วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

ปาอิน : การแบ่งประเภทเครื่องดนตรีแบบ “แปดเสียง” ในสมัยโบราณของจีน



           ปัจจุบันการแบ่งประเภทเครื่องดนตรี เป็นที่เข้าใจตรงกันโดยสากลว่า ยึดตามวิธีการบรรเลง เป็น ดีด สี ตี เป่า แต่ในสมัยโบราณ เนื่องจากการประดิษฐ์เครื่องดนตรีทำจากวัสดุต่างๆกัน การบรรเลงก็ยังไม่ได้เป็นแบบแผนครบถ้วนเหมือนอย่างปัจจุบัน คนในสมัยโบราณจึงมีวิธีจัดกลุ่ม และประเภทของเครื่องดนตรีต่างๆ กันไป  ที่เห็นได้ชัดคือ การแบ่งตามวัสดุที่นำมาใช้ทำเครื่องดนตรี  เครื่องดนตรีหลายชนิดเดินทางข้ามผ่านยุคสมัยมานาน ทำให้บางอย่างตกหล่นหายไปตามกาลเวลา  สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถศึกษาได้ว่า คนในยุคก่อนใช้วัสดุใดบ้างทำเครื่องดนตรี  ก็มาจากการจัดแบ่งประเภทของเครื่องดนตรีที่มีบันทึกไว้นั่นเอง
            ประวัติการดนตรีของจีนในสมัยราชวงศ์โจว   มีการแบ่งเครื่องดนตรีตามวัสดุที่ใช้ประดิษฐ์เครื่องดนตรี  เป็น 8 ชนิด ได้แก่ โลหะ หิน เส้นไหม  ไม้ไผ่   น้ำเต้า ดิน หนัง  และไม้  เรียกการแบ่งประเภทเครื่องดนตรีนี้ว่า ปาอิน (ปา หมายถึงแปด  อิน หมายถึงเสียง) และใช้วิธีการแบ่งประเภทเครื่องดนตรีนี้ยาวนานกว่า 3,000 ปี นับตั้งแต่ปลายสมัยราชวงศ์โจวเรื่อยมาจนถึงต้นสมัยราชวงศ์ชิง  อันเป็นราชวงศ์สุดท้ายของการปกครองแบบกษัตริย์ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบันนับแต่ปี 1949 เป็นต้นมา

เครื่องดนตรี ปาอินมีดังนี้
            1. เครื่องดนตรีประเภทโลหะ  เครื่องดนตรีโลหะที่สำคัญได้แก่ ระฆัง  ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายมากในยุคสำริด    ในสมัยโบราณ ระฆังไม่เพียงทำหน้าที่เป็นเครื่องดนตรีเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นเครื่องประดับเกียรติยศเพื่อแสดงฐานะและอำนาจของบุคคลในสมัยนั้นด้วย  เช่น พระราชพิธีออกท้องพระโรง พระราชพิธีบวงสรวงในราชสำนัก  การเสวยพระกระยาหารงานเลี้ยง  การทรงพระสำราญ ก็ล้วนแล้วแต่ใช้ระฆังเป็นเครื่องดนตรีบรรเลงขับกล่อมทั้งสิ้น การเคาะระฆังบรรเลงเป็นเสียงดนตรีนั้นมีวิธีการบรรเลงสองแบบคือ การเคาะด้านข้าง กับการเคาะด้านหน้าทำให้เกิดเสียงสูงต่ำแตกต่างกันได้สามระดับ   นอกจากระฆังแล้ว ยังมีเครื่องดนตรีโลหะอีกหลายชิ้นเช่น ชิ่ง  ฉุนหวี  โกวเตี้ยว  เครื่องดนตรีเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีวิวัฒนามาจากระฆังทั้งสิ้น
