ภาพนี้คัดลอกมาจาก http://www.huaxia.com/hb-tw/enshiyinxiang/enshi/DSC_0054.jpg
ประเทศจีนมีชนกลุ่มน้อยอยู่ทั้งหมด
55 ชนเผ่า กระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกบริเวณของประเทศ
แต่ละชนเผ่ามีความหลากหลายทางชาติพันธุ์มาก โดยเฉพาะมณฑลหยวินหนาน มีมากถึง 25
ชนเผ่า ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้มีขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ รวมทั้งภาษาพูดต่างกัน
ก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่หลากหลาย ด้วยเหตุที่ชนกลุ่มน้อยนับตั้งแต่อดีตมักตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณหุบเขา
ทุ่งหญ้า และในป่าห่างไกล การดำรงชีวิตจึงพึ่งพาธรรมชาติ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ
ตั้งแต่ดั้งเดิมก็มีที่มาและประดิษฐ์ขึ้นจากสิ่งที่อยู่ตามธรรมชาติ
รวมถึงเครื่องดนตรีก็เช่นเดียวกัน
หนิวเจี่ยว
หรือ
แตรเขาวัว เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่าของชาวฮั่น และชนเผ่ากลุ่มน้อยของจีนหลายเผ่า
เช่น เผ่าเย้า เผ่าอี๋ เผ่าแม้ว เผ่าปู้อี เผ่าจิ่งโพ เผ่าฮานี เผ่าหลี เผ่าถู่เจีย
เผ่าอี้หล่าว เผ่าไต ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ของมณฑลกุ้ยหลิน
กุ้ยโจว หยวินหนาน หูหาน ไห่หนาน กว่างตงและกว่างซี
มีใช้มาแต่โบราณและถ่ายทอดแพร่หลาย
แต่ละชนเผ่าใช้เครื่องเป่าชนิดนี้ในกิจกรรมของชีวิตต่างกัน บ้างใช้ในพิธีกรรม
เทศกาล งานรื่นเริง จนถึงงานศพ บ้างใช้เป็นเครื่องบอกสัญญาณ บ้างใช้ในการล่าสัตว์
ต้อนสัตว์ตามทุ่งหญ้าเป็นต้น
เขาวัวที่นำมาใช้มีขนาดเล็กใหญ่ต่างกันตามที่ได้มาจากเขาวัวธรรมชาติ
มีวิวัฒนาการและการประดิษฐ์มายาวนาน จากขนาดเล็ก ประดิษฐ์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
จนกระทั่งมีการค้นพบการทำเครื่องปั้นดินเผา การทำโลหะ
แตรเขาวัวก็เปลี่ยนวัสดุที่ใช้ทำ แต่ก็ยังคงรูปร่างลักษณะที่เป็นลำโค้ง ปลายแปลม
ลำโพงบาน อย่างเขาวัวแบบดั้งเดิม
ประวัติความเป็นมา
แตรเขาวัวมีประวัติความเป็นมายาวนาน
มีจุดกำเนิดที่ผูกพันกับพิธีกรรมและการล่าสัตว์อย่างใกล้ชิด
การขุดค้นทางโบราณคดีในหลายมณฑล เช่น ส่านซี เหอหนาน ซานตง
พบแตรดินเผายุคหินใหม่ที่มีรูปร่างเหมือนกับเขาวัวจำนวนมาก โดยเฉพาะที่แหล่งโบราณคดีจิ่งเจียเป่า
อำเภอหัวเซี่ยน มณฑลส่านซี ขุดพบแตรลักษณะเขาวัวดินเผาหนึ่งชิ้น จัดเป็นวัฒนธรรมแบบอิ้นซ่าว
รูปร่างแตรชนิดนี้เหมือนกับเขาวัว ความยาวทั้งเลา 42 เซนติเมตร
เส้นผ่าศูนย์กลางรูปเป่า 1.8 เซนติเมตร
เส้นผ่าศูนย์กลางด้านลำโพง 7.4 – 7.6 เซนติเมตร
ความหนาของเลาแตร 0.8 เซนติเมตร แตรชิ้นนี้แม้ปากเป่าค่อนข้างเล็ก แต่ก็ยังสามารถเป่าให้มีเสียงได้ มีเสียงทุ้มใหญ่ โบราณวัตถุชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่า
