินเผา รูปร่างก็ไม่เหมือนกัน บ้างเป็นรูปทรงกลมแบน
ทรงรี ทรงกลม รูปปลา หรือทรงผลสาลี่ แต่ทรงสาลี่เป็นที่นิยมมากที่สุด
ด้านบนของซวินมีรูเป่า
พื้นเรียบ ด้านข้างลำตัวมีรูกดบังคับเสียง ซวินในยุคแรกสุดมีเพียงรูเดียว จากนั้นค่อยๆพัฒนาให้มีรูเพิ่มขึ้น จนกระทั่งถึงปลายศตวรรษที่
3 เริ่มมีซวิน 6 รู เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปลายปี 30 แห่งศตวรรษที่ 20 ศาสตราจารย์เถาเจิ้ง
คีตกรแห่งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์แห่งชาติจีน เริ่มศึกษาวิจัยและประดิษฐ์ซวินดินเผาเลียนแบบของโบราณ
ต่อมาศาสตราจารย์เฉินจ้ง แห่งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์เมืองเทียนจิน ได้ประดิษฐ์ซวินดินเผา
9 รูขึ้น โดยอาศัยพื้นฐานจากซวินทรงสาลี่
6 รู และวิทยาการการผลิตเครื่องดินเผาของเมืองอี๋ซิ่ง มณฑลเจียงซู ซวินใหม่นี้นอกจากจะรักษารูปทรงดั้งเดิมของซวินไว้แล้ว
ยังมีเสียงดังขึ้น ช่วงเสียงกว้างขึ้น ไล่เสียงตามบันไดเสียงได้ครบ รวมทั้งสามารถบรรเลงเสียงครึ่งเสียงได้ด้วย ทำให้ซวินใหม่นี้กลายเป็นเครื่องดนตรีที่สามารถเปลี่ยนบันไดเสียงได้ ซวินมีน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ มีความเป็นโบราณ
เรียบง่าย นุ่มและลุ่มลึก เศร้าวังเวง แต่แฝงไว้ด้วยพลังความฮึกเหิมแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ปัญหาของซวินแบบเดิมคือการเรียงตัวของรูกดเสียงไม่เป็นระบบระเบียบ
ซวิน 9 รูที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่นี้ ได้พัฒนาให้ระบบการกดเสียง และตำแหน่งรูบังคับเสียงเป็นระเบียบมากขึ้น
ทำให้การบรรเลงมีความคล่องตัวมากขึ้น ซวินสามารถใช้บรรเลงเดี่ยว บรรเลงร่วมและบรรเลงประกอบกับเครื่องดนตรีอื่น
ๆ ได้อย่างกลมกลืน
การเปิดตัวของซวินดินเผา
9 รู เป็นสัญลักษณ์การเกิดใหม่ของซวินโบราณที่เคยสูญหายไป หลังการเผยแพร่ซวินใหม่ไม่นาน คีตกรในคณะดนตรีของมณฑลหูเป่ยชื่อ จ้าวเหลียงซานซึ่งเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของศาสตราจารย์เฉินจ้ง ประดิษฐ์ซวินโดยแกะสลักจากไม้แดง มี 10 รู แก้ปัญหาการไม่สามารถเป่าเสียงสูงของซวินได้สำเร็จ
ในประวัติการดนตรีของจีน
ซวินนับเป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญในราชสำนักอย่างหนึ่ง ในวงดนตรีราชสำนัก ซวินแบ่งได้ 2 แบบคือ ซ่งซวิน (ซวินบวงสรวง) และ
หย่าซวิน (ซวินชั้นสูง) ซ่งซวินมีรูปทรงเล็กเท่าๆกับไข่ไก่
มีเสียงสูง หย่าซวินรูปทรงใหญ่ มีเสียงต่ำทุ้ม
มักบรรเลงร่วมกับเครื่องเป่าโบราณที่ทำจากไม้ไผ่ชนิดหนึ่งชื่อ “ฉือ” มีหลักฐานในบทกลอนที่เก่าแก่ที่สุดของจีน
“ซือจิง” (คัมภีร์กลอน) ว่า “คนแซ่โป๋เป่าซวิน
คนแซ่จ้งเป่าฉือ” นับเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการศึกษาประวัติความเป็นมาของซวินได้เป็นอย่างดี
ซวินมาตรฐานที่นิยมบรรเลงเป็นซวิน
9 รู ซวิน 9 รูนี้มีรูด้านหน้า ฝั่งซ้าย 4 รู ฝั่งขวา 3 รู ด้านหลังซ้ายขวาฝั่งละ
1 รู รวมเป็น 9 รู การบรรเลงซวิน 9 รู คือ
การเป่าที่ด้านบนของซวิน ลักษณะปาก
มุมปากทั้งสองด้านปิดสนิทให้เหลือช่องลมที่กลางริมฝีปาก