      ดังที่กล่าวมาแล้วว่า เครื่องดนตรีโลหะเกิดขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับเกียรติยศ ในสมัยราชวงศ์ซาง มีเครื่องตี ที่ทำจากโลหะถือกำเนิดขึ้น เรียกชื่อว่า เหนา รูปลักษณะเหมือนระฆัง แต่ไม่กลม เป็นลักษณะแบน แต่กลวง มีด้ามจับ เริ่มแรกมีเพียงอันเดียว ต่อมา เริ่มประดิษฐ์ให้มีขนาดต่างๆกัน ทำให้ได้เสียงสูงต่ำต่างกัน จึงมีการนำมาบรรเลงเป็นกลุ่ม 3 อันบ้าง 5 อันบ้าง  จนถึงสมัยราชวงศ์โจว ช่างตีเหล็ก ทำเหนาให้มีขนาดเล็ก ไปถึงใหญ่ต่างระดับกันขึ้น แล้วเอามาแขวนไว้บนราว ใช้ไม้เคาะ เกิดเป็นเครื่องตีที่เรียกว่า ระฆังราวขึ้น  จนถึงสมัยจ้านกว๋อ ระฆังราวพัฒนาถึงขีดสูงสุด จำนวนระฆังที่ใช้บรรเลงมีมากเป็น 10 ใบ และเริ่มใช้เป็นเครื่องประดับเกียรติยศในคราวนี้เอง แต่พอถึงสมัยราชวงศ์โจวถึงคราเสื่อมสลายของระฆังราว เนื่องจากวัสดุที่นำมาผลิตมีราคาแพงและหายาก ช่างทำเครื่องโลหะก็น้อยลง ระฆังราวขาดการสืบทอดและสูญหายไปในช่วงเวลานี้ 
     
ถึงสมัยตงฮั่น (ฮั่นตะวันออก) ศาสนาพุทธเผยแผ่เข้าสู่แผ่นดินจีน ระฆังก็กลับฟื้นคืนชีพอีกครั้ง เพราะ ระฆัง ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องดนตรีในพิธีกรรมของพุทธศาสนา  และดำรงอยู่เช่นนั้นมาเป็นเวลายาวนาน  นับเป็นคุณูปการของศาสนาพุทธที่มีต่อการสืบทอดและดำรงอยู่ของระฆังสืบมาให้ได้เห็นจนปัจจุบัน
       2. เครื่องดนตรีประเภทหิน  วัสดุที่ใช้ทำเครื่องดนตรีจำพวก ชิ่ง  ส่วนใหญ่ใช้หินปูนที่มีความแข็งแกร่ง ที่นิยมมากคือ หิน หรือ หยกจากเมืองต้าหลี่ รองลงมานิยมใช้หินเขียว  ลักษณะของชิ่งคือ รูปร่างด้านบนโค้งนูน ด้านล่างเว้า ขนาดและความหนาแตกต่างกันไป  กระจังของชิ่งประกอบขึ้นจากเครื่องโลหะทองแดง แขวนชิ่งไว้ตรงกลาง ลักษณะคล้ายกระจังโหม่งของไทย ขาทั้งสองข้างของกระจังทำเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น หัวมังกร  คอนกกระสา  ตัวนก ขาตะพาบเป็นต้น ฝีมือการประดิษฐ์ประณีตงดงาม และมั่งคงแข็งแรง  ในกระจังแขวนชิ่งสองชั้น  แต่ละชั้นแบ่งเป็นสองกลุ่มตามกลุ่มเสียงที่แตกต่างกัน    