ในยุคนั้นหรือก่อนหน้านั้น ซึ่งจากการคำนวณระยะเวลาแล้วตรงกับสมัยราชวงศ์เซี่ยหรือไม่ก็ราชวงศ์ซาง
มีแตรที่ทำมาจากเขาวัวหรือเขาสัตว์ชนิดอื่นเกิดขึ้นแล้ว
เครื่องดนตรีชนิดนี้ส่วนใหญ่ใช้เป็นเสียงสัญญาณ
ไม่ได้ใช้เป็นเครื่องดนตรีบรรเลงทำนอง ถึงสมัยฉินและฮั่น
แตรเขาวัวได้กำหนดให้ใช้ในกิจการทหารเพื่อบอกสัญญาณการรบ
นอกจากจะใช้แตรที่ทำมาจากเขาสัตว์ตามธรรมชาติแล้ว
ยังมีการประดิษฐ์แตรรูปร่างเหมือนเขาวัว แต่ทำมาจากวัสดุอื่นเช่น ไม้ หนัง โลหะเป็นต้น
ภาพวาดวงปี่กลองในสมัยราชวงศ์ฮั่น
พบว่า เขาวัวที่ใช้ในวงปี่กลองในสมัยนั้นมีขนาดใหญ่มาก
ไม่น่าจะเป็นเขาสัตว์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
แต่เป็นเครื่องดนตรีที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยใช้วัสดุอื่น
แต่รูปร่างเหมือนกับแตรเขาวัวที่เคยใช้อยู่แต่ก่อน ในสมัยโบราณ
แตรเขาวัวมีใช้ในชนกลุ่มน้อย ส่วนมากใช้สำหรับการล่าสัตว์
การเลี้ยงสัตว์ตามทุ่งหญ้า ในบันทึกสมัยตงจิ้น ของ สวีกว่างชื่อว่า เชอ ฝู อี้ จื้อ
(วิธีการประดิษฐ์รถและเครื่องนุ่งห่ม) มีบันทึกเกี่ยวกับแตรเขาวัวไว้ว่า “เขา ยุคก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีการจดบันทึก
เล่ากันว่า เดิมเป็นของชนชาวเชียง ใช้เป่าต้อนม้า บ้างก็ว่ามาจากรัฐอู๋” ในบันทึกอีกฉบับหนึ่งชื่อ ทงสิง ก็มีบันทึกเกี่ยวกับแตรเขาวัวไว้ว่า “เขา ไม่มีบันทึกไว้ ใช้เป่าต้อนม้า เล่าว่ามาจากรัฐอู๋” (ชาติเชียง
เป็นชื่อชนชาติหนึ่งในสมัยโบราณของจีน
มีถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่เป็นตอนกลางมณฑลชิงไห่ลงไปถึงตอนเหนือของมณฑลเสฉวน และติดต่อไปถึงบริเวณมฑลซินเจียงในปัจจุบัน
ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ชนชาตินี้ได้สถาปนาเป็นประเทศฉินกว๋อยุคหลัง / รัฐอู๋
เป็นชื่อรัฐหนึ่งในสมัยราชวงศ์โจว
มีถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่เป็นตอนใต้ของมณฑลเจียงซูในปัจจุบัน)
รูปร่างลักษณะ
แตรเขาวัวโดยมากทำมาจากเขาวัวที่ได้จากธรรมชาติ
นิยมใช้เขาของวัว หรือเขาควาย ขนาดใหญ่เล็กไม่จำกัดขึ้นอยู่กับเขาวัวที่ได้ ในแต่ละท้องที่มีความนิยมแตกต่างกันไป
ไม่มีข้อกำหนดแน่นอน แต่โดยทั่วไปแล้ว นิยมใช้เขาวัวขนาดความยาว 40 –
70 เซนติเมตร ปลายเขาเลื่อยให้เรียบ
ในเขาเจาะเป็นโพรงทะลุถึงกัน ปลายยอดสวมวงไม้เป็นที่เป่า แตรเขาวัวของชาวเผ่าเย้า ที่มณฑลกว่างซี ใช้ไม้ถงมู่ขนาดความยาว 30
เซนติเมตรเป็นปากเป่า ส่วนเขาวัวเล็กความยาว
20 – 30 เซนติเมตรใช้ทำเป็นลำโพง ส่วนแตรเขาวัวขนาดใหญ่ความยาว 100 เซนติเมตร
ขนาดใหญ่สุด 120 เซนติเมตร
การบรรเลง