เวลาเป่าใช้วิธีผิวลมเข้าช่องเป่า ลักษณะการจับซวิน นิ้วมือมือทั้งสองข้างประคองซวินไว้
นิ้วชี้ กลาง นาง ก้อยของมือทั้งสองทำหน้าที่กดปิด – เปิดรูด้านหน้าของซวิน
ส่วนนิ้วโป้งของมือทั้งสองทำหน้าที่กดปิด -
เปิดรูด้านหลังของซวินเพื่อบังคับเป็นเสียงโน้ตต่างๆ ดังภาพ
การกดเปิด – ปิด
รูต่างๆ ทำให้ได้เสียงตัวโน้ตต่างกัน แสดงดังภาพต่อไปนี้
สัญลักษณ์ที่ปรากฏในภาพ รูที่ระบายสีดำทึบคือการกดปิดรู รูที่ไม่ได้ระบายสีทึบคือการเปิดรู
ตัวเลขที่แสดงที่มุมบนซ้ายของแต่ละช่องคือเสียงโน้ตที่ได้ ตั้งแต่ 1 – 7 ก็คือเสียงตัวโน้ต โด ถึง
ที จุดที่กำกับบนตัวเลข
จุดบนหมายถึงเสียงสูง ไม่มีจุดหมายถึงเสียงปกติ และจุดล่างหมายถึงเสียงต่ำ
บทเพลงเอกของซวิน ที่เป็นที่นิยมว่าบรรเลงด้วยซวินได้ไพเราะที่สุดชื่อ
บทเพลงฉู่ (ภาษาจีนออกเสียงว่า
ฉู่เกอ 楚歌) เป็นบทเพลงที่คีตกวีเฉินจ้งและตู้ชื่อเหวิน
ประพันธ์ขึ้นโดยอาศัยทำนองเพลงโบราณ ป้า หวาง เซี่ย เจี่ย 《霸王卸甲》(ถอดเกราะจักรพรรดิ) บรรเลงจินตภาพความอาลัยอาวรณ์ของการพลัดพรากจากกันของเจ้าผู้ครองแคว้นฉู่ เซี่ยงยวี่ กับ นางอันเป็นที่รัก ยวี่จี
ในครั้งที่แคว้นฉู่ออกราญศึกสงครามกับแคว้นฮั่นของหลิวปัง แคว้นฉู่ถูกกองกำลังทหารของแคว้นฮั่นล้อมรอบปิดประชิดทุกทิศา
ไร้สิ้นทางหนี ไร้สิ้นเสบียงอาหาร ไร้สิ้นกำลัง ดึกสงัดคืนหนึ่ง ท่ามกลางความเงียบ
ความท้อแท้ของกองทหารแคว้นฉู่ กองทหารแคว้นฮั่นที่กำลังปิดล้อมอยู่นั้นร้องเพลงพื้นเมืองของแคว้นฉู่ดังไปทั่วท้องสมรภูมิ
เสียงข้าศึกโอบล้อมรอบเมือง ร้องเพลงบ้านเกิดของตนกึกก้องไปทั่ว ยิ่งซ้ำเติมเหล่าทหารที่ไร้กำลัง
ท้อแท้และหิวโหย ให้หมดสิ้นความหวังทั้งปวง เสียงเพลงฉู่ปลุกเซี่ยงหยวี่ตื่นจากภวังค์
นึกฉงนและทอดถอนใจว่า นี่แคว้นฮั่นยึดดินแดนของข้าได้แล้วหรือไร จึงลุกขึ้นมาเขียนกลอนพร่ำรำพัน
แล้วร้องเพลงร่วมกับยวี่จีนางอันเป็นที่รักด้วยความโศกเศร้ารันทดระทม ทั้งอาลัยนาง
อาลัยบ้านเมือง เป็นการอำลาจากกันในชาตินี้
“กำลังมหาศาลย้ายแม้ภูผา แต่เพลานี้ข้าเพลี่ยงพล้ำ
อาชามิหาญราญศึก ยวี่จีเอ๋ยข้าจะทำเช่นไร”
ยวี่จี
มีใจเด็ดเดี่ยว มิยอมให้ตนต้องเป็นภาระของจอมทัพในการพิทักษ์บ้านเมือง
จึงเชือดคอตายที่หน้าม้าศึกของเซี่ยงหยวี
เซี่ยงหยวีขี่ม้านำกำลังทหารที่ไร้สิ้นความฮึกเหิม ไปถึงแม่น้ำอูเจียง ไม่รู้จะไปทางใดได้อีกแล้ว หมดสิ้นหนทาง
จึงเชือดคอตายที่ริมแม่น้ำแห่งนั้น
บทเพลงนี้มีทำนองลุ่มลึก
โหยหวน เสียงซวินที่แผ่วหวิว วังเวง ถ่ายทอดความรู้สึกของวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่เกรียงไกร
ในยามโศกเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวัง และสูญเสีย
ข้างล่างนี้เป็นโน้ตเพลง “ฉู่เกอ” นอกจากนี้ผู้อ่านสามารถหาเพลงนี้ฟังได้จากเวปไซต์นี้ http://www.51wma.com/sort/10_4560_148332.html และ
เอกสารอ้างอิง
高厚永《民族器乐概论》台北:丹青图书有限公司,1986。
胡登跳《民族管弦乐法》上海:上海文艺出版社,1982。
袁靜芳《民族器乐》北京:人民音乐出版社,1987。
中国艺术研究院音乐研究所。《民族音乐概论》北京:人民音乐出版社,1983。
中国艺术研究院音乐研究所。《民族音乐概论》北京:人民音乐出版社,1983。
แผนผังโน้ต จาก เวปไซต์เครื่องดนตรี ซวิน www.xunmusic.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น