กลุ่มหนึ่งมี 6 ชิ้น โดยเรียงลำดับคู่เสียงเป็นคู่สี่และคู่ห้า อีกกลุ่มหนึ่งมี 14 ชิ้น เรียงลำดับเสียงเป็นคู่สอง คู่สาม และคู่สี่  ชิ่ง เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในสมัยราชวงศ์ซาง  และพัฒนาถึงขีดสุด โดยใช้หยกทำเป็นเครื่องดนตรี แต่เนื่องจากหยก มีความเปราะ และแตกร้าวง่าย จึงนิยมใช้ชิ่ง ที่ทำจาก หิน มากกว่า
            3. เครื่องดนตรีประเภทเส้นไหม ในสมัยโบราณ สายของเครื่องดนตรีทำมาจากเส้นไหม  ในยุคก่อนราชวงศ์ซาง เครื่องดนตรีประเภทเส้นไหม มีสองชนิดเท่านั้น คือ ฉิน (กู่ฉิน พิณเจ็ดสาย) และ เส้อ (พิณห้าสิบสาย) แต่ต่อมา หลังจากสมัยฉิน และฮั่น เริ่มปรากฏมีเครื่องดนตรีเส้นไหมเกิดขึ้นหลายชนิด เช่น เจิง (กู่เจิง)  คงโหว (เครื่องดีดแนวตั้ง วางไว้ในอก ใช้มือทั้งสองดีดด้านซ้ายและขวา) หร่วน (พิณทรงกลมสี่สาย ด้ามยาว) ซานเสียน (เครื่องดีด สามสาย ด้ามยาว เผยแพร่สู่ ญี่ปุ่น เรียกชื่อว่า ซามิเซ็ง) ผีพา (พิณสี่สาย มาจากอินเดีย เข้ามาตามเส้นทางสายไหม) หูฉิน (เครื่องสีจำพวกซอทั้งหมด)
4. เครื่องดนตรีประเภทไม้ไผ่  ได้แก่เครื่องดนตรีที่ทำจากไม้ไผ่ บรรเลงโดยการเป่า เช่น ตี๋ (ขลุ่ยผิวเป่าในแนวขวาง ) เซียว (ขลุ่ยเป่าในแนวตั้ง)  ฉือ(เครื่องเป่าแนวขวางเหมือน ตี๋ แต่มีขนาดใหญ่เล็กต่างๆกัน ขนาดที่ต่างกันนี้ เสียงโน้ต สูง ต่ำ ต่างกัน)  ผายเซียว (เครื่องเป่าคล้ายโหวด เป่าจากด้านบน ความสั้นยาวของเลาแต่ละเลาเป็นตัวกำหนดเสียงสูงต่ำ)  กว่านจือ (เครื่องเป่าแบบมีลิ้นโลหะ ให้เสียงดังกังวาน) เป็นต้น
5. เครื่องดนตรีประเภทน้ำเต้า  เครื่องดนตรีที่ประดิษฐ์ขึ้นจากน้ำเต้าในสมัยโบราณ ที่สำคัญคือ เซิง(ปี่น้ำเต้า) เป็นเครื่องเป่าประสานเสียง ที่ได้จากเลาไม้ไผ่ หรือต้นอ้อ  หยวี (แคนน้ำเต้า) รูปร่างใหญ่กว่า มีจำนวนเลามากกว่า  ส่วน หูลูซือ (ขลุ่ยน้ำเต้า) เป็นเครื่องเป่าเลาเดียว เหมือนขลุ่ย แต่ใช้น้ำเต้าเป็นที่เก็บลม ใช้ไม้ไผ่ หรือต้นอ้อ เป็นเลาที่ใช้ควบคุมปิดเปิดลม เครื่องดนตรีที่ทำด้วยน้ำเต้านี้  มีอายุนับพันปีมาแล้ว