การบรรเลงเขาวัวที่มีขนาดเล็ก สองมือประคองลำตัวของแตรเป่าในท่าเหมือนเป่าขลุ่ย
แตรที่มีขนาดใหญ่ ใช้มือขวาอุ้มที่ลำตัวแตร มือซ้ายถือปลายแตรด้านบนประคองเป่า
บนลำตัวแตรไม่มีรูบังคับเสียงสูงต่ำ
ระดับเสียงของแตรก็ไม่ได้มีกำหนดว่าจะเป็นเสียงใด การบรรเลงเสียงสูงต่ำ เบา แรง
จังหวะเร็วช้า ยาวสั้น ใช้รูปปากและการส่งลมเป็นตัวบังคับเสียง
แตรที่มีขนาดเล็กจะมีเสียงสูง แหลม แผดดัง
ส่วนแตรที่มีขนาดใหญ่จะมีเสียงทุ้มต่ำ นุ่มนวล หนักแน่นล้ำลึก
การบรรเลงสามารถใช้บรรเลงรวมกับกลองเป็นวงปี่กลอง หรือบรรเลงร่วมกันระหว่างแตรใหญ่
เล็ก เพื่อประสานเสียงให้กลมกลืน สามารถใช้บรรเลงเดี่ยว
หรือบรรเลงร่วมกับเครื่องจังหวะอื่นๆ เช่นกลองโลหะ กลองหนังเป็นต้น นิยมใช้บรรเลงในงานรื่นเริงต่างๆ เช่น งาน
ปีใหม่ การเฉลิมฉลองในฤดูเก็บเกี่ยวเป็นต้น ในมณฑลหูหนานมีการใช้แตรเขาวัวบรรเลงร่วมกับกลอง
และโหม่ง มีเพลงที่ใช้บรรเลงด้วยแตรเขาวัวโดยเฉพาะ เช่นเพลงยวี่หวงฝู่
(อ๋องยวี่หวง) เพลงหล่าว จวิน ฝู่ (ท่านผู้เฒ่าทหารหาญ)
เพลงซาน หยาง กั้ว อ้าว (แพะภูเขาข้ามผา) เป็นต้น
ประเภทของแตรเขาวัว
เนื่องจากแตรเขาวัวเป็นเครื่องดนตรีที่ชนกลุ่มน้อยนิยมใช้
ทำให้มีขนาด และรูปร่างแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ และชุมชน อีกประการหนึ่ง
ก็ต้องขึ้นอยู่กับขนาดของเขาวัวตามธรรมชาติด้วย ที่โดดเด่นมีดังนี้
แตรเขาวัวเผ่าเย้า ชนเผ่าเย้าที่อาศัยอยู่ในบริเวณเมืองหนานตาน
และเมืองลี่โป นิยมใช้แตรเขาวัวขนาดใหญ่ ภาษาเย้า เรียกชื่อว่า “โจวโอว หรือ เล่อลี่” ซึ่งก็แปลว่า เขาวัว นั่นเอง
ลำตัวแตรทำมาจากเขาควายขนาดใหญ่ เจาะรูด้านปลายแหลม
เจาะรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตรทะลุถึงกัน
ใช้เลาไม้ไผ่หรือไม้ประเภทเลาเสียบเข้าไปในรูที่เจาะไว้ ใช้เป็นปากเป่า
ใช้เขาขนาดใหญ่ขึ้นไล่ระดับกันต่อกันให้มีขนาดความยาวประมาณ 100 – 120 เซนติเมตร โดยใช้ยางไม้ธรรมชาติเป็นตัวเชื่อมเขาแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน
ส่วนนี้เป็นส่วนลำโพลงขยายเสียง เจาะรูที่ปลายลำโพง ผูกโยงไว้กับปลายแหลมอีกด้าน
เป็นเชือกคล้องคอเวลาเป่า การบรรเลงมือขวาประคองบริเวณเอวของแตร มือซ้ายจับด้านปลายแปลมประคองเป่า
ลำโพงโค้งตามรูปเขาวัวหันไปด้านหลังของผู้เป่า
เสียงแตรเขาวัวขนาดใหญ่ที่ได้เป็นเสียงที่ใหญ่ ต่ำทุ้ม หนักแน่น
ด้วยภูมิปัญญาและประสบการณ์ชาวเย้าจะกรอกน้ำลงไป ทางลำโพง และใช้ก้อนหินใส่ลงไป
โดยน้ำและก้อนหินจะอยู่ในส่วนที่โค้งเป็นกระบอกอุ้มน้ำไว้ จะทำให้ได้เสียงที่ก้องกังวาน ทุ้ม หนักแน่น
และรักษาระดับเสียงได้ยาวนานขึ้น เหมาะสำหรับการบรรเลงเพลงที่เชื่องช้า
อ้อยสร้อย
ชาวเย้านิยมบรรเลงแตรเขาวัวในเทศกาลประเพณีของชนเผ่า เช่น เทศกาลปีใหม่
ฉลองงานรื่นเริงต่าง ๆ นอกจากจะใช้บรรเลงเดี่ยวแล้ว ในเทศกาลสำคัญ ๆ
ชาวเย้าจะบรรเลงเขาวัวรวมเป็นวงใหญ่ ประกอบด้วยเขาวัวที่มีขนาดต่างๆกัน
ร่วมกับเครื่องประกอบจังหวะจำพวก กลองโลหะ โหม่ง ฉาบ เป็นต้น นอกจากชนเผ่าเย้าแล้ว
ชนกลุ่มน้อยที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเช่น ชนเผ่าถู่เจีย หลี อี้หลาว
แม้วก็นิยมใช้แตรเขาวัวชนิดนี้
แตรเขาวัวเผ่าอี๋ ชนเผ่าอี๋ที่มณฑลกุ้ยโจว เรียกแตรเขาวัวว่า “หาย
กั้ว” ใช้บรรเลง
ในเทศกาลรื่นเริง
และใช้ในพิธีงานศพ
แตรเขาวัวเผ่าแม้ว มีเสียงโหยหวน ใช้เป็นเสียงสัญญาณเรียกชุมนุม
ในเทศกาลต่าง ๆ สำนักวิจัยดนตรี กองศิลปากรปักกิ่ง มีแตรเขาวัวเก็บรักษาไว้เป็นจำนวนมาก
ในจำนวนนั้น มีแตรเขาวัวของชนเผ่าแม้ว มณฑลหูหนานด้วย แตรชิ้นนี้ทำมาจากเขาควาย
ความยาวตลอดเลา 54 เซนติเมตร รูเป่ามีเส้นผ่าศูนย์กลาง2 เซนติเมตร
รูกลวงทะลุทั้งเลา เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 เซนติเมตร ด้านนอกเลี่ยมเงิน
ปากลำโพงเป็นรูปวงรี เส้นผ่าศูนย์กลางด้านยาว 10 เซนติเมตร ด้านกว้าง 6 เซนติเมตร
ลิ้นปี่ (บริเวณปากเป่า)ยาว 12 เซนติเมตร
แตรชิ้นนี้ได้ถูกบันทึกไว้ในเอกสารบันทึกระดับชาติชื่อ บันทึกภาพเครื่องดนตรีล้ำค่าของจีน แล้ว
แตรเขาวัวเผ่าปู้อี มีเสียงทุ้มต่ำ
ใช้เป็นเสียงสัญญาณเรียกชุมนุม เช่นกัน
แตรเขาวัวกว่างตงกว่างซี เป็นถิ่นที่อยู่ของชนกลุ่มน้อยเผ่าเย้า
เผ่าถู่เจีย เผ่าหลี นิยมเขาวัวสองท่อนประกอบต่อกัน ท่อนสั้นความยาว 15
เซนติเมตรสวมเข้ากับ ท่อนยาวขนาด 34 เซนติเมตร
โดยใช้ไม้และยางไม้เชื่อมสองส่วนเข้าด้วยกัน ขนาดความยาวตลอดทั้งเลา 50 เซนติเมตร
เป่าได้เสียงห้าระดับ ช่วงกว้างของเสียงเป็น
g
- g2 แตรมีน้ำเสียงทุ้มหนา นิยมใช้ในเทศกาลรื่นเริง เบิกโรง
นิยมบรรเลงรวมกันเป็นวงโดยใช้แตรหลายตัวประสานเสียงให้ฟังดูกระหึ่มกังวาน
นอกจากนี้ยังนำไปใช้ในพิธีกรรมของเต๋า ของหมอผีประจำเผ่าอีกด้วย สำหรับ แตรเขาวัวของชาวถู่เจีย
ผู้ใช้คือ “หมอผี” ประจำเผ่า ชาวฮานี ชาวไต ใช้แตรเขาวัวขนาดเล็ก
ปลายยอดขัดให้เป็นรู เลี่ยมด้วยลิ้นที่ทำจากโลหะ การบรรเลง มือซ้ายถือแตร อมปากเป่าไว้ในปากแล้วเป่าลมเข้า เสียงสูงคือ e1 มือขวาประคองบริเวณปากแตรคอยปิดเปิด สามารถบรรเลงเพลงที่มีจังหวะต่างๆ ใช้เป่าในการล่าสัตว์ ชาวเผ่าเย้า ที่เมืองหรงเจียง
มณฑลกว่างซี ใช้แตรเขาวัวเป็นเครื่องดนตรีบรรเลงในงานศพ ชาวเผ่าอี๋ที่เมืองกุ้ยโจว
ใช้ในงานรื่นเริง
เนื่องจากแตรเขาวัวไม่ใช่เครื่องดนตรีประเภทดำเนินทำนอง
ทำให้ไม่ค่อยได้รับความนิยม ปัจจุบันจะสามารถพบการบรรเลงแตรเขาวัวได้ไม่ง่ายนัก
ส่วนใหญ่พบการใช้เป็นเครื่องบอก สัญญาณในงานเทศกาล
หรือในพิธีกรรมของชนกลุ่มน้อยเท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น