    6.  เครื่องดนตรีประเภทดิน คือเครื่องดนตรีที่ประดิษฐ์จากดิน  ในบรรดาดนตรี ปาอิน แบบโบราณ เครื่องดนตรีที่ทำจากดินมี 2 ชนิดหลัก ๆ คือ  ซวิน และ โฝ่ว   เครื่องเป่าดินเผาที่เรียกว่า ซวิน นั้น เป็นเครื่องเป่าทรงรูปไข่ ใหญ่ขนาดอุ้งมือ เป่าลมจากด้านบน รอบลำตัวมีรูให้กดปิดเปิดเพื่อบังคับลม ทำให้เสียงสูงต่ำ เดิมทีมีรูเดียว ต่อมาพัฒนาขึ้นจนถึง 10 รู สามารถบรรเลงเสียงตัวโน้ตได้ครบ  นับถึงปัจจุบัน ซวิน มีอายุกว่า 7,000 ปีมาแล้ว  ส่วนเครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่งที่ชื่อ โฝ่ว นั้น เดิมทีเป็นเครื่องดินเผา ลักษณะเป็นรูปโอ่งแจกัน มีไว้หมักเหล้า เมื่อตีด้านบน เกิดเป็นเสียงสะท้อน จึงนำมาทำเป็นเครื่องดนตรี  แต่ก็ไม่ได้พัฒนาให้มีเสียงสูงต่ำเหมือนอย่างเครื่องดนตรีชนิดอื่น คงใช้เป็นเครื่องดนตรีที่ตีประกอบเป็นจังหวะให้ครึกครื้นเท่านั้น
    7. เครื่องดนตรีประเภทหนัง คือเครื่องดนตรีที่ประกอบขึ้นจากหนังสัตว์ ที่สำคัญได้แก่เครื่องประกอบจังหวะจำพวกกลอง มี กลองแขวน และกลองตั้ง  กลอง นับว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรีของจีน กลองสามารถใช้ในวิถีชีวิตชาวจีนโบราณจนถึงปัจจุบันได้มากมาย เช่น ใช้บอกเวลา ใช้เป็นสัญญาณการรบ ใช้ตีเป็นจังหวะการเต้นรำทำเพลง เป็นต้น
        8. เครื่องดนตรีประเภทไม้  ปัจจุบันพบน้อยมาก ในยุคแรกเริ่ม ได้แก่ จำพวกมู่กู่ (กลองไม้)  กรับไม้ ต๊อก หยวี่  จู้ ที่เป็นพิเศษ และเป็นเครื่องดนตรีโบราณที่ปัจจุบันไม่ใช้แล้ว คือ  เครื่องดนตรีที่ชื่อ หยวี่เป็นเครื่องตีโบราณ รูปร่างคล้ายเสือ หลังเสือมีแผ่นไม้ลักษณะหยักเป็นฟันเลื่อย ใช้ไม้ตีที่ผ่าปลายเป็นก้านๆ ครูดไปมาบนหลังเสือ เกิดเป็นเสียงขึ้น ใช้บรรเลงเป็นสัญญาณการจบเพลง  ใช้ประกอบในการบรรเลงดนตรีชั้นสูงของราชสำนัก ส่วนเครื่องดนตรีชื่อ จู้   เป็นเครื่องตีโบราณ  รูปร่างเป็นกล่องสี่เหลี่ยม ด้านบนกลวง กว้างแล้วสอบลงด้านล่าง ใช้ท่อนไม้ตีผนังด้านในให้เกิดเป็นเสียงใช้บรรเลงเพื่อแสดงการขึ้นต้นเพลงในการบรรเลงดนตรีราชสำนักและพิธีกรรมบูชาต่างๆ    
                                               
คำอธิบายภาพ
รูปภาพ 1  ฉุนหวี  เครื่องดนตรีโลหะบรรเลงโดยการใช้ไม้เคาะ ขนาดที่เล็กใหญ่ต่างๆ กันมีเสียงสูงต่ำต่างกัน
รูปภาพ 2  โกวเตี้ยว เครื่องดนตรีโลหะบรรเลงโดยการใช้ไม้เคาะ
รูปภาพ 3  รูปร่างลักษณะของ ชิ่งโลหะ ใช้ตี
รูปภาพ 4   ชิ่ง เครื่องดนตรีโบราณที่ทำด้วยหิน ใช้ตี
รูปภาพ 5   ชิ่งราว  ทำจากหิน เครื่องดนตรีโบราณที่ขุดพบ มีอายุราว 2,400 ปี
รูปภาพ 6   เครื่องสาย ชื่อ ฉิน บรรเลงโดยการดีด
รูปภาพ 7   เครื่องสายจีนโบราณชื่อ เส้อ มี 50 สาย ใช้ดีด  พัฒนาการมาเป็น กู่เจิงในปัจจุบัน
รูปภาพ  8 เครื่องสายดีดที่เก่าแก่ที่สุดของจีน ชื่อ จู้ เชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของกู่ฉิน เส้อ และกู่เจิง
รูปภาพ 9  เครื่องสายชื่อ ผีพา  บรรเลงโดยการดีด
รูปภาพ 10  เครื่องสายชื่อ หูฉิน หรือซอจีน  บรรเลงโดยการสี
รูปภาพ 11  คงโหว เครื่องดนตรีจีนโบราณ  สายทำด้วยเส้นไหม  ความสั้นยาว และตึงหย่อนของสายทำให้เกิดระดับเสียงต่างๆ กัน
รูปภาพ 12  ตี๋ เครื่องดนตรีทำจากไม้ใผ่ บรรเลงโดยการเป่าตามแนวขวาง
รูปภาพ 13   กว่านจือ เครื่องเป่า มีลิ้น แบบปี่
รูปภาพ 14 เซียว  เครื่องเป่า ทำจากไม้ไผ่    บรรเลงโดยการเป่าตามแนวตั้ง
รูปภาพ 15   ฉือ เครื่องเป่าที่ทำจากไม้ใผ่ เป่าในแนวตั้ง
รูปภาพ 16  ผายเซียว  (ขลุ่ยแผง) เครื่องเป่าที่ทำจากไม้ไผ่ ความสั้นยาวให้เสียงที่สูงต่ำต่างกัน
รูปภาพ 17  เซิง  เครื่องเป่าที่ทำจากน้ำเต้า   มีน้ำเต้าเป็นกล่องขยายเสียง และมีไม้ไผ่เป็นตัวควบคุมเสียง
รูปภาพ 18   หูหลูซือ เครื่องเป่าที่ทำจากน้ำเต้า
รูปภาพ 19  ซวิน เครื่องเป่าทำจากดินเผา
รูปภาพ 20  ถาวตี๋ หรือขลุ่ยดินเผา
รูปภาพ 21   โฝ่ว เป็นโอ่งใส่เหล้า ขึงด้วยผ้าหรือหนัง มีทั้งที่ทำด้วยโลหะและดินเผา ลักษณะมีทั้งแบบเหลี่ยม และทรงกระบอก
รูปภาพ 22  กลองแขวน ขึงหน้าด้วยหนัง แขวนอยู่บนร้านกลอง
รูปภาพ 23   กลองตั้งสูงขึ้นจากพื้น ขึงหน้า ด้วยหนัง
รูปภาพ 24  เครื่องตีโบราณ ชื่อ จู้
รูปภาพ 25    มู่กู่ หรือกลองไม้
รูปภาพ 26  เครื่องตีโบราณชื่อ หยวี่


อ้างอิง
简裝本《中华乐器大典》北京:民族出版社,2002
民族音乐研究所《中国历代乐器说明》(附图片)北京:中央音乐学院,1956
    《中国古代音乐史简编》上海:上海音乐出版社,1989
杨荫浏《中国古代音乐史稿》(上、下册)北京:人民音乐出版社,1981
Lee Yuan-Yuan and Shen, Sinyan. Chinese Musical Instruments (Chinese
Music Monograph Series). Chinese Music Society of North America
Press.1999.
Shen, Sinyan. Chinese Music in the 20th Century (Chinese Music
Monograph Series) Chinese Music Society of North America Press.
2001.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น